Skip to main content

‘ห้วยเมี่ยงโมเดล ปู่หลู่ ฟาร์ม’ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของอดีตหน่วยรบพิเศษ เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยให้คนเวียงแหง

6 กันยายน 2567

 

องอาจ เดชา


จากอดีตทหารหน่วยรบพิเศษ ร.ต.กมล ปู่หลู่ ลาออกมาทำเกษตรอินทรีย์ที่ ‘เวียงแหง’ บ้านเกิด และสร้าง ‘ห้วยเมี่ยงโมเดล (ปู่หลู่ฟาร์ม)’ ขึ้น มีเป้าหมายเพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยที่ปลอดภัยจริงๆ ให้กับครอบครัวและชุมชนบ้านเกิด รวมไปถึงทำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทำพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเยาวชนและคนที่สนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบัน เขาเป็นประธานกลุ่มเกษตรและป่าสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่   

                                                        

เหตุผลที่ตัดสินใจกลับมาทำเกษตรอินทรีย์ที่บ้านเกิด?

ร.ต.กมล : ผมรับราชการทหารอยู่หน่วยรบพิเศษ ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่ง เคยเข้าไปทำงานในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า เพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพให้ชาวบ้านเรื่องเกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ หลังจากนั้น ผมเลยตัดสินใจลาออกจากราชการ เป้าหมายของผม ก็คือ กลับมาบ้านเกิดที่บ้านแม่หาด อำเภอเวียงแหง โดยเริ่มต้นที่สวนชา ป่าเมี่ยงเก่าแก่ของพ่อนี่แหละ พอทำได้สักพัก ผมได้ปรับเปลี่ยนทุ่งนาจนกลายมาเป็นฟาร์มปลูกผักอินทรีย์ เราตั้งใจปลูกผัก เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทุกอย่างออร์แกนิกล้วนๆ เอาไว้กินในครอบครัว และให้กับพี่น้องในชุมชนบ้านเกิดได้กินอาหารที่ปลอดภัยจริงๆ เป็นการสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยให้กับชุมชน และถ้ามีเหลือ เราก็ขยายไปยังชุมชนใกล้เคียง และนำไปวางจำหน่ายในกาดสีเขียวที่บ้านป่าไผ่ เมืองแหงด้วย


เกษตรอินทรีย์แตกต่างยังไงกับการทำเกษตรทั่วไป?

ร.ต.กมล : ถ้าเราศึกษาเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ จะรู้ว่า เกษตรอินทรีย์จะห้ามเผาตอซัง ห้ามเผาเศษวัชพืชทุกชนิด ดังนั้น ถ้าเราหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันทั้งหมด หรือว่ามีชาวบ้านมาทำเกษตรอินทรีย์สักครึ่งหนึ่งของอำเภอเวียงแหง ผมว่าปัญหาเรื่องไฟป่าหมอกควันที่เราเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่ต้องไปวิตกกังวลกันแล้ว เพราะว่าการทำเกษตรอินทรีย์ในทุกพื้นที่ จะช่วยป้องกันไฟป่าและแก้ปัญหาเรื่องหมอกควันไฟป่าได้ เราไม่เผาเลย เศษผักเศษหญ้าทุกอย่างเอามาทำปุ๋ยหมักหมดเลย  


อยากให้เล่าที่มาของ “กลุ่มเกษตรและป่าสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่”

ร.ต.กมล : กลุ่มเกษตรและป่าเพื่อการท่องเที่ยวอำเภอเวียงแหง ตอนนี้ก็มีอยู่ทั้งหมด 9 รายด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือกันและกัน ที่ผ่านมา ผมก็ได้เข้าไปหนุนเสริมให้กับคนเวียงแหง ได้หันมาสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ และช่วยกันลดเลิกละในการเผาและการใช้สารเคมีในการเกษตร ก็ได้ผลพอสมควร ถือว่าเป็นเครือข่ายองค์กรที่พอมีชื่อเสียงทำให้คนรู้จักกันในระดับหนึ่ง ในส่วนการทำงานของกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะไปในแนวทางเดียวกัน จะไม่มีปัญหา ทำให้คนสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น มีคนสนใจผักอินทรีย์กันมากขึ้น


ได้ขยายแนวคิดเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์อย่างไรบ้าง?

ร.ต.กมล : ทุกวันนี้ เรายังผลิตอาหารเกษตรอินทรีย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น เราจึงอยากขยายแนวร่วมออกไปอีกให้มากกว่านี้ โดยนำผลงานที่เราได้ลงมือทำแล้วประสบความสำเร็จ ไปนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ให้คนได้รู้ได้เห็น สร้างแรงบันดาลใจ แล้วมาเข้าร่วมกลุ่ม หรือถ้าไม่เข้าร่วมกลุ่ม แต่กลับไปทำเองที่บ้านก็ได้

เริ่มแรกมีบางคนอาจรู้สึกอายที่เมื่อก่อนเคยมองว่า ทำเกษตรอินทรีย์แล้วเอาอะไรกิน สู้ปลูกข้าวโพดดีกว่า ปีหนึ่งได้เงินเป็นแสนๆ แต่พอเอาเข้าจริง ไปต่อไม่ไหว มีแต่ต้นทุน เป็นหนี้เป็นสิน ก็เริ่มปรับเปลี่ยน ลดพื้นที่การปลูกข้าวโพด แล้วแบ่งพื้นที่มาทำเกษตรอินทรีย์กันบ้างแล้วก็มี

ทุกวันนี้ เกษตรกร ชาวบ้านในเวียงแหง ส่วนใหญ่ยังตีโจทย์ตรงนี้ไม่แตก ยังมีการเผาเศษวัสดุในพื้นที่ทำการเกษตรกันอยู่ ทั้งๆ ที่เราสามารถนำเอามาเป็นปุ๋ยหมักอะไรได้หมด แม้กระทั่งหญ้า ทำไมต้องไปเกลียดชังหญ้า ต้องพ่นยาฆ่าหญ้า ทำไมไม่มองว่าหญ้าก็มีประโยชน์ ช่วยคลุมดินให้เรา หรือตัดเอามาทำปุ๋ยหมักได้หมด รวมไปถึงการไปพ่นยาฆ่าแมลง มองว่าเป็นศัตรูพืช ทั้งๆ ที่มีแมลงหลายตัวที่มีประโยชน์คอยกำจัดศัตรูพืชบางตัว พอถูกยาก็ตายไปหมดเลย รวมไปถึงสัตว์ที่เป็นอาหารให้เรา อย่าง ปู ปลา กบเขียดอะไรก็ตายไปหมด ก็เพราะว่าชาวบ้านหลายคนยังไม่มองกันตรงนี้ จะคิดถึงตัวเงินมากเกินไป

 
จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้คนเวียงแหงหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น

ร.ต.กมล : ใช่ครับ จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้คนเวียงแหงเริ่มตระหนักเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ในขณะเดียวกัน หลายคนมาสนใจเรื่อง “ผักพื้นบ้าน อาหารเป็นยา” กันมากขึ้น จนมีการรวมกลุ่มกันปลูกผักอินทรีย์ ปลูกผักปลอดภัย แล้วสร้างตลาดสีเขียว ขึ้นมาเพื่อจำหน่ายให้กับชาวบ้าน คนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ 

โดยทุกวันที่ 5 ของเดือน จะมีการรวมกลุ่มของเครือข่าย ทสม. เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน อำเภอเวียงแหง และสมาชิกกลุ่มเกษตรและป่าเพื่อการท่องเที่ยวอำเภอเวียงแหง จะนำพืชผักอินทรีย์ ผักปลอดสาร อาหารปลอดภัย ผลผลิตจากฟาร์มของตนเองมาวางจำหน่ายในตลาดสีเขียว หรือถนนสีเขียว บริเวณบ้านป่าไผ่ ใกล้ๆ กับโรงพยาบาลเวียงแหง โดยมีลูกค้าที่เป็นทั้ง ข้าราชการ ประชาชน และนักท่องเที่ยวแวะเวียนกันเข้ามาเลือกชมเลือกซื้อผักอินทรีย์ ผักพื้นบ้าน อาหารปลอดภัยกันอย่างคึกคัก

จากการสังเกตดู หลังจากเราเริ่มมีตลาดสีเขียว ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่รักสุขภาพ เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาล ข้าราชการ ครูในโรงเรียน รวมไปถึงชาวบ้าน ที่เป็นลูกหลานคนเวียงแหง ที่เคยเห็นพ่อแม่ทำสวน พ่นสารเคมี แล้วป่วยเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไปตรวจแล้วเกิดสารพิษตกค้าง ป่วยเป็นโรคไต มะเร็ง เหล่านี้ ก็จะเริ่มหันมาสนใจรักสุขภาพกันมากขึ้น ประเมินได้ว่า ตลาดสีเขียว ที่เรากำลังทำกันอยู่นี้ ถือว่ามีกระแสตอบรับที่ดีมาก แต่ปัญหาตอนนี้คือ เครือข่ายของเรายังมีน้อย ไม่เพียงพอต่อผู้บริโภค เพราะปกติทุกวัน ก็จำหน่ายในชุมชนทุกวัน เหลือไว้แปลงสองแปลง เอาไว้เก็บมาวางขายที่ตลาดสีเขียว ซึ่งยังไม่เพียงพอ


มีความกังวลไหมว่าปลูกผักอินทรีย์จะไปไม่รอด หรือจะมีตลาดรองรับไหม?

ร.ต.กมล : ทุกวันนี้ ผมเองไม่เคยคิดหรือวิตกกังวลเลยว่า ปลูกผักแล้วจะได้ขายมั้ย จะมีตลาดรองรับหรือเปล่า คิดอยู่อย่างเดียว คือ ทำอย่างไรถึงจะมีคนเข้ามาร่วมเครือข่าย มาช่วยกันปลูกผักอินทรีย์ ให้มันพอเพียงสำหรับให้ลูกค้าสายรักสุขภาพของเรา

ยกตัวอย่าง ลูกค้าเฉพาะโรงพยาบาลแห่งเดียว ที่ต้องการผักอินทรีย์ ไปทำอาหารกลางวันในโรงพยาบาล ก็ยังไม่พอเลย ขนาดผม แค่ปลูกผักส่งให้เฉพาะโรงเรียนแห่งเดียว ก็ไม่พอ ไม่ไหวแล้ว แต่นี่ มีกลุ่มลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ทั้งหมด 12 โรงเรียน กับอีก 1 โรงพยาบาล ที่ยังต้องการพืชผักอินทรีย์กันอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเขารับซื้อหมด เพราะว่าทุกวันนี้ เรายังขายในราคาพอๆ กับพืชผักตามตลาดทั่วไป


คุณภาพ ต้นทุน ราคา การทำเกษตรอินทรีย์แตกต่างกับการทำเกษตรที่ใช้สารเคมีอย่างไรบ้าง?

ร.ต.กมล : ยกตัวอย่าง ผมขายกะหล่ำอินทรีย์ กิโลละ 30 บาท เท่ากับราคากะหล่ำทั่วไปที่ใส่สารเคมี แล้วให้ลูกค้าเขาเลือกเอาว่าจะซื้อที่ไหนดี  ซึ่งบางที กะหล่ำในตลาดทั่วไป ราคาอาจบวกแพงขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ เพราะแม่ค้าต้องลงไปรับซื้อจากในเมืองที่ตลาดเมืองใหม่ ขนขึ้นมาขายที่เวียงแหงอีกทีหนึ่ง ซึ่งผมรู้สึกหดหู่มาก  แต่ราคาพืชผักอินทรีย์ บางครั้งอาจมีราคาสูงกว่าไปบ้างก็ยังได้ ก็เนื่องจากมันเป็นผักที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และถือว่าเป็นราคาความใส่ใจ เพราะว่าบางครั้งดึกดื่นค่อนคืน ตีหนึ่ง เราตั้งนาฬิกาปลุกเอาไว้ ต้องตื่นไปดูพืชผักว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ซึ่งเราใส่ใจกันอย่างนี้ กว่าจะได้พืชผักที่มีคุณภาพสมค่ากับราคาจริงๆ


จากเกษตรอินทรีย์ คิดว่าจะพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ยั่งยืนได้ยังไง?

ร.ต.กมล : ผมคิดว่าต่อไปเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรนี้จะมาแรงนะ  โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่ากระแสการท่องเที่ยวแบบนี้จะมาแรงแน่ๆ  แต่มันมีประเด็นอยู่ที่ว่า คุณจะทำการท่องเที่ยวในเชิงไหน ถ้าจะเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน  จะโดยชุมชนจริงไหม หรือมีเพียงแค่คนไม่กี่คนที่จะได้รับผลประโยชน์ แล้วไปกระทบกับชุมชนหมู่บ้าน จนถึงขั้นรถสัญจรแน่นไปหมด จนเข้าออกหมู่บ้านไม่ได้ เหมือนที่ม่อนแจ่ม ซึ่งนี่คือปัญหาที่อาจจะตามมาได้  

เพราะฉะนั้น เราจะต้องมาคิด มาตั้งคำถามกันว่า การท่องเที่ยวจะช่วยสร้างรายได้ หรือว่ามาสร้างปัญหาให้กับชุมชน ดังนั้น เราจะต้องวางระบบกันให้ดีๆ ก่อนที่จะทำการท่องเที่ยว ก็ต้องมองไปถึงอนาคต ว่าทำแล้ว มันจะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง เราจะต้องหาทางป้องกันเอาไว้ก่อน ไม่ใช่ลงมือทำไปแล้วมาคิดแก้ปัญหากันทีหลัง ถ้าเจอรูปแบบนี้ การท่องเที่ยวเวียงแหง อาจจะแค่บูมปีเดียวแล้วจบเลยก็เป็นไปได้  

สมมุติถ้าเกิดเป็นกระแสขึ้นมา แล้วเกิดมีนักท่องเที่ยวเกิดอุบัติเหตุ รถตกเหว มีคนโดนปล้นชิง ฆ่า เรามีทีมดูแลเรื่องความปลอดภัยกันดีหรือยัง สิ่งเหล่านี้ เราจะต้องมาช่วยกันคิดและวางแผนกันให้ดีๆ เพราะโดยส่วนตัวผมคิดว่า การท่องเที่ยวมันไม่ใช่แค่คิดว่าจะสร้างรายได้ ชาวบ้านจะได้ประโยชน์นั้น ผมไม่ค่อยเชื่อ ซึ่งจริงๆ มันอาจจะสร้างปัญหามากกว่าจะได้ประโยชน์ จะเห็นได้จากหลายๆ พื้นที่ที่จัดการท่องเที่ยว

ถามว่า อยากทำมั้ย ถ้าจะทำการท่องเที่ยวจริงๆ ก็ต้องให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จริงๆ โดยเราจะต้องมีการวางแผนในเรื่องการบริหารจัดการ ไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ต้องมีกฎกติกาที่ชัดเจน ยกตัวอย่าง บางชุมชนบางหมู่บ้านนับถือศาสนาคริสต์ เขาจะห้ามเรื่องสุราของมึนเมา แต่ถ้ามีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มเข้าไปแล้ว ดื่มเหล้าเมายาเสียงดังในหมู่บ้าน ซึ่งย่อมทำให้ชาวบ้านมีความลำบากใจกัน ดังนั้น ถ้าจะทำการท่องเที่ยวเวียงแหงกันจริงๆ ก็ต้องมีการวางแผนจัดการกันดี จะทำเป็นโฮมสเตย์ ก็ต้องจัดการกันให้เหมาะสมตามสภาพกำลังของแต่ละบ้าน แต่ละครอบครัว ไม่ใช่ไปกู้หนี้ยืมสินมาทำ จนเกินกำลังของตัวเอง ทำซุ้ม สร้างที่พักไว้รองรับ แบบนั้นมันไม่ใช่แนวทาง เพราะนั่นมันก็คือรีสอร์ทดีๆ นั่นเอง


การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม เน้นเรื่องสุขภาพความปลอดภัยน่าจะตอบโจทย์มากกว่า?

ร.ต.กมล : ถูกต้อง ถ้าทุกคนหันมาทำการท่องเที่ยวในเชิงเกษตรเหมือนกับของผม อาจตอบโจทย์นี้ได้ เพราะมันไม่ได้กระทบต่อชุมชน เพราะพื้นที่ฟาร์มของเรานั้นอยู่นอกชุมชน ห่างจากชุมชน แล้วถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้ศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์ ให้อาหารหมู อาหารไก่ มาเก็บผัก ตกปลา แล้วทำอาหารทานด้วยกัน เราก็จะจำกัดรองรับได้ไม่เกิน 3 ครอบครัว หรือไม่เกิน 20 คน  ถ้ามากกว่านี้ เราก็ไม่ไหว ก็จะแนะนำส่งต่อไปยังฟาร์มอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายด้วยกัน

คนที่อยากทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน อันดับแรก ต้องทำครอบครัวให้มีอยู่มีกินก่อน ไม่ใช่จะมารอรับรายได้จากนักท่องเที่ยวอย่างเดียว แบบนั้นไม่รอด แต่ถึงแม้ไม่มีนักท่องเที่ยว เราก็อยู่ได้ มีแหล่งอาหารปลอดภัยไว้กิน เหลือก็นำไปขายข้างนอก แบบนี้เราถึงจะอยู่รอดและไปได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือท่องเที่ยวโดยชุมชน เราจะต้องมาตีโจทย์ ตีความหมายกันจริงๆ การท่องเที่ยวโดยชุมชน เราจะต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม ช่วยกันคิด วางแผน บริหารจัดการกันเอง และเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องไม่ไปก้าวก่ายเข้าไปยุ่งชาวบ้าน แต่อาจมาแนะนำมาเป็นที่ปรึกษาให้ได้ แต่ต้องให้ชุมชนจัดการกันเอง

ผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ อยากท่องเที่ยวศึกษาดูงาน หรือสนใจสินค้าออร์แกนิก 
ติดต่อได้ที่เฟสบุ๊ก: ห้วยเมี่ยงโมเดล ปู่หลู่ฟาร์ม หรือที่ ห้วยเมี่ยงโมเดล (ปู่หลู่ฟาร์ม) ที่ตั้ง หมู่ 1 บ้านแม่หาด เมืองแหง อำเภอ เวียงแหง เชียงใหม่ 50350

 

 

‘ปู่หลู่ฟาร์ม’ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของอดีตหน่วยรบพิเศษ เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยให้คนเวียงแหง
‘ปู่หลู่ฟาร์ม’ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของอดีตหน่วยรบพิเศษ เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยให้คนเวียงแหง
‘ปู่หลู่ฟาร์ม’ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของอดีตหน่วยรบพิเศษ เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยให้คนเวียงแหง
เนื้อหาล่าสุด