ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง
จากอดีตผู้ประสบภัยพายุดีเปรสชั่นของ ชาวบ้านช่องฟืน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ที่ทำให้หลายครอบครัวสูญเสียทั้งทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย และเครื่องมือทำกินไปในคราวเดียว จนต้องขอรับความช่วยเหลือ
แต่ด้วยวิธีคิดในการเอา ‘ชุมชนเป็นฐาน’ มองหาจุดแข็งจากบริบทของตัวเอง นั่นก็คือ การมี "ทะเลหน้าบ้าน" เป็นต้นทุนด้านทรัพยากรอันเหลือล้น นำไปสู่การนำสิ่งที่ได้รับมาต่อยอดตั้งเป็น ‘กองทุนหมุนเวียน’ เพื่อบริหารจัดการทางการเงินที่นอกจากสามารถใช้ยามฉุกเฉินได้แล้ว ยังสามารถก่อเกิดเป็นธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย
“หลังเจอพายุ หลายครอบครัวประสบปัญหาหนักมาก เราถูกตัดขาดการติดต่อจากภายนอกเกือบทั้งหมด จึงมาคิดว่าชุมชนต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ เราเอาองค์ความรู้ที่เรามีมาใช้เพื่อแก้ปัญหานี้ โชคดีของเราคือ การล้มแล้วลุกได้เร็ว เพราะก่อนหน้านี้เมื่อราวปี 2534 เราเคยประสบปัญหาทะเลเสื่อมโทรม ทำให้เกิดการพูดคุยกันเรื่องการใช้ทะเลเป็นพื้นที่ทำมาหากิน นำไปสู่การตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนเพื่อช่วยเหลือกัน และปันผลส่วนหนึ่งไปทำงานอนุรักษ์ทะเลหน้าบ้านของเรา”
เบญจวรรณ เพ็งหนู สมาชิกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เล่าถึงประสบการณ์ในอดีตและการปรับตัวจากต้นทุนเดิมในการพึ่งพาตนเอง เธอบอกว่า หลังประสบภัย สิ่งแรกที่ชุมชนทำจึงเป็นการสำรวจฐานข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อแบ่งความรุนแรงตามความเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือ ฐานข้อมูลนี้ใช้เวลา 2 วันจึงเสร็จสิ้น จากนั้นจึงเป็นการวางแผนการช่วยเหลือแบ่งเป็น ระยะสั้นที่ความช่วยเหลือเบื้องต้นต้องไปถึงรวดเร็ว ระยะกลางคือ ซ่อมแซม อุปกรณ์ทำมาหากิน และระยะยาวคือ การช่วยเหลือฟื้นฟูอาชีพ
“เราใช้กองทุนออมทรัพย์ที่มีในการจัดการปัญหาระยะสั้น ต่อมาจึงเริ่มมีความช่วยเหลือสนับสนุนทุนจากเอกชนภายนอก จึงนำเงินเหล่านั้นมาตั้งเป็นกองทุนหมุนเวียนให้ผู้เดือดร้อนได้กู้ยืมโดยบริหารผ่านข้อมูลที่มีการสำรวจไว้ เป้าหมายเบื้องต้นคือ การให้กู้ยืมเพื่อทำมาหากิน โดยให้สมาชิกมายื่นความต้องการนำไปใช้ในการจัดหาอุปกรณ์ทำกินจากเสียหายจากพายุ”
ในเวลาต่อมา จากทุนก้อนดังกล่าวได้มีการหารือกันต่อในชุมชนว่า จะทำให้เกิดเงินก้อนนี้เกิดการหมุนเวียนและยกระดับพัฒนาอาชีพประมงในชุมชนได้อย่างไร โดยยึดเป้าหมายเดิมเป็นหลักคือ การรักษาทะเลหน้าบ้านเพราะเป็นทั้งหม้อข้าวหม้อแกงและฐานรายได้ เมื่อคุยกันตกผลึก ในราวปี 2558 จึงเกิดโครงการแรกขึ้น คือการเพาะฟักสัตว์น้ำและออกกติการร่วมกันในชุมชน เช่น การกำหนดเขตอนุรักษ์ห้ามทำประมง และการนำรายได้ส่วนหนึ่งไปใช้ในการฟื้นฟูทะเล
“เหตุผลที่ต้องทำโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ เนื่องจากทะเลบ้านเรามีน้ำสามฤดู จืด เค็ม กร่อย ไม่สามารถปล่อยสัตว์โดยไม่สอดคล้องกับฤดูกาลและสภาพน้ำได้ เราจึงต้องเพาะฟักซึ่งตรงนี้ชุมชนมีองค์ความรู้เดิมอยู่ ดังนั้น จากกองทุนภัยพิบัติก็ยกระดับมาสู่การฟื้นฟูทะเล ผลประโยชน์ตรงนี้จะไม่ใช่แค่คนช่องฟืนอีกแล้ว แต่คือคนรอบทะเลสาบสงขลา
“ต่อมาเมื่อเราได้ปลาเพิ่มจากการเพาะฟัก ก็มาคิดอีกว่าทำไมต้องเสียส่วนต่างมากมายให้พ่อค้าคนกลาง จึงคิดทดลองทำธุรกิจของชุมชนขึ้น จนเกิดแพปลาชุมชนเพื่อจัดการผลผลิตจากสัตว์น้ำ รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์อย่างมีมาตรฐาน เพราะเดิมเราพึ่งฤดูกาลมาก เช่น ตากแดดหรือไม่มีความสะอาด จึงต่อยอดทุนก้อนนี้เป็นโรงแปรรูปที่มีมาตรฐาน blue band ได้แก่ สัตว์น้ำต้องมาจากสมาชิกในชุมชน สัตว์ที่จับได้ต้องไม่มาจากเครื่องมือทำลายล้างตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และต้องปลอดภัยไร้สารเคมี มาตรฐานนี้กำหนดโดยเครือข่ายประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และนอกจากแปรรูปแล้ว โรงงานนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการทรัพยากรทั้งระบบของชุมชนด้วย”
เบญจวรรณ บอกว่า โรงแปรรูปแห่งนี้นอกจากสร้างรายได้ให้ชุมชนแล้ว ยังสามารถช่วยรับมือความสถานการณ์วิกฤตได้ด้วย เพราะในเวลาต่อมาเราก็เจอวิกฤตโควิด มีคนถูกเลิกจ้างมากมายที่กลับมาอยู่บ้าน เขาก็ได้งานจากโครงการเหล่านี้ และอาหารทะเลที่มีเรายังใช้แลกเปลี่ยนและช่วยเหลือพี่น้องภาคส่วนอื่นๆ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้น
“ประเด็นสำคัญคือ ผลิตภัณฑ์ของเราสอดคล้องกับ BCG Model และ SDGs และได้คิดกันต่อว่าจะทำอย่างไรให้มีจุดขายและขยายไปจนขั้นที่คนซื้อผลิตภัณฑ์อยากมาเยี่ยมบ้านช่องฟืน แผนต่อไปจึงเป็นการชวนคนรุ่นใหม่มาช่วยออกแบบทำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงฤดูกาลกับภูมิภาคอื่นๆ ช่วงหนาวอาจขึ้นเหนือ พ้นมรสุมก็มาทะเลบ้านเรา และมาชิมอาหารของเรา เรามีเชฟที่สนใจอยากทำตรงนี้ด้วยกัน”
เบญจวรรณ บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเริ่มจากการเอาชุมชนเป็นฐานแล้วต่อยอดไปเรื่องอื่นๆ คำตอบหรือต้นทุนของเราจึงอยู่ที่ทะเลหน้าบ้าน การจัดการกองทุนต้องมีความเป็นธรรมในการออกแบบกติกาและการมีเป้าหมายชัดเจนร่วมกัน ปัจจุบันบ้านช่องฟืนอาจมีหลายกองทุนที่ตั้งขึ้น แต่ทุกกองทุนต้องไปตอบโจทย์การรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เมื่อมีการกู้เงินกองทุนไปเป็นทุน ทุกคนจะคืนตามกำหนดเพราะเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เขายืดอกคุยกับคนอื่นได้
“เรามีเป้าที่ชัดเจนในแต่ละปีว่าเราจะเดินไปทิศทางไหนเพื่อตอบโจทย์ของชุมชนจริงๆ และการรักษาทะเลหน้าบ้าน คือ อัตลักษณ์ของคนช่องฟืนที่ทำมาตลอด”เบญจวรรณ กล่าวทิ้งท้าย