Skip to main content

เสียงจากคนหน้างาน เมื่อ รพ.สต. ย้ายไปสังกัดท้องถิ่น: รพ.สต.เลิงแฝก อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม

27 ธันวาคม 2567

 

ตำบลเลิงแฝก มีประชากรประมาณ 8,000 - 10,000 คน ลักษณะเป็นชนบทกึ่งเมือง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร นับว่าเป็นตำบลที่มีความพร้อมด้านระบบสุขภาพในระดับหนึ่ง มีรถกู้ชีพ 24 ชั่วโมงสำหรับการส่งต่อผู้ป่วย ส่วนปัญหาที่พบ คือ เรื่องยาเสพติดในกลุ่มวัยรุ่นซึ่งหลายฝ่ายพยายามแก้ไขกันอยู่


บุญคง สิมารักษ์ รองนายก อบต. เลิงแฝก อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม เล่าว่า รพ.สต.เลิงแฝก ย้ายไปอยู่ภายใต้สังกัดของ อบจ.เมื่อปีที่แล้ว แม้ไม่ได้ขึ้นกับ อบต.เลิงแฝก โดยตรง แต่ทาง อบต.ก็เข้าไปเกี่ยวข้องในการทำงานบางส่วนในฐานะท้องถิ่นประจำตำบล เพราะประชาชนต้องใช้บริการของโรงพยาบาลสุขภาพตำบล

เสียงสะท้อนที่ได้รับหลังการถ่ายโอนความรับผิดชอบจากกระทรวงสาธารณสุขมาสู่ท้องถิ่น รองนาย กอบต. เลิงแฝก ส่วนใหญ่มองว่า รพ.สต.ทำงานได้คล่องตัวไม่ต่างจากเดิม ขณะที่บางด้านดูเหมือนคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการทำกิจกรรมกับชุมชน การดูแลประชาชนเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหมอและทีมงานไปถึงผู้ป่วยได้เร็ว

บุญคงกล่าวว่า สำหรับอนาคตของการดูแลสุขภาพประชาชน จะต้องพัฒนาในเรื่องอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ และสถานที่ ให้เหมือนเป็นโรงพยาบาลที่รักษาและดูแลได้ครบวงจร และมีเตียงให้นอนพักรักษาตัวได้

 

เสียงสะท้อนที่ได้รับหลังการถ่ายโอนความรับผิดชอบจากกระทรวงสาธารณสุขมาสู่ท้องถิ่น ส่วนใหญ่มองว่า รพ.สต.ทำงานได้คล่องตัวไม่ต่างจากเดิม ขณะที่บางด้านดูเหมือนคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการทำกิจกรรมกับชุมชน การดูแลประชาชนเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหมอและทีมงานไปถึงผู้ป่วยได้เร็ว

 

“ชาวบ้านเขาสะดวกมากกว่า ไม่ใช่ไปออกันอยู่ในอำเภอหรือไปจังหวัด ถ้ามีหมอ มียา มีการรักษา เขาก็มาง่าย โดยเฉพาะคนอายุ 50 ปีขึ้นไป บางทีไม่มีรถหรือขับไม่ได้แล้ว ไปไกลๆก็ลำบาก อยู่ตรงนี้แค่ลูกหลานมีซาเล้งหรือวานเพื่อนบ้านมาส่งก็ง่ายขึ้น ผมจึงอยากเห็น รพ.สต. เป็นเหมือนโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งที่ประชาชนสามารถมาพักรักษาตัวได้ โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ และคิดว่าในอนาคตเราสามารถพัฒนาไปถึงตรงนั้นได้แน่”

บุญคงมองว่า การที่ท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพในระบบสุขภาพขั้นพื้นฐาน สามารถเป็นจุดแข็งได้ เพราะเรื่องสุขภาพและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถ้าได้รับการส่งเสริมจะสามารถทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น การเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยเร็วขึ้น หมายถึงโอกาสที่จะกลับมาแข็งแรง หรือลดความเสี่ยงในกรณีอาจถึงแก่ชีวิตได้ 

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ประชาชนในพื้นที่จะเข้าไปทำงานใน รพ.สต. จะเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นพยาบาล หรือเป็นแพทย์ก็ได้ เพราะทาง อบต.ยังมีความต้องการอีกมาก แต่ตอนนี้มีข้อจำกัดเนื่องจากส่วนกลางยังไม่เปิดอัตราจ้าง  ซึ่งขณะนี้กำลังคนที่มีอยู่มีจำนวนน้อยและอาจเริ่มล้า จึงจำเป็นต้องเปิดตรงนี้ให้มากขึ้น

“ถ้าฝากไปถึงผู้กำหนดนโยบาย ผมคิดว่าเพื่อให้มาตรฐานของ รพ.สต.ได้รับการยกระดับ หรือคงไว้เท่าที่เคยเป็นก็คือเรื่องคน อยากให้เปิดโอกาสให้ลูกหลานมีโอกาสมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นให้มากขึ้น ควรสนับสนุนการศึกษาเล่าเรียนและพัฒนาบุคลากร เช่น หมอ พยาบาล เพื่อให้กลับมาทำงานในท้องถิ่นได้ ถ้ามีการส่งคนออกไปศึกษาเล่าเรียนทุกปีได้ จะทำให้มีคนกลับมาพัฒนาท้องถิ่น โรงพยาบาลของท้องถิ่นก็จะพัฒนาขึ้นได้”
 

หมายเหตุ: 
ข้อเขียนชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ งานวิจัยการพัฒนามาตรฐานบริการของหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบมีส่วนร่วมสําหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจําตําบล ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ซีรีย์ชุด รายงานพิเศษงานวิจัยการพัฒนามาตรฐานบริการของหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบมีส่วนร่วมสําหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจําตําบล

เสียงจากคนหน้างาน เมื่อ รพ.สต. ย้ายไปสังกัดท้องถิ่น: รพ.สต.เลิงแฝก อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม
เสียงจากคนหน้างาน เมื่อ รพ.สต. ย้ายไปสังกัดท้องถิ่น: รพ.สต.เลิงแฝก อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม
เนื้อหาล่าสุด