รู้จัก ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง’ แห่งบ้าน ‘บ้านทุ่งผักกูด’
บ้านทุ่งผักกูด ตั้งอยู่ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ‘ลาวครั่ง’ ที่อพยพเข้าสู่ประเทศไทยด้วยเหตุผลของสงครามในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการอพยพคนลาวเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งที่ปรากฏการตั้งถิ่นฐานอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย
ลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูด ได้เข้ามาอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่ม ที่ห้อมล้อมไปด้วยพื้นที่อยู่อาศัยของคนจีนและคนไทย จากการบอกเล่าของผู้สูงอายุแต่เดิม ปรากฏว่า มีการเลี้ยงครั่งเพื่อนำมาใช้เป็นสีในการย้อมเส้นด้ายเพื่อใช้ในการทอผ้า
แต่ปัจจุบันระบบนิเวศเปลี่ยนไป ความเจริญเข้าสู่ชุมชนทำให้วิถีความเป็นอยู่มีการปรับเปลี่ยนไปด้วย ความรู้ในการเลี้ยงครั่งและการทอผ้าได้สูญหายไปกับผู้สูงอายุที่ทยอยเสียชีวิต คงเหลือเพียงผ้าซิ่นทอมือโบราณที่ลูกหลานได้เก็บรักษาไว้ วัฒนธรรมประเพณีความเชื่อและพิธีกรรมของลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูดบางพิธีก็ได้สูญหายไปกับกาลเวลาหรือเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับกลุ่มคนใกล้เคียงไปอย่างน่าเสียดาย
ส่วนพิธีกรรมที่ยังคงได้รับการปฎิบัติสืบทอดต่อมาก็คือ พิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมเรื่องผีบรรพบุรุษหรือผีเจ้านาย ประเพณีแห่ธงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาหาร และขนมพื้นถิ่นบางอย่างที่ยังคงอยู่
ในความโชคร้ายของวิถีชุมชนลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความทันสมัยในยุคปัจจุบัน ยังมีความโชคดีที่คนนอกกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่อย่าง ผศ.ดร. จิตกวี กระจ่างเมฆ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ศาลายา เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของวัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นทุนทางสังคมพื้นฐานของชุมชน จึงเริ่มเข้ามาทำการศึกษา เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกฝัง ฟื้นฟู และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมให้กับชุมชน เพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ให้เกิดความยั่งยืน
จากการบอกเล่าของ ผศ.ดร. จิตกวี คือการได้เห็นถึงการแสดงออกทางพิธีกรรมความเชื่อของชุมชน ในการบวงสรวงเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชุมชนให้ความเคารพ นับถือ ศรัทธา และเชื่อว่ามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การเลี้ยงผีของชาวลาวครั่ง ที่เป็นการควบคุมพฤติกรรมของหนุ่มสาวให้อยู่ในกรอบของประเพณี หรือเกิดการรวมกลุ่มสร้างความสามัคคีให้กับชุมชนคนที่มีเชื้อชาติเดียวกัน ซึ่งยังคงมีการปฏิบัติสืบทอดส่งต่อมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสภาพสังคมที่มีการพัฒนาตามวิถีทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ผศ.ดร. จิตกวี จึงเริ่มต้นศึกษาวิถีชุมชนของกลุ่มลาวครั่งที่บ้านผักกูด เพื่อสืบสาวถึงประวัติความเป็นมา วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ จากนั้นจึงทำประชาคมกับชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานราชการ ชุมชน ปราชญ์ชุมชน วัด รวมถึงประสานไปยังวัฒนธรรมจังหวัด และการท่องเที่ยวจังหวัด เพื่อเสนอให้มีการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ชุมชน “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง” เพื่อเก็บรักษา อนุรักษ์ โดยการรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน หม้อ ไห ที่กระจัดกระจายอยู่ในชุมชน มาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นฯ และสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และเผยแพร่ให้บุคคลภายนอกได้ศึกษา รู้จักชุมชนมากขึ้น และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
จากความร่วมมือของคนในชุมชนที่ร่วมบริจาคสิ่งของดังกล่าว และการที่พิพิธภัณฑ์ฯ ได้รับการเผยแพร่รายการจากสื่อออนไลน์ต่างๆ เป็นการตอกย้ำให้ชาวบ้านเห็นถึงความสำคัญ ความน่าสนใจในมรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มตนเอง และให้ความร่วมมือในการร่วมพัฒนาและเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมรักษาสมบัติส่วนรวมของชุมชน
ปัจจุบันแหล่งเรียนรู้แห่งนี้บริหารจัดการโดยชุมชน มีหน่วยงานราชการเข้ามาสนับสนุน ส่งเสริมเชื่อมโยงให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชุมชน ถ่ายทอดองค์ความรู้ งานหัตถกรรมฝีมือทางภูมิปัญญา นำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นแหล่งผลิตสินค้าทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพและรายได้เสริมให้กับผู้สูงอายุในชุมชน เช่น มีการนำเอาลวดลายในงานผ้าโบราณมาดัดแปลงใส่ในงานผ้าสมัยใหม่ เช่น ถุงผ้า ย่าม กระเป๋า โมบายเครื่องแขวน จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม และนำไปจัดจำหน่ายตามงานประจำจังหวัดในโอกาสต่างๆ
ในช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวมาศึกษาดูงานในชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุยังได้จัดทำอาหารท้องถิ่น อย่างน้ำพริกแจ่วบ่อง หรือขนม จัดเลี้ยงนักท่องเที่ยว ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจให้กับครัวเรือนเพิ่มได้อีกทางหนึ่ง
นอกเหนือจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นฯ ยังทำให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุในการอนุรักษ์ สืบสาน ท่ารำฟ้อนแคนโบราณ เพื่อจัดการแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยว และได้มีการถ่ายทอด สืบสาน ฝึกฝนท่ารำให้กับเยาวชนในพื้นที่ ที่ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์น้อยคอยนำชมและร่วมแสดงทางวัฒนธรรมเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่ติดต่อมาศึกษาดูงานที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นฯ ทำให้การฟ้อนแคนโบราณยังคงได้รับการสืบทอดต่อไป