Skip to main content

‘แม่ฮ่องสอน’ ในสายตา ‘สร้อยแก้ว คำมาลา’ นักเขียน คนทำสื่อที่รักบ้านเกิด

3 สิงหาคม 2567

องอาจ เดชา

 


สร้อยแก้ว คำมาลา นักเขียนเรื่องสั้น บทกวี และวรรณกรรมสะท้อนประเด็นปัญหาทางสังคม เกิดและเติบโตที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัจจุบัน เธอทำงานสื่อโทรทัศน์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวชุมชนท้องถิ่นของแม่ฮ่องสอน พร้อมเข้าไปหนุนเสริมช่วยเหลือชาวบ้านได้สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์

สร้อยแก้ว เกิดและเติบโตที่อําเภอแม่สะเรียง ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ในแอ่งที่มีภูเขาล้อมรอบด้วยทุ่งนาและแม่น้ำ ทิวทัศน์ธรรมชาติสวย สงบ และมีชีวิตที่เรียบง่าย

เธอเริ่มอยากเป็นนักเขียนตั้งแต่จบมัธยมปลาย และเมื่อได้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เริ่มเห็นความแตกต่างของสังคมเมืองใหญ่กับชนบทหมู่บ้านที่ห่างไกลค่อนข้างชัด ด้วยความคิดถึงบ้าน จึงทําให้อยากเขียนหนังสือ และเริ่มส่งผลงานไปตีพิมพ์นิตยสารท้องถิ่น ‘เสียงภูเขา’ และ ‘สารล้านนา’ ต่อมาก็ส่งบทกวี  เรื่องสั้น ไปลงที่ มติชนสุดสัปดาห์  

การได้เรียนในมหาวิทยาลัย นอกจากโอกาสทางการศึกษาแล้ว ยังเป็นอากาสให้เธอได้พบปะผู้คน เจอนักเขียนเก่งๆ และปรับมุมมองให้อยากเขียนงานซึ่งเป็นประโยชน์กับสังคม และด้วยความผูกพัน ความคิดที่มีต่อบ้านเกิด ส่งผลออกมาเป็นงานเขียนและบทกวีในชื่อ สร้อยแก้ว คำมาลา เป็นจำนวนมาก

เธอบอกว่า ในฐานะคนแม่ฮ่องสอนคนหนึ่งที่มีความรักและผูกพันบ้านเกิด ก็อยากให้ทุกคนในบ้านเมืองนี้มีความสุข อยากให้ชาวบ้านมีรายได้ที่สามารถดูแลตัวเองได้  แล้วก็อยากให้การพัฒนาของแม่ฮ่องสอนเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ไม่อยากให้มันกระจุกที่ใดที่หนึ่ง มีการเฉลี่ยรายได้ไปให้ทั่วถึงกับทุกๆ คน รวมถึงเป็นจังหวัดที่มีการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ดี ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนต่อไป

 


การเขียนหนังสือ ไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ได้พบผู้คนหลากหลาย ทําให้มองเห็นแม่สะเรียงแตกต่างจากที่อื่นอย่างไรบ้าง ?

 

สร้อยแก้ว :  ตอนที่เราอยู่ไปจนถึง ม.6 เรามองไม่ออกว่า บ้านเมืองเรามันพิเศษยังไง อาจจะด้วยความเคยชิน ก็รู้สึกสวยเป็นปกติ

จนกระทั่ง เราเรียนจบ ออกจากมหาวิทยาลัย แล้วก็ไปใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ  มันยิ่งเห็นความแตกต่าง แล้วก็รู้สึกว่า เฮ้ย...จริงๆ บ้านเมืองเราสวยมาก ยิ่งออกมาไกลเท่าไหร่ก็ยิ่งรู้สึกว่าบ้านเราสวยมากขึ้นเท่านั้น  แล้วมันไม่ใช่แค่สวยเชิงภูมิทัศน์ภูมิศาสตร์อย่างเดียวนะ แต่ด้านวัฒนธรรม ด้านของจิตใจ ด้านของวิถีความเป็นอยู่ก็มีความสวยงาม  เราจึงเริ่มที่จะเขียนงานในมุมนี้ขึ้นมากขึ้น


จากที่นักเขียน ทำไมถึงผันตัวมาทำสื่อโทรทัศน์?

 

สร้อยแก้ว :  เพราะว่าการเขียนหนังสืออย่างเดียว มันอยู่รอดยาก (หัวเราะ) เราก็พยายามจะหางานอื่นๆ ทําควบคู่กันไปด้วย  นอกเหนือจากงานเขียนก็จะเป็นงานสื่อนี่แหละ ซึ่งเราทำมาตั้งแต่ตอนเรียนจบใหม่ๆ แล้ว ก็ทําวิทยุ จากนั้นก็ไปทํารายการโทรทัศน์ของไอทีวี แล้วก็ไปเป็นเจ้าหน้าที่สื่อ สลับกับงานเขียนมาเรื่อยๆ  

จนกระทั่งปี 2560 งานสื่อโทรทัศน์มันชัดเจนขึ้นสําหรับตัวเราเอง เพราะว่าเครื่องมือของเทคโนโลยีการผลิตงานวีดีทัศน์ที่เราเรียกว่าสื่อมัลติมีเดีย มันหาใช้ได้ง่ายขึ้น  ไม่เหมือนเมื่อก่อน เราแบกกล้องน้ำหนัก 10 กิโล แต่พอวันหนึ่งกลายเป็นกล้องดิจิตอล ไม่หนักมาก ทําให้การผลิตง่ายขึ้น  เราก็เริ่มเรียนรู้จากตรงนี้  แล้วก็มาเป็นนักข่าวพลเมืองให้กับไทยพีบีเอส  ก็เริ่มทำมาเรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน

อีกอย่างหนึ่งก็คือ เรามองว่า การทําสื่อมันเป็นหนทางหนึ่งที่จะทําให้เรานําเสนอปัญหาของสังคม  นําเสนอเสียงของคนตัวเล็กๆ ให้มันดังขึ้นมาในสังคมได้ นําเสนอแง่มุมที่ผู้คนเขาอาจจะไม่ค่อยสนใจ  แต่เราเห็นว่ามันมีความสําคัญและอยากหยิบมาให้คนได้รับฟังรับชม  ก็เลยมาทําสื่อตรงนี้ในโซนภาคเหนือ แล้วก็มาเลือกพื้นที่ทํางานคือแม่ฮ่องสอน มาปักหมุดปักหลักที่แม่ฮ่องสอนอย่างเดียว เพราะว่า เราคิดถึงบ้านเกิด  เราอยากกลับมาทํางานที่นี่  


มองแม่ฮ่องสอน ในภาพรวมเป็นอย่างไรบ้าง?

 

สร้อยแก้ว : ทุกครั้งที่เราได้ขับรถเข้าไปแม่ฮ่องสอน  ไม่ว่าจะวิ่งเส้นทางไหนก็ตาม ไม่ว่าปาย ขุนยวม หรือแม่สะเรียง ถนนทุกสายมันสวยไปหมด ใครที่ขับรถมาแม่ฮ่องสอนไม่ว่าคุณจะวิ่งเส้นทางไหนมันสวยทุกเส้นทาง ป่าเขาลำเนาไพรมันยังคงอยู่ แม้ว่ามันอาจจะไม่ไม่อุดมสมบูรณ์มากเหมือนตอนที่เราเป็นเด็ก เพราะตอนเราเป็นเด็ก เวลาขับรถผ่านแม่สะเรียงมาเชียงใหม่  จะมีฝูงลิงลมให้ให้เห็นนะคะ จะได้ยินเสียงสัตว์ป่าหายากร้องอยู่ในป่า  เวลาที่เราจอดรถกลางป่า  เพราะฉะนั้น ป่าเมื่อก่อนมันอุดมสมบูรณ์มาก แต่ว่าปัจจุบันแม้ความอุดมสมบูรณ์ของป่ามันไม่เท่าเดิม  แต่มันก็ยังสวยอยู่ดี  ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทําให้อยากกลับมาทํางานที่บ้านเกิดตัวเอง  


ในมุมมองในฐานะสื่อ มองเห็นปัญหาของแม่ฮ่องสอนเป็นอย่างไรบ้าง?

 

สร้อยแก้ว : พอเราเริ่มกลับมาทํางานสื่อในแม่ฮ่องสอน  เราเห็นปัญหาที่มันใหญ่มาก นั่นคือ แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ติดอันดับยากจนในระดับต้นๆ ของประเทศมาเป็น 10 ปีเลยนะคะ  ปัจจุบันนี้ก็ยังอยู่อันดับที่ 2-3 คือยากจนที่สุดของประเทศระดับท็อปเท็นมาโดยตลอด มันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเกิดเมืองนอนเรา ทำไมมันถึงจนซ้ำซาก  มันดิ้นกันไม่หลุดแล้วหรือ  

ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนพุ่ง จนทำให้แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ  เมื่อเทียบสัดส่วนประชากรนะ หลายคนอาจจะตกใจว่าเมืองเล็กๆ แบบนี้ทําไมถึงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง  อันนี้ต้องบอกว่าเทียบกับสัดส่วนประชากรนะ

พอเราเข้าไปสัมผัสมากขึ้นๆ เราไม่แปลกใจว่า หนึ่ง ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ สอง คุณหนีไม่พ้นเวลาที่คุณอยู่ในสังคม แล้วคุณจะถูกมองด้วยสายตาที่เขาเรียกว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะถูกลดทอนลง เมื่อคุณยากจน เป็นโดยอัตโนมัติ คุณต้องจิตใจเข้มแข็งมากๆ หลายๆ คนที่รักบ้านเกิดแค่ไหน  ก็ไม่อยากอยู่บ้านเกิด  เพราะว่าตัวเองยากจน  เลยไปอยู่ที่อื่น  มีเยอะแยะไปหมด

แต่เราก็คิดว่า ทํายังไงที่จะช่วยกันให้บ้านเมืองที่มีทรัพยากรที่ดีมาก ทั้งทรัพยากรธรรมชาติแล้วก็ทรัพยากรด้านวัฒนธรรม คือสิ่งที่จะทําให้ผู้คนบ้านเมืองนี้ ให้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มันมีโอกาสที่จะทําได้เพียงแต่ว่ามันยังไม่มีใครขยับขับเคลื่อน แต่ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นบ้างแล้ว มีใครพยายามขับเคลื่อนอยู่  เราก็เป็นหน่วยหนึ่งของสังคมตรงนี้ เพราะเราทําสื่ออยู่ ก็เลยรู้สึกสนุก ได้ลงไปคลุกในพื้นที่มากขึ้น


ทราบมาว่า ได้เข้าไปช่วยเรื่องการท่องเที่ยวให้กับพี่น้องชาติพันธุ์กะยัน บ้านห้วยปูแกงด้วย?

 

สร้อยแก้ว :  ใช่ค่ะ บ้านห้วยปูแกงเป็นหมู่บ้านที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกะยัน หรือที่หลายคนเรียกกันในชื่อ กะเหรี่ยงคอยาว เป็นหย่อมบ้านของหมู่บ้านห้วยเดื่อ ตําบลผาบ่อง อยู่ห่างจากตัวอําเภอเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 16 กิโลเมตร แต่ว่าเส้นทางเข้าไปก็จะคดเคี้ยว

ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ พี่น้องชาวกะยัน รากเหง้าอยู่ที่รัฐกะเรนนีของพม่า และเจอปัญหาสงครามการเมืองในพม่า เขาก็ขยับมาอยู่ฝั่งไทย มาอยู่ที่แม่ฮ่องสอน แต่จริงๆ เราก็ไม่อยากจะอ้างว่าใครคือคนไทย หรือใครไม่ใช่คนไทยอะไรอย่างนี้นะ เพราะว่าลึกๆ พวกเราทุกคนก็ล้วนแต่มีบรรพบุรุษที่มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานมาตลอดอยู่แล้ว  

แต่พี่น้องห้วยปูแกงที่เราไปเจอ เขามีบัตรประชาชนคนไทยเพียงไม่กี่คน และส่วนใหญ่ก็ยังไม่มี เราเห็นเขามาตั้งแต่เด็กๆ แล้วทําไมเขายังไม่มีบัตรคนไทย ความเป็นอยู่ส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างยากจน ก็เลยคุยกับเขาว่า ทุกวันนี้ประกอบอาชีพอะไรบ้าง ก็เลยถึงรู้ว่า อ๋อ.. ที่ทํากินของเขามีไม่เยอะ หลายคนยังไม่มีบัตรคนไทย แล้วก็พื้นฐานเขายากจนอยู่แล้ว ก็อาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว  ซึ่งมันก็ไม่เพียงพอ  เพราะว่านักท่องเที่ยวไม่ได้มาตลอด  

เลยพยายามคิดไว้ในหัวตั้งแต่ตอนที่ไปทําข่าวนี้ว่า ถ้าหากมีโอกาสที่จะช่วยเขาได้ก็อยากช่วย จนกระทั่งมาเจอโครงการแผนสื่อศิลปะวัฒนธรรมของ สสส. ก็เลยได้นําเสนอเรื่องนี้ให้กับแผนสื่อ ซึ่งเขาก็อนุมัติเพื่อที่จะมาสนับสนุนในเรื่องของ โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ หรือธุรกิจเพื่อสังคม ก็คือพยายามที่จะสนับสนุนชาวบ้านให้เกาะกลุ่มกันขึ้นมาเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม และก็มีทุนสนับสนุนส่วนหนึ่ง เพื่อที่ในระยะยาวเขาจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลของชุมชน โดยที่ไม่ต้องพึ่งการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ก็คือทำควบคู่กันไปทั้งการท่องเที่ยวชุมชนด้วย  แล้วก็สร้างรายได้จากสินค้าผลิตภัณฑ์ของเขาไปด้วย

เพราะว่าพอหมดฤดูท่องเที่ยว เป็นโลว์ซีซั่น แต่ชาวบ้านก็ยังทำผลิตภัณฑ์กันอยู่นะ อย่างงานทอผ้า งานแกะสลักไม้ รวมไปถึงอาหารชาติพันธุ์ด้วย ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะรู้จักชาวกะยันหรือชาวกะเหรี่ยงคอยาว ก็มักจะนึกถึงแต่ภาพผู้หญิงสวมห่วงทองเหลืองใส่คอยาวๆ ซึ่งเรายังมีความรู้ประเพณีวัฒนธรรมของเขาน้อยมาก จริงๆ ชาวกระยันเป็นชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมด้านดนตรี ไพเราะมาก เขาจะมีวงดนตรีของเขาเลยนะคะ  มีเครื่องดนตรีหลายชิ้นเล่นด้วยกัน ซึ่งอยากให้ทุกคนได้ฟังกัน  

นอกจากนั้นยังมีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์  ด้วยความที่รากเหง้าจริงๆ ของเขามาจากรัฐกะเรนนี ของพม่า ชาวกะยันจะมีอารยธรรมด้านอาหารที่มีความซับซ้อนอยู่นะ เป็นอาหารที่ใครได้ทานแล้วอร่อยมาก


ตอนนี้ชาวกะยันบ้านห้วยปูแกง ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขึ้นมากน้อยแค่ไหน?

 

สร้อยแก้ว : จริงๆ ก็มีคนสนใจเป็นปกติอยู่แล้วนะ เพราะว่า เขามีเอกลักษณ์โดดเด่น แต่ว่ามันไม่เพียงพอที่จะทําให้เขามีรายได้ให้อยู่ได้ทั้งปี แต่ว่าการที่เราไปกระตุ้นส่งเสริมทําให้คนสนใจมากขึ้น ก็มีส่วนนะ  เพราะบางทีคนอาจจะลืมๆ ไปแล้ว แต่พอเราไปโปรโมทมากขึ้น คนก็มาเพิ่มมากขึ้นจริงๆ 

ยกตัวอย่าง ตอนงานปีใหม่กะยัน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตอนนั้นเราทุ่มเทกันมาก พยายามผลักดันในเรื่องการจัดงานปีใหม่กะยันขึ้นมา ตั้งใจที่จะให้นักท่องเที่ยว รวมถึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้มาเห็นว่าวัฒนธรรมงานปีใหม่ของชาวกะยันนั้นมีความน่าสนใจ เป็นประเพณีดั้งเดิมที่หาชมได้ยาก พอเราได้เราช่วยกันโปรโมทมากขึ้น ก็มีนักข่าวสื่อมวลชนเข้ามามากขึ้น รวมไปถึงนักข่าวบีบีซีและรอยเตอร์ก็เข้ามาถ่ายทําด้วย


การโปรโมทจัดกิจกรรมแบบนี้ มีส่วนทำให้โฮมสเตย์ของชาวบ้านได้รับความสนใจกันมากขึ้นด้วยไหม?

 

สร้อยแก้ว : ใช่ค่ะ ได้ผลจริงๆ ทําให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจองเข้ามาพักโฮมสเตย์กับชาวบ้าน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมาพักอยู่ในบ้านชาวบ้านเลย กางมุ้งนอนกับชาวบ้านจริงๆ ซึ่งในอนาคตก็ยังไม่รู้นะว่า เราจะมีการปรับปรุงหรือพัฒนาเพื่อที่จะรองรับนักท่องเที่ยวให้หลากหลายขึ้นหรือไม่ เพราะว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีทั้งคนที่ชอบมิติของความดั้งเดิมของชุมชน แล้วก็กลุ่มที่อาจจะไม่ได้ลงลึกซึ้งแบบกลุ่มแรก

ดังนั้น เราอาจจะต้องเลือกเอากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ว่าทํายังไงที่จะให้วิถีชุมชนยังคงอยู่แบบดั้งเดิม แล้วก็ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าแล้วยอมรับสิ่งที่เขาเป็นได้ ก็พยายามที่จะเรียนรู้แล้วก็ปรับตัวกันอยู่  

แม่ฮ่องสอน จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก  แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะมีเอกลักษณ์ มีภาษา  มีวัฒนธรรม มีการแต่งกาย มีอุปนิสัยที่แตกต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง แต่สิ่งสําคัญที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกันหมดเลยก็คือ ทุกคนค่อนข้างจิตใจดี  มีอัธยาศัยไมตรีดี คนแม่ฮ่องสอนค่อนข้างยิ้มแย้มนะคะ แล้วก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่


รู้สึกภูมิใจมั้ยที่เป็นคนแม่ฮ่องสอน?

 

สร้อยแก้ว :  แน่นอน ความที่เรารู้สึกว่าเราเป็นคนแม่ฮ่องสอน ไม่ว่าจะอยู่อําเภอไหนก็ตาม ที่นี่คือบ้านเกิดเรา  มันทําให้เรารู้สึกว่า เวลาที่เราอยู่ตรงจุดไหนก็ตาม แล้วถ้าหากมันมีโอกาสที่จะช่วยทําให้สังคมชุมชนนั้นดีขึ้นได้ เราก็อยากทําแน่นอน เพราะว่าเราเป็นสื่อมวลชน แล้วก็เป็นนักเขียน เป็นอาชีพที่เราใช้หล่อเลี้ยงตัวเองและลูก ไม่ได้ร่ำรวยมาก พออยู่พอกิน

แต่ว่าการงานที่ทํานั้น เราอยากทําอยากให้มันเป็นงานที่สามารถสร้างสรรค์แล้วก็ไม่ทําร้ายผู้อื่น  ถ้าหากมันดี มันจะดียิ่งขึ้น  ถ้าหากงานที่เราทํานั้นไปช่วยผู้อื่นให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ แล้วรู้สึกว่า เวลาที่เราใช้ไปบนโลกในแต่ละวันนั้น ทําไปแล้วเราก็จะมีความสุข อยากให้สิ่งดีๆ มันเกิดขึ้นในชุมชนของแม่ฮ่องสอน

ดังนั้น เมื่อพูดถึงแม่ฮ่องสอนกับปัญหาความยากจน สิ่งเหล่านี้ มันเป็นการบ่งบอกว่าแม่ฮ่องสอนยังจะต้องได้รับการพัฒนาให้ถูกที่ถูกทาง รวมถึงปัญหาสิทธิที่ดินทํากินของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่ 80% ของชาวบ้านจะอยู่ในป่าในดอย และไม่มีที่ทํากินที่ถูกต้อง ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ยืดเยื้อมาตลอด  สิ่งเหล่านี้ในฐานะที่เราทํางานสื่อมวลชนก็คิดว่า อยากจะรณรงค์หรือว่าพยายามเผยแพร่ข้อเท็จจริงตรงนี้ออกไปสู่สังคมให้มากที่สุด เพื่อที่จะให้มันมีการจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบเสียทีกับชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามภูเขา


อยากจะแนะนำนักท่องเที่ยวที่สนใจจะเข้ามาเที่ยวในแม่ฮ่องสอนอย่างไรบ้าง?

 

สร้อยแก้ว : อยากเชิญชวนทุกคนมาเที่ยวแม่ฮ่องสอนกันเยอะๆ เพราะว่าแม่ฮ่องสอนน่าเที่ยวทุกฤดู หน้าฝนก็สวย หมอกฝนสวยมาก หน้าหนาวอากาศดีมาก อยากให้ทุกคนได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวในชุมชนต่างๆ ในแต่ละอำเภอของแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีหลายหมู่บ้านที่สวยงามมาก

ที่สำคัญคือ การไปเที่ยวในชุมชนสามารถช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนด้วย ในขณะเดียวกันธุรกิจในเมืองก็น่าสนับสนุนเช่นกัน เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา ทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวของแม่ฮ่องสอนออกมาพูดแล้วว่า ธุรกิจโรงแรมในเมืองแม่ฮ่องสอนก็ค่อนข้างวิกฤติ  เพราะว่าคนกระจายไปรอบนอกกันเยอะขึ้น  ดังนั้น ถ้าใครชอบความสะดวกสบายก็มาใช้บริการโรงแรมของตัวเมืองบ้างก็ได้ ซึ่งราคาที่พักไม่แพง

เราในฐานะคนแม่ฮ่องสอนคนหนึ่งที่มีความรักและผูกพันบ้านเกิด ก็อยากให้ทุกคนในบ้านเมืองนี้มีความสุข อยากให้ชาวบ้านมีรายได้ที่สามารถดูแลตัวเองได้  แล้วก็อยากให้การพัฒนาของแม่ฮ่องสอนเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ไม่อยากให้มันกระจุกที่ใดที่หนึ่ง มีการเฉลี่ยรายได้ไปให้ทั่วถึงกับทุกๆ คน รวมถึงเป็นจังหวัดที่มีการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ดี ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนตลอดไป


 

เนื้อหาล่าสุด