เสียงจากคนหน้างาน เมื่อ รพ.สต. ย้ายไปสังกัดท้องถิ่น: รพ.สต.บ้านถิ่น อ.เมือง จ.แพร่
ตำบลบ้านถิ่น อยู่ใน อ.เมือง จ.แพร่ เป็นชุมชนขนาดกลาง มีทั้งหมด 11 หมู่บ้าน มีลักษณะเป็นชุมชนกึ่งชนบทกึ่งเมือง มีประชากรราว 5,800 คนอยู่ร่วมกัน ระหว่างชาวไทล้านนากับชาวไทลื้อ อาชีพส่วนใหญ่ของคนที่นี่ทำการเกษตรกรรม พอถึงนอกฤดูกาลเกษตร ชาวบ้านนจะไปหาวัตถุโบราณ เครื่องเงิน เครื่องทองเก่ามาขาย
โสพิส ปุจ้อย รักษาการผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านถิ่น มองการย้ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.ไปขึ้นกับ อบจ.ว่า เป็นการกระจายอำนาจเพื่อให้ระบบสุขภาพเข้าถึงพื้นที่และใช้งบได้รวดเร็วขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ
โสพิส รับว่า มีความกังวลเพราะ อบจ.อยู่ในช่วงทำความเข้าใจองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับระบบสุขภาพชุมชน ซึ่งการทำงานของ รพ.สต. มีโครงสร้างและเนื้องานมากมายที่ต้องทำความเข้าใจ เช่น งานควบคุมโรคติดต่อ การดูแลผู้สูงอายุ งานเกี่ยวกับกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรังหรือ NCDs ระบบงานข้อมูลต่างๆ รวมถึงงานบริหารระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ตอนนี้ อบจ.ยังไม่มี ต้องอาศัยทีมจาก รพ.สต. ทั้งผู้อำนวยการพยาบาล รวมถึงสาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขจังหวัด เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการบริหารพลางก่อนเพื่อพัฒนาระบบด้านต่างๆ ในการดูแลประชาชน
“ถ้าสามารถบอกผู้หลักผู้ใหญ่ที่ดูแลเรื่องนี้ได้ เราอยากฝากการพัฒนาองค์ความรู้ เพราะพอมาอยู่กับท้องถิ่นเหมือนถูกแยกขาดจากระบบของกระทรวงสาธารณสุข เดิมเราสามารถไปอบรมร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่ายเวลาเขาจัดงานวิชาการต่างๆได้ แต่ช่วงปี 66 ตอนย้ายมาสังกัดใหม่ๆ เดือดร้อนมาก รพ.สต.แทบไม่ได้ไปร่วมประชุมวิชาการอะไรเลย เหมือนอยู่ดีๆ หยุดกึ๊กไป ถูกแยกขาด ตอนหลังพอได้ประชุมกัน จึงบอกเขาไปว่าเวลาจัดประชุมวิชาการต่างๆให้เชิญทีม รพ.สต.ไปด้วยได้ไหม ปีนี้ก็น่าจะดีขึ้น”
โสพิสเล่าว่า ปัญหาหลักทางสุขภาพในพื้นที่ตำบลบ้านถิ่นช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คือ จำนวนของผู้สูงวัย เพราะ เป็นสังคมผู้สูงอายุ ถ้ามองตามช่วงอายุจะไม่ใช่รูปทรงพีระมิดแต่แทบจะเป็นดอกเห็ด ฐานข้างล่างเล็กนิดเดียวเพราะคนเกิดแทบไม่มี
“เราเป็นตำบลที่คนมีอายุยืนที่สุดติดอันดับต้นๆ ของจังหวัดแพร่ ส่วนใหญ่อายุ 80 กว่าปีทั้งนั้น พอเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่ละคนต้องกินยาที่เกี่ยวกับโรคกลุ่ม NCDs (เบาหวาน ความดัน หัวใจ ฯลฯ) อย่างน้อยหนึ่งอย่าง หรือไม่ก็พวกเข่าเสื่อม เป็นปัจจัยที่ต้องทุ่มมาดูปัญหาตรงนี้เยอะกว่าเรื่องอื่น ก่อนหน้านี้ใช้วิธีการดูแลร่วมกันระหว่าง รพ.สต.บ้านถิ่น กับโรงพยาบาลจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็น รพ.แม่ข่าย สมัยก่อนคือสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเหมือนกัน แต่ปัจจุบัน รพ.สต.บ้านถิ่น ย้ายไปสังกัด อบจ. กระทรวงสาธารณสุข มีท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบตั้งแต่ปี 2566”
ช่วงที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โสพิสเล่าว่า การเบิกยาและเวชภัณฑ์เพื่อดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ สามารถเบิกจากโรงพยาบาลแม่ข่ายได้ มีทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ออกตรวจร่วมกันเป็นทีมสหวิชาชีพกับทาง รพ.สต.เพื่อดูแลผู้ป่วย แต่เมื่อย้ายไปอยู่กับท้องถิ่นซึ่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 โชคดีที่ทีมสหวิชาชีพยังทำงานด้วยกัน ยังออกพื้นที่ด้วยกันเหมือนเดิม
“อย่างกรณีผู้ป่วยต้องกลับมากายภาพหลังผ่าตัด นักกายภาพยังคงลงพื้นที่ ใช้งบของ รพ.จังหวัดแพร่ เพราะ อบจ.ยังไม่มีงบส่วนนี้ลงมา ส่วนรพ.สต.ก็จะจัดทีมจิตอาสาลงไปคอยเยี่ยมบ้านอีกทางหนึ่ง”
“จุดแข็งของการย้ายไปสังกัด อบจ. คือการเข้าถึงผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ หรือผู้ป่วยตามบ้านที่ไม่มีอุปกรณ์และการปรับสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ป่วย ซึ่งในอดีต รพ.สต.จะทำงานร่วมกับ พม. งบประมาณน้อยมากจนผู้ใหญ่บ้านเองก็บอกว่าล้า อย่างราคาอุปกรณ์สูงกว่าราคากลางก็จัดซื้อลำบาก พอจัดซื้อผ่าน อบจ.สามารถทำได้คล่องตัวขึ้นเพราะขยับเพดานราคากลางให้เป็นจริงได้ สมัยก่อนเงินไม่พอก็ต้องเอาเงิน อสม. เงินจิตอาสา เงิน รพ.สต.มาปันกันซื้อเพื่อหาเครื่องไม้เครื่องมือไปช่วยดูแลผู้ป่วยที่บ้าน การย้ายไปสังกัดท้องถิ่นสามารถสร้างระบบบริการได้มากขึ้น อย่างการทำ Home Ward (การดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน) ที่ต้องใช้อ็อกซิเจนก็ทำได้มากขึ้น ภาระของโรงพยาบาลก็น้อยลง ถ้าเดิมทำงบไปกว่าจะลงมาก็ใช้เวลา 2 ปี อย่างน้อยที่สุดก็ 7-8 เดือน”
โสพิสบอกว่า สิ่งที่ยากขึ้น คือ ระเบียบจะยิบย่อยมาก โดยยกตัวอย่าง การซื้ออ็อกซิเจนจะต้องแนบคำร้องขอและเอกสารของคนไข้ ญาติ และเจ้าหน้าที่ไปด้วย เพื่อจัดทำในลักษณะโครงการ เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ค่อนข้างเข้มงวดกับ รพ.สต.มาก
“ส่วนอีกปัญหาที่ต้องเจอ คือ การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ เดิมใช้ร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่ายได้เนื่องจากสังกัดเดียวกัน แต่ปัจจุบันสังกัด อบจ. ซึ่งไม่มีคณะกรรมการจัดซื้อและเราไม่มีเภสัชกรตามระเบียบ ทำให้ซื้อเองไม่ได้ ในส่วนการจัดซื้อยาตอนนี้ ยังพอกล้อมแกล้มใช้วิธีทำเรื่องโอนงบไปผ่านคณะกรรมการของโรงพยาบาลแม่ข่ายในการจัดซื้อได้ แต่ในส่วนเวชภัณฑ์เดือดร้อนมาก เพราะงบจะถูกจัดสรรให้โรงพยาบาลแม่ข่ายน้อยลง ทางโรงพยาบาลแม่ข่ายเองจึงต้องเข้มงวดเรื่องการใช้จ่ายเช่นกัน เรียกว่า คิดกันบาทต่อบาท ขณะที่ทาง รพ.สต. ก็ไม่สามารถจัดซื้อเองได้ อย่างเข็มฉีดยา สายอ็อกซิเจนเริ่มไม่พอตรงนี้กำลังเป็นปัญหา อย่างคนเป็นแผลเรื้อรัง คนเป็นโรคเบาหวานที่ต้องเบิกอินซูลินกลายเป็นเขาต้องซื้อของเอง”
โสพิสกล่าวว่า ในเรื่องของการประเมินตามมาตรฐานของระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ สำหรับ รพ.สต.บ้านถิ่น ไม่มีปัญหาในเรื่องการประเมิน ส่วนของงบประมาณก็ไม่มีปัญหา เพียงแต่มีความยุ่งยากขึ้นในการจัดทำแผน ขณะที่ เรื่องบุคลากรไม่เพียงพอผลนั้นส่งผลกระทบมาก ซึ่งในตอนนี้คนขาดทุกที่
“บาง รพ.สต.ถึงกับไม่มีพยาบาล หรือบางที่มีพยาบาลแต่ไม่มีผู้อำนวยการ หนึ่งผู้อำนวยการต้องดูแล 2 รพ.สต.ก็มี ดังนั้น ในการประเมินมาตรฐาน รพ.สต.อยากให้ดูที่บริบทของแต่ละพื้นที่ในบางเรื่องบางอย่าง เช่น ความเป็นสัดส่วนของห้องที่บอกว่า ต้องแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจนมิดชิด แต่บาง รพ.สต.มีคนอยู่คนเดียวจะดูแลยังไงหลายห้อง บางทีห้องโล่งที่มีทีมงานเห็นทั้งหมดคนไข้อาจปลอดภัยกว่า อาจใช้พาทิชั่นแยกก็พอ”
โสพิสกล่าวว่า มาตรฐานที่ออกมาตอนนี้ เหมือนเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ใช้กับโรงพยาบาลใหญ่ ที่เน้นความเป็นสัดส่วนมาก บางคนอยู่ห้องยา บางคนดูผู้ป่วยอยู่คนเดียวและเป็นน้องใหม่ประสบการณ์น้อย ส่วนรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์อาจอยู่อีกห้อง หากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นมาคนดูแลคนเดียวอาจไม่ทัน ซึ่งกลายเป็นเรื่องน่าห่วงกว่าเดิม จึงอยากฝากเรื่องการประเมินให้ออกเกณฑ์สอดคล้องกับบริบท อย่าให้มุ่งเรื่องความเป็นสัดส่วนมิดชิดจนเกินไป
“เนื่องจากเรื่องมาตรฐานเป็นสิ่งที่กำหนดไว้เป็นกฎหมายบังคับให้ทุก รพ.สต.ต้องผ่าน เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทำให้บาง อบจ. นายก อบจ.ประกาศทันทีเลยว่า ต้องให้ผ่านมาตรฐานทุกอย่าง 100% ประกาศปุ๊บ เสียงโวยมาทันที บางรพ.สต.บอกจะลาออกหมดเลยก็มี จนนายกฯต้องมาขอโทษทีหลัง เพราะไม่เข้าใจบริบท กว่าจะเข้าใจกันต้องประชุมกันหลายครั้ง”
โสพิสกล่าวว่า รพ.สต.เข้าใจถึงความสำคัญเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย แต่บางอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องมีเวลาให้ทำความเข้าใจกัน ตรงไหนทำได้ ทำไม่ได้ และต้องเข้าใจบริบทที่ตรงกัน ซึ่งหากเอามาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขออกเกณฑ์มาตั้งธงไว้ทั้งหมด และต้องทำให้ได้ทันทีนั้นไม่ไหวแน่นอน เพราะขาดเรื่องคน บุคลากรไม่เพียงพอ ซึ่งไม่เฉพาะแค่ รพ.สต. แม้แต่โรงพยาบาลแม่ข่ายก็ขาดบุคลากร
“ตอนนี้ท้องถิ่นก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจ เช่น พยายามเติมพยาบาลลงไปให้มีครบทุก รพ.สต. บางคนเป็นพยาบาลใหม่ ก็ตั้งงบไว้สำหรับเรียนเฉพาะทางที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ซึ่งจะช่วยปิดความเสี่ยงให้ได้มาก แต่จะต้องทยอยไปเรียนเพื่อไม่ให้ขาดคน มันเป็นเรื่องของเวลาในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทางท้องถิ่นไม่ได้เกี่ยงที่จะดูแล สามารถตั้งงบให้ได้เพียง แต่ต้องใช้ความเข้าใจจากการทำงานร่วมกัน ช่วงที่ผ่านมามีการประชุมกันเยอะมากเพื่อมาทำตรงนี้” โสพิสกล่าว
หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ งานวิจัยการพัฒนามาตรฐานบริการของหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบมีส่วนร่วมสําหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจําตําบล ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) |
ซีรีย์ชุด รายงานพิเศษงานวิจัยการพัฒนามาตรฐานบริการของหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบมีส่วนร่วมสําหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจําตําบล
- ก้าวต่อไปของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในมือของท้องถิ่น
- ‘ระบบสุขภาพชุมชน’ สร้างสุขภาพดีจากฐานรากต้องให้ชุมชนร่วมออกแบบระบบให้บริการ
- เปิดงานวิจัย ‘มาตรฐานใหม่’ ของระบบสุขภาพหลังถ่ายโอน รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลสู่ท้องถิ่น'
- เสียงจากคนหน้างาน เมื่อ รพ.สต. ย้ายไปสังกัดท้องถิ่น: รพ.สต.บ้านถิ่น อ.เมือง จ.แพร่
- เสียงจากคนหน้างาน เมื่อ รพ.สต. ย้ายไปสังกัดท้องถิ่น: รพ.สต.เลิงแฝก อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม