Skip to main content

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์: ‘ท้องถิ่น’ ไม่ใช่ ‘บ้านนอก’ อีกต่อไปแล้ว

4 สิงหาคม 2567

 

ในฐานะที่เป็นผู้ที่สนับสนุนงานพัฒนาท้องถิ่นและมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นที่ความเป็นเมืองขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้านการศึกษา เทคโนโลยี มองเห็นบทบาทของนวัตกรรมทางสังคมที่ช่วยปรับเปลี่ยนและพัฒนาท้องถิ่นผ่านกลุ่มคนที่เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ซึ่งสำนักนวัตกรรมแห่งชาติในสมัยที่เขาเป็นหัวเรือใหญ่นั้นได้ส่งเสริมองค์กรปกครองท้องถิ่น และกลุ่มนักนวัตกรรมทางสังคมเอกชน ในการพัฒนานวัตกรรมสังคมจำนวนนับร้อยโครงการ

กองบรรณาธิการ “ทุนท้องถิ่น” สัมภาษณ์ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ที่ตอบรับเป็นปรึกษาให้กับการพัฒนาเครือข่าย “ทุนท้องถิ่น” มาตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่ง ผอ. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งเขาท้าทายหลายๆ คนว่า ท้องถิ่นไม่เท่ากับบ้านนอก และคนท้องถิ่นไม่ใช่คนที่ต้องสื่อสารด้วยผ่านช่องทางเก่าๆ อย่างใบปลิวแผ่นพับ แต่พวกเขาก็ใช้แพลตฟอร์มเดียวกันกับคนเมือง

 

 

‘กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น’ ยังจำเป็นอยู่ไหม

 

คำว่า “การกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น” ยังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะว่ายังมีข้อจำกัดหลายตัวที่นำไปสู่ความเจริญในระดับท้องถิ่นมันยังไม่ไปทั้งหมด แล้วก็ไม่เฉพาะประเทศไทยอย่างเดียว หลายๆ ประเทศที่เป็นเศรษฐกิจใหม่ ระดับความสามารถในการพัฒนาและการสร้างความเจริญในระดับท้องถิ่นก็มีความแตกต่าง

สามประการ หนึ่ง เมื่อมีความแตกต่างของหน่วยเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ เช่น เมืองมหานคร เมืองเหล่านี้ก็จะดึงดูดทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรต่างๆ พลังงาน เข้าไปในเมืองเหล่านั้นเกือบทั้งหมด เพราะฉะนั้น โอกาสในการพัฒนาเมืองหรือท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกล ก็ยังเป็นปัญหาแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว

พูดง่ายๆ มีแรงดึงดูดจากเมืองที่มีศักยภาพสูง การพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพต่ำกว่าก็ยังเป็นปัญหาต่อเนื่อง ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องธรรมชาติ

สอง ถึงแม้จะมีการกระจายอำนาจเป็นอย่างดี มีความเข้มแข็งทางกฎหมายกำหนดว่าต้องมีสภาท้องถิ่น มีเทศบาลที่สามารถบริหารจัดการท้องถิ่นได้เองแล้ว แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ เอาเงินจากที่ไหน จากภาษีใช่ไหม ซึ่งถ้าข้อแรกมันไม่สามารถดึงดูดธุรกรรมทางธุรกิจได้ ข้อสอง มันก็ยากที่จะมีเงินมาพัฒนาพื้นที่เหล่านั้น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แต่ละองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็พยายามแข่งกันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สำหรับเมืองไทยตรงนี้ยังไม่ค่อยเกิด

ก็จะนำไปสู่ ข้อสาม คือ ส่วนใหญ่มุมมองการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น การจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณยังเป็นแบบเดิมอยู่ ยังเป็นลักษณะทำงานแบบรูทีน แบบราชการ เราจะเห็นได้ว่าวิธีคิด เครื่องมือแบบราชการ แก้ปัญหาที่มันหมักหมมไม่ได้

สามข้อมันไปด้วยกัน ทำให้ส่วนตัว ผมคิดว่า การหยิบยื่นความเจริญ และการพัฒนาส่วนท้องถิ่น ยังเป็นความสำคัญอยู่ แต่ว่ารูปแบบการทำงานและโครงสร้างองค์กรต้องเปลี่ยนไป

 


กระจายภารกิจ แต่เงินและทรัพยากรไม่กระจายตาม ปัญหาหนักของส่วนท้องถิ่น

 

การจัดหารายได้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับตอนนี้ เพราะเศรษฐกิจของประเทศหดตัว โครงสร้างของเศรษฐกิจไปกระจุกตัวอยู่บางพื้นที่ บางพื้นที่ไม่มีโครงสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้นมาเลย เป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการเกษตรแบบดั้งเดิม โอกาสในการเติบโตและการได้มาซึ่งภาษีก็จะลดลงเรื่อยๆ

ดังนั้น จะเห็นว่ามีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหลายแห่งมีปัญหา ไม่ว่าจะทำโครงการก่อสร้าง อาจจะเป็นถนน แหล่งน้ำ สุดท้ายแล้วไม่มีเงินมาบริหารจัดการ หรือมาบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น การโอนโรงพยาบาลก็เช่นกัน สุดท้ายจะเห็นว่า ยิ่งโอนทรัพยากร ความรับผิดชอบที่เราเชื่อว่าเป็นเรื่องดี จังหวัดหรือท้องถิ่นจัดการตัวเอง เงินมันไม่มาตามนั้น ทรัพยากร โครงสร้างการทำงานไม่มาตามนั้น สุดท้ายมันจะหนักมากในการบริหารจัดการองค์กรระดับท้องถิ่น

จริงๆ มันดีขึ้นเยอะในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นกายภาพ ถนนมีการตัดเยอะขึ้น โรงพยาบาลในท้องถิ่นมีเยอะขึ้น โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพเริ่มเข้าสู่ตำบล เข้าสู่เมืองที่รองลงไปเกือบทั้งหมด ซึ่งพื้นที่ห่างไกลก็ยังเป็นปัญหาอยู่ อันนั้นก็เป็นเรื่องปรกติว่า มันคงไปไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ง่ายๆ

พอเป็นอย่างนั้น คนเปลี่ยนสภาพจากการอยู่ในพื้นที่ชนบทไปเป็นพื้นที่ sub urban area คือ เป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท อีกสักประมาณ 10 ปี คนไทยจะอยู่ในพื้นที่เมืองเกิน 60-70 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้มัน 50 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว

ดังนั้น การที่เราใช้คำว่า การบริหารจัดการในบริบทที่เปลี่ยนไปที่ไม่ใช่การบริหารจัดการในชนบท การบริหารจัดการอาจจะเป็นเมืองขนาดเล็ก พื้นที่ชายขอบเหล่านี้ ก็จะมีประเด็นคล้ายกับเมืองใหญ่มากขึ้น คือ การบริหารสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน มีคนชั้นกลางรุ่นใหม่เยอะขึ้น มันหนีไม่พ้นว่าจะต้องบริหารในอีกลักษณะหนึ่งซึ่งไม่เหมือนเดิม มุมนั้นสำคัญมากกว่าที่จะมองว่าเราจะไปพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ความไม่ทัดเทียมกัน มันค่อนข้างลำบากพอสมควร เพราะว่าถึงจุดหนึ่งการใช้โครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรต่อหัวต่อคนสุงขึ้นเรื่อยๆ เราก็ต้องมีความสามารถในการหาแหล่งงบประมาณต่างๆ มาชดเชยสิ่งเหล่านี้

 


กระแสคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ทำให้ท้องถิ่นมีศักยภาพมากขึ้นหรือไม่

 

ผมมองว่า ไม่ใช่ศักยภาพของการเติบโต มันเป็นวิถีของการพัฒนามากกว่า ยิ่งความเป็นเมืองมากขึ้น คนรุ่นใหม่หลายคนก็มีจริตของการอยู่ในเมืองใหญ่กว่าและอยากกลับไปอยู่ที่บ้าน ก็เอาจริตเหล่านั้นกลับไปอยู่ที่บ้านด้วย ก็จะเห็นว่ามีร้านกาแฟ ร้านอาหารที่มีเชฟที่เคยอยู่เมืองใหญ่สักพักหนึ่ง อายุยังไม่มาก กลับมาอยู่ในเมืองเหล่านี้ก็จะมีเยอะขึ้น อันนี้เป็นวิถี คงไม่ใช่เป็นเรื่องศักยภาพ


ศักยภาพอะไรของท้องถิ่นไทยที่น่าจับตา

 

ต้องยอมรับว่า องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และท้องถิ่นที่กลายเป็นเมือง บางส่วนมีผู้บริหารที่เข้าใจ และค่อนข้างมองประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำ ประเด็นการให้บริการสาธารณะ ค่อนข้างดี 

ผมไม่คิดว่าภาพรวมมันแย่ลง ภาพรวมในการบริหารท้องถิ่นมันดีขึ้นในมุมของการให้บริการสาธารณะ ยังคงไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็อยากให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของความสามารถและความโปร่งใสในประเด็นวิธีการทำงานว่า เราทำงานเพื่ออะไร หลายคนเป็นคนในท้องถิ่นจริง และอยากทำงานในระดับท้องถิ่นจริงๆ อันนี้ต้องยอมรับว่า นั่นคือข้อดี แต่ว่าการเล่าเรื่อง การเล่ากรณีศึกษาก็สำคัญ เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนที่ไม่เคยรูว่ามีเรื่องดีๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมาในการบริหารส่วนท้องถิ่น ก็สามารถเอาไปเรียนรู้ได้ บางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่ดีเลย ต้องยอมรับว่ามี สิ่งเหล่านี้ต้องจดจำ ไม่ใช่ว่าสักพักเราก็ลืม มันก็ต้องมีการบริหารจัดการทั้งคู่

เศรษฐกิจชุมชน หรือฐานราก อาศัยความสามารถระดับสูงและความอดทนในการที่จะเปลี่ยนวิธีคิด ส่วนหนึ่งที่ยากอยู่ที่ว่า เรามักจะคุ้นเคยกับสิ่งที่ทำมาตลอด เพราะนั้นเศรษฐกิจชุมชน เรื่องความสามารถของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ขึ้นอยู่กับว่า เขามีแรงบันดาลใจอย่างไรบ้าง และมีความสามารถที่จะแก้ปัญหาในชุมชนให้กลายมาเป็นโจทย์ในทางธุรกิจได้ดีแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น เราบอกว่ามีขยะที่มาจากการเกษตรเยอะ แล้วเราไม่อยากให้เขาเผา ถ้าจะตั้งหน้าตั้งตาให้ขายทรัพยากรเหล่านั้นเลยคงไม่ได้ แต่ว่าเอาไปทำปุ๋ยไหม ทำปุ๋ยเสร็จใครจะรับซื้อ เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องของการที่ต้องมีความอดทนมากในการที่จะค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เกิดได้ทุกที่ แล้วถามว่ามีไหม มี แต่ว่าความสำเร็จและผลกระทบในระดับที่ใหญ่กว่า คงไม่ใช่ เพราะบางทีเราพูดอยู่ในระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน คนข้างนอกมองไม่เห็นหรอก แต่ว่าคนข้างในมองเห็นความสำคัญและเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง

ส่วนใหญ่แล้วมีไม่กี่คน ในแต่พื้นที่มีไม่เยอะหรอกครับ ในแต่ละรุ่นก็จะมีคนที่มีศักยภาพแบบนี้อยู่แล้ว แต่ว่าไม่ได้มากพอ ผมคิดว่ามันไม่ได้ช่วยเสริมการเติบโตในชุมชนได้เยอะหรอก ยกเว้นว่าพัฒนาการของคนเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นเปลี่ยนจากเมืองชนบทเป็นเมือง เปลี่ยนจากเมืองเป็นนคร ก็จะทำให้สิ่งที่เรียกว่าพันธสัญญาเก่าๆ ที่อยู่ในช่วงเมืองแบบชนบทมันหายไป เป็นเรื่องอย่างนั้นมากกว่า

ผมว่าเรามีผู้นำชุมชนในระดับท้องถิ่นที่เก่งขึ้น รุ่นใหม่ รู้เรื่องเทคโนโลยี รู้เรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมเยอะขึ้น ความเชื่อมโยงจากชุมชนสู่ชุมชนก็เยอะขึ้น มีเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยทำให้เกิดการสื่อสารทำให้กระจายข้อมูลข่าวสารไปก็เยอะ

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่า เป็นประเด็นความท้าทาย คือ เรื่องคอรัปชั่น เรื่องความไม่จริงใจต่อการทำโครงการพัฒนาในระดับเมือง ซึ่งยังคงมีอยู่ แต่ในภาพรวม หลายๆ ตัวก็ดีขึ้น

ก็เป็นกำลังใจให้สำหรับทุกคนที่อยากจะพัฒนาชนบท ชุมชนเมือง รวมทั้งท้องถิ่นให้เรารู้สึกว่า เรื่องท้องถิ่นมันไม่ใช่เรื่องบ้านนอก เรื่องท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนเมือง เรื่องท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องที่เราไม่ต้องสนใจก็ได้ เพราะว่าคนที่อยู่ก็เป็นคนยากจน ท้องถิ่นมันเปลี่ยนไปแล้ว คำว่าท้องถิ่น ควรได้รับการพูดถึงไม่แตกต่างจากมุมมองของคนในเมืองใหญ่ ด้วยการที่เราเปลี่ยนความคิดว่า อยู่ที่ไหนก็เท่าเทียมกัน ก็เรื่องเดียวกันล่ะครับ


 

เนื้อหาล่าสุด