Skip to main content

'White Tiger' นมถั่วลายเสือ ที่ผลิตโดยคุณพ่อผู้มีลูกสาวแพ้นมวัว

28 มิถุนายน 2567

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด

 

 

จากความต้องการเล็กๆ ที่อยากหานมพืชทางเลือกให้ลูกสาวที่แพ้นมวัวดื่ม จนเกิดไอเดียลองนำวัตถุดิบท้องถิ่น ‘ถั่วลายเสือ’ มาแปรรูปเป็นนมพืช จนต่อยอดเป็นนมยูเอชทีส่งขายทั่วประเทศ ยกระดับราคาถั่วชมชุน

 

ถั่วลายเสือ ไม่ใช่แค่ถั่วที่มีประโยชน์ แต่เป็นถั่วที่หากว่าคุณไม่ใช่คนแม่ฮ่องสอน ไม่ใช่เกษตรกรที่มีที่ดินในแม่ฮ่องสอน จะไม่สามารถปลูกและเป็นเจ้าของถั่วสายพันธุ์นี้ได้ หรือหากปลูกได้ เจ้าถั่วเหล่านี้ก็จะไม่มีทางขึ้นลวดลายที่เรียกว่า “ลายเสือ” ให้เห็น เพราะลายแตกบนผิวถั่วนั้นมาจากธาตุอาหารในดินภูเขาไฟที่แม่ฮ่องสอน


จุดเริ่มต้นของนมจากพืช เพราะลูกสาวแพ้นมวัว

 

ถั่วลายเสือ คือ พืชการเกษตรขึ้นชื่อที่ได้รับมาตรฐาน GI หรือพืชที่มีจุดบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งหากใครเคยไปเที่ยวถนนคนเดินเมืองปาย คงจะคุ้นเคยกับภาพถั่วลายเสือคั่วราคาหลักสิบบาท วางเรียงรายขายให้นักท่องเที่ยวเอาไว้เคี้ยวเพลินๆ แก้เบื่อ

แต่ หยอง-ฐานันต์ แก้วดิษฐ์ อดีตนักออกแบบกราฟฟิค คุณพ่อลูกหนึ่ง ที่ผันตัวมาเป็นเกษตรเมืองเหนือ กลับเพิ่มมูลค่าถั่วท้องถิ่นให้กลายเป็นหลักร้อย โดยมีจุดเริ่มต้นจากอาการแพ้แลคโตสในนมวัวของลูกสาว

“ผมทำธุรกิจมาหลายอย่างมาก เป็นกราฟฟิค เป็นพ่อค้าขายเสื้อยืด ทำที่พัก จนมาลงเอยกับการเป็นเกษตรกร จริงจังกับมันมากๆ จนได้รางวัน Smart Farmer พออยู่วงการเกษตร ทำให้เห็นผลผลิตท้องถิ่นจำนวนมากที่น่าจะไปต่อได้ แต่ชาวบ้านเขาไม่รู้จะทำยังไง จนวันนึง ลูกสาวผมมีอาการแพ้รุนแรง พอไปตรวจก็เลยรู้ว่าแพ้นมวัว เราก็เลยมาคิดว่า ถ้าลูกเราแพ้มันก็น่าจะมีเด็ก หรือผู้ใหญ่คนอื่นที่แพ้นมแบบลูกเรา เลยลองเอาถั่วลายเสือมาทำเป็นนมพืชทางเลือกดู”

หลังจากใช้ความพยามยามลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง นมถั่วลายเสือขวดแรกก็พร้อมให้ทดลองชิม แต่เป็นการลองชิมลองดื่มกันในกลุ่มคนใกล้ชิด ปรับสูตรพัฒนารสชาติ ส่งไปให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียนของลูกคนโตทาน ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ มาก ปรับจนสูตรลงตัว

ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจจะผลิตนมถั่วลายเสือออกวางจำหน่าย แต่เรื่องมันไม่ง่ายแบบนั้น เพราะนมชุดแรกที่ผลิต เป็นนมโฮมเมดที่มีอายุสั้นมากเพียง 3 วัน และต้องเก็บรักษาในตู้เย็นเท่านั้น หากจะทำขาย นมอาจจะเน่าเสียก่อนถึงมือลูกค้า

“ช่วงแรกๆ ที่เราทำแบบโฮมเมด เราลองเอาไปวางขายที่ถนนคนเดิน ขายได้ดีลูกค้าชอบ แต่ข้อเสียคือต้องดื่มทันที นมที่เราทำเหลือก็ต้องเททิ้ง เพราะมันเก็บไว้ขายต่อไม่ได้ ผมก็เลยต้องมาคิดว่า จะทำยังไงให้นมเก็บได้นานขึ้น”

หยองค่อยๆ พัฒนานมถั่วลายเสือจากโฮมเมด ให้อยู่ในรูปของนมพาสเจอร์ไรซ์ ที่ยังให้รสชาติแบบโฮมเมดอยู่ แต่เก็บได้นานขึ้นเป็น 3 สัปดาห์ และเริ่มหาพันธมิตรเป็นร้านกาแฟในท้องถิ่นเพื่อวางจำหน่าย ซึ่งผลตอบรับก็ได้กลับมาดีเกินคาด เพราะนมพืชทางเลือกที่ใช้ถั่วเฉพาะในเม่ฮ่องสอน ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นจำนวกมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่แพ้นมวัว หรือกลุ่มคนทานอาหารมังสวิรัต

“พอผมทำให้นมเก็บได้นานขึ้น มันก็ขยายโอกาสในการขายได้มากขึ้น ที่ขายได้แน่ๆคือในพื้นที่รอบๆเมืองปาย และจังหวัดใกล้เคียง ตลาดมันเลยถูกจำกัดด้วยอายุสินค้า แต่ถ้าเราจะขยายตลาดไปภาคอื่นๆ เราก็ต้องทำให้นมเก็บได้นานขึ้นหลักปี”

ในที่สุดเขาก็สามารถพัฒนาให้นมถั่วลายเสือสามารถผลิตออกมาได้ในรูปแบบของนม UHT สามารถเก็บในอุณภูมิห้องได้นาน 1 ปี และที่สำคัญสามารถขยายตลาดไปได้ทั่วประเทศ รวมไปถึงในต่างประเทศให้กับกลุ่มคนรักสุขภาพ

 

"พออยู่วงการเกษตร ทำให้เห็นผลผลิตท้องถิ่นจำนวนมากที่น่าจะไปต่อได้ แต่ชาวบ้านเขาไม่รู้จะทำยังไง จนวันนึง ลูกสาวผมมีอาการแพ้รุนแรง พอไปตรวจก็เลยรู้ว่าแพ้นมวัว เราก็เลยมาคิดว่า ถ้าลูกเราแพ้มันก็น่าจะมีเด็ก หรือผู้ใหญ่คนอื่นที่แพ้นมแบบลูกเรา เลยลองเอาถั่วลายเสือมาทำเป็นนมพืชทางเลือกดู"


เล่าเรื่องผ่านแบรนด์เพื่อสร้างคุณค่าให้ถั่วไม่ธรรมดา

 

แม้ว่าโจทย์แรกคือ การยืดอายุสินค้าได้ถูกแก้ไปแล้ว ยังมีโจทย์ที่สองตามมาคือ จะทำอย่างไรให้สินค้าของเรามีความแตกต่างในตลาดนมพืชที่มีขนาดใหญ่และคู่แข่งมหาศาล

สิ่งที่หยองนำมาใช้ คือ การเล่าเรื่องของถั่วลายเสือ ที่ไม่ใช่แค่ถั่วที่มีประโยชน์ แต่เป็นถั่วที่หากว่าคุณไม่ใช่คนแม่ฮ่องสอน ไม่ใช่เกษตรกรที่มีที่ดินในแม่ฮ่องสอน จะไม่สามารถปลูกและเป็นเจ้าของถั่วสายพันธุ์นี้ได้ หรือหากปลูกได้ เจ้าถั่วเหล่านี้ก็จะไม่มีทางขึ้นลวดลายที่เรียกว่า “ลายเสือ” ให้เห็น เพราะลายแตกบนผิวถั่วนั้นมาจากธาตุอาหารในดินภูเขาไฟที่แม่ฮ่องสอน

“เราอธิบาย เราเล่าเรื่องที่ยังไม่เคยถูกเล่าให้กับผลผลิต พอใส่เรื่องเล่าที่เป็นข้อมูลข้อเท็จจริงเข้าไป ลูกค้าเห็นเขาก็อยากซื้ออยากดื่ม เพราะมันเป็นของที่แตกต่าง ไม่ใช่แค่ดื่มนมพืช แต่มันคือนมถั่วลายเสือที่ผลิตได้เฉพาะที่แม่ฮ่องสอนเท่านั้น”

หลังจากธุรกิจเติบโต และเห็นปริมาณความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น หยองจึงเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรให้หันมาปลูกถั่วลายเสือ และรับซื้อโดยตั้งราคาที่เกษตรพอใจ ถึงแม้บ้างครั้งจะทำให้ต้นทุนรับซื้อถั่วสูงขึ้น แต่เขาก็ดีใจที่ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

มากไปกว่านั้นในแง่สิ่งแวดล้อม หยองเล่าว่าเกษตรกรหลายคนค่อยๆ ลดปริมาณการปลูกพืชเชิงเดี่ยวลง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่การปลูกแต่ละครั้งจะตามมาด้วยการเผาไร่เพื่อทำลายต้นข้าวโพด แต่กลับกัน เมื่อเป็นถั่ว เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้โดยไม่ต้องใช้การเผาไร่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต ที่สำคัญผลผลิตต่อไร่ยังได้ราคาดีกว่าการปลูกข้าวโพดถึงเกือบเท่าตัว

หยองทิ้งท้ายว่า การทำธุรกิจโดยใช้ทุนในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า ฟังดูเป็นเรื่องง่ายถ้าท้องถิ่นเรามีของดีของขึ้นชื่ออยู่แล้ว ในแต่ความเป็นจริง การทำธุรกิจนั้นมีความเป็นไปได้สารพัดที่จะไม่สำเร็จ ที่สำคัญคือ เราต้องมองมันในรูปแบบของการสร้างนวัตกรรรม การสร้างสิ่งใหม่ ไม่ใช่แค่การผลิตแล้วขาย เพราะเขาเองก็เคยถูกตั้งคำถามว่าทำออกมาแล้วจะขายใคร แต่วันนี้คำถามนั้นได้คำตอบแล้ว และที่สำคัญชุมชนเองก็ได้เติบโตไปพร้อมๆ กับสินค้าของเขา


White Tiger นมถั่วลายเสือ อ.ปาย แม่ฮ่องสอน
Facebook: WhiteTiger Plant-Based Milk 

 

'White Tiger' นมถั่วลายเสือ ที่ผลิตโดยคุณพ่อผู้มีลูกสาวแพ้นมวัว
'White Tiger' นมถั่วลายเสือ ที่ผลิตโดยคุณพ่อผู้มีลูกสาวแพ้นมวัว
'White Tiger' นมถั่วลายเสือ ที่ผลิตโดยคุณพ่อผู้มีลูกสาวแพ้นมวัว
'White Tiger' นมถั่วลายเสือ ที่ผลิตโดยคุณพ่อผู้มีลูกสาวแพ้นมวัว
'White Tiger' นมถั่วลายเสือ ที่ผลิตโดยคุณพ่อผู้มีลูกสาวแพ้นมวัว
'White Tiger' นมถั่วลายเสือ ที่ผลิตโดยคุณพ่อผู้มีลูกสาวแพ้นมวัว
เนื้อหาล่าสุด