Skip to main content

‘ตลาดน้ำสองคลอง’ ปลุกวิถีคนริมน้ำฝั่งธนฯ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน

16 สิงหาคม 2567

 

ด้วยบริบทของการพัฒนา ทำให้กรุงเทพต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะฝั่งธนบุรี ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ชนบทกึ่งเมือง ยังคงมีวิถีบ้านสวนและตลาดน้ำเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจเชื่อมต่อกันระหว่างชาวคลองต่างๆ ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ 

อย่างไรก็ตาม การมาถึงของรถไฟฟ้าและการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ นำไปสู่ข้อกังวลที่ว่า ตลาดน้ำตลิ่งชัน ซึ่งเป็นตลาดน้ำเดิมจะหายไป ทำให้ชาวบ้านในบริเวณนั้นจัดเตรียมแผนสำรองไว้รองรับ จึงเกิดเป็น ‘ตลาดน้ำสองคลอง’ ขึ้น ซึ่งด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นและการสร้างกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมจากท้องถิ่นเพิ่มขึ้นมาจึงกลายเป็นจุดขายอีกทางหนึ่งที่ทำให้ตลาดน้ำของกรุงเทพแห่งนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ


ก่อเกิดตลาดน้ำแห่งใหม่ใกล้กรุงเทพ

 

ตลาดน้ำสองคลอง เป็นตลาดน้ำขนาดเล็กๆ ตั้งอยู่ในวัดตลิ่งชัน จุดเด่นมากของที่นี่ คือ การเป็นตลาดน้ำในกรุงเทพที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์แบบชนบทริมน้ำฝั่งธนบุรี หากมองไปรอบๆก็จะเห็นคลองสองสายเชื่อมต่อกันอันเป็นที่มาของชื่อ นั่นคือ คลองชักพระ และคลองตลิ่งชัน ที่สำคัญบรรยากาศของที่นี่มีความร่มรื่น สะอาดปลอดโปร่ง ไม่อึดอัด อาหารอร่อย ดนตรีไพเราะ และโดยเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ จะมีกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมจากท้องถิ่นมาให้ผู้มาเยือนได้ร่วม เช่น การสอนรำไทย หรือการทำหัวโขนเล็กๆ เป็นต้น  

อ้อย - นพรัตน์ สอนวิทย์ ประธานวิสาหกิจชุมชนตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน เล่าให้ฟังว่า ย้อนกลับไปประมาณสิบปีก่อน ชาวชุมชนได้รับทราบว่าจะมีโครงข่ายรถไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่ จุดหนึ่งที่อาจมีเส้นทางพาดผ่านก็คือจุดที่เป็นตลาดน้ำตลิ่งชันในปัจจุบัน จึงมีการพูดกันในพื้นที่ร่วมกับทางสำนักงานเขตตลิ่งชันในการที่จะหาแผนสำรองเพื่อหาพื้นที่ใหม่ให้พ่อค้าแม่ค้าหากจำเป็นต้องมีการย้ายเกิดขึ้น

“เรานำเรื่องนี้ไปคุยกับหลวงพ่อ ท่านบอกว่ามีพื้นที่วัดแถวๆริมน้ำว่างอยู่น่า ปล่อยไว้เฉยๆก็ให้หมามันขี้ สู้เอามาทำตลาดดีกว่า อย่างน้อยก็ยังคนดูแล มีคนปัดกวาดขี้หมาบ้าง และที่ผ่านมาคนก็ไม่ค่อยรู้จักวัดตลิ่งชันเท่าไหร่ ทั้งที่เป็นวัดเก่าแก่ เฉพาะวัดก็มีอะไรดีๆให้ชมมากมาย เลยมีการวางแผนกันว่าจะสร้างตลาดสำรองที่วัดตลิ่งชัน”

อ้อย เล่าต่อว่า เมื่อได้ที่ตั้งแล้ว ปัญหาก็คืองบประมาณ เพราะทางวัดให้ได้เพียงสถานที่ แต่อื่นๆ ต้องหางบกันเอง ทางเขตตลิ่งชันเองก็ไม่มีงบประมาณตรงนี้ แต่ก็ช่วยเรื่องการประสานงานและดำเนินการต่างๆ ให้ได้ จึงนำมาคุยกันในชุมชน ซึ่งหลายคนเห็นด้วยที่จะมีตลาดตรงนี้ พ่อค้าแม่ค้าจึงช่วยกันลงขันกันตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นเป็นลักษณะเรือนหุ้นและใช้เงินจากตรงนั้นมาทำทั้งการก่อสร้างและการบริหารจัดการ นอกจากนี้ ยังได้ไปจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน เพื่อให้มีกระบวนการบริหารจัดการชัดเจนเป็นระบบ มีระเบียบกติกาต่างๆที่ใช้ร่วมกันที่ออกมาจากที่ประชุมของวิสาหกิจชุมชน ไม่ใช่การตัดสินใจของคนใดคนหนึ่ง


ตลาดวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น

 

อ้อย บอกถึงแนวทางของตลาดน้ำสองคลองว่า เป้าหมายหนึ่งของการตั้งตลาดขึ้นเพื่อให้คนในท้องถิ่นมีรายได้จากงานที่ไม่ต้องออกไปไกลบ้านและสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนริมน้ำตลิ่งชัน ใครมีอะไรปลูกอะไรก็นำมาขาย อาหารใครทำอร่อยหรือมีงานฝีมือใดๆ ก็นำมาเป็นจุดดึงดูดสร้างเอกลักษณ์ขึ้น เช่น กิจกรรมการสอนทำหัวโขน คนที่มาเป็นครอบครัวชอบมาก เพราะทำร่วมกันได้ทั้งบ้าน ได้ฝึกสมาธิ เด็กๆสามารถห่างหน้าจอได้ทั้งวันเพื่อสร้างผลงานในแบบของตัวเอง เป็นกิจกรรมที่คนลงทะเบียนเต็มตลอด ซึ่งร้านหัวโขนก็อยู่ในตลาดน้ำ เป็นที่งานฝีมือทั้งชาวไทยและชาวต่างๆชาตินิยมมาก

“บางคนที่เคยมาอาจตั้งคำถามว่า เอ๊ะ ทำไมแผงในตลาดยังมีที่ว่างตลอด เป็นเพราะตลาดของเราเน้นให้พื้นที่จากคนในท้องถิ่นก่อน  70 ต่อ 30 คือ คนใน 70 และคนนอกจากภาคีเครือข่ายต่างๆอีก 30 ที่วางแนวทางไว้แบบนี้เพราะอยากทำให้คนพื้นที่ เวลานี้อาจยังคิดไม่ออกว่าจะเอาสิ่งที่บ้านมีมาร่วมกับเราได้ไม่เป็นไร แต่เรารออยู่ เพราะวันไหนที่เขามี แต่ตลาดพื้นที่เต็มหมดแล้ว คนในท้องถิ่นก็เสียโอกาสตรงนี้ไป เอาจริงๆ ถ้าเปิดรับหมดเชื่อว่าคนขายเต็มพื้นที่แน่เพราะมีคนติดต่อขอเข้ามาเยอะมาก แต่เราอยากรอ ซึ่งหลังโควิดเป็นต้นมาคนใหม่คนเก่าก็เข้ามาเพิ่มขึ้น เพราะเขาค่อยๆเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มีความน่าสนใจ สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้เขาได้จริงๆ”


ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวทางคลอง

 

อ้อย บอกว่า ขณะนี้ตลาดเริ่มมีความชัดเจนในแนวทางและสามารถดำเนินกิจการอย่างค่อนข้างมั่นคงได้แล้ว ที่สำคัญคือมีขาประจำแวะเวียนเข้ามาเสมอ เช่น กลุ่มนักปั่นจักรยานหรือที่มาทำกิจกรรม ตอนนี้เรามีการตักบาตรเช้าวันเสาร์ด้วย เมื่อก่อนพระท่านจะพายเรือมาตามคลองชาวบ้านก็จะใส่บาตรกัน แต่ระยะหลังตรงนี้หายไปเราจึงลองนำกลับมาเป็นกิจกรรมของตลาด แรกๆก็ให้พ่อค้าแม่ค้าใส่บาตรกันเอง แต่พอทำไปๆ นักท่องเที่ยวรู้ว่าเรามีใส่บาตรด้วยเขาก็มาร่วมใส่บาตรเช้าจนพ่อค้าแม่ค้าไม่ต้องใส่กันเองแล้ว

ส่วนอีกกิจกรรมที่กำลังขับเคลื่อนคือการทำเส้นทางล่องเรือเที่ยวตามคลอง อ้อย บอกว่า ตอนนี้กำลังทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนริมน้ำต่างๆ สร้างโครงข่ายการท่องเที่ยวทางน้ำขึ้น ไปดูวัดเก่าแก่และไปเที่ยวตลาดน้ำอื่นๆใกล้กัน เช่น คลองบางหลวง วัดกำแพง ล่องคลองภาษีเจริญ ตรงนั้นก็มีตลาดน้ำอยู่ แต่ละแห่งมีจุดเอกลักษณ์มีเสน่ห์ที่ต่างกันไปซึ่งสามารถสร้างจุดแข็งเสริมกันและกันได้ การท่องเที่ยวทางคลองเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการใช้ต้นทุนเดิมที่เดิมทีบางกอกมีฉายาว่า ‘เวนิสตะวันออก’ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งได้


 

‘ตลาดน้ำสองคลอง’ ปลุกวิถีคนริมน้ำฝั่งธนฯ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน
‘ตลาดน้ำสองคลอง’ ปลุกวิถีคนริมน้ำฝั่งธนฯ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน
‘ตลาดน้ำสองคลอง’ ปลุกวิถีคนริมน้ำฝั่งธนฯ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน
‘ตลาดน้ำสองคลอง’ ปลุกวิถีคนริมน้ำฝั่งธนฯ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน
‘ตลาดน้ำสองคลอง’ ปลุกวิถีคนริมน้ำฝั่งธนฯ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน
‘ตลาดน้ำสองคลอง’ ปลุกวิถีคนริมน้ำฝั่งธนฯ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน
‘ตลาดน้ำสองคลอง’ ปลุกวิถีคนริมน้ำฝั่งธนฯ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน