Skip to main content

‘แพร จารุ’ เมื่อนักเขียนกลับบ้าน ผลิตอาหารทะเลแบรนด์‘พรุจาแร’

27 สิงหาคม 2567

 

องอาจ เดชา

 

‘แพร จารุ’ เป็นนามปากกาของนักเขียนหญิงที่เกิดในครอบครัวเกษตรกร ที่บ้านกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ระบบการศึกษาของไทยทำให้เธอออกจากบ้านเกิด เพื่อเข้าไปเรียนหนังสือในเมืองหลวงและเริ่มทำงานข่าวให้กับหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ ต่อมาเธอได้กลายเป็นนักเขียนเต็มตัว โดยมีผลงานเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่มด้วยกัน เรื่องที่สร้างชื่อและมีรางวัลกำกับ เป็นวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง ‘แผ่นหลังพ่อ’

แพร จารุ ทำหนังสือและเขียนหนังสือมานานกว่ายี่สิบปี เป็นคอลัมน์นิสต์ในหนังสือที่มีชื่อติดอันดับต้นๆ ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง เช่น มติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์บ้านในความรัก ใช้นามปากกา ปาจรีย์ ฐานสัปดาห์วิจารณ์ กุลสตรีฯลฯ และท้ายสุดเล่มสุดท้ายในการเขียนคอลัมน์คือ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

มีอยู่ช่วงหนึ่ง เธอใช้ชีวิตคู่กับ ‘ถนอม ไชยวงศ์แก้ว’ กวีนักเขียนเมืองเหนือ อยู่ที่กระท่อมทุ่งเสี้ยว อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ จนกระทั่งคู่ชีวิตจากไป ต่อมา เกิดการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย เมื่อวงการหนังสือซบเซา ประกอบกับเข้าสู่ยุครัฐบาลทหารครองอำนาจยาวนาน การส่งเสริมการอ่านการเขียนแทบจะไม่มีที่พอให้รู้ว่ามีอาชีพนี้ คือการประกวดและการสร้างรางวัล ซึ่งไม่ใช่การสร้างหรือสนับสนุนการอ่านการเขียนอย่างแท้จริง

นั่นทำให้เธอหวนกลับคืนบ้านเกิด บ้านกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และทำให้เธอเปลี่ยนอาชีพครั้งแรก หันมาเปิดขายอาหารทะเลออนไลน์ ภายใต้แบรนด์ "พรุจาแร" โดยเน้นอาหารดีมีคุณภาพที่บ้านเกิดของเธอเอง


หลังจากออกจากบ้านเกิดไปนานมาก อะไรทำให้ตัดสินใจกลับบ้าน?

แพร จารุ : การกลับบ้านเกิด คิดว่าคนส่วนใหญ่ต้องวิกฤติอะไรสักอย่าง และที่บ้านต้องมีฐานรองรับอยู่บ้าง เช่นทรัพย์สิน บุคคล มีคำกล่าวว่า มีที่พักพิงได้ยามเหนื่อยล้าที่ซึ่งไม่ซ้ำเติมยามล้มเหลว แต่นั่นแหละการกลับบ้านเกิดไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนกลับมาแล้วพบว่าอยู่ไม่ได้ เพราะเราถูกเนรเทศออกจากบ้านมาตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะอะไรทำให้เด็กต้องออกจากบ้านในวัยเยาว์ เพราะความเชื่อเรื่องการศึกษาไปเรียนไกลบ้านดีกว่าเรียนใกล้บ้าน และไม่ใช่เด็กทุกคนที่พร้อมจะออกจากบ้าน ไปอยู่กับใครก็ไม่รู้ ไปกินข้าวแบบไหนที่ไม่คุ้นเคย เด็ก ๆ ยังต้องการกินข้าวของแม่ ยังต้องการความรู้สึกปลอดภัย และเมื่อกลับมาก็จะกลายเป็นคนแปลกหน้าในบ้านเกิด ไม่คุ้นเคยกับเพื่อนบ้านญาติพี่น้องแต่คุ้นเคยกับเมืองใหญ่ที่ไม่รู้จักใคร

สำหรับตัวเองมีเหตุผลอยู่สามอย่าง อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง คือ หลังสามีตาย ก็ออกจากบ้านมาเช่าที่อยู่ใหม่ในพื้นที่กว้างกว่า คือมีเป้าหมายใหญ่ อยากทำห้องสมุดในพื้นที่กว้างๆ ชวนเพื่อนมารวมหุ้นทำสวนกุหลาบ เจ้าของเดิมทำสวนกุหลาบอยู่แล้ว  เราเช่าต่อและสร้างบ้านเล็กๆ อยู่กัน เช่าระยะยาว แต่เมื่อเช่าไปสักสามปี สวนกุหลาบถูกไฟไหม้ จากพื้นที่ข้างเคียงที่เผาหญ้าในสวนของเขา เขาชดใช้ให้เป็นต้นพันธ์กุหลาบเพื่อเราปลูกใหม่ เราก็ปลูกใหม่นะ แต่ไม่นานพื้นที่โดยรอบเปลี่ยนไป ด้านหน้าเจ้าของที่ปรับปรุงเป็นบ้านจัดสรร  ทางน้ำเปลี่ยนน้ำที่เคยไหลผ่านมาจากลำเหมืองเล็ก ๆ น้ำก็ผ่านไม่ได้ ช่วงแล้งจะขาดน้ำ แต่ในช่วงฝนน้ำอาจจะท่วมได้เพราะพื้นที่ข้างๆ ถูกถมสูงขึ้น

เราก็คืนเงินหุ้นให้เพื่อน พร้อมกับค่าเสียเวลาของเขาเล็กน้อยและคิดว่าต้องย้ายถิ่น ช่วงนั้นมีโควิดด้วย คือกลัวว่าจะไม่ได้กลับบ้าน จะไม่ได้พบหน้าแม่ กลัวว่าจะติดโควิดแล้วตายไปโดยไม่ได้พบแม่ หรือแม่อาจจะติดโควิดแล้วตายไป  ถือว่าเป็นเรื่องรุนแรงมากในช่วงนั้น  การตัดสินใจย้ายถิ่นกลับจึงเกิดขึ้น  เป็นช่วงจังหวะที่มีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยสองคน ก็คิดโครงการว่าจะทำร้านเล็ก ๆ มีขายอาหารสุขภาพ  ขายต้นไม้และขายอาหารทะเลแบบออนไลน์มากขึ้น  เพราะมาอยู่ในพื้นที่ เพื่อนจะขายกาแฟและทำแกลเลอรี่วาดรูป อีกคนจะทำงานช่าง เรามีบ้าน มีที่ดิน  มีทรัพยากรทางทะเลที่แปรรูปขายได้  ยังไม่ได้ทำอะไรเพื่อนคนหนึ่งตายไป อีกคนมีครอบครัวไป  ก็เลยเหลือคนเดียว แต่มีภาระหนึ่งที่ไปไหนไม่ได้ คือต้องดูแลแม่ที่สูงวัยมาก ปีนี้แม่อายุ 104 ปีแล้ว


ช่วยเล่าวิถีชุมชนบ้านเกิดในอดีต ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรท้องถิ่นเป็นยังไงบ้าง แตกต่างกับปัจจุบันมากน้อยเพียงใด?

แพร จารุ : แน่นอนต้องแตกต่าง สำหรับประเทศนี้ เรามีนักทำลายและเรียกว่าสร้างสรรค์ที่น่ากลัวคือทำลายเชิงนโยบาย เช่นเปลี่ยนทิศทางน้ำ ทำเขื่อนกั้นไว้และเราคิดว่าน้ำมันจะไหลเลี้ยวจากปากน้ำลงสู่ทะเลแบบรถยนต์ แต่น้ำทำอย่างนั้นไม่ได้ แม่น้ำที่เคยมีพื้นทรายก็จะเป็นโคลนตม  รวมทั้งการสัมปทานดูดทรายในแม่น้ำด้วย ถ้าเคยอ่านเรื่อง ‘แผ่นหลังพ่อ’ ที่เราเขียนถึงแม่น้ำกลายในวัยเยาว์นั้น  จะมีฉากที่พี่ชายงมกุ้งด้วยสองมือจับกุ้งก้ามกรามตัวใหญ่ ๆ มันจะซุกอยู่กับขอนไม้เก่า ๆ เอามือไปจับขึ้นมาได้เลย เดียวนี้ก็จะน้อยลง ทั้งอาหารจากทะเลและแม่น้ำ เมื่อก่อนที่นี่มีการทำนา แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว นาถูกเปลี่ยนเป็นสวนยางพาราในช่วงประมาณสี่สิบปี ช่วงนี้เรารู้สึกเสียดายนะ และจำได้ว่าเคยพูดเรื่องนี้นะว่านาข้าวจะเปลี่ยนกลับมาเป็นนาข้าวไม่ได้แล้วเมื่อเป็นอื่น

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันมาจากการส่งเสริมโดยรัฐด้วยนะ อย่างเช่น ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ จนพื้นที่เสียไป หมู่บ้านหายไปเป็นหย่อม ๆ เราเคยเขียนเรื่องสั้น ‘เรื่องบ้านเขารอบ’ พูดถึงการล่มสลายของครอบครัวนากุ้งและการย้ายถิ่น แต่ตอนนี้ก็ถือว่ายังอุดมสมบูรณ์ถ้าเทียบกับที่อื่น ๆ ที่เคยไปมา รู้สึกโชคดีที่เราไม่รุ่งเรืองด้านการท่องเที่ยว ทะเลยังเป็นแหล่งอาหาร  ทะเลในส่วนของหาดบ้านกลาย ท่าศาลา จะกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาราบเรียบ ไม่มีภูเขาให้มองเห็น ไม่มีเกาะให้ไปเที่ยว และน้ำทะเลตรงนี้ไม่เหมาะกับการว่ายน้ำ จะมีตัวไรเล็ก ๆ ที่ทำให้คันผิวซึ่งบางคนอาจจะแพ้ เราชอบนะ ทะเลที่เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์มาก มีสารอาหารที่เหมาะสมกับปลา คนที่นี่เขาภาคภูมิใจในอาหารทะเล และที่ดีสุดคือมีตัวเคยที่เอามาทำเคยกลาย (กะปิกลาย)


ยกตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงของชุมชนในปัจจุบันนี้ที่เห็นเด่นชัดมีอะไรบ้าง?

แพร จารุ : การเปลี่ยนแปลงของชุมชน สิ่งที่เห็นชัด ๆ ก็คือการใช้สารเคมี คือเราไม่แน่ใจว่ามีการตั้งมาตรฐานในการใช้มั้ย เราเข้าใจว่าไม่มี  หรือตรงไหนของพื้นที่ก็ใช้ได้หมดเลยเหรอ เช่น ป่าต้นน้ำที่มีสวนทุเรียน และมียา มีสารเคมีไหลลงมาตามน้ำ หรือในแหล่งชุมชนใกล้บ้านเรือน ใกล้โรงเรียน สิ่งแวดล้อมและสุขภาพถูกละเลย  ไม่นานผู้คนก็หลั่งไหลเข้าสู่โรงพยาบาล เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง  ไม่ใช่แค่คนผลิตกับคนบริโภคเท่านั้น การผลิตพวกเนื้อสัตว์อย่างเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ก็เช่นเดียวกัน  เราควรจะได้หายใจในอากาศที่บริสุทธิ์ก็ไม่ใช่แล้ว  แต่เราหายใจเอากลิ่นขี้หมูและกลิ่นสารเคมีเข้าไป  เราคิดว่ามันควรมีการควบคุมการใช้สารเคมี การปลูกทุเรียนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก มีการใช้สารเคมี น่าจะมากกว่าการปลูกผักเชิงเดี่ยวบนดอยด้วยซ้ำ

ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่เราเห็นอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ มีแรงงานข้ามชาติย้ายถิ่นฐานเข้ามามากขึ้น  มีแรงงานมาจากที่ต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งลาว พม่า เพื่อเข้ามารับจ้างพ่นยาใส่สารเคมีในสวนทุเรียน ซึ่งพวกเขามารับความเสี่ยงสูงมากเพื่อแลกกับเงิน  รายได้ในชุมชนดี ร้านขายปุ๋ยขายเคมีเยอะมาก เมื่อก่อนเราเคยไปแถวอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เห็นร้านขายยาขายเคมีการเกษตร รู้สึกตื่นตระหนก แต่เดี๋ยวนี้ทางภาคใต้น่าจะมากกว่าแล้วมั้ง  เอาเข้าจริง  เมืองน่าอยู่ไม่มีอยู่จริงในประเทศนี้ ลองหันไปดูรอบ ๆ สิ แทบทุกแห่งในประเทศนี้ต่างผจญกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง


ช่วยเล่าถึงแบรนด์ ‘พรุจาแร’ หน่อย

แพร จารุ : พรุจาแร เกิดขึ้นแบบธรรมชาติมาก เริ่มจากปลาเค็มก่อน คือเราชอบทำปลาเค็มฝากเพื่อน ๆ อยู่แล้ว ในช่วงหนึ่ง ออกเดินทางไปที่ทะเลกับเพื่อน ๆ น้อง ๆ พักที่ทะเลแถวชะอำ  ที่ทะเลชะอำมีปลาขึ้นมาจากทะเลขายในตลาดเล็ก ๆ เราเลยเอามาทำปลาเค็มให้กินกัน ตอนที่ตากปลาเค็มเราต้องใช้มุ้งกันแมลงวัน ปลาเค็มนอนมุ้งสีชมพู น้องคนหนึ่งพูดว่า นี่เป็นการแสดงนะ exhibition พรุ่งนี้เราย้ายที่พัก  เราก็ไปทำปลาเค็มที่อื่นต่อ เราทำนิทรรศการปลาเค็มไปตามทะเลต่าง ๆ และขายด้วย ใครอยากกินปลาทะเลชะอำ ตัวละสิบบาท ห่อด้วยกระดาษถนอมสายตาด้วย ลงออนไลน์  ใครอยากได้ปลาเค็มบ้าง มีเพื่อน ๆ เข้ามาสั่งกันเยอะ  ปลาก็หลากหลายมากเท่าที่ชาวประมงแถวนั้นจะเอามาขาย  ส่วนมากก็ตัวไม่ใหญ่นะ คนที่ได้ไปก็ยินดี เอาไปโพสต์ไปเขียนต่อ เราก็เดินทางจากชะอำ ประจวบ สงขลา ที่สนุกที่สุดก็ที่ท่าศาลา ไปพักบ้านอาจารย์ที่ ม.วลัยลักษณ์ ใช้เชือกแขวนเต็มหน้าบ้านพักเลย เราบอกว่าทะเลดี  เราจึงมีปลากิน ทะเลไม่ใช่แค่สถานที่ท่องเที่ยวนะ

ส่วนชื่อ ‘พรุจาแร’ ตั้งมาจาก ‘แพร จารุ’ นามปากกาของเรานี่แหละ  คือแพร จารุ ป็นนักเขียน ส่วนพรุจาแรนี้เป็นคนทำอาหารทะเล แบรนด์พรุจาแร  ก็เลยเกิดขึ้น หลังจากนั้นเราก็ทำปลาเค็มขาย เป็นปลาเค็มอย่างเดียว ช่วงแรก ๆ ก็ทำเป็นช่วง ๆ ในทุกครั้งที่กลับบ้าน ปีหนึ่งก็ประมาณสองสามครั้ง

แต่พอกลับมาอยู่บ้าน เราก็เริ่มทำมากขึ้น มีกะปิ  ทำกะปิคั่วกุ้ง  กะปิคั่วหมู เพราะเรามีกะปิดีจากเลกลาย ต่อไปก็เป็นกุ้งแห้ง ตามมาด้วยน้ำพริกแกงต่าง ๆ  ในช่วงแรกนี้เราทำน้ำพริกตำมือ หลังจากนั้นตำมือผสมด้วยเครื่องบด มีน้ำพริกมากมายหลายอย่าง แต่ที่มีชื่อมากในช่วงแรก ๆ คือน้ำพริกแกงเขียวหวาน กับน้ำพริกคั่วกลิ้ง แกงไตปลาแห้ง ต่อมาก็เริ่มขยับจากทำอาหารแห้งก็ขายอาหารสดแบบแช่แข็งไปกับรถห้องเย็นด้วย แต่ก็ไม่มาก เพราะขายเฉพาะปลาแถว ๆ ทะเลที่บ้าน ราคาสินค้าของเราอาจจะมีราคาสูงกว่าที่อื่น เพราะอาหารทะเลที่นี่ราคาสูง เป็นประมงชายฝั่ง เน้นปลอดภัยไม่ผ่านการแช่ ก็จะมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งเท่านั้น เราเน้นคุณภาพ การคัดสรรวัตถุดิบอย่างจริงจัง คืออร่อยอย่างมีคุณภาพ


มีคำแนะนำหรือให้กำลังใจคนที่อยากกลับบ้านเกิดในเวลานี้อย่างไรบ้าง?

แพร จารุ : การกลับบ้านเกิดไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ คุณต้องเตรียมใจระดับหนึ่งเหมือนกัน เราอาจจะมาเจอกับการที่ไม่เป็นอะไรสักอย่าง นอกบ้านคุณอาจจะเป็นที่รู้จัก เป็นคนทำงานศิลปะ เป็นนักเขียน เป็นนักขาย แต่เมื่อคุณกลับมาถึงบ้าน  คุณจะไม่เป็นอะไรสักอย่าง  คือไม่มีใครรู้จัก ไม่ได้รับความเชื่อถืออะไร ถ้าคุณไม่ใช่ข้าราชการที่เกษียณมา ดังนั้นการกลับบ้านต้องใช้ความกล้าหาญและถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เหมือนเรียนรู้ชีวิตใหม่แหละ และคุณก็จะเจอคำถามกับตัวเองว่า กลับมาทำไมนะ  

แต่หลังจากเกิดโควิดผู้คนกลับบ้านมากขึ้น  ส่วนหนึ่งเพราะมีทรัพยากรที่บ้าน ก็คือมีบ้านให้กลับ  แต่ต้องมาหาเอาเองว่าจะทำอะไรต่อ  จำนวนมากกลับบ้านเกิดมาเปิดร้านกาแฟ ซึ่งก็พออยู่ได้ เพราะร้านกาแฟเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทำได้คุ้นเคย ทำไปหยุดไปก็เยอะ  อีกส่วนหนึ่งที่รู้จักทำสวนต่อจากพ่อแม่ซึ่งก็แรงน้อยและไม่ค่อยมีทักษะจึงเหนื่อยยากมาก  และได้ผลผลิตน้อย ซึ่งกรณีนี้อาจะต้องกลับมาให้เร็วขึ้นคือมาในช่วงที่เรายังมีแรงอยู่ จะเป็นแรงบันดาลใจหรือเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจ  แต่ที่มีหลายคนเขียนมาพูดคุยบ้างเรื่องการทำการขายอาหารทะเลแบบออนไลน์ กับเรื่องการดูแลแม่ นี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจ ให้เพื่อน ๆ หลายคนต้องกลับบ้านมาดูแลพ่อแม่ที่แก่มากแล้ว


ผู้ที่สนใจอาหารทะเล หรือน้ำพริกเครื่องแกงของ ‘พรุจาแร’ สามารถติดต่อได้ทางเฟสบุ๊กเพจ อาหารทะเล พรุจาแร Prujarare หรือติดต่อโดยตรงที่เฟสบุ๊กส : แพร จารุ ทองเกลี้ยง เรามีอาหารทะเลหลากหลาย ปลอดภัย ไม่มีสารปรุงแต่ง สดและแห้งอย่างเป็นธรรมชาติ จัดส่งทางออนไลน์ถึงบ้านกันเลย


 

‘แพร จารุ’ เมื่อนักเขียนกลับบ้าน ผลิตอาหารทะเล
‘แพร จารุ’ เมื่อนักเขียนกลับบ้าน ผลิตอาหารทะเล
‘แพร จารุ’ เมื่อนักเขียนกลับบ้าน ผลิตอาหารทะเล
‘แพร จารุ’ เมื่อนักเขียนกลับบ้าน ผลิตอาหารทะเล
‘แพร จารุ’ เมื่อนักเขียนกลับบ้าน ผลิตอาหารทะเล
เนื้อหาล่าสุด