Skip to main content

‘ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ’ ชุมชนโหล่งฮิมคาว พื้นที่แห่งการเรียนรู้ การศึกษาทางเลือก และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

26 พฤษภาคม 2567

องอาจ เดชา

 


ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เอ็นจีโอรุ่นใหญ่ ผู้ผ่านการทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนมายาวนาน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ในประเด็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนา และการศึกษาทางเลือก รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ปัจจุบันเขาเป็นประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว และนายกสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.)

ทุนท้องถิ่น’ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ชัชวาลย์ ถึงสิ่งที่กำลังทำอยุ่ในปัจจุบันและที่มาของ “โหล่งฮิมคาว” ตลาดนัดท้องถิ่นใน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายมนต์ขลังของล้านนา ผสานกับพื้นที่การเรียนรู้ เวิ้ง Heart Space ซึ่งเป็น co-working space และพื้นที่ทำกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ ให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล จนกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่งดงามและลงตัว


อยากให้เล่าที่มาของ ‘โหล่งฮิมคาว’ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร?

ชัชวาลย์: โหล่งฮิมคาว เป็นชื่อเรียกที่ตรงนี้มาดั้งเดิมแต่โบราณ แปลว่า อาณาบริเวณพื้นที่ริมน้ำแม่คาว เพราะว่าด้านหลังจะติดกับน้ำแม่คาว เวลาถามชาวบ้านว่าไปไหนๆ ไปโหล่งฮิมคาว โหล่งฮิมคาวเป็นส่วนหนึ่งของบ้านมอญ ตําบลสันกลาง อําเภอสันกําแพง จังหวัดเชียงใหม่

บ้านมอญนี้เป็นชุมชนชาวเขิน หรือไทยเขิน อพยพโยกย้ายมาจากเมืองเชียงตุงของพม่า ในยุคพระเจ้ากาวิละปกครอง ยุคที่คนเรียกกันว่า ‘ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง’ หมายถึง การโยกย้ายผู้คนจากเมืองอื่น ๆ เข้ามาเพื่อฟื้นฟูเมืองล้านนา คือในช่วงปี พ.ศ. 2101 เมืองเชียงใหม่ได้เสียเอกราชให้แก่พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์ของพม่า เมืองเชียงใหม่จึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ามานานร่วม 200 ปี จนรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีร่วมกับพระเจ้ากาวิละและพระยาจ่าบ้าน ทำศึกสงครามขับไล่พม่าออกจากล้านนาในปี พ.ศ. 2317 ในยุคนั้นอาณาจักรล้านนาเกือบจะเป็นเมืองร้าง ก็มีการกวาดต้อนผู้คนมาอยู่เมืองเชียงใหม่ มาบูรณะเมืองเชียงใหม่ พอบูรณะเมืองเชียงใหม่เสร็จก็เลยมาตั้งชุมชนที่นี่

 

ผู้เฒ่าผู้แก่เขาบอกว่า จริงๆ สมัยก่อนนั้นมีต้นหม่อนเป็นต้นไม้พื้นบ้าน ก็เลยชื่อว่าบ้านหม่อน ต่อมากร่อนเสียงเป็นบ้านหมอน แต่พอไปจดทะเบียนกับกรมการปกครอง เลยกลายเป็นมอญ เหมือนกับเป็นหมู่บ้านคนมอญ แต่แท้จริงแล้วเป็นชาวไตเขิน

หลายคนแอบตั้งคำถามว่าทำไมถึงเป็นชื่อบ้านมอญ?

ชัชวาลย์: ผู้เฒ่าผู้แก่เขาบอกว่า จริงๆ สมัยก่อนนั้นมีต้นหม่อนเป็นต้นไม้พื้นบ้าน ก็เลยชื่อว่าบ้านหม่อน ต่อมากร่อนเสียงเป็นบ้านหมอน แต่พอไปจดทะเบียนกับกรมการปกครอง เลยกลายเป็นมอญ เหมือนกับเป็นหมู่บ้านคนมอญ แต่แท้จริงแล้วเป็นชาวไตเขิน

 

แล้วมาเป็นกาดชุมชนได้ยังไง?

ชัชวาลย์: ช่วงแรกเราก็ไม่ได้คิดจะทําเรื่องถนนคนเดินหรือตลาดอะไรแบบนี้ แต่ตั้งใจจะเป็นที่อยู่อาศัยกัน ก็คือ เรารวมตัวกันมาซื้อที่กลับคืนจากคนกรุงเทพฯ เพราะก่อนหน้านั้นชาวบ้านที่นี่ได้ขายที่ดินให้คนกรุงเทพฯ ไป ตัวผมเองก่อนหน้านั้นก็มาทําสวนอยู่ที่นี่ มาขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกมะม่วง ปลูกลําไยอยู่ที่นี่เมื่อปี 2529 เห็นชาวบ้านขายที่ดินไปก็นึกเสียดายอยู่

แต่ว่าหลังจากนั้นผ่านไป 10 ปี คนกรุงเทพฯ ก็ประกาศขายที่ดินแถวนี้ ก็เลยชวนเพื่อนๆ มาซื้อที่คืนฝั่งโน้น 9คน ฝั่งนี้ 12-13 คน ตอนนั้นตั้งใจจะทําเป็นที่อยู่อาศัยริมน้ำแม่คาว สงบๆ แต่ว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป เมื่อเกิดร้านมีนา มีข้าว (Meena Rice Based Cuisine) ร้านอาหารใต้ยุ้งข้าวโบราณขึ้นมา เป็นร้านอาหารพื้นเมืองของลูกสาว ช่วยกันทำขึ้นมาจนมีลูกค้ารู้จักกันทั่วประเทศ แวะเวียนกันเข้ามาต่อเนื่อง  ทั้งๆ ที่ร้านมีนามีข้าวนี้ตั้งอยู่ในท้ายซอย ก็ยังมีคนมาเลย

 

ก็เลยชวนคนที่พักอาศัยอยู่แถวนี้มานั่งคุยกัน?

ชัชวาลย์: ครับ เพราะทุกคนมีของดีหมดเลย หลายคนมีสินค้าดีๆ ไปนำเสนอ ไปจัดแสดงกันถึงไบเทคบางนา พอกลับมาก็มานั่งคุยกัน เราใช้เวลา 2-3 ปี ในการชวนกันคุย ก็เริ่มคุยกันว่าจะเรียกตรงนี้ว่าอย่างไรดี สุดท้ายก็เรียกว่า “โหล่งฮิมคาว” จากนั้น เราก็เอ๊ะ ว่าเราจะให้คนเข้ามาที่นี่ ก็คงจะต้องจัดกิจกรรมอะไรกันดี

ตอนแรกเด็กๆ ใช้คําว่า สโลว์ไลฟ์มาร์เก็ต แต่เราก็รู้สึกมันฝรั่งเกินไป ก็เลยตั้งชื่อเป็น “กาดต่อนยอน” เป็นคำพื้นเมือง หมายถึงตลาดสำหรับให้คนมาเดินช้าๆ กินช้าๆ ซื้อขายช้าๆ พูดคุยกันม่วนๆ นี่เป็นสโลแกนหลักที่อยากให้คนมาเดินชิวๆ ไม่ต้องแข่งขัน มาแล้วรู้สึกสบายๆ

 

จะเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้กลายเป็นแหล่งรวมงานคราฟต์ด้วย?

ชัชวาลย์: ใช่ ตรงนี้เรามีงานคราฟต์เกือบทุกชนิดเลย มีงานย้อม มีงานผ้าซิ่นตีนจก มีงานเย็บย้อม มีงานด้น มีงานย้อมสีธรรมชาติ มีงานปัก งานหลากหลาย แต่ละบ้านก็จะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ก็เลยกลายเป็นที่มาว่า กาดต่อนยอน

ต่อมาเด็กรุ่นใหม่ บอกกับเราว่า ลุงชัชๆ กิจกรรมกาดต่อนยอน จัดปีละครั้งมันช้าไป พวกผม พวกหนู ขอสักสัปดาห์ละครั้งได้ไหม เด็กรุ่นใหม่ก็เลยไปตั้งกาดฉำฉาหรือ “ฉำฉา market” จนกลายเป็นตลาดนัดหัตถกรรมอยู่ด้านหน้า ซึ่งเขาใช้วิธีน่าสนใจมาก มีการเปิดเพจ รับสมัครคนเข้ามา แล้วก็โปรโมชั่นอยู่ 3-4 เดือน ตลาดติดแล้ว ด้านหน้าก็เป็นกาดฉ่ําฉา ข้างหลังก็เป็นร้านมีนามีข้าว ตรงกลางจะเป็นร้านหัตถกรรม ก็เป็นเหมือนถนนคนเดินชนบท ซึ่งอันนี้ก็เชื่อมโยงกับบ้านมอญ ก็คือหน้าปากซอยก็เป็นวัดวัดสีมาราม แล้วตรงรอบๆ วัดก็จะเป็นชุมชนดั้งเดิมอยู่ ถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของชุมชน ทำให้เราเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

ตอนแรกเด็กๆ ใช้คําว่า สโลว์ไลฟ์มาร์เก็ต แต่เราก็รู้สึกมันฝรั่งเกินไป ก็เลยตั้งชื่อเป็น “กาดต่อนยอน” เป็นคำพื้นเมือง หมายถึงตลาดสำหรับให้คนมาเดินช้าๆ กินช้าๆ ซื้อขายช้าๆ พูดคุยกันม่วนๆ นี่เป็นสโลแกนหลักที่อยากให้คนมาเดินชิวๆ ไม่ต้องแข่งขัน มาแล้วรู้สึกสบายๆ

 

โหล่งฮิมคาว ยังเปิดเป็นพื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่การศึกษาทางเลือกได้อีกทางหนึ่งด้วย?

ชัชวาลย์: ใช่ เราถือเป็นนโยบายส่วนหนึ่ง ก็คือว่า ชุมชนเหล่านี้เปิดกว้าง เพราะเราอยากให้มีคน มีเครือข่ายต่างๆ เข้ามาจัดกิจกรรมในพื้นที่ หมายถึงว่าชุมชนเองก็มีพื้นที่ว่างๆ สําหรับการจัดกิจกรรมอยู่ เราก็มีแนวคิดอยากเชิญชวนคนมาจัดกิจกรรม ชุมชนก็ได้ประโยชน์ เนื่องจากมีคนมาจัดกิจกรรมใช้พื้นที่เราให้เป็นประโยชน์ ในขณะเดียวกัน คนในชุมชนเองก็ได้ได้เรียนรู้ในกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ไปด้วย

อย่างล่าสุด ก็เพิ่งจัดกิจกรรม Feel trip เป็นกิจกรรมที่เราให้ความสนใจตั้งแต่ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว Feel Trip ถือเป็นการเดินทางเพื่อการเรียนรู้ที่มีความสุขด้วย ซึ่งเข้าคอนเซ็ปต์มากกับชุมชนโหล่งฮิมคาวของเรา เป็นการนำเสนอการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน 9-10 กลุ่มจากภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือผ่านการ work shop การแสดงหุ่นเงา มโนราห์ และเตหน่า นอกจากนั้น ยังมีการเดินทางไปเรียนรู้ชุมชนโหล่งฮิมคาวกันอีกด้วย

นอกจากนั้น เรายังสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มบ้านเรียน โฮมสคูล การศึกษาทางเลือก ให้เข้ามาจัดกิจกรรม หรือประชุมเสวนากันตรงนี้ด้วย ซึ่งการศึกษาทางเลือก นั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนค้นคว้าด้วยตนเองเป็นหลัก  โหล่งฮิมคาว จึงถือเป็นการเรียนรู้ใหม่ที่เรียกว่า “สาธารณะศึกษา” ที่ให้การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ที่ทุกคนสามารถออกแบบการศึกษาได้เอง เรียนรู้ด้วยตัวเอง สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาตลอดชีวิต ซึ่งเราหวังว่ากระแสนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการศึกษาในอนาคตและการกระจายอำนาจการจัดการศึกษามาให้ชุมชน ท้องถิ่นและสังคม ให้สามารถจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของตนเอง

........................................................................
โหล่งฮิมคาว ที่ตั้ง 13/16 หมู่2 ซอย11 ต.สันกลาง อ. สันกำแพง จ.เชียงใหม่
ฉำฉา market ตลาดเล็กๆ ที่รวบรวมสินค้าหัตถกรรม งานทำมือ แต่ละบ้านในชุมชนเปิดบ้านเป็นร้านค้า สินค้าแต่ละบ้าน ผลิตจากผู้ประกอบการโดยตรง มีดนตรีสดให้ฟังแบบเพลินๆ เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-14.00 น.

พิกัด  https://maps.app.goo.gl/wnYFuTvGfMsYYn766


 

‘ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ’ ประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว พื้นที่แห่งการเรียนรู้ การศึกษาทางเลือก และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
‘ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ’ ประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว พื้นที่แห่งการเรียนรู้ การศึกษาทางเลือก และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
‘ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ’ ประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว พื้นที่แห่งการเรียนรู้ การศึกษาทางเลือก และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
‘ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ’ ประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว พื้นที่แห่งการเรียนรู้ การศึกษาทางเลือก และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
‘ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ’ ประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว พื้นที่แห่งการเรียนรู้ การศึกษาทางเลือก และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
‘ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ’ ประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว พื้นที่แห่งการเรียนรู้ การศึกษาทางเลือก และเศรษฐกิจสร้างสรรค์