Skip to main content

‘Nalantha Clay House’ บ้านดิน ธรรมชาติ Art & Craft พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจกับชีวิตที่ลงตัว

1 สิงหาคม 2567

 

องอาจ เดชา


 

'หนิง' สุณิสา นัดวิไล เธอต้องมนต์หลงเสน่ห์ของเมืองพร้าว จนพาครอบครัวมาปักหลักเริ่มต้นทำบ้านดิน และทำ Nalantha Clay House Art & Craft Workshop กลายเป็นแหล่งเรียนรู้การทำบ้านดิน และการย้อมสีธรรมชาติ ผ้ามัดย้อม ปักผ้า งานคราฟท์ ที่มีคนแวะเวียนเข้ามา ในรอบปีเธอได้จัดกิจกรรมเวิร์คช็อป และนำบ้านดินมาเป็นที่พักโฮมสเตย์ที่เงียบ ง่าย งาม สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ ชีวิตที่ลงตัว  

เธอบอกว่า เธอนำเอางานศิลปะที่ร่ำเรียนมาปรับใช้กับการการดำรงอยู่ของชีวิต ให้สอดคล้องกับธรรมะ ปรัชญาการใช้ชีวิต ให้สมดุลกลมกลืนกับวิถีธรรมชาติของชนบทของเมืองพร้าว

“การมาอยู่ตรงนี้ ทำให้ชีวิตเรากลับมาแข็งแรงมากขึ้น แล้วก็มีสติและมีสมาธิมากขึ้นด้วย” หนิงบอก

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเธอ ก็คือการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ รวมไปถึงการสร้างแบรนด์แฮนด์เมด ด้วยการปักผ้า มีการนำถ้อยคำธรรมะ ปรัชญาชีวิตมาปักลงบนเสื้อผ้า ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ หมวก ปลอกหมอนฯลฯ จนทำให้ผลิตภัณฑ์ของเธอมีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะ จนมีลูกค้าประจำที่ชื่นชอบผลงานของเธอ และสามารถนำไปจัดแสดงงานในหลายพื้นที่แถวกรุงเทพฯ อีกด้วย

แน่นอนว่า พื้นที่ตรงนี้จึงเหมือนเป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคนที่มาเยือนและมาร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อป ได้กลับมาค้นหาแนวทางของตนเองได้


พื้นเพเดิมมาจากไหน แล้วทำไมถึงเลือกมาปักหลักปักฐานอยู่ที่เมืองพร้าว?

 

สุณิสา: เดิมที เราเป็นคนสมุทรปราการ เชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ แถวๆ บางนา-สําโรง แต่ที่ทําให้เราตัดสินใจเลือกมาอยู่ที่เมืองพร้าว ก็เพราะว่าชีวิตที่กรุงเทพฯ เรารู้สึกว่ามันมีราคาแพง แล้วก็พอเรามีลูก เราก็คิดว่าอยากจะหาที่ไหนสักที่หนึ่งที่มันเป็นธรรมชาติ  อยากให้ลูกเขาเติบโตอยู่กับธรรมชาติ ก็เลยเลือกที่จะมาอยู่ที่นี่เลย เพราะว่าก่อนหน้านั้นเราได้ซื้อที่ดินผืนนี้เอาไว้นานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ทําอะไร ก็เลยพากันย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ค่ะ


มองเมืองพร้าวเป็นไงบ้าง?

 

สุณิสา: ที่อำเภอพร้าว เป็นเมืองเล็กๆ ของเชียงใหม่ ที่ค่อนข้างเงียบสงบดีค่ะ เป็นสิ่งที่เราต้องการเลย ตอบโจทย์กับครอบครัวของเรา มันเงียบสงบ แล้วก็เราทํางานศิลปะด้วย ก็เลยอยากจะอยู่ในบรรยากาศที่ๆ มันสงบและก็เป็นธรรมชาติ ทําให้มีผลกับจิตใจเราเวลาเราทํางาน แล้วก็มีสมาธิ


แล้วทำไมถึงมาสนใจทําบ้านดิน?

 

สุณิสา: เริ่มแรกเลย เราเริ่มไปเรียนการทำบ้านดินที่อาศรมวงศ์สนิท ที่นครนายก คลอง15 หลังจากวันหนึ่งเราได้ไปเจอหนังสือ ‘กลับบ้าน’ ของพี่โจน จันใด แล้วก็อ่านจนจบเล่มปุ๊บ โอ้โห...แบบว่ามันจุดประกายมากเลย แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นคําตอบที่น่าจะใช่ที่สุดของชีวิต แล้วก็มันน่าจะใช่ตัวตนของเรามากกว่า จึงตัดสินใจทำบ้านดิน ก็ลงมือทําเองเลย ซึ่งในชีวิตเราก็ไม่เคยทําอะไรหนักๆ แบบนี้เลยนะ ไม่เคยทํางานแบบว่าก่อสร้างหรืออะไรที่หนักแบบนี้มาก่อนเลย แต่ว่าเราก็ได้พิสูจน์แล้วว่า เราไม่ได้ตายจากการที่เราทํางานหนักตรงนี้เลย แต่เรากลับแข็งแรงมากขึ้น  แล้วก็มีสติ มีสมาธิมากขึ้นด้วย จากการที่เราทําบ้านดิน  

เพราะในการทําทุกขั้นตอน  ตั้งแต่การย่ำดิน การทำก้อนอิฐแต่ละก้อนนั้น มันต้องมีสมาธิตั้งแต่เริ่มแรกเลย จนกระทั่งถึงการก่อหรือฉาบก็ตาม มันเหมือนได้ภาวนาเลยค่ะ ทําให้ให้รู้สึกว่าสงบ  แล้วก็มีสมาธิมากขึ้น มีสติมากขึ้น  เคยมีครั้งหนึ่ง ตอนยกก้อนอิฐลําเลียงมาเพื่อที่จะก่อ แล้วเราแบบเร่งรีบ คือใจเราไปก่อน  ใจเราสั่งให้เร็วไปก่อนกาย แล้วมันก็เลยเกิดความผิดพลาด จนก้อนอิฐมันหล่นใส่เท้า แต่ว่าเราชักเท้าทัน ทำให้เรารู้สึกเลยว่า โอ้โห คือตอนนั้น ถ้าเราไม่มีสติในแต่ละย่างก้าว มันก็อาจทําให้เราเจออุบัติเหตุได้เช่นกันนะ


การทำบ้านดิน ดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาในการใช้ชีวิตได้เลย?

 

สุณิสา: ใช่เลยค่ะ เหมือนที่พี่โจน จันใด ก็เคยพูดแซวกันเล่นๆ ว่านับตั้งแต่การย่ำดินจนกระทั่งลงมือทำบ้านดินจนแล้วเสร็จทุกขั้นตอน มันถึงขั้นบรรลุกันได้เลยนะ(หัวเราะ) อย่างบ้านดินหลังวงกลมนี้ ก็จะค่อยๆ ทำไป ใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี ถามว่าตอบโจทย์กับตัวเรามั้ย ก็ถือว่าใช่เลย และมันสอดคล้องกับการทํางานของเราด้วย ในงานย้อมผ้าที่เราทำ 

เพราะว่าอยู่ตรงนี้ เราสามารถหาวัตถุดิบหรือวัสดุอุปกรณ์อะไรที่เราใช้ในการทํางานได้ง่าย เนื่องจากแถวเชียงใหม่นี้มีการทอผ้าในพื้นถิ่นอยู่แล้ว เมื่อก่อนตอนที่เราอยู่กรุงเทพฯ คือยังใช้สีเคมีอยู่นะ แต่พอเราย้ายมาอยู่ที่นี่แล้ว เราเปลี่ยนมาใช้สีจากธรรมชาติ หาวัสดุหรือวัตถุดิบที่มันเป็นพืชเป็นรากไม้หรือใบไม้อะไรต่างๆ ได้ง่าย ก็เลยเปลี่ยนมาใช้แบบธรรมชาติทั้งหมดเลยค่ะ


ดูเหมือนว่างานย้อมผ้า งานคราฟท์ และงานปักของคุณตอนนี้ กลายมาเป็นแบรนด์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะเลย?

 

สุณิสา: ใช่ค่ะ ผลิตภัณฑ์ของเราจะเป็นผ้าที่เป็นใยธรรมชาตินะคะ  ใยธรรมชาติทั้งหมดก็ได้แก่ ฝ้าย ลินิน หรือกัญชง ที่เป็นวัสดุตั้งต้น แล้วก็ย้อมกับสีธรรมชาติ อย่างเช่น เปลือกไม้ ย้อมคราม ย้อมใบไม้ ย้อมสีโคลน ประมาณนี้ แล้วก็งานปักงานเย็บ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเย็บด้วยมือ  เย็บด้วยมือทั้งตัวทั้งชุดนะคะ แล้วก็ปักด้วยมือทั้งชุด ด้วยด้ายสีธรรมชาติอีกเหมือนกัน

 

อย่างงานปักในเสื้อผ้าแต่ละผืนแต่ละตัว ก็โดดเด่นที่ใช้ปักตัวหนังสือ มีการนำถ้อยคำปรัชญาหรือว่าธรรมะคำสอนต่างๆ มาปักลงบนเสื้อผ้าด้วย มีที่มาที่ไปอย่างไร?

 

สุณิสา: ก็เริ่มมาจากตัวของเราเองนี่แหละค่ะ คือการที่เราย้ายมาอยู่ที่เมืองพร้าว มันทําให้เราตื่นเช้าในทุกวัน  เราเริ่มเห็นสัจธรรมหลายๆ อย่างจากในธรรมชาติ เช่น ความเงียบ ความสงบ เพราะการที่เราต้องการจะรีบเร่งในเรื่องใดๆ ก็แล้วแต่ แต่การอยู่ที่นี่  หลายเรื่องมันรีบไม่ได้  แม้กระทั่งการการทํางานของเรา ในงานผ้า หรือการทำบ้านดิน คือเราไม่สามารถเร่งเร้าให้สำเร็จเสร็จได้โดยไวได้  

เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันมีขั้นตอนของมัน  แล้วก็ต้องรู้จักรอคอย  เป็นขั้นเป็นตอนไปจนกว่ามันจะถึงจุดสิ้นสุดของมัน  เลยทำให้เราเกิดคําเป็นไอเดียขึ้นมา ยกตัวอย่างคําว่า ‘พอดี’  ‘สติ’ พอปักเสร็จ ลูกค้าก็ชอบด้วยนะ คําเดียวสั้นๆ แต่ว่าเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ลูกค้าใครก็อยากใส่ แบบว่าเหมือนเตือนสติตัวเองอะไรประมาณนี้


ส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าของคุณคือกลุ่มไหนบ้าง?

 

สุณิสา: กลุ่มลูกค้าของเรา ส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกค้าทางกรุงเทพฯ นะคะ แล้วก็มีลูกค้าชาวต่างชาติ มาจากจีนบ้าง มาจากอเมริกาบ้าง เป็นเฉพาะกลุ่มที่เขาชอบค่ะ


ทุกวันนี้งานศิลปะ การทำผ้ามัดย้อม งานบาติก งานปักผ้าด้วยมือ ถือว่าได้ต่อยอดและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเลยใช่มั้ย?

 

สุณิสา: ถือว่าสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้เลยค่ะ ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดว่าทําแล้ว มันจะมาเลี้ยงครอบครัวได้ คือเราเริ่มต้นทําด้วยด้วยความอยากทําก่อน แล้วเมื่อคนมาเห็นปุ๊บ ใครก็อยากได้อยากซื้อ ก็ช่วยซื้อไป คือคิดแค่นั้นก่อนค่ะ เราก็พัฒนาได้เรื่อยๆ โดยธรรมชาติ ก็ขยายวงไป มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น จนมีโอกาสได้นำสินค้าผลิตภัณฑ์ของเราไปจัดแสดงแถวกรุงเทพฯ มาแล้วด้วยค่ะ


นอกจากจะเป็นรายได้ให้กับครอบครัว ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจในท้องถิ่นแล้ว บ้านดินนาลันทา ยังเป็นพื้นที่การเรียนรู้ด้วยใช่มั้ย?

 

สุณิสา: ใช่ค่ะ ที่ผ่านมา ก็จะมีทั้งแม่บ้านที่สนใจ มีทั้งเด็กๆ จากศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ มีกลุ่มนักศึกษาจากศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอพร้าว (ศสกร.) ที่เข้ามาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่องการทำผ้ามัดย้อม ผ้าปักด้วยมือ แล้วก็มีบุคคลทั่วไปจากข้างนอกทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ที่เขาเห็นในเพจของเรา หรือหลังจากที่เรานำสินค้าไปแสดงโปรโมทในงานต่างๆ ก็จะมีคนติดต่อเข้ามา เรียนแบบตัวต่อตัว อย่างนี้ก็มีค่ะ


ทราบว่า มีคนสนใจมาเรียนรู้เรื่องการทำบ้านดินด้วย

 

สุณิสา: ใช่ค่ะ  อย่างล่าสุด เรามีกิจกรรมเรียนรู้เรื่องบ้านดิน ของเด็กๆ กลุ่มโฮมสคูล กลุ่มบ้านเรียนเชียงใหม่ พอดี เราทำโฮมสคูลให้กับลูกชายด้วย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพื่อนๆ ของลูกชาย มาเรียนรู้ตั้งแต่การย่ำดิน การทําก้อนดินด้วยกัน โดยมีพี่โจน จันใด มาเป็นวิทยากรหลักในวันนั้น เด็กๆ และผู้ปกครองก็สนุกตื่นเต้นได้ลงมือทำกัน แล้วก็บางครั้งก็จะมีบุคคลทั่วไปที่สนใจส่วนมากจะกลุ่มเพื่อนๆ กัน สนใจอยากทำบ้านดิน อยากจะทราบการเรียนรู้วิธีขั้นตอนทําบ้านดินอย่างไร  ก็มาเที่ยวหา มาค้างคืนที่นี่ แล้วก็ได้ทดลองทําบ้านดินกันด้วย


เห็นว่า ตอนนี้บ้านดินนาลันทา ได้ทําเป็นโฮมสเตย์ด้วย

 

สุณิสา: ใช่ค่ะ  ตอนแรกเลย ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจนะ เพราะความตั้งใจของเรา คืออยากมาอยู่เงียบๆ สงบๆ เฉยๆ แต่พอทําไปทำมา ด้วยเรามีลูกด้วย มันเริ่มมาจากการที่เพื่อนๆ มาเยี่ยมหาเรา มาเที่ยวเมืองพร้าวอะไรด้วย ก็มีแต่คนบอกว่า ทิวทัศน์ตรงนี้สวยดี ทําไมไม่ทําห้องเพื่อฉันบ้าง  เราก็เริ่มจากตรงนั้น  ก็ทำบ้านดินเพิ่ม แล้วเปิดให้เพื่อนๆ ได้มาพัก สุดท้ายก็ถูกบอกต่อกันไปเรื่อยๆ เราก็เลยคิดว่า เอ๊ะหรือจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งจะเป็นรายได้ได้บ้าง จึงได้เปิดบริการเป็นโฮมสเตย์ไปด้วย แล้วก็มาเรียนรู้ไปด้วย

แต่การเปิดโฮมสเตย์ของเรา ก็ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องมากันเยอะๆ หรือเป็นทัวริสต์มากันเยอะแยะมากมายอะไรแบบนั้นนะคะ เพราะว่ามันมันไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรา แต่ว่าเมื่อมันมีช่องทางหรือโอกาสที่เขาถามไถ่กันเข้ามา เราก็พยายามทําเพื่อที่จะตอบโจทย์กับผู้คนที่สนใจอยากมาพักกับเราจริงๆ  

ก็เชิญชวนให้ทุกท่านมาเที่ยวที่บ้านดินนาลันทากันนะคะ  อย่างน้อยๆ มายืนชมวิวหรือสูดอากาศสะอาดด้วยกัน โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว ก็จะยิ่งฟินเลยค่ะ


ถือว่าตอนนี้ได้กลายเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคนไปแล้ว คุณอยากจุดประกายให้คนที่สนใจอยากอยากมาใช้ชีวิตในแนวทางนี้อย่างไรบ้าง?

 

สุณิสา: ก็มีหลายคนสนใจ โดยเฉพาะน้องๆ ที่อายุน้อยๆ อยู่ช่วงวัยรุ่นหรือวัยทํางาน บางคนก็ก็รู้สึกว่าเหมือนเบื่อในเมืองแล้ว ตรงนี้ถ้าเราพอมีที่มีทาง อาจจะเป็นพื้นที่ของคุณพ่อคุณแม่ คุณย่าคุณยายอะไรอยู่แล้ว ถ้าทําได้ก็จะดีเลยค่ะ หรือบางคนอาจจะมีมีครอบครัวอยู่ต่างจังหวัดใช่มั้ยคะ ก็ลองนำมาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เราเรียนมา หรือที่เรามีประสบการณ์ นำกลับมา ใช้ชีวิตในธรรมชาติกับครอบครัวใหญ่มันก็จะดีต่อตัวเองด้วย เพราะการที่ได้อยู่กับธรรมชาติดีๆ แล้วก็ได้อยู่กับครอบครัวใหญ่ก็จะดีมากเลย

เพราะสังคมไทยข้างนอกมันยุ่งเหยิงมาก ซึ่งถามว่าที่เราย้ายมาอยู่ในชนบทแบบนี้ เลือกถูกมั้ย เราบอกได้เลยว่ามาถูกทางแล้ว อย่างลูกชายพอมาเติบใหญ่ที่นี่ พอถามว่าจะให้เขากลับไปอยู่ในเมืองอีกมั้ย เขาก็บอกว่าไม่ดีกว่า เพราะอยู่แบบสงบอย่างนี้ดีกว่า เพราะการอยู่ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมดีๆ มันทําให้ดีต่อจิตใจ


สำหรับผู้ที่สนใจสินค้าหรืออยากทำเวิร์คช็อป เรียนรู้การทำบ้านดิน การย้อมสีธรรมชาติ ผ้ามัดย้อม ผ้าบาติก ปักผ้า งานคราฟท์ หรืออยากมาพักผ่อนที่โฮมสเตย์ สามารถติดต่อได้ที่เพจ : Nalantha Clay House Art & Craft Workshop หรือติดต่อได้ที่ หนิง-สุณิสา นัดวิไล  บ้านดินนาลันทา 518 ม.6 บ้านหลวง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ 50190 สนใจโทรล่วงหน้ามาที่เบอร์ 064 329 8922, 091-729 3782



 

‘Nalantha Clay House’ บ้านดิน ธรรมชาติ Art & Craft พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจกับชีวิตที่ลงตัว
‘Nalantha Clay House’ บ้านดิน ธรรมชาติ Art & Craft พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจกับชีวิตที่ลงตัว
‘Nalantha Clay House’ บ้านดิน ธรรมชาติ Art & Craft พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจกับชีวิตที่ลงตัว
‘Nalantha Clay House’ บ้านดิน ธรรมชาติ Art & Craft พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจกับชีวิตที่ลงตัว
‘Nalantha Clay House’ บ้านดิน ธรรมชาติ Art & Craft พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจกับชีวิตที่ลงตัว
‘Nalantha Clay House’ บ้านดิน ธรรมชาติ Art & Craft พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจกับชีวิตที่ลงตัว