‘Nan Malt’ วิสาหกิจชุมชนของคนเมืองน่าน ที่แปรรูปความคิด มากกว่าผลผลิตเกษตร
รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด
เริ่มต้นด้วยภารกิจเปลี่ยนทุ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้กลายเป็นไร่ข้าวสาลีปลอดสารพิษ ผลิตมอลต์จากชุมชน ต่อยอดจนกลายเป็นองค์ความรู้ให้คนรุ่นใหม่ลูกหลานเกษตรกรเห็นคุณค่าจากวัตถุดิบในท้องถิ่น
ภารกิจเปลี่ยนไร่ข้าวโพด เป็นทุ่งข้าวสาลีปลอดสารเคมี
หากนึกถึงจังหวัดน่าน หลายคนคงคุ้นชินภาพทุ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไกลสุดลูกหูลูกตา ที่หลายครอบครัวฝากชีวิตไว้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่จังหวัดน่านไม่ได้ได้มีดีแค่นั้น ยังมีผลผลิตทางการเกษตรอีกมากยังรอให้เพิ่มมูลค่า
มนต์ศักดิ์ ไชยรังสินันท์ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนน่านมอลต์ คือ หนึ่งในกลุ่มคนที่พยายามจะทำให้เกษตรเมืองน่าน ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และหันมาแปรรูปสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ มอลล์ ที่แปรรูปจากข้าวสาลีที่ปลูกในจังหวัดน่าน
สิ่งที่ยากกว่าการสร้างตลาดและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ คือ การสร้างความเข้าใจและเปลี่ยนวิธีคิดในการทำเกษตรในฐานะผู้ประกอบการให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นว่า สินค้าที่เขาผลิตจากไร่ข้าวสาลีแปลงเล็กๆ จะสร้างรายได้ให้มากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้ภูเขาเป็นลูกๆ
มนต์ศักดิ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนน่านมอลต์ว่า แต่เดิมก็มีการรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมอยู่แล้ว แต่พอระบบองค์กรไม่เข้มแข็ง ไม่ได้มีภารกิจจริงจัง สมาชิกจึงค่อยๆ ลดจำนวนลง สมาชิกในกลุ่มบางคนที่ยังต้องการให้กลุ่มเดินหน้าต่อ จึงพยายามหาจุดแข็งของชุมชน ด้วยการชูจุดเด่นของสินค้าเกษตรในจังหวัดขึ้นมา ซึ่งก็คือ “ข้าวสาลี” ที่สามารถปลูกและให้ผลผลิตได้ดีกว่าในภูมิภาคอื่นๆ
“ในตอนนั้นพอเราได้ข้อสรุปแล้วว่า เราจะใช้ข้าวสาลีเป็นผลผลิตหลักของกลุ่ม เราก็ต้องมาคิดต่อว่า จะทำยังไงให้สามารถเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าแค่ขายข้าวสาลีที่สีแล้ว เพราะไม่มีทางที่เราจะสามารถขายข้าวสาลีแข่งกับตลาดใหญ่ได้ ก็เลยเกิดไอเดียว่า ถ้าอย่างนั้น เรานำมาแปรรูปเป็นมอลต์ในรูปแบบต่างๆ และชูจุดขายด้วยการเป็นมอลต์จากข้าวสาลีปลอดสารที่ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลเรื่องการปนเปื้อน” มนต์ศักดิ์ เล่า
หลังจากตกผลึกได้แนวทางร่วมกัน ต่อมาก็เป็นเรื่องของการพัฒนาตลาดแป้งมอลต์ ในช่วงแรกมนต์ศักดิ์และกลุ่ม ใช้วิธีการไปออกบูธสินค้า เพื่อพบกับลูกค้าโดยตรง และอธิบายว่ามอลต์ของชาวบ้านดีกว่ามอลต์จากโรงงานยังไง เมื่อลูกค้าที่เป็นกลุ่มร้านเบเกอรี่และอุตสาหกรรมอาหารขนาดเล็กลองนำไปใช้ และพบว่ามีคุณภาพดีกว่ามอลต์จากโรงงาน ก็ค่อยๆ เพิ่มปริมาณการสั่งซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้จะลู่ทางของธุรกิจชุมชนที่ค่อยๆ เดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่การจำหน่ายแต่วัตถุดิบหลักเพียงชนิดเดียวนั้นไม่มีทางที่จำให้ธุรกิจยั่งยืนได้ มนต์ศักดิ์ เล่าต่อว่า ช่วงที่ยอดขายเริ่มนิ่งในช่วงที่เจอโรคระบาดใหญ่ ในตอนนั้นทางกลุ่มจึงนำมอลต์ของชุมชนเข้าไปพัฒนาแผนธุรกิจร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อขยายฐานลูกค้าไปพร้อมๆ กับพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทำให้ระบบวิสาหกิจมีความเป็นธุรกิจมากขึ้น
“พอเราเริ่มวางตัวเป็นธุรกิจชุมชน เราก็ต้องมาหาจุดขายมากขึ้น นอกจากผลิตภัณฑ์ที่เราพัฒนาเพิ่มขึ้นเช่น ไซรัปมอลต์ มอลต์สกัดเข้มข้น มอลต์สำหรับชงดื่ม เราต้องขายเรื่องราวให้ลูกค้าเข้าใจว่า สินค้าของเราทำไมราคาสูงกว่าท้องตลาด เพราะเราเป็นสินค้าโฮมเมด ใช้การผลิตแบบดั้งเดิม ทำได้ทีละน้อยๆ เพราะเราไม่ใช้สารกันเสีย ไม่ใช้สารกันมอด ซึ่งถ้าเป็นโรงงานอุตสากรรม เขาจะใช้สารกันแมลง สารกันเสียต่างๆ เข้ามาในกระบวนการผลิต และที่สำคัญ เงินที่ลูกค้าจ่ายให้เราทุกบาท มันเข้าไปหมุนเวียนในชุมชนจริงๆ”
มรกดกมอลต์สู่นักธุรกิจชุมชนรุ่นลูกหลาน
จากข้าวสาลีแปรรูปเป็นแป้งมอลต์ ค่อยๆ แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ออกเป็น น้ำเชื่อม เส้นหมี่ โปรตีนผง และเป็นที่รู้จักในกลุ่มลุกค้ารักสุขภาพ มนต์ศักดิ์ เล่าว่า สิ่งที่ยากกว่าการสร้างตลาดและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ คือ การสร้างความเข้าใจและเปลี่ยนวิธีคิดในการทำเกษตรในฐานะผู้ประกอบการให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นว่า สินค้าที่เขาผลิตจากไร่ข้าวสาลีแปลงเล็กๆ จะสร้างรายได้ให้มากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้ภูเขาเป็นลูกๆ
“ช่วงแรกๆ ชาวบ้านไม่เชื่อมั่นเลย เพราะเขายังไม่เห็นผลลัพธ์ว่ามันสร้างรายได้ที่ดีกว่าเดิมได้ยังไง โดยเฉพาะเมื่อเราบอกว่าใช้พื้นที่น้อยกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ช่วงแรกๆ ที่พยายามเปลี่ยน เราเลยเริ่มจากชาวบ้านที่สนใจจริงๆ จำนวนคนไม่ได้มาก แต่พอเขาทำสำเร็จ เห็นผลลัพธ์เป็นที่พอใจ เขาก็ไปบอกต่อ ชักชวนกันมาเข้ากลุ่ม”
ความสำเร็จของสมาชิกรุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่เปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาปลูกข้าวสาลี และสร้างมูลค่าร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจ ได้กลายมาเป็นโมเดลให้ลูกหลานนำไปต่อยอดผ่านการสร้างตลาดออนไลน์ ด้วยการนำสินค้าในชุมชนประเภทต่างๆ มาขายผ่านสื่อออนไลน์ หรือกลายเป็นผู้รับซื้อนำไปแปรรูป สร้างรายได้หมุนเวียนให้กับชุมชนโดยที่ไม่ต้องไปถางป่าทำการเกษตรแบบคนรุ่นก่อน
มนต์ศักดิ์ ทิ้งท้ายถึงความภูมิใจว่า สิ่งที่มากไปกว่าตัวเงินที่ชาวบ้านได้ คือ การสร้างโมเดลธุรกิจให้เกษตรเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่พวกเขาได้เป็นนายตัวเอง ไม่ต้องมีแต้มต่อให้กับกลุ่มทุน ซึ่งมันมีค่ามากกว่าตัวเงิน
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนน่านมอลต์
อ.เวียงสา จ.น่าน
Facebook: วิสาหกิจชุมชนน่านมอลต์
Facebook: วิสาหกิจชุมชนน่านมอลต์