Skip to main content

ทางแพร่ง ‘กัญชาไทย’ คุยกับ ‘ประสิทธิชัย หนูนวล’ เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย

27 สิงหาคม 2567

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ‘กัญชา’ ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม ระหว่างการเป็นยาเสพติดกับการเป็นเป็นยาและพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่หลายคนเชื่อว่าหากปลดล็อกกฎหมายได้ จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโต เนื่องจากกัญชาเป็นที่ต้องการของตลาดในหลายมิติ ทั้งการแพทย์และสันทนาการ นอกจากนี้ ยังเป็นพืชท้องถิ่นที่เคยถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางยามากมาย มีตำรับตำราสมุนไพรกล่าวถึงไว้อย่างชัดเจน ก่อนจะถูกประกาศให้เป็นยาเสพติด และได้รับการปล็อดล็อกด้วยการนำออกจากบัญชียาเสพติดในรัฐบาลก่อน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการนำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเมื่อ 2 ปีก่อน มีการนำเสนอข่าวผลกระทบจากกัญชาออกมามากมาย จนกลายเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลชุดปัจจุบัน มีแนวคิดที่จะนำกัญชากลับเข้าบัญชียาเสพติดอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงคัดค้านจากฝั่งสนับสนุนการนำกัญชาขึ้นมาบนดิน

เราได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องนี้กับ ‘ประสิทธิชัย หนูนวล’ เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ที่ยืนยันว่า การนำกัญชาออกมาจากบัญชียาเสพติดเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ก็เห็นด้วยกับการให้มีกฎหมายควบคุม เนื่องจากสามารถเป็นทางออกให้กับเรื่องนี้ได้ดีกว่า ทั้งยังจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเข้าถึงยา รวมทั้งทำให้เกิดการกระจายรายได้จากเศรษฐกิจกัญชาไปที่ชุมชนท้องถิ่น ไม่เกิดการผูกขาดดังที่คนบางกลุ่มพยายามให้เกิดขึ้นด้วยการสร้างภาพให้กัญชากลายเป็นปีศาจมากกว่าที่ควรจะเป็น


ทำไมคัดค้านการนำกัญชากลับเข้าสู่บัญชียาเสพติด

ประสิทธิชัย : กัญชาเป็นความมั่นคงทางยาของประชาชน เมื่อไหร่ก็ตามที่มันอยู่ในกฎหมายยาเสพติด ประชาชนก็ไม่สามารถใช้ยาจากกัญชาได้ตามวิถีของตัวเอง ซึ่งจะไปกระทบสิทธิอื่นด้วย โดยเฉพาะสิทธิในการปลูกซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก เนื่องจากกัญชาที่ประชาชนใช้ควรเป็นกัญชาที่ปลูกเองได้ ถ้านำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด คนที่ปลูกได้จะมีกลุ่มเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หมายถึงใครที่จะใช้กัญชาต้องใช้จากคนกลุ่มนี้คนเดียว

ประเด็นสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันพยายามพูดว่า แม้จะเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดก็สามารถใช้ทางการแพทย์ได้ เขาบอกกับสังคมอย่างนั้น แต่ผมคิดว่าเราต้องพูดกันที่รายละเอียด เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่จะใช้ยากัญชาได้ต้องมีใบอนุญาตจากแพทย์ และคนที่ที่จะขายได้ก็คือเภสัชกร ฉะนั้นพูดง่ายๆ หมอจะสั่งกัญชาให้ประชาชนใช้จะเอามาจากไหน ก็มาจากบริษัทยาหรือบรรษัทใหญ่ เพราะสามารถทำตามสเป็คได้ ยาชาวบ้านก็ไม่มีโอกาสจะอยู่ในโรงพยาบาลทำการรักษาใครทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อบอกว่ากัญชาเป็นยาได้ แต่ประชาชนจะไม่ได้ใช้เพราะต้องมีใบอนุญาตจากหมอ ต่อให้คนที่หมออนุญาตแล้วก็ต้องใช้กัญชาจากบริษัทยา

ที่สำคัญ เมื่อเป็นแบบนี้จะทำให้เกิดปรากฎการณ์อย่างหนึ่งคือ ยากัญชาจะแพงมากจนประชาชนไม่สามารถใช้ได้ เพราะคนที่จ่ายยาคือหมอและเภสัชกร ส่วนยาที่เกิดจากบริษัทยายังไงก็แพง ไม่สามารถเทียบกับยาที่ชาวบ้านปลูกเองได้เลย ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศอังกฤษ มีงานวิจัยชี้ว่าการที่รัฐบาลประกาศเอากัญชาเป็นยาเสพติดแล้วอนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์ได้ ปรากฏว่าคนอังกฤษไม่ได้ใช้เพราะมีราคาแพง เพราะฉะนั้น การเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดจึงเป็นการผูกขาดเฉพาะให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หมายถึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและบรรษัทที่มีกำลัง ส่วนประชาชนที่จะได้ใช้ก็มีน้อยมาก ต่อให้มีโอกาสใช้ก็ต้องหาเงินมาซื้อจากบริษัทยาผ่านมือหมอและเภสัชกร เรื่องนี้จึงเป็นข้ออ้างให้กลุ่มทุนที่จะผลิตกัญชา


แล้วจะชี้แจงอย่างไรต่อผลกระทบจากกัญชาที่มีการตั้งคำถามจากสังคมในเวลานี้

ประสิทธิชัย : ทั่วโลกในทุกประเทศเท่าที่มีบทเรียนมา จากการศึกษาพบว่าสามารถใช้กฎหมายปกติในการควบคุมข้อเสียเพื่อเอาข้อดีมาใช้ กัญชาไม่จำเป็นต้องควบคุมด้วยกฎหมายยาเสพติด แต่สามารถใช้กฎหมายปกติที่เรียกว่าพระราชบัญญัติกัญชาได้

ข้อเสนอของเรายืนบนหลักการคือ รัฐบาลต้องไม่ตั้งธงว่ากัญชาจะคุมโดยกฎหมายแบบใด ผมคิดว่าสังคมตกผลักแล้วว่ากัญชาต้องควบคุม แต่ประเด็นสำคัญ คือ จะควบคุมด้วยกฎหมายชนิดใด ขอให้ประเมินจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลที่เกิดจากการสำรวจวิจัยเป็นตัวตอบว่า จะสามารถใช้พระราชบัญญัติกัญชาควบคุมได้หรือไม่

มันมีประเด็นที่เราพบ คือ ต้องคุ้มครองเยาวชนไม่ให้เข้าถึงได้โดยง่าย การเข้าถึงดอกกัญชาที่ปลอดภัย สิทธิการปลูกจะทำให้คนติดทั้งประเทศหรือเปล่า มันมีข้อห่วงกังวลเหล่านี้ แต่เมื่อเราใช้กระบวนการวิจัยเราจะได้คำตอบว่าจะแก้อย่างไร เมื่อได้คำตอบ ตอนที่จะบัญญัติเป็นกฎหมายก็ต้องมาดู ซึ่งเรายืนยันว่าการใช้พระราชบัญญัติมีประสิทธิภาพมากกว่า

ยกตัวอย่างเรื่องการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ถ้าเราใช้กฎหมายยาเสพติดก็หมายถึงจะมีกัญชาทั้งบนดินและใต้ดิน เพราะเมื่อมันผิดกฎหมายก็จะมีคนทำใต้ดินเหมือนที่เป็นมา เมื่อทำใต้ดินคำถามก็คือ จะมีมาตรการอะไรควบคุมให้คนเข้าถึงกัญชาใต้ดินปลอดภัย การผลักกัญชาไว้ใต้ดินจึงไม่ใช่การแก้ปัญหา การแก้ปัญหาคือเอากัญชามาไว้บนโต๊ะให้อยู่ในสายตาสาธารณะ ให้ช่วยกันมองแล้วคิดมาตรการแบบนี้จึงมีประสิทธิภาพมากกว่า

แล้วด้วยเหตุผลนี้รัฐบาลเยอรมันจึงอนุญาตให้ประชาชนใช้และปลูกได้เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลเขาได้บทสรุปว่า มีคนใช้กัญชาใต้ดินอยู่หลายล้านคนซึ่งมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยจึงเอามาไว้บนโต๊ะ เพื่อให้ประชาชนใช้โดยปลอดภัยได้ ปัจจุบันกว่า 70 ประเทศทั่วโลกก็ใช้กฎหมายปกติกำกับควบคุมการใช้กัญชา ไม่ใช่กฎหมายยาเสพติด

แต่ตอนนี้รัฐบาลพยายามลัดขั้นตอน ตั้งธงไว้ก่อนซึ่งมีนัยยะว่าจะเอาผลประโยชน์ให้ใครหรือไม่ เพราะถ้าจริงใจกับเยาวชนคงไม่ปล่อยนโยบายยาบ้าห้าเม็ดออกมา  พวกเราและพรรคการเมืองมีการเสนอกฎหมายเพื่อควบคุมกัญชาไป 4 ฉบับ ของพรรคภูมิใจไทย ของพรรคก้าวไกล ของเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย และสมาคมสร้างสรรค์เกษตรกรไทย แต่นายกรัฐมนตรีไม่เซ็นเพื่อให้กระบวนการเดินต่อได้ในสภา หมายถึงรัฐบาลไม่ได้หวังดีต่อเยาวชน แต่เอาเยาวชนมาเป็นเครื่องมือเพื่อเอากัญชาไปคุมด้วยกฎหมายยาเสพติด เพื่อให้สังคมคิดว่าจัดการได้ แต่ความจริงแล้วจัดการไม่ได้ ข้อเสนอของเราก็คือให้รัฐบาลกลับมาอยู่ในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ถูกต้อง


โอกาสที่จะสูญเสียหากกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด

ประสิทธิชัย : เรื่องความมั่นคงทางยาจะหายไป กัญชามีระบุในตำรายาพื้นบ้านภาคใต้เต็มไปหมด ภาคเหนือ ภาคอีสานก็เช่นกัน แล้วมันหายไปไม่รู้กี่ปีตั้งแต่ถูกควบคุมราวปี 2500 ต้นๆ พอปลดล็อกมา 2 ปี เป็นโอกาสที่ได้ฟื้นภูมิปัญญาในการรักษา เราก็ใช้น้ำมันกัญชาต่างๆ มากมายในช่วงนี้ แต่จะหายไปถ้าเอากลับเป็นยาเสพติด

ประการต่อมา ความเสียหายเฉพาะหน้าจะเกิดกับผู้ที่ลงทุนไปแล้วหนึ่งล้านใบอนุญาตปลูก หนึ่งหมื่นใบอนุญาตขาย บางเจ้าเขาลงทุนไปลแล้วระดับห้าล้าน สิบล้าน ความเสียหายจึงอาจอยู่ระดับพันล้านถึงหมื่นล้าน ซึ่งเขาก็ทำถูกกฎหมายตามที่รัฐประกาศเอาออกจากบัญชียาเสพติด แต่พอวันหนึ่งจะเปลี่ยนนโยบายโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ว่า กัญชามันร้ายไปกว่าเดิมอย่างไรแบบนี้จะเป็นการกำหนดนโยบายทำให้ประชาชนเสียหาย ซึ่งเวลารัฐบาลทำให้ประชาชนเสียหายคนไม่ยอมคงเยอะ

ต่อมา ความมั่นคงทางยาระดับภาพรวม ซึ่งในอนาคตจะมีการวิจัยใหม่ๆ ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เช่น ในเครื่องสำอางค์ ยา หรืออื่นๆ ที่เป็นทางเลือกในสังคมไทย สังเกตง่ายๆ ช่วงโควิดเรารอดมากับสมุนไพร หลายคนได้ชีวิตใหม่จากตรงนี้ ซึ่งอนาคตเราอาจต้องเผชิญวิกฤตทางสุขภาพหรือโรคระบาดไม่แพ้ในอดีตที่ผ่านมาแน่ ถ้าเรามีสมุนไพรที่ประชาชนเข้าถึงมันจะช่วยเรื่องความมั่นคงทางยาได้อย่างยิ่ง

อีกประการหนึ่งที่จะเกิดความสูญเสีย คือ เรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาสายพันธุ์ เพราะคนในวงการกัญชาก็เหมือนกุ๊กปรุงอาหาร ต้องคิดค้นเพื่อความอร่อย คนปลูกกัญชาก็ต้องการพัฒนาผลผลิตตนเองให้ดียิ่งขึ้นและเกิดการแข่งขัน จะนำไปสู่การพัฒนา หนึ่งล้านใบอนุญาตปลูกตอนนี้จึงเท่ากับเรามีงานวิจัยสายพันธุ์หนึ่งล้านงานวิจัยโดยรัฐไม่ต้องลงทุนสักบาท แต่มรดกหรือผลลัพธ์จะตกกับคนไทยที่ทำกัญชาและแผ่นดินไทยที่จะสืบทอดต่อไป ซึ่งงานวิจัยคงไม่ใช่แค่การปลูกแต่รวมถึงการแปรรูปต่างๆ ด้วย ในขณะที่ทั่วโลกเริ่มปลดงานวิจัยก็ออกมาเรื่อยๆ แต่ถ้าเราเอากลับเราก็หยุดชะงักหลังที่หยุดมาแล้วหลายสิบปีซึ่งจะกระทบต่อความก้าวหน้าของเราหากนำกลับไปสู่บัญชียาเสพติด