องอาจ เดชา
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้ผ่านการทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในประเด็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนา และการศึกษาทางเลือก นอกจากเป็นผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาแล้ว ปัจจุบันเขายังเป็นนายกสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) ซึ่งพยายามขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาทางเลือกของไทยให้สอดคล้องและเหมาะสมกับโลกสมัยใหม่ ได้พูดถึงเรื่อง ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เอาไว้อย่างน่าสนใจ
มีมุมมองอย่างไร เมื่อปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่เข้ามาสู่วิถีชีวิตเรา?
ชัชวาลย์: เราคงต้องสร้างความเข้าใจว่าจริงๆ แล้ว AI มันคือเทคโนโลยี มันคือเครื่องมือของมนุษย์มากกว่า อย่าให้ AI มันเป็นสรณะ แต่ให้มันเป็นเครื่องมือในการรวบรวมเรื่องราวความรู้ต่างๆ หรือว่าที่เราจะทําให้มันมาช่วยแบ่งเบาเรามากกว่า
ถึงที่สุดแล้ว เป้าหมายของชีวิต มันไม่ใช่ตรงนี้ เป้าหมายชีวิตของเรามันยิ่งใหญ่กว่า มันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณที่มีต่อโลก จิตวิญญาณที่มีต่อสังคม ต่อชุมชน มันเป็นเรื่องของความรัก ความผูกพัน ของครอบครัวพ่อแม่ลูก เครือญาติ ชุมชน สังคม รวมแม้กระทั่งเพื่อนร่วมโลกต่างๆ เพราะฉะนั้น เราต้องมอง AI ในฐานะที่มันเป็นเครื่องมือของเราที่จะช่วยทําให้เราง่ายขึ้นในการจัดระบบความรู้ การเข้าถึงความรู้ การค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ แต่อย่าให้มันมาแทนชีวิตของเรา
ถ้าครูยังท่องหนังสือมาสอนแบบเดิม ยังไงก็สู้ AI ไม่ได้ ยังไงเด็กก็เบื่อ ยังไงเด็กๆ ก็อยากมาค้นคว้าในกูเกิ้ล เขาอยากมาค้นคว้าในระบบเอไอมากกว่านะ ครูก็จะค่อยๆ ด้อยค่ามากขึ้น ถ้ายังอยู่ที่เดิม ถ้าไม่ปรับตัว
คิดว่าเมื่อ AI เข้ามาแล้ว จะส่งผลต่อการการศึกษาของไทยขณะนี้อย่างไรบ้าง?
ชัชวาลย์: ถ้าเรามองในแง่ของระบบการศึกษา ก็มีประโยชน์ จะเรียกว่ามันเป็นการจัดการความรู้แขนงหนึ่งก็ได้ ที่ช่วยเราจัดระบบจากข้อมูล จาก Information ให้มันเป็นดาต้า จากดาต้าให้มันเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศ จากเทคเทคโนโลยีสารสนเทศให้มันกลายเป็นความรู้
แต่จากระดับความรู้ให้มันกลายเป็นภูมิปัญญาหรือระดับจิตวิญญาณ อันนี้ AI จะไปไม่ถึง ฉะนั้น AI ก็จะเป็นการศึกษาขั้นหนึ่งที่มาช่วยเราเกิดจากระบบ อย่างเช่น การตั้งประเด็น การตั้งสมมติฐาน การค้นหาทางเลือก การค้นคว้าอนาคต ประเด็นเหล่านี้มันจะถูกตั้งโดยมนุษย์ที่มีเป้าหมายของชีวิต เป้าหมายของชุมชนและเป้าหมายของสังคมมาเป็นที่ตั้ง เสร็จแล้ว AI จะมาช่วยค้นหาความรู้จากระบบความรู้ เป็นความรู้อะไรต่อมิอะไรให้เราใช่ไหม แต่ว่ามันอาจจะไม่มีปัญญาพอที่จะมาเป็นประเด็นที่แหลมคม เพื่อแก้วิกฤติของมนุษย์ หรือว่าแม้กระทั่งมิติของการสร้างสรรค์ต่างๆ เขาคงตั้งประเด็นเพื่อจะให้ไปตรงนั้นไม่ได้
เพราะฉะนั้น เราในฐานะเป็นมนุษย์เอง และเป็นผู้เรียนรู้เอง อาจจะต้องเป็นตัวใฝ่รู้ใฝ่เรียน ตั้งคําถาม ตั้งประเด็นในการวิเคราะห์ โดยที่มี AI ซึ่งเป็นตัวเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยอันนี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับกับระบบการศึกษาบ้านเรา
เป้าหมายชีวิตของเรามันยิ่งใหญ่กว่า มันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณที่มีต่อโลก จิตวิญญาณที่มีต่อสังคม ต่อชุมชน มันเป็นเรื่องของความรัก ความผูกพัน ของครอบครัวพ่อแม่ลูก เครือญาติ ชุมชน สังคม รวมแม้กระทั่งเพื่อนร่วมโลกต่างๆ เพราะฉะนั้น เราต้องมอง AI ในฐานะที่มันเป็นเครื่องมือของเราที่จะช่วยทําให้เราง่ายขึ้นในการจัดระบบความรู้ การเข้าถึงความรู้ การค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ แต่อย่าให้มันมาแทนชีวิตของเรา
มองเรื่องปัญญาประดิษฐ์ กับการศึกษาทางเลือก ที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่ในขณะนี้มีความสอดคล้องกันมั้ย?
ชัชวาลย์: ในฐานะนายกสมาคมการศึกษาทางเลือกไทย ผมมองว่า ก็สอดคล้องหนุนเสริมกันอยู่ เนื่องจากการศึกษาทางเลือกเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนค้นคว้าด้วยตนเองเป็นหลัก โดยอาจจะมีประเด็นคําถาม ประเด็นวิจัย เป็นโปรเจกต์ หรือว่าเป็นกลุ่มประสบการณ์ และเราสามารถใช้มันได้ดีกว่าการศึกษาในระบบ
เพราะเมื่อพูดถึงการศึกษาในระบบ ผมมองว่าถ้ามาถึงตรงนี้แล้ว ครูสู้ AI ไม่ได้แล้วนะ ถ้าพูดถึงแค่ความรู้ ความจํา แค่ท่องหนังสือมา แล้วเอามาสอน อันนี้สู้ AI ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าระบบการศึกษาขนาดใหญ่ AI อาจจะช่วยได้ไม่เยอะ มันช่วยได้แค่เป็นฐานข้อมูลเฉยๆ
แต่การศึกษาทางเลือก ผมมองว่าน่าจะช่วยได้เยอะ เพราะว่าเราใช้มันไง เพราะผู้เรียนเป็นคน เป็นผู้ค้นคว้าความรู้ใช่มั้ย ฉะนั้น ความรู้มีอยู่ทั่วโลกเลย สามารถดึงความรู้ทั่วโลกมาใช้ได้หมดเลย ซึ่งได้ทําให้เด็กๆ ผู้เรียนการศึกษาทางเลือกของเราสามารถที่จะเรียนรู้เรื่องราวตั้งแต่เรื่องตัวเอง ชุมชน สังคม จนกระทั่งถึงนานาชาติในระดับโลก ทำให้เกิดการศึกษาคนคว้าหาความรู้กว้างขวางมากขึ้น
ทำให้เราเห็นว่า AI มีจุดเด่นเรื่องการจัดระบบข้อมูลได้เป็นอย่างดี
ชัชวาลย์: ใช่ครับ AI มันช่วยจัดระบบข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น เราอยากรู้เรื่องนี้ มันก็จะดึงออกมาหมดเลย ความรู้จากทั่วโลก มันจะจัดมาให้หมด แล้วเข้าใจว่าในอนาคตเรายังสามารถกําหนดประเด็นให้ให้ AI วิเคราะห์เบื้องต้นให้เราได้ด้วยนะ อย่างเช่น สมมติเราอยากจะรู้เรื่องการปลูกพืชชนิดนี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้าง มันจะคํานวณให้เราหมดเลย ทั้งพยากรณ์อากาศ ทั้งดูเรื่องดิน เรื่องระบบตลาด ข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้ จะช่วยให้เราคํานวณหรือช่วยทําให้เราวิเคราะห์และวางแผนอะไรได้ดียิ่งขึ้น
ดังนั้น ในแง่ของการจัดการศึกษาทางเลือก ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากพอสมควรเลย ถ้าเราใช้ให้ถูกและเราเป็นเจ้านายของ AI จริงๆ ที่ทําให้เรามีความรู้ชัดขึ้น ความรู้กว้างมากขึ้น ความรู้ที่ถูกจัดระบบดีขึ้น ความรู้ที่มองไปได้ไกลมากขึ้น
แต่ถ้ามองดูการศึกษาในระบบในขณะนี้ ดูเหมือนว่าจำเป็นต้องปรับตัวกันยกใหญ่?
ชัชวาลย์: ถูกต้อง การศึกษาในระบบ ไม่ว่าในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ก็คงต้องปรับตัวกันใหม่หมด ทั้งครูทั้งนักเรียน ทั้งผู้สอนทั้งผู้เรียนด้วย เพราะว่าถ้าครูยังท่องหนังสือมาสอนแบบเดิม ยังไงก็สู้ AI ไม่ได้ ยังไงเด็กก็เบื่อ ยังไงเด็กๆ ก็อยากมาค้นคว้าในกูเกิ้ล เขาอยากมาค้นคว้าในระบบ AI มากกว่านะ ครูก็จะค่อยๆ ด้อยค่ามากขึ้น ถ้ายังอยู่ที่เดิม ถ้าไม่ปรับตัวนะครับ
เพราะฉะนั้น การปรับตัวคือ การทําให้เด็กใฝ่รู้ใฝ่เรียน ฝึกกระตุ้นให้เด็กรู้จักการตั้งประเด็น การตั้งสมมติฐาน การค้นคว้าความรู้ การสร้างโปรเจคท์เบส หรือแม้กระทั่งการตั้งกลุ่มประสบการณ์ที่ทําให้เด็กได้เรียนรู้ที่สูงขึ้น เหมือนกับที่เด็กที่กำลังจัดการศึกษาทางเลือกกันอยู่ตอนนี้ ดังนั้น ในอนาคต ผมคิดว่าการศึกษาในระบบคงจะต้องปรับตัวให้มาใกล้เคียงกับการจัดทางเลือกมากขึ้น เพราะยังไงก็อยู่ที่เดิมไม่ได้อยู่แล้ว
มองว่า มีสิ่งไหนบ้างที่ AI ไม่อาจมาทดแทนคนเราได้?
ชัชวาลย์: ผมมองว่า แม้ว่าเราอยู่ในยุคของ AI ก็จริง แต่อีกมุมหนึ่งคือเรื่องชีวิต เรื่องจิตวิญญาณก็ยังจำเป็นและต้องเรียนรู้ควบคู่กันไปด้วย เหมือนกับที่ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ที่เรากำลังทำอยู่ทุกวันนี้ เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องชีวิต จิตวิญญาณ มันจําเป็นอย่างยิ่งเลย
เรากําลังอัพความรู้ของเราทั้งหมดที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เข้าไปอยู่ในระบบออนไลน์ อัพความรู้ของเราทั้งหมดให้มันไปอยู่ในระบบใหม่นี้ด้วย เพื่อให้เข้าไปอยู่ในระบบของการค้นคว้าของคนทั่วโลกได้ เพราะฉะนั้น ต่อไปก็จะเป็นช่องทางของการสื่อสารความรู้หรือทําให้คนเข้าถึงความรู้ของเราได้ด้วย อันนี้ก็ต้องทำ ถ้าเราไม่ทํา ความรู้ใหม่ๆ ความรู้อื่นๆ ความรู้ที่เป็นตลาด ความรู้ที่เป็นของระบบทุนนิยมหรือความรู้แบบโลกาภิวัฒน์ทั้งหลาย มันก็จะเต็มไปหมดเลย ในขณะที่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ภูมิปัญญา หรือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบศาสนาอะไรพวกนี้ เราจําเป็นต้องทํา
ในขณะที่เราทําประมวลความรู้ เรียนรู้ สั่งสมความรู้แล้ว ก็เข้าไปอยู่ในระบบ AI ด้วย นี่ก็มีความสําคัญ และจริงๆ แล้วมันก็คือการแบ่งปัน ให้มันเข้าไปสู่ระบบการค้นคว้าความรู้ของผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้นด้วย ซึ่งผมคิดว่ายังมีความจําเป็นที่จะต้องทํากันต่อไป
เรากําลังอัพความรู้ของเราทั้งหมดที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เข้าไปอยู่ในระบบออนไลน์ อัพความรู้ของเราทั้งหมดให้มันไปอยู่ในระบบใหม่นี้ด้วย เพื่อให้เข้าไปอยู่ในระบบของการค้นคว้าของคนทั่วโลกได้ เพราะฉะนั้น ต่อไปก็จะเป็นช่องทางของการสื่อสารความรู้หรือทําให้คนเข้าถึงความรู้ของเราได้ด้วย
เราต้องรู้เท่าทัน AI แล้วก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ทิ้งวิถีชีวิต จิตวิญญาณ และความรู้ที่เป็นสิ่งสําคัญของมนุษย์ที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกัน และพร้อมที่จะพัฒนาความรู้เหล่านี้ให้เข้าไปอยู่ในระบบเอไอด้วย
ชัชวาลย์: ใช่เลยครับ ผมมองว่า ยังไงเราก็คงปฏิเสธเรื่อง AI ไม่ได้ มันคือการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ แต่ว่าด้านหนึ่งมันก็มีประโยชน์ หมายถึงว่าในแง่ของการบันทึกข้อมูล การจัดระบบข้อมูล หรือระบบความรู้ที่มีอยู่กระจัดกระจายมากมายทั่วโลก AI ช่วยจัดระบบเพื่อให้เราสามารถเข้าถึงหรือค้นคว้าได้ง่าย อันนี้คือด้านดีของเขา
แต่ว่าอีกด้านหนึ่งนั้น AI มันไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ ในแง่ที่เรียกกันว่าวิถีและและจิตวิญญาณ ซึ่งตรงนี้แหละ ที่เป็นเรื่องของความรัก เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ผู้คนกับผู้คน หรือแม้กระทั่งผู้คนกับสิ่งที่เราเคารพนับถืออะไรแบบนี้ ที่เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือว่าเป็นเรื่องของศาสนา ผมคิดว่า AI เข้าไม่ถึงแน่นอน