Skip to main content

‘โจน จันใด’ เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านคือชีวิต คือความมั่นคงทางอาหารในยามวิกฤติ

27 กรกฎาคม 2567

 

องอาจ เดชา

 

‘โจน จันใด’ เจ้าของสวนพันพรรณ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เขาคือผู้สะสมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านเอาไว้ในผืนดิน ก่อนที่มันจะสูญหายไปจากโลกใบนี้ เพราะเขามองว่า เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านคือชีวิต คือความมั่นคงทางอาหาร เมล็ดพันธุ์คือความอยู่รอด แม้ว่าจะเกิดสงครามหรือภัยพิบัติใดๆ ก็ตาม

ล่าสุด เขาได้จัดกิจกรรม Good Seed, Good Food Festival 2024 ขึ้นมา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องพืชหัว และวิธีการทำอาหารจากพืชหัว ผ่านฝีมือเชฟ ให้ทุกคนเรียนรู้และลิ้มลองรสชาติเมนูอาหารจากพืชหัวกันอีกด้วย


ทำไมถึงมาสนใจพืชหัวและเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ?

โจน: มันคือเหตุผลที่ทำให้มนุษย์เอาชีวิตรอดได้ในยามวิกฤติต่างๆ บางครั้งวิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อย่างเช่นเกิดสงคราม หรือเกิดความเสียหายจากภาวะวิบัติ ทำให้คนไม่มีอะไรจะกิน ดังนั้น คนก็จะเข้าป่า เพื่อไปหาพืชหัว อย่างเช่น กลอย เผือก มัน มาทำอาหาร  นี่คือสิ่งที่ทำให้คนเอาชีวิตรอดได้ในสมัยก่อน

แต่ปัจจุบันนี้ เราละเลย เราไม่ค่อยสนใจ เรากินเผือกกินมัน กินพืชหัวน้อยลง เพราะว่าเราถูกฝึกให้กินของในตลาดมากขึ้น  แล้วต่อมา ชีวิตเราก็ผูกอยู่ที่ร้านสะดวกซื้อ หรือที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าวันหนึ่งเกิดวิกฤต เกิดความเสียหายจากโรคภัยพิบัติต่างๆ จนทำให้ในร้านสะดวกซื้อ หรือซุปเปอร์มาเก็ต ขาดแคลนอาหาร ไม่มีของมาเติมที่ชั้นตะแกรง

ดังนั้น เราจะต้องมาตั้งคำถามกันใหม่ว่า อะไรคือทางเลือกของเรา  อะไรคือทางออกของเรา ซึ่งจริงๆ แล้ว เมื่อก่อนในเมืองไทย เรามีพืชหัวเยอะมาก แล้วพืชหัวนี่คือที่สุด มาถึงตอนนี้เรากลับพบว่า หัวเผือกหัวมันหายากขึ้น ไม่ค่อยมีเยอะเหมือนแต่ก่อนแล้ว  เพราะอะไร ก็เพราะว่าข้าวโพด มันสําปะหลัง อ้อย ได้ยึดป่า ยึดพื้นที่ทั้งหมดแล้ว หลังจากที่พืชพวกนี้เข้ามาปุ๊บ พืชหัวก็หายไปเลย


เดี๋ยวนี้พืชหัวหายากมากขึ้น บางคนยังไม่รู้จักด้วยซ้ำ บางคนยังไม่รู้วิธีกินวิธีนำไปเป็นอาหารกันเลย?

โจน: อันนี้ เป็นประเด็นเลย คือถ้าเราเจอพืชหัว แต่เราจะกินมันยังไง เพราะว่า องค์ความรู้ ภูมิปัญญาในการกินพืชหัว มันหายไปจากชีวิตของเราไปนานแล้ว  ดังนั้น ชีวิตเราจึงไม่มีความมั่นคงทางอาหาร การที่เราจะกลับมาฟื้นฟูพืชหัวกันอีกครั้ง นำวิธีกินพืชหัวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เราจะต้องเอาพืชหัวมาปลูกกันเสียก่อน ปลูกไว้ตามโคนต้นไม้ต่างๆ  เพราะว่าพืชหัวมันไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยกับใคร มันเลื้อยขึ้นต้นไม้ได้  พอถึงหน้าแล้งปุ๊บ  มันก็เหี่ยวลง  มันก็ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน

ปลูกครั้งหนึ่งมันอยู่เป็นสิบๆ ปี เราอยากกินเมื่อไหร่ ก็ไปขุดขึ้นมากิน นี่คือความมั่นคงทางอาหารที่เราลงทุนกับมันน้อยที่สุด ข้อดีของพืชหัวก็คือเป็นการผลิตอาหารที่เก่าแก่ที่สุด ปลูกง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด เพราะไม่ต้องใส่ปุ๋ย  ไม่ต้องดายหญ้า ไม่ต้องกำจัดวัชพืช เพราะว่าพืชหัวจะไม่มีโรคแมลงใดๆ มาเบียดเบียนเลย หลังจากที่ปลูก แล้วรดน้ำ แค่นั้น ไม่ต้องทำอะไรเลย หรือแค่โยนทิ้งเฉยๆ มันก็เติบโตขึ้น มีอายุยาวนาน และก็ทำให้เราขยายพันธุ์ได้มากขึ้น นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า มันคือความมั่นคงที่เราจะต้องฟื้นพืชหัวให้คืนกลับมาอีกครั้งในชีวิตของเรา


กิจกรรม Good Seed, Good Food Festival 2024 มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร

โจน: เราอยากจัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อให้มันเกี่ยวกับพืชหัว ก่อนที่มันจะสูญพันธุ์หายไปจากโลกนี้ ซึ่งพืชหัวในเมืองไทยเรานี้มีเป็นหลายร้อยชนิดเลยนะ แต่ที่หาได้ในวันนี้ เรายังรวบรวมได้ไม่ถึง 100 ชนิดเลย และที่คนกินพืชหัวกันจริงๆ ตอนนี้มีไม่ถึง 5 ชนิดเท่านั้นเอง ถือว่าน้อยมาก  ฉะนั้น การนำพืชหัวให้กลับมานั้น มันเป็นการสร้างความมั่นคงใหม่ให้ยั่งยืนมากขึ้นกับมนุษยชาติ  แต่ถ้าเราปล่อยให้พืชหัวหายไปอย่างนี้ มันจะส่งผลต่อความอ่อนไหวในการมีชีวิตของมนุษย์  เราก็เลยอยากจะเน้นเรื่องพืชหัว  อยากจะนำกลับมา  อยากจะชวนคนกลับมาคิดถึงการปลูกพืชหัวมากขึ้น  แล้วกลับมากินพืชหัวกันมากขึ้น  

ฉะนั้น ในกิจกรรมครั้งนี้ เราจึงเชิญชาวบ้านที่มีภูมิปัญญาในการกินพืชหัวมาช่วยสอนทำอาหารให้เราได้เรียนรู้  นอกจากนั้น เราก็เชิญเชฟต่างๆ ที่เป็นคนทำอาหารสมัยใหม่ เอาพืชหัวมาพัฒนาทำสิ่งที่น่ากินมากกว่าการเผา การนึ่ง หรือต้ม  ซึ่งจริงๆ เราสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น  เราจะเอาพืชหัวมาอยู่ในชีวิตจริงของเรามากขึ้นได้อย่างไรเพราะมันเป็นอาหารที่ดีที่สุด  ราคาถูกที่สุด  ปลูกง่ายที่สุด  และยั่งยืนที่สุด นี่คือเหตุผลหลักที่เรานำเอาเรื่องพืชหัวมาจัดกิจกรรมในปีนี้


พูดถึงเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านกันบ้าง มีความสำคัญอย่างไร ทำไมจึงต้องอนุรักษ์รักษาไว้

โจน: เรื่องเมล็ดพันธุ์ ถือเป็นเรื่องใหญ่ เมล็ดพันธุ์มันเป็นหลักของชีวิตเลย  เมล็ดพันธุ์คืออาหาร อาหารคือชีวิต  ไม่มีเมล็ดพันธุ์  ก็คือไม่มีอาหาร ไม่มีอาหาร  เราก็ไม่มีชีวิตอยู่ แต่วันนี้เมล็ดพันธุ์กำลังหายไปจากโลกนี้อย่างรวดเร็ว นี่คือวิกฤต นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่เป็นปัญหาในวันนี้  

ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา ที่ผมได้ทำสวนพันพรรณ เพื่อรวบรวมเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาให้คนมาเรียนรู้เมล็ดพันธุ์ ให้คนมาเก็บเมล็ดพันธุ์ ให้คนมากินอาหารจากเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลายกันมากขึ้น และพืชหัวอย่างเช่น เผือก มัน กลอย นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของเมล็ดพันธุ์  ฉะนั้น มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องนำเมล็ดพันธุ์และพืชหัวทั้งหมดกลับคืนมา เพราะในเวลานี้มันหายไปเร็วมาก

ยกตัวอย่างแค่พันธุ์ข้าว เพียงอย่างเดียว เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เราเคยมีถึง 20,000 สายพันธุ์ วันนี้เราเหลือข้าวไม่ถึง 200 สายพันธุ์ นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด ว่าเราปล่อยให้มันเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาได้อย่างไร ทุกวันนี้คนทั้งประเทศรู้จักพันธุ์ข้าวและกินข้าวกันไม่ถึง 3 สายพันธุ์ ทั้งๆ ที่เราเคยมีข้าวเป็นหมื่นสายพันธุ์เมื่อ 50 ปีก่อน

คนไทยส่วนใหญ่ จึงรู้จักข้าวกันเพียงแค่ไม่กี่สายพันธุ์ ถ้าคนมีเงินเยอะก็ไปเลือกซื้อข้าวพันธุ์หอมมะลิ105  แล้วคนเหนือก็กินข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง1 คนอีสานก็กินข้าวพันธุ์ กข.6 แต่เราไม่มีข้าวพันธุ์อื่นในมือ นี่คือความไม่มั่นคงในชีวิตของเรา  ทั้งๆ ที่ก่อนนั้นเราเคยมีพันธุ์ข้าวที่หลากหลายชนิดมันคือความมั่นคง ข้าวพันธุ์พื้นเมืองในแต่ละพื้นที่นั้นจะมีลักษณะเฉพาะ พอเกิดน้ำท่วมเราก็มีพันธุ์ข้าวที่ทนน้ำ พอฝนแล้งเราก็มีพันธุ์ข้าวที่ทนแล้งได้ พอเกิดโรคระบาดเราก็พันธุ์ข้าวที่ทนต่อโรคระบาดได้ ฉะนั้น ถ้าเราปลูกข้าวหลากหลาย 5-10 สายพันธุ์ขึ้นไป ไม่ว่าฝนแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด เราก็ยังมีข้าวกิน

แต่ถ้าเราปลูกเพียงแค่ข้าวพันธุ์หอมมะลิ105 เหนียวพันธุ์สันป่าตอง1 หรือพันธุ์ กข.6 พอน้ำท่วมก็จบ ฝนแล้งก็จบ โรคระบาดเราก็จบ นั่นคือความไม่มั่นคง ฉะนั้น การมีเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลายมันจึงมีความสำคัญมาก เราจึงคิดว่า การรวบรวมเก็บเมล็ดพันธุ์เป็นความจำเป็นเร่งด่วนสูงสุดในชีวิตของคนเราในขณะนี้


สาเหตุที่เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นสูญหายไปเพราะอะไร?

โจน: สาเหตุที่เมล็ดพันธุ์มันสูญหายไปก็เพราะว่า  มีการนำเอาเมล็ดพันธุ์นำมาเป็นสินค้าไง มีการผูกขาดอาหาร คือเป็นสิ่งที่ทุนขนาดใหญ่มองว่ามันคือเป้าหมายสูงสุดของเขา

ยกตัวอย่าง สมัยก่อนเขาไม่ได้เรียกว่าทุนใหญ่ แต่เขาเรียกกันว่า จักรวรรดินิยม มันเป็นตระกูลใหญ่ไม่กี่ตระกูลในอังกฤษ ในสเปน ในฝรั่งเศส ในฮอลันดา เขาก็ไปยึดประเทศนั้นประเทศนี้ เพื่อให้เป็นเมืองขึ้น  แล้วก็ขูดรีดเอาทรัพยากรเขาไป  แต่ต่อมา โลกมันเปลี่ยนไป  คนเริ่มรู้เท่าทัน คนต่อสู้ต่อต้านมากขึ้น ตระกูลใหญ่เหล่านี้ก็เลยเปลี่ยนร่างของตัวเอง จากตระกูลต่างๆ ในประเทศเหล่านี้จนกลายมาเป็นในรูปแบบของบริษัทอะไรต่างๆ เยอะแยะไปหมดเลยในขณะนี้ อันนี้ถือว่าเป็นจักรวรรดินิยมยุคใหม่ ซึ่งคนทั่วไปไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นจักรวรรดินิยม จะรู้แค่เพียงว่าเขาเป็นบริษัทต่างๆ แต่จริงๆ คนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ต้องการจะยึดครองเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ในโลกใบนี้  เพราะพวกเขามองว่า การจะยึดครองแต่ละประเทศ ก็เป็นได้แค่เพียงยึดครองประเทศ แต่ยึดครองผู้คนไม่ได้ แต่ถ้าเขายึดครองอาหารได้ เขาก็ไม่ต้องยึดครองประเทศเลย แต่เขายึดคนได้ทุกคน ตอนนี้ กลุ่มบริษัทเหล่านี้เขาจึงลงทุนมหาศาลมาก ในการยึดครองเมล็ดพันธุ์  เพราะถ้ายึดครองเมล็ดพันธุ์ได้ เขาก็ยึดครองอาหารได้  

วันนี้เขายึดครองแค่ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี เขายึดครองเมล็ดพันธุ์แค่ 3 อย่าง แต่มันทำให้เราทุกคนต้องส่งเงินให้มันทุกวันเลย โดยที่เราไม่รู้ว่าทำไมเราต้องส่งเงินให้เขา  ทุกครั้งที่เราป้อนอาหารเข้าปาก ไม่มีคำไหนที่ไม่มีถั่วเหลืองอยู่ในนั้น  ไม่มีคำไหนที่ไม่มีข้าวโพดอยู่ในนั้น ไม่มีคำไหนที่ไม่มีข้าวสาลีอยู่ในนั้น นี่คือระบบจักรวรรดิยุคใหม่  ระบบทาสยุคใหม่  ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนเรามองไม่เห็นตามไม่ทัน ว่าเรากำลังถูกยึดครอง

ดังนั้น เราจึงทำงานกันหนักมาก เกษตรกรทำงานกันแทบตาย แต่ยิ่งทำยิ่งจน ยิ่งทำยิ่งมีแต่หนี้ ยิ่งทำยิ่งทรุดโทรมลง เพราะว่าพอเราทำเสร็จเขาก็ดูดไปๆ โดยระบบทาสยุคใหม่ มันดูดไปจนไม่รู้ตัวว่าเรากำลังถูกดูด

เพราะฉะนั้น จะเห็นเลยว่า การยึดครองเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มทุนบริษัทต่างๆ เหล่านี้  ทำให้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านต่างๆ หายไปอย่างรวดเร็ว โดยที่เขาเอาพันธุ์ผสมที่เขาเป็นเจ้าของ มาส่งเสริมให้ประชาชนปลูกแล้วก็ซื้อกลับ ชาวบ้านก็รู้สึกว่า ปลูกพันธุ์พวกนี้ ทำให้ขายได้ มีคนซื้อเลย  คนก็ปลูกและเลิกปลูกพันธุ์พื้นเมือง  พอพันธุ์พื้นบ้านที่ไม่มีใครปลูก 2-3 ปีติดกันปุ๊บ เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านก็สูญหายไปเลย

ณ วันนี้ เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านได้สูญหายไปจากโลกใบนี้มากถึง 94 เปอร์เซ็นต์ ที่เรามีกินอาหารจากเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านทุกวันนี้ เหลือแค่ 6% ที่คนกินกันเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง  นั่นคือการสูญเสียรวดเร็วและน่าเป็นห่วงมาก  

ทุกวันนี้ เราจึงเห็นว่าทำไมคนไทยทั้งประเทศจึงกินไก่พันธุ์เดียว หมูพันธุ์เดียว กินผักกาด คะน้า กะหล่ำ ผักบุ้ง ทำไมเราจึงได้กินแค่นี้ ทั้งๆ ที่เรามีผักเชียงดา ผักกูด ผักหนาม ผักพื้นบ้านอะไรเยอะแยะเต็มบ้านเต็มเมืองเลยทำไมเราไม่กิน นี่คือความสําเร็จของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ ที่ฝึกให้เรากินเฉพาะพันธุ์ที่เป็นเจ้าของพันธุ์ของมันเท่านั้น


นี่คือวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนเราโดยไม่รู้ตัว?

โจน: ใช่แล้ว นี่คือวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเรา แต่เรากลับไม่เห็นว่าเป็นวิกฤต ฉะนั้น เมล็ดพันธุ์ของเราที่หายไป ก็เพราะว่ามันถูกทำให้เกิดขึ้นด้วยวิธีการที่ซับซ้อนเหล่านี้  ทำให้คนจำนวนมากไม่ได้สนใจเมล็ดพันธุ์กันเลย สนใจแค่อาหารในแพ็คเกจสวยๆ เท่านั้นพอ  ถ้าเป็นเช่นนี้ นั่นคือการถูกยึดครองร้อยเปอร์เซ็นต์เลย


เราจะตั้งรับอย่างไร ถ้าโลกเกิดวิกฤตความขัดแย้งจากสงครามและภัยพิบัติมากขึ้น?

โจน: การมีเมล็ดพันธุ์คือ ความมั่นคงในทุกวิกฤต ดังนั้น ทุกสงครามสิ่งแรกที่พวกเขาทำนั่นคือการทำลายธนาคารเมล็ดพันธุ์ ไม่ว่าจะเกิดสงครามในที่ไหนก็ตาม เขาจะทิ้งระเบิดทำลายธนาคารเมล็ดพันธุ์ในประเทศนั้นๆ ก่อน เพราะถ้าประชาชนไม่มีเมล็ดพันธุ์แล้วเขาจะกินอะไร นั่นคือต้องยอมแพ้...  

ฉะนั้น ในยุคปัจจุบัน เราจะต้องลุกขึ้นมาเก็บเมล็ดพันธุ์  เก็บให้หลากหลาย เก็บไว้ในชีวิตของคนทุกคนไม่ต้องมีธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งเดียว  ไม่ต้องให้เขามาทิ้งระเบิดปุ๊บให้เมล็ดพันธุ์หายไปเลยอย่างนั้น แต่ต้องเก็บเมล็ดพันธุ์ให้มันอยู่ในชีวิตของเรา อยู่ในกระเป๋า อยู่ในยุ้งฉางของคนทุกคน  แม้ว่าพวกเขาจะทำลายเมืองนี้ทั้งเมือง  แต่บ้านอื่นๆ ยังมีเมล็ดพันธุ์เหลืออยู่  นั่นคือความมั่นคง นั่นคืออิสรภาพในการมีชีวิตอยู่

ดังนั้น ผมมองว่า เมล็ดพันธุ์คืออาวุธที่ร้ายแรงที่สุดในการยึดครองโลกใบนี้ ถ้าเราเข้าใจ ถ้าเรามีเมล็ดพันธุ์ในมือ เราจะไม่ถูกใครยึดครอง เราจะเป็นอิสระอย่างเต็มที่ ไม่ว่าสงครามจะเกิดขึ้น โรคระบาดจะเกิดขึ้น เศรษฐกิจจะพัง หรือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตราบใดที่เรามีเมล็ดพันธุ์อยู่ในมือ เราสามารถนำเมล็ดพันธุ์เหล่านี้เอามาปลูกเป็นพืชเป็นอาหารเลี้ยงเราได้อยู่เสมอ  ดังนั้น การเก็บเมล็ดพันธุ์ จึงเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องรีบทำกันให้มากที่สุดในวันนี้ เพื่อเราจะอยู่ได้ เพื่อลูกและหลานของเรานั้นอยู่รอดได้

 

ภาพประกอบโดย องอาจ เดชา, Sarawin Kawin, Nanoo AhKhaw



 

‘โจน จันใด’ เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านคือชีวิต คือความมั่นคงทางอาหารในยามวิกฤติ
‘โจน จันใด’ เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านคือชีวิต คือความมั่นคงทางอาหารในยามวิกฤติ
‘โจน จันใด’ เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านคือชีวิต คือความมั่นคงทางอาหารในยามวิกฤติ
‘โจน จันใด’ เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านคือชีวิต คือความมั่นคงทางอาหารในยามวิกฤติ
‘โจน จันใด’ เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านคือชีวิต คือความมั่นคงทางอาหารในยามวิกฤติ
‘โจน จันใด’ เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านคือชีวิต คือความมั่นคงทางอาหารในยามวิกฤติ