Skip to main content

‘พฤ โอ่โดเชา’ ผู้ใช้สื่อชาวบ้าน-ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นทุนขับเคลื่อนเพื่อสิทธิชนเผ่า

27 พฤษภาคม 2567

องอาจ เดชา


“พฤ โอ่โดเชา” ลูกชายของ พะตีจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชนพื้นเมืองของไทย เขาเป็นผู้สืบทอดและนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของชนเผ่ามาอย่างยาวนาน โดยซึมซับความรู้และแบบอย่างจากพ่อ-พะตีจอนิมาตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่โดยไม่รู้ตัว

ในวัยเยาว์ พฤ ก็เหมือนเด็กชนเผ่าคนอื่นๆ ที่มีโอกาสลงจากดอยมาเรียนในตัวเมืองที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนกินนอน เขาต้องปรับตัวอย่างมาก บ่อยครั้งที่นั่งร้องไห้เพราะอยากกลับบ้านดอย เขาต้องเริ่มเรียนภาษาไทย หัดพูดภาษาไทยและพูดออกเสียงได้ไม่ชัด ในห้องเรียนมีเพื่อนร่วมชั้นทั้งหมด 30 กว่าคน พฤสอบได้รองบ๊วยตลอด

ต่อมา พฤ มีโอกาสเรียนกับ คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร บาทหลวงที่คุลกคลีกับงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือมายาวนาน เขาได้เรียนเรื่องศาสนาและภาษากะเหรี่ยง จากนั้นจึงกลับสู่บ้านดอยช่วยพ่อทำงานในไร่ ทำนา เลี้ยงควาย และไปเลี้ยงช้าง ทำทัวร์ป่าขี่ช้าง ล่องแพ แถวแม่วาง


พฤกับพะตีจอนิ โอ่โดเชา มีชีวิตและความคิดคล้ายๆ กัน

พฤ: ใช่ครับ การที่ผมได้ทำงานใกล้ชิดกับพ่อ ทำให้ผมได้ซึมซับเรียนรู้จากพ่อโดยไม่รู้ตัว พ่อจะพูดอยู่เสมอว่า พ่อเป็นลูกกำพร้า เหลือแต่ปู่ก็ติดยา ตอนเป็นเด็กพ่อจะชอบถูกรังแก ถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด

พ่อจะเล่าให้ลูกๆ ฟังถึงเหตุการณ์สมัยก่อน ที่มีคนเอาเปรียบชาวบ้าน ให้ยืมข้าว 1 ถัง แต่ต้องใช้คืน 3 ถัง แต่พอไปบ้านอื่นถัดไป ทำไมเขาถึงใช้คืน 1 ถัง จนทำให้พ่อลุกขึ้นมาสู้ พ่อร่วมขุดนาให้กับคนยากคนจนแล้วก็คิดริเริ่มตั้งธนาคารข้าวขึ้นมา ให้ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปาก จนทำให้ไปขัดแย้งกับกลุ่มที่เคยเอาเปรียบชาวบ้าน

ต่อมา หมู่บ้านเราและอีกหลายๆ หมู่บ้านบนดอยต้องเจอกับปัญหา เมื่อรัฐประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ทำให้พ่อต้องออกจากบ้านไปชุมนุมเคลื่อนไหวกัน โดยในช่วงนั้น ทั้งพ่อและผม ได้มีโอกาสเจอกับอาจารย์ นักวิชาการ เอ็นจีโอหลากหลายมาก พ่อจะพูดภาษาไทยไม่คล่อง โดยเฉพาะเวลาจะพูดเรื่องของกฎหมาย ก็เลยต้องพาผมไปช่วยแปลเป็นล่ามภาษาปกาเกอะญอให้กับพี่น้องชาวบ้านให้เข้าใจ แล้วพอมีเวทีสัมมนากันบ่อยมาก เขาก็จะให้ผมเป็นล่ามแปลประจำตัวพ่อ จากภาษาปกาเกอะญอให้เป็นภาษาไทย จนผมกลายเป็นล่ามคนแรกของชนเผ่าปกาเกอะญอไปเลย (หัวเราะ)

 

เหตุการณ์สมัยก่อน ที่มีคนเอาเปรียบชาวบ้าน ให้ยืมข้าว 1 ถัง แต่ต้องใช้คืน 3 ถัง แต่พอไปบ้านอื่นถัดไป ทำไมเขาถึงใช้คืน 1 ถัง จนทำให้พ่อลุกขึ้นมาสู้ พ่อร่วมขุดนาให้กับคนยากคนจนแล้วก็คิดริเริ่มตั้งธนาคารข้าวขึ้นมา ให้ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปาก จนทำให้ไปขัดแย้งกับกลุ่มที่เคยเอาเปรียบชาวบ้าน


เริ่มมีบทบาทในการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชนเผ่า และปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่นั้นมาเลยใช่มั้ย?

พฤ: ครับ ผมเริ่มมีบทบาทในการเรียกร้องเคลื่อนไหว และตอนนั้นผมเป็นหนึ่งในกลุ่มเยาวชนชนเผ่าแห่งลุ่มน้ำแม่วาง ร่วมกับแกนนำชนเผ่าหมู่บ้านอื่นๆ ด้วย ก็กลายเป็นพลังสำคัญอีกคนหนึ่งในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล 99 วัน ในครั้งนั้นถือว่าเป็นการชุมนุมที่สร้างกระบวนการต่อสู้และการเรียนรู้ให้กับผมเป็นอย่างมาก เท่าที่ผมสังเกต ตอนนั้นพ่อเป็นแกนนำ พ่อก็มักจะชวนผมไปเข้าค่ายเยาวชนร่วมกับนักศึกษาด้วย เหมือนๆ กับต้องการจะฝึกผมให้ช่วยเหลือชาวบ้านนั่นแหละ


ชีวิตมีแต่เรื่องงานเคลื่อนไหว แล้วมาเริ่มสร้างครอบครัวตอนไหน?

พฤ: หลังจากไปเคลื่อนไหวที่หน้าทำเนียบกลับมา พ่อได้เรียกผมมานั่งพูดคุยกันว่าถึงเวลาที่ผมควรจะสร้างครอบครัวได้แล้ว ดีกว่าต้องใช้ชีวิตที่ต้องมีแต่ชุมนุมเคลื่อนไหวอยู่แบบนี้ จากนั้น ผมได้แต่งงานปักหลักปักฐานสร้างครอบครัวใหม่ที่บ้านแม่ลานคำ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผมตัดสินใจแต่งงานไปอยู่สะเมิง จริงๆ ก็อยากไปใช้ชีวิตอยู่แบบสงบๆ แต่ก็ต้องไปเจอปัญหาให้ออกมาชุมนุมประท้วงกันอีกครั้ง

จำได้ว่าครั้งหนึ่ง ถึงขั้นต้องฟ้องป่าไม้จังหวัดกันเลย เพราะมีการกล่าวอ้างออกสื่อ กล่าวหาผมไปจุดไฟเผาป่าในพื้นที่สะเมิง ซึ่งในเวลาที่เขากล่าวหาผมนั้น ตัวผมยังอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ มีพยานหลักฐานชัดเจน จึงทำให้ทีมทนายบอกว่า เราต้องฟ้อง จนเขาต้องออกมาขอโทษ และขอให้เราถอนฟ้องให้

 

พ่อนิพจน์ จะบอกย้ำกับผมว่า คุณจะต้องกลับไปร่วมประวัติศาสตร์กับพี่น้องชนเผ่า ไปรับรู้ความทุกข์ร่วมกับพี่น้องชาวบ้าน ชาวกะเหรี่ยงเสียก่อน ไปหาจุดต่ำที่สุดของพี่น้องปกาเกอะญอ ที่เคยถูกคนอื่นปรามาสว่าเป็นคนดอย สกปรก ชอบตัดไม้ทำลายป่า ทั้งๆ ในใจเราจะค้านเสมอว่า ไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่า แต่เราทำไร่หมุนเวียนก็ตาม คือ พ่อนิพจน์ ต้องการให้เรายอมรับตัวตนของเราก่อน แล้วค่อยกลับมาเข้าใจตัวเอง และช่วยเหลือชาวบ้าน


หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐไปให้ข่าวบิดเบือนแบบนี้ ทำให้ พฤต้องหันมาเป็นสื่อชาวบ้านเสียเอง?

พฤ: ถูกต้องครับ หลายๆ เหตุการณ์ มันทำให้ผมมานั่งคิดว่าทำไมปัญหาเรื่องชาติพันธุ์จึงเป็นปัญหาที่ไม่รู้หมดสิ้นเสียที หรืออาจเป็นเพราะเรื่องการศึกษา หรือการสื่อสารมีปัญหาหรือเปล่า ทำให้คนข้างล่าง สังคมส่วนใหญ่เข้าใจผิด และจะทำอย่างไรถึงจะสื่อให้สังคมได้รับรู้ข้อเท็จจริง จึงทำให้ผมเริ่มสนใจประเด็นเรื่องการสื่อสาร เรื่องการนำเสนอ จึงพยายามฝึกฝนเรียนรู้ มาทำสื่อชาวบ้าน เป็นนักข่าวพลเมือง ให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส คอยบอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นก็ยังพบเจอกับปัญหาที่ยังคงฉายซ้ำเดิมๆ เมื่อยังมีข่าวกรณีเจ้าหน้าที่รัฐ ไปจุดไฟเผากระท่อมของพี่น้องบางกลอย จนต้องมีการอพยพ และจับกุมชาวบ้านกันอยู่ ซึ่งทำให้เขาต้องคำถามกับสังคมไทยมากยิ่งๆ ขึ้น


พออายุมากขึ้น เริ่มทบทวนประสบการณ์ชีวิตตนเองอย่างไรบ้าง?

พฤ: พออายุมากขึ้น ผมเริ่มหงอกตามพ่อแล้ว ทำให้ผมต้องกลับมานั่งคิดทบทวนผลของการออกไปชุมนุมเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิชนเผ่ามาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งแน่นอน ทำให้เห็นถึงทั้งปัญหาและทางออกในอนาคตกันมากยิ่งขึ้น เมื่อผมถอยกลับมา ผมมองดูพ่อ ทำให้เรารู้สึกว่า การต่อสู้ที่ผ่านมามันทำให้สูญเสียอะไรไปบางสิ่ง ละทิ้งอะไรไปบางอย่าง พ่อผมออกไปเป็นแกนนำ ไปร่วมต่อสู้ข้างนอก บางครั้งหายไปเป็นเดือน กลับมาบ้านไม่กี่วัน ก็ต้องออกไปอีก ซึ่งผมรู้เลยว่า ทำให้แม่นั้นน้อยใจพ่อมาก เหมือนถูกทอดทิ้ง แต่แม่ก็ไม่ปริบากบ่น แล้วการออกไปต่อสู้เคลื่อนไหวข้างนอกของพ่อ พอกลับมา พบว่าต้องสูญเสียที่ดินบางส่วนไป ถูกชาวบ้านบางคนบีบแบ่งที่ดินไปบ้างก็มี เพราะพ่อปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ดูแล แบบนี้ก็มี

 

หลายๆ เหตุการณ์ มันทำให้ผมมานั่งคิดว่าทำไมปัญหาเรื่องชาติพันธุ์จึงเป็นปัญหาที่ไม่รู้หมดสิ้นเสียที หรืออาจเป็นเพราะเรื่องการศึกษา หรือการสื่อสารมีปัญหาหรือเปล่า ทำให้คนข้างล่าง สังคมส่วนใหญ่เข้าใจผิด และจะทำอย่างไรถึงจะสื่อให้สังคมได้รับรู้ข้อเท็จจริง จึงทำให้ผมเริ่มสนใจประเด็นเรื่องการสื่อสาร เรื่องการนำเสนอ จึงพยายามฝึกฝนเรียนรู้ มาทำสื่อชาวบ้าน เป็นนักข่าวพลเมือง ให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส


แต่พ่อและพฤ ก็ถือว่าได้ช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องสิทธิต่างๆ ได้เยอะอยู่?

พฤ: ใช่ครับ ผมยังคงมองว่า ผลของการเคลื่อนไหวต่อสู้ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาของผมกับพ่อนั้นก็ได้รับความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหลายๆ เรื่องเช่นกัน อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าการออกกฎหมายนั้นยังไม่เป็นจริงก็ตาม แต่ก็ยังได้เป็น มติ ครม.ออกมา นอกจากนั้น ทำให้ชาวบ้านได้รับรู้ความจริงแผนการของเจ้าหน้าที่ว่ามันไหนจริงอันไหนเป็นความหลอกลวง และมันทำให้เราเข้าใจว่า ถ้าจะเรียกร้องอะไร กระบวนการทำงานของรัฐมันต้องต่อสู้เรียกร้องในระดับข้างบน มันต้องไปเปลี่ยนที่ตัวโครงสร้าง มติ ครม.หรือนโยบายรัฐโน่นเลย ถึงจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้  ถ้าแก้ข้างบนได้ สั่งการลงมา แล้วเจ้าหน้าที่ระดับล่างก็จะยอมรับและทำตาม


ใครคือผู้สร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตความคิดของคุณ?

พฤ: คนที่คอยให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจผมคนแรกเลย คือ พี่มด -วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ซึ่งทำงานต่อสู้ให้กับพี่น้องกลุ่มสมัชชาคนจน ซึ่งครั้งหนึ่งผมและพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีโอกาสลงไปร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจนที่หน้าทำเนียบ ผมได้จิตใจจากพี่มด-วนิดา แกจะคอยให้กำลังใจผม ตบหลังผม ซึ่งเราเป็นคนดอยเล็กๆ แต่พี่มดก็พยายามยกชนเผ่าของเราไปร่วม เปิดพื้นที่ในการเรียกร้องต่อสู้  ตอนนั้น ผมบอกไปว่าผมแต่งตัวไม่เรียบร้อย ใส่รองเท้าแตะ ไม่กล้าเข้าไปในสภา ในทำเนียบ แต่พี่มดบอกว่าเข้าไปได้เลย ไม่ต้องอาย ไม่ต้องกลัว เพราะเราก็คนเหมือนกัน

นอกจากนั้น ก็มีอีกหลายคนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผม ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ, อาจารย์มาลี สิทธิเกรียงไกร, บาทหลวงวินัย บุญลือ, พระปลัดสุชาติ สุวฑฒโก, สุวิทย์ วัดหนู, สุริยันต์ ทองหนูเอียด, เดโช ไชยทัพ, ประยงค์ ดอกลำไย, สุวิชานนท์ รัตนภิมล หรือแม้กระทั่งสื่อมวลชน อย่าง ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า และภาสกร จำลองราช ฯลฯ บุคคลเหล่านี้ ล้วนเป็นผู้ที่รักความเป็นธรรม มีอุดมการณ์ อยากช่วยเหลือคนด้อยโอกาสอยู่แล้ว และพร้อมที่จะช่วยเหลือพวกชาวบ้านชนเผ่าอย่างเรา ในยามที่เกิดปัญหาและวิกฤติ

ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผม ในการดำเนินชีวิตอีกคนหนึ่งที่จะพูดถึงไม่ได้ นั่นคือ คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ซึ่งในวัยเรียน พ่อได้ส่งผมไปเรียนกับคุณพ่อนิพจน์ ที่อำเภอจอมทองด้วย ผมจำได้ดีเลยว่า พ่อนิพจน์ จะบอกย้ำกับผมว่า คุณจะต้องกลับไปร่วมประวัติศาสตร์กับพี่น้องชนเผ่า ไปรับรู้ความทุกข์ร่วมกับพี่น้องชาวบ้าน ชาวกะเหรี่ยงเสียก่อน ไปหาจุดต่ำที่สุดของพี่น้องปกาเกอะญอ ที่เคยถูกคนอื่นปรามาสว่าเป็นคนดอย สกปรก ชอบตัดไม้ทำลายป่า ทั้งๆ ในใจเราจะค้านเสมอว่า ไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่า แต่เราทำไร่หมุนเวียนก็ตาม คือ พ่อนิพจน์ ต้องการให้เรายอมรับตัวตนของเราก่อน แล้วค่อยกลับมาเข้าใจตัวเอง และช่วยเหลือชาวบ้าน

 

ผลของการเคลื่อนไหวต่อสู้ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาของผมกับพ่อนั้นก็ได้รับความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหลายๆ เรื่องเช่นกัน อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าการออกกฎหมายนั้นยังไม่เป็นจริงก็ตาม แต่ก็ยังได้เป็น มติ ครม.ออกมา


ในสายตาของ พฤ โอ่โดเชา มองคนรุ่นใหม่ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ณ ปัจจุบันนี้อย่างไรบ้าง?

พฤ: จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราก็พยายายามจะบอกกับคนรุ่นใหม่ได้รับรู้ว่า การต่อสู้เรียกร้องของคนที่อยู่ในป่า นั้นเคลื่อนไหวกันอย่างไร แล้วจะต้องทำอย่างไร เมื่อก่อนคนรุ่นก่อน ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องนั้น ชาวบ้านทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม ร่วมกำหนด ร่วมตัดสินใจ แต่ผมไม่รู้ว่าในปัจจุบันนี้ คนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนยังใช้รูปแบบแบบนี้อยู่หรือไม่  

อยากให้คนรุ่นใหม่บนดอย ออกไปร่วมการต่อสู้กับคนรุ่นใหม่ในเมืองดูนะ แต่ปัจจุบัน มันเหมือนกับว่า คนรุ่นใหม่จะถูกบีบในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ กำลังบีบให้ลูกหลานพี่น้องบนดอย ทุกคนต้องมุ่งทำงานรับจ้าง เอาครอบครัวให้รอดก่อน จะออกไปเคลื่อนไหวชุมนุมร่วมกับเครือข่าย เหมือนเมื่อก่อน ไปเรียกร้องชุมนุมกันเป็นเดือนๆ อาจจะเป็นไปได้ยากขึ้น

ดังนั้น กรณีที่ไปเคลื่อนไหวชุมนุมในปัจจุบัน เราต้องดูบริบทหลายอย่าง ว่ามันสอดคล้องกับวิถีของเราไหม แล้วบางทีอาจต้องพบกับความเสี่ยงติดคุกติดตารางด้วยนั้น ก็ต้องถามน้องๆ คนรุ่นใหม่ด้วยว่าพร้อมจะยอมรับความเสี่ยงนั้นได้ไหม ดังนั้น ตนคิดว่าคนรุ่นใหม่ก็ยังจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็น คำชี้แนะจากคนรุ่นก่อนด้วย นอกจากนั้น เราจะต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสสื่อโซเซียลมีเดียกันเพิ่มมากขึ้น เคลื่อนไหวโดยใช้สื่อของตนเอง โดยคนรุ่นใหม่อาจต้องมาช่วยคนรุ่นก่อนเคลื่อนไหวผ่านสื่อต่างๆ ได้

 

 

‘พฤ โอ่โดเชา’ ผู้ใช้สื่อชาวบ้าน-ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นทุนขับเคลื่อนเพื่อสิทธิชนเผ่า
‘พฤ โอ่โดเชา’ ผู้ใช้สื่อชาวบ้าน-ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นทุนขับเคลื่อนเพื่อสิทธิชนเผ่า
‘พฤ โอ่โดเชา’ ผู้ใช้สื่อชาวบ้าน-ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นทุนขับเคลื่อนเพื่อสิทธิชนเผ่า
‘พฤ โอ่โดเชา’ ผู้ใช้สื่อชาวบ้าน-ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นทุนขับเคลื่อนเพื่อสิทธิชนเผ่า
เนื้อหาล่าสุด