องอาจ เดชา
‘มล-จิราวรรณ คำซาว’ เธอเป็นคนเชียงดาวโดยกำเนิด เกิดและเติบโตที่บ้านหัวทุ่ง ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ผูกพันกับเชียงดาว และสนใจเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเรียนจบ ป.เอก ด้านชีววิทยา เธอจึงเป็นทั้งนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์ ล่าสุด ตัดสินใจนำความรู้กลับไปทำเกษตรอินทรีย์ สร้างแบรนด์ โปรดักส์ ผลิตภัณฑ์ พลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชนบ้านเกิด
เริ่มต้นตั้งแต่ “แก๊งค์ถิ่นนิยม” พาน้องๆ เยาวชนเรียนรู้วิถีชุมชน ทั้งในเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า และลงมือทำเกษตรอินทรีย์ โดยเธอได้นำเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ งานวิจัย มาหนุนเสริม จนกลายเป็นสถานที่เรียนรู้ ศึกษาทดลอง และแบ่งปันความรู้ให้กับพี่น้องเกษตรกรในอำเภอเชียงดาว ได้หันมาปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพ อีกทั้งช่วยเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อมและโลกให้มีความสมดุลและยั่งยืนด้วย ต่อมา เธอตัดสินใจ ทำการเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร
อยากให้เล่าที่มาของ ‘ถิ่นนิยม’ว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
จิราวรรณ : ถิ่นนิยม คือกลุ่มคนที่รักในท้องถิ่นของตัวเอง ภูมิใจถิ่นของตัวเอง แล้วก็กลับมาพัฒนาในถิ่นของตัวเอง
การกลับมานั้น ไม่จําเป็นจะต้องเป็นคนที่เกิดที่เชียงดาวนี้นะ แต่เป็นคนที่รักในท้องถิ่นเชียงดาวนี้ก็ได้ อาจหมายถึงเป็นคนข้างนอกก็ได้แต่มีความรัก ความชอบท้องถิ่นเชียงดาว อยากมาช่วยกันพัฒนาเชียงดาว
เริ่มต้น ก่อนที่เราจะไปถึงการพัฒนา เราต้องเข้าใจก่อนว่าในถิ่นของเรานั้นมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของทรัพยากร ซึ่งทรัพยากรก็จะมีอยู่สองอย่างที่สําคัญ ก็คือ ทรัพยากรคน ที่เราจะต้องทํางานด้วยไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เด็กเยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ เหล่านี้มันเป็นเรื่องของทรัพยากรคนที่เราจะต้องเรียนรู้ ว่าเราสามารถรวมตัวหรือสร้างความร่วมมือ ช่วยกันพัฒนาร่วมกับเราได้อย่างไร ทรัพยากรอันที่สอง ก็คือในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของเราว่ามีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดิน น้ำ ป่า อากาศ เราสามารถพัฒนาไปทางไหนได้บ้าง
พอเข้าใจท้องถิ่นของตัวเองแล้ว จะเริ่มต้นพัฒนาท้องถิ่นอย่างไร ?
จิราวรรณ : เราต้องกลับมาตั้งคำถามกันว่า เราจะพัฒนาเพื่ออะไร เราทําไปเพื่อประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งก็คือ เพื่อให้ท้องถิ่นของเรา อยู่ดีกินดี มีสุข แต่มันไม่ใช่แค่อยู่แค่กินเท่านั้น แต่มันต้องมีรายได้ด้วย ต้องสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นด้วย
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรากลับมาทํานี้ ก็ได้ช่วยกันทําในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น อย่างเช่นเรื่องอากาศ เราก็ช่วยกันส่งเสริมไม่ให้มีการเผา แต่มิติที่เราทําได้หรือสุดท้ายการที่เราจะนําไปช่วยพัฒนาในพื้นที่ได้นั้น มันต้องใช้ปัจจัยเรื่องเงิน ซึ่งเราไม่ต้องพูดถึงเรื่องเงินจากรัฐ จากงบประมาณต่างๆ เพราะมันไม่เพียงพออยู่แล้ว แต่ก็ยังดีที่ได้เอามาสนับสนุนอะไรบางอย่างของเราได้บ้าง
เราจึงหันมาทําเรื่องของธุรกิจชุมชน แต่พอเราจะต่อยอดธุรกิจ ก็จะมีข้อจํากัดในเรื่องของศักยภาพของเราก็ต้องมาตั้งคำถามกันต่อว่า เราเชี่ยวชาญอะไร ไม่ถนัดไม่เชี่ยวชาญเรื่องอะไร บางคนไม่เชี่ยวชาญเรื่องเกษตร เพราะว่าคนที่กลับท้องถิ่นส่วนใหญ่ เมื่อกลับไปบ้านทุกคนจะนึกถึงภาคการเกษตร ไปทําเกษตร
อย่างเราก็เป็นอีกคนหนึ่งที่กลับมา แล้วสนใจเรื่องเกษตร แต่พอดีเรามีพื้นฐานเรื่องเกษตร เพราะว่าเราช่วยพ่อแม่ปลูกข้าวมาตั้งแต่เด็ก บวกกับมีความเชี่ยวชาญเรื่องจุลินทรีย์ เป็นสายวิทยาศาสตร์ ดังนั้น เราจึงเอาความรู้เรื่องเกษตรและวิทยาศาสตร์ นำมาต่อยอดในเรื่องของการทำเกษตร เพราะสุดท้ายแล้ว การทำเกษตรมันมันไม่ใช่แค่ปลูกเพื่อกินอย่างเดียว แต่เรากินไม่หมดหรอกนะ ถ้าเราจะปลูก 10-20 ไร่ หรือพันไร่ มันก็ต้องทำออกมาเป็นโปรดักส์ออกมาด้วย มันก็จะมีในเรื่องของธุรกิจ เรื่องการตลาด ที่เราจะต้องคิดต่อ
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำ เราต้องมีพื้นฐานเรื่องของเกษตร โดยเอาความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ปรับใช้ด้วย คือเราต้องรู้ว่าเราปลูกอะไรให้คุณประโยชน์ มีสรรพคุณบํารุงร่างกายอย่างไร เราต้องเป็นนักสิ่งแวดล้อมด้วย ต้องเรียนรู้การปลูกยังไงไม่ให้เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะให้มีน้ำมีดินที่ดี หล่อเลี้ยงวัตถุดิบของเรา ให้มันดี สร้างความแตกต่าง ให้โปรดักส์ของเรามันต่างจากคนอื่นนะ เพราะเราไม่ใช้สารเคมี เราปลูกแบบอินทรีย์ เราปลูกแบบธรรมชาติ เพราะฉะนั้นมันจะได้สารพิเศษอะไรบางอย่างด้วย
เมื่อเราจะพัฒนาท้องถิ่น สร้างโปรดักส์ ในเรื่องของการสร้างแบรนด์ แบรนด์ดิ้ง การดีไซน์แพคเกจจิ้ง ทำกันอย่างไรจึงน่าสนใจ ?
จิราวรรณ : ในส่วนของเรื่องการครีเอทแบรนด์ แบรนด์ดิ้ง การดีไซน์แพคเกจจิ้ง อันนี้เราไม่ถนัด เราก็ไปชักชวนเพื่อนๆ ที่กลับถิ่นหรือรักในถิ่นของเรา มาช่วยกันออกแบบ เริ่มเข้ามารวมตัวกับเรา ทําโปรเจคท์เดียวกัน ก็จะเริ่มจากการดีไซน์ออกแบบ เป็นงานอาร์ต งานศิลปะ ทําให้ผลิตภัณฑ์สินค้าของเราน่าสนใจ ส่วนการโปรโมต เราก็ไม่ถนัด เรื่องการนําเสนอ แต่ก็ได้เพื่อนในกลุ่มสายคอนเทนท์เข้ามาช่วยเรา ในการประชาสัมพันธ์ อย่างสมัยนี้ก็จะทำเป็นคลิปวีดีโอ ก็จะได้เพื่อนกลุ่มนี้เข้ามาช่วยกัน
ถิ่นนิยม กลุ่มคนเหล่านี้แหละ ที่ทำให้เกิดบิสสิเนส แล้วก็ซัพพอร์ตวัตถุดิบในท้องถิ่นของเรา เพราะฉะนั้นคนที่กลับคืนมา ไม่จําเป็นต้องปลูก เพราะไม่ถนัดเรื่องการทำเกษตร แต่มาช่วยกันออกแบบ มาช่วยกันทำในสิ่งที่ถนัด แล้วโปรเจคเหล่านี้ มันมีมิติการเชื่อมร้อยกลุ่มคนหลายวัย มีทั้งกลุ่มเพื่อน เยาวชน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ และไม่ต้องเป็นคนรุ่นใหม่ก็ได้ อย่างเช่น พ่อแม่แม่ของเด็กเยาวชน เกษตรกรลุงป้าน้าอา ที่เป็นฝ่ายผลิตวัตถุดิบ ที่ปลูกพืชผักผลไม้ ส่งป้อนให้เรา เราก็เข้าไปช่วยส่งเสริมชาวบ้าน เราสามารถกระจายรายได้ตรงนี้ให้กับชาวบ้านได้
จุดเด่นของเมืองเชียงดาวมีอะไรที่เราสามารถนํามาต่อยอดในเรื่องของการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นได้?
จิราวรรณ : เชียงดาวบ้านเรานั้น มีจุดเด่นในเรื่องของทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ที่เหมาะสมกับการทําเกษตร ซึ่งเป็นเกษตรต้นน้ำด้วย แล้วก็เชียงดาวมีจุดเด่นในเรื่องของวิวทิวทัศน์สวยงาม เพราะฉะนั้น นอกจากสินค้าวัตถุดิบต่างๆ ที่เอามาทําสินค้าแล้ว ก็มีเรื่องของการท่องเที่ยวในชุมชนด้วย
ที่ผ่านมา ถิ่นนิยมของเราจะทำทริปการท่องเที่ยวด้วย แต่ไม่ได้เป็นการท่องเที่ยวทั่วไปแบบไปเช็คอิน ถ่ายรูป แล้วก็จบแบบนั้นนะ แต่เราจะเน้นการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ โดยใช้ชื่อว่า “ถิ่นนิยมคลาสรูม” คือ นอกจากจะมีรายได้แล้ว ต้องเกิดความยั่งยืนด้วย คือเราทําเรื่องของรายได้ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการเรื่องการท่องเที่ยว
แต่เบื้องหลังของสินค้าและการท่องเที่ยวมันมีเบื้องหลังนะ โดยเราจะเล่าสตอรี่ความงามของภูมิปัญญา ยกตัวอย่างเช่น น้ำผึ้งป่า เราก็สื่อให้เห็นว่าน้ำผึ้งของถิ่นนิยมทําไมหอม เราก็จะนำเสนอบอกเล่าให้เขาฟังว่า น้ำผึ้งป่าของเรามีสองแบบ ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง รสชาติก็จะหอมหวาน เพราะว่าป่าแถวนั้นจะมีดอกไม้ที่มันหอมหวาน กลิ่นก็จะเป็นแบบนี้ ส่วนน้ำผึ้งบ้านแม่ซ้าย เป็นป่าต้นยาง รสชาติก็จะติดหวานและขมนิดๆ พออธิบายเสร็จ ถ้านักท่องเที่ยวสนใจ อยากไปเรียนรู้ เราก็จะพาไปเรียนรู้น้ำผึ้งในป่า ได้ไปสัมผัสป่าที่ชาวบ้านช่วยกันดูแล
นักท่องเที่ยวก็จะรู้ว่าในป่า มีต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านดูแลกันขนาดนี้เลยเหรอ เราก็จะบอกเขาว่า ใช่แล้ว น้ำผึ้งที่คุณกินรายได้ส่วนหนึ่งเรานำไปสมทบการดูแลป่าด้วยนะ คือคุณอุดหนุนสินค้าของเรา คุณยังมีส่วนร่วมในการช่วยดูแลธรรมชาติไปด้วย
ทราบมาว่า ตอนนี้เริ่มขยายกิจกรรม มีโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร จนกลายเป็นโปรดักส์ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ นำไปจัดแสดงงานที่ไบเทคบางนา ที่กรุงเทพฯ มาแล้วด้วย?
จิราวรรณ : ใช่ค่ะ คือเมื่อก่อนเราก็ทำกันในระดับครัวเรือน แต่พอมีความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เราคิดว่าเราอยากจะโกอินเตอร์กันบ้าง แต่มันต้องมีมาตรฐานมาการันตีด้วย เราก็เลยขยับขยายไปทําเป็นโรงงานเพื่อที่จะได้รับมาตรฐานทั่วไป อย่างเช่น มอก.เกษตรอินทรีย์ หรือฮาลาล อย่างน้อยก็ไปตลาดอาหรับได้
เราอยากจะเผยแพร่ผลิตภัณฑ์สินค้าถิ่นนิยมของเราไปโกอินเตอร์ได้ เพราะฉะนั้น มาตรฐานต้องมี ก็เลยขยับเรื่องของโลโก้ โปรดักส์ จากงานระดับครัวเรือนออกมาเป็นระดับอุตสาหกรรมเล็กๆ ที่มีมาตรฐานเพื่อที่เราจะขยายไปในระดับสูงมากยิ่งขึ้นและกว้างมากยิ่งขึ้น
มองจุดอ่อนจุดแข็งของธุรกิจท้องถิ่นมีความแตกต่างกับธุรกิจของทุนใหญ่อย่างไรบ้าง?
จิราวรรณ : ถ้าพูดถึงจุดอ่อนของเรา คือ ธุรกิจท้องถิ่น สเกลเล็ก แล้วก็ขยายได้ช้า เพราะว่าเรามีข้อจํากัดในเรื่องพื้นที่ทำการผลิตวัตถุดิบมีน้อย อย่างเช่น ปีหนึ่งปลูกได้ครั้งหนึ่ง ปีหนึ่งได้กินครั้งหนึ่ง แต่ถ้าเราอยากจะโกอินเตอร์ หรือถ้ามีคนต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น เราไม่สามารถขยายพื้นที่ได้เหมือนทุนใหญ่ๆ เราไม่ได้มีพื้นที่ร้อยไร่พันไร่เหมือนกับนายทุนที่มีสามารถจ้างหรือสามารถทําอะไร แต่เราจะมีป้าแก้วลุงคําที่มีพื้นที่สอง 2-3 ไร่แต่เขาอยากทํากับเรา อันเนี้ยคือจุดอ่อนที่เราที่เรามี
แต่ในจุดอ่อน ถ้าเรามองมองในอีกมุมหนึ่ง การที่เราเป็นทุนท้องถิ่นเล็กๆ ก็กลายเป็นจุดแข็งได้เช่นกัน ก็คือว่าการที่เรามีลุงแก้วป้าคํา หรือใครหลายๆ คนที่เขาสนใจและไว้วางใจเรา ก็เพราะว่าเราทํางานกับชุมชน เรารู้จักชาวบ้านเยอะ ทำให้มีการช่วยกันทําหรือขยายพื้นที่การเพาะปลูกได้ โดยการบอกต่อ เราสามารถบอกให้ช่วยกันทําในพื้นที่เล็กๆ ได้ พอจากพื้นที่เล็กๆ แล้วมารวมกัน มันก็กลายเป็นพื้นที่รวมกันได้ผลผลิตจำนวนมากได้
ข้อได้เปรียบของเราก็คือ เราเป็นคนในท้องถิ่น เพราะฉะนั้น จะมีความน่าเชื่อถือ พ่อแม่ที่เคยอยู่ในชุมชน เขาเห็นว่าเราเติบโตมายังไง แล้วเราทํางานกับหน่วยงานภาครัฐ ก็จะมีงบประมาณที่มาช่วยส่งเสริม เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ต้องควักเงินตัวเองทั้งหมด มีหลายหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุนเรา
ฉะนั้น ข้อได้เปรียบของเราคือว่าเมื่อเราทํางาน สามารถกระจายพื้นที่การเพาะปลูกได้ แล้วก็สามารถกระจายรายได้ไปได้ เพราะฉะนั้น กําไรมันไม่ใช่แค่อยู่แค่เรา เมื่อคุณซื้อโปรดักส์นี้มันสามารถกระจายรายได้ไปให้พี่น้องชาวบ้านหลายร้อยคนเลย
เชื่อไหมว่า ถิ่นนิยม กำลังเดินมาถูกทาง แล้วจะนําไปสู่ความยั่งยืนได้ในอนาคต?
จิราวรรณ : เรารู้สึกว่า สิ่งที่เราทําที่ผ่านมา คือ เราอยากจะช่วยเหลือคนท้องถิ่น อยากจะช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมเพื่อที่ให้มันยังมีอยู่ แต่เราไม่รู้หรอกว่ามันจะเป็นอะไร ตอนแรกก็คิดว่าจะเป็นจิตอาสา ไปปลูกป่าหรืออะไรก็ได้ แต่สุดท้ายมันติดเรื่องเงิน มันต้องใช้เงิน แล้วเราก็รอเงินโปรเจ็คจากภาครัฐ แต่เราชอบช่วยเหลือ ชอบไปเป็นอาสาสมัคร แต่สุดท้ายเราคิดว่า ยังไงเราก็ต้องพึ่งด้วยตัวของเราเอง
หมายถึงว่า เราจะต้องหาเงินมาทําในสิ่งที่เราชอบเองดีกว่า สุดท้ายก็เลยจับพลัดจับผลูทํากันมาเรื่อยๆ แล้วก็หาเงินได้นิดๆ หน่อยๆ จนกลายมาเป็นได้เงินเยอะขึ้นๆ ส่วนหนึ่งคิดว่า ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงมีคนที่คิดเหมือนกัน สนใจในเรื่องภาวะโลกร้อนเหมือนกัน คนก็หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในส่วนของลูกค้าก็เลยเริ่มหันมาสนใจบิสสิเนสแนวรักษ์โลกกันมากขึ้นด้วย มันก็เลยทําให้โปรเจคท์ของเรามันโตไปในทางที่ตอบสนอง ตอบโจทย์ในเรื่องของความยั่งยืนของชุมชน และก็ช่วยเหลือคนไปพร้อมกัน มันก็เลยแบบอ้าว...เรามาถูกทางแล้ว ก็รู้สึกดีใจว่าตัวเอง ยังอดทนทําสิ่งนี้อยู่นะ
อยากจะแนะนําหรือให้กําลังใจคนรุ่นใหม่ ที่อยากจะกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองแบบนี้อย่างไรบ้าง?
จิราวรรณ : จริงๆ เราเชื่อว่าทุกคนอยากกลับบ้านนะ อย่างน้อยก็คือ เราต้องกลับไปดูแลพ่อแม่ ทุกคนก็จะเป็นห่วงเหมือนกันหมดแหละ ไม่มีใครอยากจะอยู่ไกลคนที่เรารัก โดยเฉพาะพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย แต่การกลับมามันก็ยากนะ
สมัยก่อนคือ ไม่มีที่ไป การกลับมาเตะฝุ่น มาแล้วไม่มีใครรับหรือไม่มีใครสนใจ แต่ยุคนี้ เหมือนมันสะท้อนให้เราเห็นในช่วงวิกฤตโควิดด้วยที่คนกลับบ้านกันเยอะนะ โควิดสะท้อนให้เราเห็นบางอย่างว่า เราไม่จําเป็นต้องไปอยู่ที่ไหนก็ได้ และด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้เอื้อต่อการที่ทํางาน ทำงานที่ไหนก็ได้ถ้ามีอินเทอร์เน็ต เวิร์คฟอร์มโฮม คนจะนั่งทำงานอยู่ที่ไหนก็ได้ เพราะฉะนั้น การกลับมาหลังจากนี้จะง่ายขึ้น
แต่หลังจากนี้ การกลับมาบ้านของคุณหรือการไปอยู่ที่ไหน คุณมีทรัพยากรพอมั้ย มีทรัพยากรคนพอมั้ย หรือมีทรัพยากรธรรมชาติพอมั้ย ที่จะซัพพอร์ตให้คุณทําในสิ่งที่เชี่ยวชาญ หรือสามารถต่อยอดสิ่งที่เชี่ยวชาญ ให้เป็นมูลค่าได้ โอเค มูลค่าสําหรับตัวเราก่อน ให้เราเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวได้ แล้วคิดไปไกลกว่านั้น ถ้ามันมีความต้องการหรือมันมีมูลค่ามากไปอีก เราสามารถดึงคนในชุมชนมาร่วมกับเราได้มั้ย หรือเพื่อนๆ คนอื่นกลับมาช่วยฉันได้ไหม ก็จะแชร์ประโยชน์ตรงนั้นได้ เพราะฉะนั้น อาจจะคิดต่อในเรื่องของการค้นหาพื้นที่ของเรา ว่ามีอะไรที่จะสร้างมูลค่าให้เราได้ ไม่ต้องคิดว่าเราไปช่วยอะไรได้หรอกการกลับมาของเรามันช่วยอยู่แล้ว
เราเชื่อว่า ลึกๆ แล้ว ทุกคนอยากจะมาช่วยพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง เพราะว่าตอนนี้ทุกคนตระหนักแล้วว่า เราจะดําเนินชีวิตยังไงที่จะไม่เบียดเบียน ไม่เบียดเบียนโลก แต่ก็ต้องอยู่ในความเชี่ยวชาญของตัวเองด้วย เพราะฉะนั้น คุณก็ต้องหาข้อมูลว่าเราพอที่จะเอาตัวเองเป็นหลักก่อน ว่าเราเชี่ยวชาญอะไรแล้วเราจะต่อยอดความเชี่ยวชาญกับทีมของเรายังไง ต้นทุนเราคืออะไร ต้นทุนเรื่องของความรู้ความสามารถ ต้นทุนคอนเนคชั่น ต้นทุนพอไหมที่จะต่อยอดจากงานเดิมหรือต่อยอดงานใหม่ แล้วมันไปได้ไหม สุดท้ายเราเชื่อว่ารายได้มันจะมาหาเราเอง
ถ้าสนใจอยากไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ ‘ถิ่นนิยม’และ ‘นิยมคลาสรูม’ หรือสนใจผลิตภัณฑ์สินค้าท้องถิ่นเชียงดาว สามารถติดตามและติดต่อที่เฟสบุ๊กเพจ Tinniyom Classroom หรือทางเฟสบุ๊ก Mon Jirawan (มล จิราวรรณ คำซาว)