Skip to main content

สื่อท้องถิ่น: แสงที่รอวันลับเลือน หรือโอกาสแห่งการเริ่มต้นใหม่

6 สิงหาคม 2567

 

ในโลกของข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สื่อท้องถิ่นกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในการรักษาบทบาทและเสียงของตน ขณะที่ทิศทางข่าวสารที่เคยถูกกำหนดวาระโดยสื่อส่วนกลางหลายทศวรรษกำลังถูกท้าทายด้วยการดิสรัปของโซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีสื่อสาร แม้แต่สื่อหลักในส่วนกลางก็ยังเผชิญความท้าทาย แล้วสื่อท้องถิ่นที่เคยผนึกเป็นส่วนเดียวกับสื่อส่วนกลางจะปรับตัวกันอย่างไร

'สมเกียรติ จันทรสีมา' ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ และกรรมการบริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผู้คร่ำหวอดกับการทำงานสื่อสารจากท้องถิ่นสู่ส่วนกลาง อาทิ บก.สำนักข่าวชาวบ้าน, บก.บห.ประชาไทตั้งแต่เริ่มก่อตั่้ง, บก.ศูนย์ข่าวอิศรา เปิดเผยถึงมุมมองและความสำคัญและบทบาทของสื่อท้องถิ่นในการสัมภาษณ์พิเศษที่ให้เวลากับกองบรรณาธิการ “ทุนท้องถิ่น” อย่างเต็มที่ บทสนทนาจึงมีเต็มไปด้วยมุมมองที่เข้าใจ แต่ก็ชวนตั้งคำถามทบทวนวิพากษ์วิจารณ์และการท้าทายบทบาทของสื่อท้องถิ่นในยุคสมัยใหม่ ทำไมสื่อท้องถิ่นกลับถูกมองข้ามและไม่ถูกให้ความสำคัญอย่างที่ควร? แล้วทางไปต่อของสื่อท้องถิ่นจะเป็นอย่างไรในยุคที่สื่อส่วนกลางกำลังเผชิญวิกฤตและเสื่อมถอย?


ตำแหน่งแห่งที่ของข่าวท้องถิ่นในระบบข่าวสารของประเทศ

 

ผมเข้าใจว่าข่าวส่วนใหญ่ที่ไหลอยู่ในระบบเป็นข่าวท้องถิ่น อาจจะ 60 -70 เปอร์เซ็นต์ หรือเป็นข่าวท้องถิ่นที่อธิบายโดยข่าวจากส่วนกลาง

ข่าวท้องถิ่นส่วนใหญ่ ถ้าไม่ได้ขายตัวเองด้วยความแปลก เรื่องราวที่เรียกว่า Human interest มันแทบจะเป็นแค่องค์ประกอบของข่าวที่มาจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคนโยบายเป็นหลักเลย

อาจจะด้วยการตีความเป็นสื่อประเทศ หรือสื่อส่วนกลาง แต่ถ้าไปดูจริงๆ จะเห็นว่าเนื้อหาข่าวจากท้องถิ่นเยอะมากเลย แต่วิธีคิดในการออกแบบข่าวท้องถิ่น อาจจะด้วยสายตาที่คุณมองว่าเป็นข่าวท้องถิ่น มันก็เลยถูกจัดวางว่าเป็นข่าวท้องถิ่น น้ำหนักก็เลยไม่เยอะ


ทำไมเรื่องราวจากท้องถิ่นจึงสำคัญ

 

เพราะมันเป็นภาพสะท้อนของความเป็นส่วนกลาง เพราะท้องถิ่นเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ เป็นพื้นที่แสดงผลไม่ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐ หรือของเอกชน

ที่ผ่านมา ท้องถิ่น คือ ที่ที่ซึ่งตอบสนองความต้องการของส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ รายได้ ภาษี รายรับทั้งหมดมาจากท้องถิ่นหมดเลย มาจากท้องถิ่นเยอะสุด โดยเฉพาะภาษีทางอ้อม

ท้องถิ่นจะรู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง หรือถูกอธิบายในฐานะเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ เช่นเดียวกัน สื่อซึ่งทำหน้าที่สะท้อนภาพนี้ก็ทำหน้าที่คล้ายกันเลย มองตัวเองในฐานะที่เป็นสื่อส่วนกลางแล้วดึงเอาเรื่องราวจากท้องถิ่นไปรวมกับข้อมูลตรงส่วนกลาง แล้วถูกจัดออกมาให้เป็นข่าวภูมิภาค

เราจะเห็นอยู่บ้างว่า ในบางกรณีที่มีสื่อเฉพาะพื้นที่ แต่โดยสภาพความจำเป็นทุกวันนี้ สื่อท้องถิ่นที่เป็นสื่อท้องที่แทบจะไม่มี แทบจะเป็นเรื่องราวของหน่วยงานรัฐ ขององค์กรเอกชน พูดง่ายๆ เป็นสปอนเซอร์ให้กับตัวสื่อท้องถิ่นที่ว่านั้น อันนี้จะเป็นเหตุผลในทางเศรษฐกิจในการอยู่รอดของสื่อ อาจจะมีข่าวของชุมชนของชาวบ้านบ้าง แต่คิดว่าไม่เยอะ ก็จะมีเงื่อนไขต่างๆ ตามมา เรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องนู่นนี่นั่น ทำให้ทุกวันนี้เราไม่เห็นข่าวท้องถิ่นมิติที่ในเชิงที่พาไปข้างหน้าเลย จะเป็นข่าวแค่องค์ประกอบของข่าวหลัก

ข่าวอาชญากรรม รถชน คนฆ่ากันตาย มันจะวนๆ เพราะสื่อเชื่อว่านี่คือสิ่งที่คนสนใจ แต่เอาเข้าจริงแล้วคนมันเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตากันไปหมดแล้ว คนกรุงเทพฯ ย้ายเข้าไปอยู่ เกษียณก็ไปอยู่ในท้องถิ่น

ผมไปหลายจังหวัดในภาคเหนือ ไปเจอคนอายุสามสิบกว่า ส่วนใหญ่ก็ทำงานในเมือง เรียนจบอย่างน้อยก็ปริญญาตรี ทำงานสักสามสี่ปี อาจจะห้าหกปี แล้วก็กลับไปทำงานที่บ้าน เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้มันไม่ใช่แบบเดิมแล้ว คนมีแต่อยากจะออกไปอยู่ข้างนอกมากกว่าจะไปอยู่ในเมือง ซึ่งเมืองสภาพก็อย่างที่เราเห็นอยู่ ใช่ว่าจะโอเคทั้งหมด

ขณะท้องถิ่นที่เขากลับไปมันไม่เหมือนในเมือง เช่น ทำไมไม่มีรถไฟฟ้าเหมือนในกรุงเทพฯ แล้วสุดท้ายจะมองเห็นว่า บ้านเราต้องยกระดับ คนจำนวนหนึ่งก็เริ่มจะตั้งคำถามและขยับตัว แต่ช่องทางการสื่อสารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการมันไม่เปิดช่อง สื่อหลักไม่ได้เปิดช่องแบบนั้น เขาก็มาใช้โซเชียลมีเดีย เราถึงเห็นพวกเพจ สื่อออนไลน์ที่เกิดขึ้นเต็มไปหมด จังหวัดหนึ่งอาจจะมีเป็นร้อยๆ แล้วมีประเด็นต่างๆ เกิดขึ้น แต่ทั้งหมดไม่เห็นอยู่ในสื่อหลัก


อาทิตย์อัสดงของสื่อส่วนกลาง และทางไปต่อของสื่อท้องถิ่น

 

วิกฤตมันทำให้เห็นว่า มันกำลังเสื่อม สื่อกำลัง sun set แต่ถ้าเราสามารถปรับตัวได้ จริงๆ เป็นสูตรที่เราได้ยินกัน ต้องอัพสกิลรีสกิล นักข่าวท้องถิ่นจำนวนหนึ่งก็พยายามไปฝึกเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย จากเดิมที่อาจจะมองเป้าหมายแค่สื่อหลัก เขาก็มาใช้ยูทูป ทำเว็บไซต์ หรือกระทั่งมีอาชีพเสริมเข้ามา เพื่อที่จะให้ หนึ่ง ตัวเองสามารถไปได้ในการเปลี่ยนแปลง สอง ถ้าคนที่ยังชอบการทำสื่ออยู่ก็อาจจะเป็นช่องทางออก เพราะมันไม่มีช่องทางเหมือนเดิมแล้ว เขาก็ต้องสร้างช่องทางออกของตัวเอง เพราะฉะนั้น จำนวนหนึ่งที่อัพสกิลและปรับตัว ผมว่าไปได้ แต่สัดส่วนน่าจะไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมันไม่ง่ายนะ เพราะคุณกำลังแข่งกับคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นดิจิทัลเนทีฟ

คนรุ่นใหม่ ทักษะการทำคอนเทนต์เขาอาจจะไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ด้อยนะ อาจจะเข้าใจตลาดด้วยซ้ำว่าเป็นยังไง เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนเห็นมุมนี้แล้วเข้ามาช่วยสื่อท้องถิ่นดั้งเดิมที่ยังสนใจที่จะไปต่อ ผมว่ามีโอกาสจะยกระดับได้

ผมว่าแต่ละจังหวัดมีโซเชียลมีเดียที่ทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นสื่อท้องถิ่น แล้วใช้คนไม่เยอะ อาจจะ 1-2 คนเท่านั้นเองในการช่วยเป็นข้อต่อการสื่อสารข้างใน แล้วก็เป็นพื้นที่กลางให้คนมาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร อาจจะไปไม่ถึงการเป็นนักข่าวในวิธีคิดแบบวารสารศาสตร์ แต่อนาคตผมคิดว่าไปได้ และยิ่งเราพบว่าอนาคตไม่ได้เป็นเรื่องผู้เชี่ยวชาญ 1-2 คนคอยกำหนดทิศทางข่าว มันหมายถึงคนจำนวนมาก อย่างเรื่อง น้ำท่วมเมืองกาญจน์ ส่วนใหญ่เราได้ข่าวจากไหน ถ้าอยู่ในข่าวหลักก็จะเห็นการรายงานคล้ายๆ กัน แต่ถ้าไปดูเพจของทั้งบุคคลที่เป็นผู้นำหรืออินฟลูเอนเซอร์ จะเห็นความแตกต่างหลากหลายกันมากเลย  บางที่เรียลไทม์ มีปฏิสัมพันธ์ได้ด้วย เราจะเห็นว่ามีความต่างกันเยอะระหว่างสื่อหลักที่ทำเรื่องราวในท้องถิ่น กับคนในท้องถิ่นหรือสื่อท้องถิ่นทำเรื่องราวของเขาเอง เพราะฉะนั้น ทำยังไงให้เกิดแบบนี้ แล้วยกระดับขึ้นไปอีก


บทบาทของสื่อท้องถิ่นสมัยใหม่

 

ถ้าจะพูดคำใหญ่ๆ การสถาปนาบทบาทสื่อท้องถิ่นให้กลับมามีบทบาท โดยที่ไม่ต้องมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสื่อหลัก  เพราะจริงๆ ทุกวันนี้มันบอกไม่ได้ว่าใครหลักใครรอง เช่น คุณอาจจะเป็นสื่อท้องถิ่นของจังหวัดหนึ่ง แต่มีแฟนเพจสักสามล้าน เท่ากับไทยพีบีเอสอะไรแบบนี้ คือมันบอกไม่ได้แล้วว่าใครเป็นเซ็นเตอร์ เพราะมันถูกดิสรัปไปแล้ว แต่มันทำให้คนเห็นในสองสามประเด็น

หนึ่ง ถ้าเราอยากมีสื่อท้องถิ่นสถาปนาขึ้นมาใหม่ เราสนใจเอาเรื่องราวของคนข้างในไปสื่อสารกับคนข้างนอก อย่างเช่น เรื่องน้ำท่วมภัยพิบัติเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพราะว่า พอเกิดเหตุขึ้นมาคนมักจะเชื่อว่ารัฐเองจะค่อนข้างเซ็นเซอร์เรื่องการสื่อสาร เพราะคนจะรู้ว่า เอ๊ะ ไม่เห็นเลยว่าบ้านตัวเองเป็นยังไงบ้าง ทั้งที่จริงๆ แล้วรัฐเองอาจจะทำงานอยู่ แต่ว่าเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้ คนที่รายงานได้ดีที่สุด ก็คือคนที่อยู่ในพื้นที่นั่นแหละ ผมว่าหน้าที่ของเขา คือการเอาเรื่องราวข้างในจากมุมมองของคนในพื้นที่ออกมาสื่อสารให้โลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

สอง คือ การสื่อสารเรื่องราวข้างในเพื่อให้คนเห็นมิติเห็นมุมมอง ที่ผมพูดว่าสื่อท้องถิ่นอาจทำหน้าที่เป็นสเปซให้คน เพราะข้อมูลข่าวสารไม่ถูกผูกขาดโดยตัวบุคคลอีกแล้ว มันมาได้จากรอบทิศ อย่างเกิดเหตุการณ์ตรงนี้ขึ้นมา คนมาคอมเมนต์รอบทิศ เติมข้อมูลเข้ามาเรื่อยๆ อาจจะมีถูกมีผิด ตัวสื่อท้องถิ่นอาจช่วยกรองข้อมูลแล้วก็ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ตกลงมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่

อันที่สาม คือ นำข้อมูลจากข้างนอกเข้าสู่ข้างใน อย่างเช่น เรื่องเงินดิจิทัล นโยบายบางอย่างของรัฐ อันนี้ต้องใช้ความเป็นวิชาชีพ อันที่สี่ ทั้งหมดนี้ต้องสร้างวัฒนธรรมบางอย่าง คัลเจอร์สำคัญที่จะทำให้สังคมไปได้ก็คือ ทำให้เกิดการฟัง การสื่อทุกอย่างการที่จะทำความเข้าใจมันต้องอยู่บนฐานข้อมูล ต้องมีข้อมูลไม่ใช่เรื่องความรู้สึก และต้องสร้างคัลเจอร์ของการฟัง ฟังและสื่อสารในมิติที่ไม่ต้องไปด่าเขา แต่พูดในมุมของตัวเอง

ผมคิดว่า ประมาณสามสี่อย่างนี้ น่าจะเป็นหน้าที่ของสื่อท้องถิ่นในยุคสมัยใหม่ ส่วนการใช้แฟลตฟอร์มก็ขึ้นกับเงื่อนไขของพื้นที่ว่า คนในพื้นที่ใช้แฟลตฟอร์มอะไรเป็นหลัก ถ้าเป็นแฟลตฟอร์มออนไลน์ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะว่ามันเชื่อมต่ออยู่แล้ว แต่ว่าการทำแบบนี้แค่หนึ่งที่สองที่มันไม่ไหว ต้องทำกันเป็นเน็ตเวอร์ค


การสร้างสื่อท้องถิ่นยุคใหม่ อาจต้องมองไปที่คนรุ่นใหม่

 

มันเป็นโจทย์ยาก เพราะเริ่มต้นคิดมาเราก็เหมือนเรารวมศูนย์ ใช่ไหม ถ้าถามผมจะเริ่มต้นยังไง มันต้องสำรวจต้นทุนก่อนนะว่ามีอะไรอยู่บ้าง แล้วอาจจะต้องแม็ปปิ้งเอาบางส่วนที่คิดว่ามีโอกาสมานั่งคุยกันเรื่องไอเดีย

เรื่องนี้ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากไปข้างหน้า บางคนเขาไม่รู้สึกปลอดภัยที่จะไปข้างหน้า ข้างหน้ามีการแข่งขันที่สูง เขาอาจจะรู้สึกปลอดภัยในเซฟโซนที่เป็นอยู่ เป็นสื่อท้องถิ่นเล็ก ๆ เติบโตด้วยเงินของเอกชนและงบประชาสัมพันธ์ของจังหวัด เพราะส่วนใหญ่ที่ทำตรงนี้มักจะมีธุรกิจอื่นๆ เช่น รับเหมาก่อสร้าง เพราะฉะนั้น สิ่งพิมพ์จะเป็นเครื่องมือทำให้เขาพยุงฐานะของตัวเองได้ แล้วการไปทำแข่งอาจจะมีปัญหา จังหวัดที่มีแบบนี้ มักเป็นจังหวัดสำคัญ จังหวัดใหญ่ๆ

ถ้าอย่างนั้น เราอาจต้องกลับไปที่คนอีกเจนหนึ่ง เป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจวิธีคิดที่ไม่ใช่แบบสื่อหลัก มันจะมีมิติหลายเฉดหลายมุมที่เขาทำได้ และอาจจะมีบางขาที่เขาทำเรื่องสื่อจริงๆ เพื่อให้สื่อที่เกิดขึ้นยังยึดโยงอยู่กับพื้นที่ เช่น องค์กรที่ทำสื่ออาจจะมีมูลนิธิทำเรื่องระดมทุน มีคนทำสื่อ และอื่นๆ เป็นองคาพยพที่มาประกอบกัน แต่จะทำอย่างนี้ได้ เราต้องสู้อีกหลายชั้น เช่น ระเบียบของท้องถิ่นที่จะเปิดช่องให้ท้องถิ่นสามารถที่จะอุดหนุนตัวสื่อ พูดง่ายๆ คล้ายโอทอป หนึ่งเมืองอาจจะมีหนึ่งสื่อ ที่ทำหน้าที่ทั้งเรื่องการศึกษา เรื่องของการสื่อสารควบคู่กันไป องค์กรเหล่านี้ต้องทำให้ยึดโยงกับความเป็นเมืองที่มีอยู่ ซึ่งฟังดูมันเป็นไปได้นะ

ในต่างประเทศเป็นแบบนั้นหมดเลย ถึงระดับเคาน์ตี้ พูดง่ายๆ หนึ่งเมืองมีหนึ่งสื่อเลย เพราะเขามองว่าเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง ไม่ต่างจากการมีโรงละคร โรงหนัง พิพิธภัณฑ์ เพราะพวกนี้คือพื้นที่ในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ของคนในเมือง

อันนี้อาจจะวิจารณ์ว่าเป็นความคิดแบบตะวันตก แต่ผมคิดว่าถ้าถอดบทเรียนดีๆ ทางฝั่งเราก็มีคล้ายๆ กันนะ เพียงแต่อาจไม่จริงจังเหมือนฝั่งยุโรปหรือฝั่งตะวันตก แต่พวกนี้เป็นส่วนสำคัญ เพราะหลายเมืองที่มีอายุมาหลายร้อยหลายพันปี มีพวกนี้หมดเลย คนที่เติบโตในเมืองแบบนี้เป็นบุคคลสำคัญด้วยนะ เพราะมีพื้นที่บ่มเพาะความคิดคน เพราะฉะนั้น ถ้ามองมุมนี้นะ ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้

จริงๆ สื่อก็เป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งที่จะผลักดันให้เกิดซอฟท์พาวเวอร์ของเมืองที่จับต้องได้และเติบโตไป เพียงแต่ว่าเราจะมีความหวังกับคนเจนก่อนแค่ไหน อันนี้ไม่รู้ต้องประเมิน แต่คนเจนใหม่เขาก็มีความคิดอีกชุดหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะปลั๊กอินกับสิ่งที่ผมเสนอได้ทั้งหมด อาจต้องหาทางออกว่าทำยังไง และต้องทดลอง

ถ้าเป็นสื่อท้องถิ่น สเกลประมาณนี้ ประชากรประมาณแสนคน พื้นที่ประมาณนี้ ดูแลโดยเทศบาลนคร สมมติว่า ตัดงบมาประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ให้มาจัดการเรื่องสื่อ แล้วไปกำหนดเงื่อนไขว่าสื่อที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ได้ต้องมีคุณสมบัติยังไง อันนี้เป็นสูตรถ้ามองในเชิงระบบนะ ถ้าเป็นไปได้ผมว่าน่าสนใจ แต่สื่อที่ว่านี้ไม่ใช่สื่อของเทศบาลนะ เป็นสื่อของประชาชน ต้องใช้แนวคิดสื่อสาธารณะเหมือนกัน

จริงๆ ปัญหาสำคัญของสื่อก็คือ เรื่องเงินทุน ตราบใดที่ยังต้องไปขอเงินโครงการอยู่ มันไปไม่ไหว มันจะเหนื่อยมาก หาเงินมาทำโครงการเพื่อที่จะหาเงินมาทำงานที่ตัวเองอยากทำ น่าจะไปไม่รอดแน่นอน ต้องทำยังไง ส่วนหนึ่งต้องทำให้เขามีอิสระทางด้านการเงิน ไม่ต้องไปผูกกับรัฐหรือทุน ตัวอย่าง ไทยพีบีเอส ต้องหาวิธีคล้ายๆ กัน

 
 

เนื้อหาล่าสุด