
ม.ขอนแก่น หนุนเกษตรกรเลี้ยง-ผลิตอาหารสำหรับ 'จิ้งหรีด' ลดต้นทุน เสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชน
“จิ้งหรีด” เป็นแมลงที่ได้รับความสนใจจากการที่เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง จนเกิดกระแสการบริโภคโปรตีนจากแมลงทั้งในยุโรปและอเมริกา โดยถูกยกให้เป็น "อาหารแห่งอนาคต" มีการคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมโปรตีนจากแมลงจะขยายตัว 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งผู้ซื้อรายใหญ่คือ บริษัทอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตนมทางเลือก และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย มีเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดมีมากกว่า 20,000 ราย โดยที่มากกว่าร้อยละ 80 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 แต่ทว่า กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและส่งออกต่างประเทศได้ เป็นกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคกลาง และพื้นที่อื่นๆ
ดร.อนุวรรตน์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้า โครงการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการผ่านกระบวนการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าใหม่ของการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ตลาดจิ้งหรีดมีมูลค่ารวมถึง 23 ล้านบาท แต่เม็ดเงินเหล่านั้นกลับไปถึงมือกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่เพียง 7 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรต้องซื้ออาหารจิ้งหรีดสำเร็จรูปจากนอกพื้นที่ ดังนั้นในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (New Value Chain) ของการเลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่ สิ่งที่ดำเนินการคือ “การพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด” เพื่อทำให้เกิด “ผู้ผลิตอาหารจิ้งหรีดในพื้นที่” ตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบจากอาหารสัตว์ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ในพื้นที่ เพื่อปิดช่องว่าง ลดการพึ่งพิงห่วงโซ่ (Chain) จากนอกพื้นที่ และออกแบบการจัดการธุรกิจที่จะทำให้รายได้กระจายสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างทั่วถึงและเหมาะสม
ทีมวิจัย ร่วมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรจำนวน 124 คน รวมกันพัฒนาศักยภาพในการ “ผลิตอาหารจิ้งหรีดต้นทุนต่ำโดยใช้ทรัพยากรพื้นถิ่น” โดยสูตรอาหารสำเร็จรูปสูตรใหม่สามารถลดต้นทุนการผลิตจิ้งหรีดจาก 71.99 บาท/หนึ่งกิโลกรัมจิ้งหรีด เหลือเพียง 61.06 บาท/หนึ่งกิโลกรัมจิ้งหรีด
แต่ที่สำคัญคือ เกษตรกรสามารถ “เลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาดได้” โดยในส่วนนี้เป็นการถอดความรู้ประสบการณ์ เทคนิค และภูมิปัญญาในการเลี้ยงจิ้งหรีดของเกษตรกร นำจุดเด่นของแต่ละกลุ่มมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันสร้างเป็น “องค์ความรู้ร่วม” ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้
นอกจากนั้น ทีมวิจัยยังเข้าให้ความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจ และเป็นพี่เลี้ยงให้กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง โดยเสริมทักษะในบริหารจัดการเชิงธุรกิจในแบบ Local Enterprise หรือรูปแบบธุรกิจปันกัน วิถีแห่งการเกื้อกูล รวมถึงความพยายามในการสร้างหรือพัฒนา “ผู้รวบรวมในพื้นที่” ที่จะทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางที่สำคัญของห่วงโซ่คุณค่าใหม่ที่จะสามารถทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมและเป็นธรรม
ดิส หาญสวัสดิ์ ตัวแทนผู้ประกอบการจาก ภูดิศ บั๊กฟาร์ม และวิสาหกิจชุมชนจิ้งหรีดอำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หากผู้ผลิตสามารถควบคุมปัจจัยการผลิตด้านความสะอาด อาหาร และอุณหภูมิได้ ด้วยเทคนิคและวิธีการที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ก็จะลดเวลาการผลิตจิ้งหรีดจาก 45 วัน เหลือเพียง 34-36 วันเท่านั้น
ดร.อนุวรรตน์ กล่าวว่า เดิมทีชาวบ้านมองการเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นวิถีชีวิตคล้าย ๆ กับการทำนา จึงต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่ เสริมมุมมองเรื่องการทำธุรกิจให้รู้ว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดคือการลงทุนทำธุรกิจ เมื่อได้เงินมาก็ต้องจัดการแบ่งส่วนไว้สำหรับการเลี้ยงรอบต่อไป เพื่อไม่ให้ต้องเป็นหนี้เพิ่ม ดังนั้นเป้าหมายของงานวิจัยชิ้นนี้นอกจากต้องการให้เกษตรกรมีศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้คุณภาพแล้ว ยังต้องสามารถจัดการธุรกิจของตัวเองได้ด้วย สามารถวิเคราะห์ทิศทางหรือเป้าหมายต่อไปโดยเฉพาะในเรื่องของตลาด และศึกษามาตรฐานของผลผลิตจิ้งหรีดที่เข้าเกณฑ์การส่งออกไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงความสนใจหรือ “คุณค่า” ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในปัจจุบันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ยิ่งขึ้น
ล่าสุด เกษตรกรทั้ง 11 กลุ่ม ที่เข้าร่วมโครงการ ได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายความร่วมมือหน่วยธุรกิจในพื้นที่” ที่นอกจากจะสร้างอำนาจในการต่อรองกับพ่อค้าคนกลางแล้ว ยังรวมถึงช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งเรื่องอาหาร รวมถึงการจัดหาจิ้งหรีดให้ได้ตามออร์เดอร์ที่รับมา ส่วนในระยะต่อไปทีมวิจัยตั้งเป้าหมายว่าจะยกระดับเป็นเครือข่ายธุรกิจกันร่วมกับภาคีเครือข่ายอีกหลายแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำหรับการส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่ได้เกิดผลลัพธ์ใน 3 ระดับ โดยมีทั้งกลุ่มที่ “ตั้งไข่ได้” “เติบโตได้” และ “ปล่อยมือได้ ซึ่งในกลุ่มที่ปล่อยมือได้คือเขาสามารถหล่อเลี้ยงตนเอง วางแผนธุรกิจ วางแผนตลาด และยังเป็นผู้รวบรวมสินค้าจากชุมชนไปจำหน่ายได้ด้วย
อรวรรณ วอทอง หนึ่งในนักวิจัยชุมชน และหัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เดิมทีเลี้ยงจิ้งหรีดขายตามฤดูกาลผ่านพ่อค้าคนกลาง และโดนกดราคา เพราะการเลี้ยงยังไม่ได้มาตรฐาน จึงตัดสินใจกู้เงินจาก ธกส. โดยได้รับการหนุนเสริมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการจัดทำแผนธุรกิจ มาทำโรงเรือนจิ้งหรีด และเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาจนได้มาตรฐานฟาร์ม GAP ปรับกระบวนการเลี้ยง ทำให้สามารถผลิตจิ้งหรีดคุณภาพและมีเงินมาชำระหนี้จากการสร้างโรงเรือน จนกระทั่งปลดหนี้ได้ในปีนี้ และสามารถจัดการเงินหมุนเวียนเพื่อการลงทุนต่อไปได้
อรวรรณกล่าวว่า ยังมีปัญหาที่กลุ่มและเครือข่ายเผชิญ คือ “ราคา” และ “ตลาด” ที่ไม่คงที่ สิ่งที่กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดอยากเห็น คือตลาดกลางหรือจุดรวมจิ้งหรีดในตลาดระดับภูมิภาค ที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดได้เดินตามเส้นทางของธุรกิจที่เป็นธรรม โดยไม่ถูกตัดราคาจากพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป
“การเลี้ยงจิ้งหรีด ไม่มีการแข่งขัน หากเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันได้ หากแบ่งปันกันได้ ทั้งความรู้ นวัตกรรม และตลาด ก็จะเกิดความยั่งยืนในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและผู้ประกอบการที่เลี้ยงเป็นอาชีพหลัก ทั้งตัวเกษตรกร คนตกงาน หรือถูกเลิกจ้าง ก็สามารถกลับมาเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นทั้งอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมอยู่ในชุมชนได้อย่างมั่นคง ซึ่งสำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี ที่ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์เป็นจี้งหรีดตัว แต่เราก็มองถึงการก้าวไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการส่งออกอย่างมีมาตรฐานด้วยเช่นกัน” อรวรรณกล่าว