Skip to main content

‘ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว’ ครูใหญ่โฮงเฮียนแม่น้ำของ ถ้าระบบนิเวศถูกทำลายเปรียบเสมือนเราฆ่าแม่น้ำโขง

16 สิงหาคม 2567

 

องอาจ เดชา

 


‘นิวัฒน์ ร้อยแก้ว’ หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม ‘ครูตี๋’ ถือเป็นคนท้องถิ่นที่เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่ง ที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขงมายาวนานหลายสิบปี เขาเคยนั่งเรือไปประท้วงต่อต้านการรุกคืบของจีนที่พยายามระเบิดแก่งคอนผีหลงในแม่น้ำโขง จนต้องยอมถอยและระงับโครงการไป

ต่อมา เขาได้ร่วมกันก่อตั้ง ‘โฮงเฮียนแม่น้ำของ’ เพื่อเป็นพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเด็กๆ นักเรียน นักศึกษาในท้องถิ่น รวมไปถึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก จากการทำงานเคลื่อนไหวปกป้องฐานทรัพยากรแม่น้ำโขงมายาวนาน ทำให้ครูตี๋ ได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ประจำปี ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดย มูลนิธิ Goldman Environmental Foundation ซึ่งเป็นเหมือนรางวัลโนเบลด้านสิ่งแวดล้อมเลยทีเดียว


ทำไมต้องออกมาปกป้องแม่น้ำโขง ?

นิวัฒน์: เพราะว่าน้ำโขงเป็นของมนุษยชาติ ทุกคนมีสิทธิทำมาหากินบนสายน้ำแห่งนี้อย่างเสรี มันต้องมีความเท่าเทียมกัน ไม่รบกวนกัน แต่ประเทศจีนกลับมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง แล้วยังพยายามเข้ามาระเบิดแก่งเพื่อจะเอาเรือใหญ่เข้ามา อย่างนี้ชาวบ้าน คนท้องถิ่น เรือหาปลาก็อยู่ไม่ได้ สัตว์พืชอะไรก็อยู่ไม่ได้ คุณคิดเอาแม่น้ำเป็นแค่เส้นทางคมนาคม ไม่ได้คิดว่าแม่น้ำมันมีหลายมิติ พวกคุณคิดจะเข้ามายึดแม่น้ำโขงอย่างนี้ได้ยังไง ตอนนั้น พอเรารู้ข่าวมีหนังสือลับและด่วนจากทางการไทย ที่ระบุว่าจะมีการระเบิดแก่งคอนผีหลง ผมกับชาวบ้านเชียงของจึงพากันออกมาเรียกร้องสิทธิในฐานะคนท้องถิ่นคนหนึ่ง


การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของจีน กระทบต่อคนลุ่มน้ำโขงอย่างไรบ้าง?

นิวัฒน์:  หากเราย้อนไปดูสาเหตุของตลิ่งพัง ก็มาจากกรณีที่ทางการจีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในตอนบนนั่นแหละ มันทำให้ระดับแม่น้ำโขงขึ้นลงไม่เป็นปกติ รวมทั้งมีการระเบิดเกาะแก่งต่างๆ เพื่อการเดินเรือ ทำให้น้ำไหลเชี่ยวขึ้น การพังทลายของตลิ่งแทบจะทำให้ไม่มีร่องน้ำเดิมเหลือ หรือในฤดูแล้งก่อนๆ นี้จะไม่เคยแห้งแล้งขนาดนี้ ตอนนี้ก็ได้เห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันเรือแทบเดินไม่ได้เลย ต่อไปชาวบ้านลุ่มน้ำที่อาศัยแม่น้ำโขงดำรงชีพคงเดือดร้อนหนักกว่านี้ เพราะน้ำมันขึ้นลงผิดปกติ ไม่เป็นธรรมชาติ


การระเบิดแก่ง ส่งผลกระทบโดยรวมอย่างไรบ้าง?

นิวัฒน์:  ภายหลังจากมีการระเบิดแก่งในเขตพม่า-จีน รวมทั้งการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ในเขตจีน มันส่งผลให้สถานการณ์ระบบนิเวศลุ่มน้ำโขงบริเวณพื้นที่ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย อยู่ในภาวะวิกฤต เพราะตั้งแต่จีนระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเมื่อปี 2545 จนถึงปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอดังกล่าวเดือดร้อนอย่างหนักเพราะเกิดปัญหาขึ้นมาหลายอย่างเลย

นอกจากนั้น จีนยังมีโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ในเขตพม่า-ลาว ซึ่งห่างจากชายแดนไทยไปทางทิศเหนือประมาณ 30 กิโลเมตรเท่านั้น โดยก่อนหน้านั้น ทีมวิศวกรจากจีนที่รับผิดชอบการระเบิดแก่งได้ลำเลียงอุปกรณ์และวัตถุระเบิดเข้าตามจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ ในการระเบิดครั้งนี้มีแก่งที่ต้องระเบิดจำนวน 16 แก่ง ในขณะที่บริเวณประเทศไทย ก็มีโครงการระเบิดแก่ง จำนวน 1 แก่ง คือแก่งคอนผีหลง ซึ่งเป็นแก่งหินยาวกว่า 1,600 เมตร กว้างกว่า 30 เมตร อยู่ในเขต ต.ริมโขง อ.เชียงของ นอกจากนั้น ยังมีโครงการระเบิดแก่งเพิ่มอีก 8 แก่งบริเวณ อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น ของ จ.เชียงราย

จะเห็นชัดเลยว่า การระเบิดแก่งขุดลอกแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในเขตจีน-พม่า ซึ่งดำเนินการเสร็จรวมทั้งการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขงในเขตจีน โครงการเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ต่อกลุ่มประเทศท้ายน้ำขนานใหญ่โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ อ.เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น จ.เชียงราย ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่น ปัญหาตลิ่งพังเป็นแนวยาวหลายกิโลเมตร ปัญหาเกิดสันดอนทรายใหม่กลางแม่น้ำซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ ปัญหาระดับน้ำที่ผันผวนขึ้นลงผิดปกติ รวมทั้งผลกระทบด้านระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำ


ที่มาของ“โฮงเฮียนแม่น้ำของ”

นิวัฒน์: ‘โฮงเฮียนแม่น้ำของ’ ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 เป้าหมาย ก็คือ สร้างกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชนในลุ่มน้ำของ ให้เป็นสถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่น และส่งเสริมให้ชุมชนเกิดกระบวนเรียนรู้ร่วมกันเป็นเครือข่าย ภายใต้ปรัชญา ‘เคารพธรรมชาติ ศรัทธาความเท่าเทียมของมนุษย์’ โดยการนำองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนภายในและภายนอกมาร่วมวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกำหนดแนวทางเลือกนโยบายในการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมในท้องถิ่น


การทำวิจัยชาวบ้านเรื่องแม่น้ำโขง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโฮงเฮียนแม่น้ำโขง

นิวัฒน์: หลังจากขับเคลื่อนการต่อสู้มาอย่างยาวนาน เราได้ทำงานวิจัยชาวบ้านเรื่องแม่น้ำโขง ซึ่งถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่า แต่เมื่อหันไปทบทวน กลับพบว่า ชาวบ้านคนเชียงของส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งกันเลย จะเห็นว่าที่ผ่านมา เราต่อสู้กันมานั้น เราตื่นรู้ แต่ก็เฉพาะบางกลุ่ม ในขณะที่คนส่วนใหญ่นั้นยังไม่รู้  ไม่ว่าจะเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่องนิเวศ ดิน น้ำ ป่า หรือเรื่องของวัฒนธรรม ดูเหมือนพี่น้องชาวบ้านนั้นถูกกดทับด้วยอะไรบางอย่าง ถ้าคนท้องถิ่นไม่รู้ถึงปัญหาท้องถิ่น ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือต้นทุนของท้องถิ่น และองค์ความรู้ จากงานวิจัยชาวบ้านเหล่านี้มันมีความสำคัญมาก จึงทำให้เรามาคิดต่อกันว่า ทำอย่างไรถึงจะนำองค์ความรู้จากงานวิจัยชาวบ้านนี้มาต่อยอด มาขับเคลื่อน จนกลายมาเป็น โฮงเฮียนแม่น้ำของขึ้นมา โดยเราจะเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ว่าทำอย่างไรถึงจะเอาความรู้นี้ไปส่งต่อให้ลูกหลานต่อไป


ล่าสุด โฮงเฮียนแม่น้ำของ ทำ MOU ร่วมกับโรงเรียน สถาบันการศึกษาในท้องถิ่นด้วย?

นิวัฒน์: ถูกต้อง เพราะเรามองว่า เยาวชนคือพลังสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขง อาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร สิ่งที่เราทำคือ พยายามผลักดัน เชื่อมร้อยเยาวชนให้เขามองเห็นเรื่องราวของโลก เห็นความสำคัญของทรัพยากรในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของโลก นี่คือสิ่งที่เราหวัง

เมื่อก่อนเราเคยวิพากษ์เรื่องหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียนต่างๆ ว่าก่อนหน้านั้น หลักสูตรท้องถิ่นส่วนใหญ่ มักจะมุ่งเน้นแต่เรื่องสอนฟ้อนรำ ซึ่งถามว่าดีมั้ย ก็ดี แต่ว่าเราอยากให้เด็กๆ มารู้จักถึงรากเหง้าท้องถิ่นจริงๆ รู้จักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจริงๆ รู้จักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในชุมชนของเราจริงๆ ก็เลยมีการทำ MOU ร่วมกับโรงเรียนในท้องถิ่น ตั้งแต่โรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน ด้วย

ทุกวันนี้ โฮงเฮียนแม่น้ำของ จึงไม่ใช่เพียงแค่การเรียนรู้วิถีชุมชน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมของตนเองเท่านั้น แต่ขยายองค์ความรู้ให้รู้จักโลกกว้างภายนอก เชื่อมโยงกับโลกกว้าง ที่เราเรียกว่า ‘ท้องถิ่นสากล’ เราจึงเริ่มตั้งกลุ่มแม่โขงยูสต์ ขึ้นมาในระดับประถม มัธยม ซึ่งเด็กในวัยนี้ นอกจากจะสนใจเรื่องประวัติศาสตร์รากเหง้าของตนเองแล้ว ยังสนใจกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย ดังนั้น เราจึงพยายามเอา วิทยาศาสตร์สังคม มาปรับสอนให้กับเด็กๆ เยาวชนกลุ่มนี้


เด็กนักเรียนรุ่นไหนบ้างที่เข้ามาเรียนรู้ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ?

นิวัฒน์:  มีหมดทุกรุ่นเลย การจัดการศึกษาของ โฮงเฮียนแม่น้ำของ นี้ถือได้ว่า เป็นการศึกษาทางเลือก ที่เอื้อต่อคนทุกระดับทุกชนชั้นจริงๆ ตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยเลย ที่ตื่นตาตื่นใจก็คือ เราเคยพาเด็กอนุบาลในเชียงของ จำนวน 200 คนมาเรียนรู้กันที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ ก็เป็นอะไรฮือฮาอย่างมาก ถามว่า เด็กเล็กๆ เหล่านี้ สนใจ มาเรียนรู้เรื่องอะไรได้หรือ ได้สิ เราก็เริ่มจากเล่าเรื่องตำนาน นิทานเรื่องพญานาคในแม่น้ำโขงให้ฟัง ผลก็คือ เด็กๆ ตื่นเต้น อยากเรียนรู้ ผ่านตำนาน ความเชื่อที่มีอยู่ ซึ่งก็เป็นเหมือนว่าเราค่อยๆ บ่มเพาะกล้าจินตนาการ ความคิดของเด็กๆ ต่อไป ซึ่งมีเรื่องราวให้ต่อยอดเรียนรู้อีกเยอะเลย

ที่น่าสนใจก็คือ โฮงเฮียนแม่น้ำของ เราเตรียมทำสื่อพยัญชนะแม่น้ำโขง เพื่อส่งมอบให้กับโรงเรียนอนุบาลในเขตพื้นที่อำเภอเชียงของ และจังหวัดเชียงรายกันต่อไปด้วย คือเราจะให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการท่องพยัญชนะ ให้สอดคล้องกับเรื่องราววิถีวัฒนธรรมของชุมชนแม่น้ำโขง เช่น ก.ไก่ ก็เปลี่ยนเป็น ก.ไก (สาหร่ายแม่น้ำโขง), ข.ของ (ชื่อเชียงของ), ค.ครก(ระบบนิเวศแม่น้ำโขง), ห.แห (เครื่องมือจับปลา), ฮ.เฮือ (เรือ), บ.บึก (ปลาบึก) เป็นต้น

นอกจากนั้น ในระดับชั้นประถม เรายังมีนักเรียน ร.ร.บ้านปงของ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มาร่วมกิจกรรมด้วย  ผมก็จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำโขง แล้วให้เด็กๆ แยกกลุ่มและเดินไปที่แม่น้ำเพื่อเก็บตัวอย่างน้ำและทำกิจกรรมทดสอบน้ำ หลังจากนั้น ก็มีกิจกรรมสรุปผลการวัดคุณภาพน้ำอย่างย่อ และทำแผนที่ชุมชนร่วมกัน จากนั้นพวกเขาก็ได้รับกระดาษและอุปกรณ์ศิลปะเพื่อวาดภาพว่าแม่น้ำโขงและชุมชนมีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร ในตอนท้าย อาจารย์ที่ปรึกษาและคณะครูจากโรงเรียนบ้านปงของ ได้คัดเลือกนักเรียนมานำเสนอภาพวาดต่อกลุ่ม เหล่านี้ล้วนคือการเรียนรู้แบบ Project Learning  หรือเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านแพ้ว นอกจากมีการวัดคุณภาพน้ำ ก็ยังสนใจประเด็นเรื่องขยะในแม่น้ำ เด็กๆ ก็จะเรียนรู้ และทำกิจกรรมนี้โดยสื่อออกมาในรูปแบบหนังสั้น จากนั้นมีการนำไปเสนอให้ผู้นำชุมชนได้รับรู้ และนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาขยะในระดับชุมชนต่อไปได้


นักเรียนมัธยม สนใจเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง?

นิวัฒน์: ที่ผ่านมา เด็กนักเรียน ร.ร.ห้วยซ้อวิทยาคม ซึ่งมีพื้นที่ตั้งของชุมชนไม่ได้อยู่ติดกับแม่น้ำโขง เด็กกลุ่มนี้จึงได้ตั้งโจทย์เรื่องน้ำดื่ม ว่าทำไมเด็กนักเรียนถึงไม่ยอมทานน้ำดื่มจากประปาของชุมชน ก็เลยใช้กระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ มีทั้งการออกไปสัมภาษณ์นักเรียน ชาวบ้าน มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ สุดท้ายนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและมีการแก้ไขปัญหาในระดับโรงเรียนและชุมชนได้ ส่วนนักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านห้วยลึก, โรงเรียนบ้านเวียงแก่น ซึ่งมีพื้นที่ติดแม่น้ำโขง ก็จะสนใจเรียนรู้เรื่องปลาในแม่น้ำโขงกันเป็นพิเศษ

เช่นเดียวกับ นักเรียนระดับมัธยม ของ โรงเรียนเชียงของวิทยาคม นั้นทุกคนสนใจประเด็นปัญหาแม่น้ำโขงทั้งระบบ คือเราจะล้อมวงคุยกับนักเรียนเยาวชนที่สนใจ ว่าสถานการณ์แม่น้ำโขงในปัจจุบัน นั้นถือว่า แม่น้ำโขงป่วยแล้ว เนื่องจากปัญหาเขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนบนที่ประเทศจีน และกำลังจะสร้างเขื่อนทางท้ายน้ำที่ลาวอีก ซึ่งมันส่งผลกระทบระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงทั้งระบบ พอมีการปิดเปิดเขื่อน ทำให้น้ำขึ้นน้ำลดผิดปกติ ทำให้กระทบทั้งพันธุ์ปลาที่ไม่สามารถวางไข่ได้ตามฤดูกาล รวมไปถึงกระทบถึงนกที่จะมาวางไข่ กระทบต่อไกหรือสาหร่ายน้ำโขง ทำให้ตะกอนหายไป ซึ่งเราสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายๆ เลยว่า ถ้าวันไหน เรามองน้ำโขงใสๆ นั้นหมายความว่า แม่น้ำไม่มีตะกอนแล้ว น้ำใสถือว่ามันผิดปกติแล้ว ณ เวลานี้

ผมก็พยายามสอดแทรกให้น้องๆ เยาวชนได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของสายน้ำโขง ไปด้วยว่า บริเวณปากน้ำโขงของเวียดนาม ตอนนี้ตะกอนหายไปถึง 97% กันเลยทีเดียว ดังนั้น ประชาชนภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจึงได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มทุนที่กำลังสร้างเขื่อน ขอให้ยุติชะลอการสร้างเขื่อนไว้ก่อน เพราะมันส่งผลกระทบไปทั่ว ยกตัวอย่าง การสร้างเขื่อนปากแบง ที่ลาว มันจะส่งผลกระทบ น้ำจะเอ่อท่วมไร่นา ที่ทำกิน เอ่อมาถึงเชียงของ โดยเฉพาะพื้นที่บ้านหัวเวียง บ้านห้วยลึก จะกลายเป็นจุดเสี่ยง ทำให้เกาะดอนหายไปเลย ดังนั้น เราจึงได้เรียกร้องไปว่า ส่วนที่สร้างเขื่อนไปแล้วที่จีน ก็ขอให้เปิด-ปิดตามฤดูกาล ส่วนที่กำลังจะสร้าง ก็ขอให้ระงับชะลอไว้ก่อน ขอให้มีการศึกษาผลกระทบให้ดีเสียก่อน


รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่เห็นเยาวชนสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขง?

นิวัฒน์: ทำให้เรามองเห็นว่า เด็กนักเรียน เยาวชนยุคนี้ มีชุดความคิดที่แตกต่างไปจากวิธีคิดของชาวบ้าน ของคนยุคก่อนซึ่งมักจะมองปัญหาเพียงแค่ชุมชนของตนเอง แต่เด็กยุคนี้ เขามองปัญหาของโลกทั้งใบ เขาคิดหาวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เรามองเห็นว่า เด็กยุคนี้มีพลัง มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถเชื่อมนวัตกรรมสมัยใหม่ ผ่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผ่านความเชื่อ และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ ดังนั้น เรื่องวิธีคิด เราก็ต้องให้คนรุ่นใหม่ เข้ามาเรียนรู้ มาร่วมรับผิดชอบ ทำอย่างไรจึงจะให้เด็กเข้ามาแทนเรา นำเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้

โฮงเฮียนแม่น้ำของ ยังเป็นพื้นที่เปิดรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายประเทศทั่วโลก ที่เดินทางเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องแม่น้ำโขงกันอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนกลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ระดับนานาชาติกันไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักศึกษาในแต่ละสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและมนุษย์ อย่างเช่น มหาวิทยาลัยอะดูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, มหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา, มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ก็เข้ามาแลกเปลี่ยน มาลงพื้นที่เรียนรู้ แล้วก็ยังมีอาสาสมัครชาวต่างชาติช่วยทำงานด้านโปรแกรม การจัดเก็บข้อมูลและการผลิตสื่อให้ห้องสมุดแสงดาวของเราด้วย


ครูตี๋ ได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ปี 2022 ซึ่งเป็นรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ซึ่งว่ากันว่าเป็นเหมือนรางวัลโนเบลด้านสิ่งแวดล้อมเลยทีเดียว

นิวัฒน์: อาจเป็นเพราะเรานั้นทำงานต่อสู้ร่วมกับพี่น้องชาวบ้านอำเภอเชียงของและชุมชนใกล้เคียงได้ปกป้องแม่น้ำโขงเรื่องนี้มายาวนานกว่า 20 ปี จนกระทั่ง สามารถหยุดยั้งโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง เพื่อการเดินเรือขนาดใหญ่ 500 ตัน ซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ได้สำเร็จด้วย รวมถึงการก่อตั้งโฮงเฮียนแม่น้ำของ ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้นี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ผมก็ขอยืนยันว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่สำคัญ ระบบนิเวศเปรียบเหมือนอวัยวะที่สำคัญของแม่น้ำโขง ถ้าระบบนิเวศถูกทำลายก็เปรียบเสมือนเราฆ่าแม่น้ำโขง ดังนั้นเราจึงอยากเรียกร้องให้ประชาชนในลุ่มน้ำโขง และรัฐบาลได้ช่วยกันปกป้องรักษาแม่น้ำโขงกันด้วย



 

‘ครูตี๋ - นิวัฒน์ ร้อยแก้ว’ ครูใหญ่โฮงเฮียนแม่น้ำของ ถ้าระบบนิเวศถูกทำลายเปรียบเสมือนเราฆ่าแม่น้ำโขง
‘ครูตี๋ - นิวัฒน์ ร้อยแก้ว’ ครูใหญ่โฮงเฮียนแม่น้ำของ ถ้าระบบนิเวศถูกทำลายเปรียบเสมือนเราฆ่าแม่น้ำโขง
‘ครูตี๋ - นิวัฒน์ ร้อยแก้ว’ ครูใหญ่โฮงเฮียนแม่น้ำของ ถ้าระบบนิเวศถูกทำลายเปรียบเสมือนเราฆ่าแม่น้ำโขง
‘ครูตี๋ - นิวัฒน์ ร้อยแก้ว’ ครูใหญ่โฮงเฮียนแม่น้ำของ ถ้าระบบนิเวศถูกทำลายเปรียบเสมือนเราฆ่าแม่น้ำโขง
‘ครูตี๋ - นิวัฒน์ ร้อยแก้ว’ ครูใหญ่โฮงเฮียนแม่น้ำของ ถ้าระบบนิเวศถูกทำลายเปรียบเสมือนเราฆ่าแม่น้ำโขง