ประเพณีลอยเรือสำเภา พลังความเชื่อ ความศรัทธา สะท้อนความรัก ความสามัคคี ของชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนไหหลำ หมู่บ้านวังส้มซ่า สืบทอดกันมากว่า 100 ปี นับตั้งแต่บรรพบุรุษชาวจีนไหหลำเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล
ที่บริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิม ชุมชนโรงเจ๊ก หมู่ 1 บ้านวังส้มซ่า ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก คลาคล่ำไปด้วยคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำและคนไทยในหมู่บ้านที่พากันมาร่วมประเพณีลอยเรือสำเภา ประเพณีที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี นับตั้งแต่บรรพบุรุษชาวจีนไหหลำเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล หอบเสื่อผืนหมอนใบมาตั้งรกรากที่นี่ ทั้งยังประกอบอาชีพค้าขายทางน้ำ ชีวิตจึงผูกพันอยู่กับสายน้ำ
นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นพ่อเมืองพิษณุโลก ได้มาเป็นประธานในพิธีลอยเรือสำเภาของชาวไทยเชื้อสายจีนบ้านวังส้มซ่า ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดกันในเดือน 6 ข้างขึ้น ส่วนวันไหนนั้นแล้วแต่จะกำหนด โดย เริ่มต้นจากการบูชาเจ้าแม่ทับทิม เทพธิดาแห่งท้องทะเล ตลอดจนเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพื่อความเป็นสิริมงคล รำลึกถึงบรรพบุรุษ จนนำมาสู่ศูนย์รวมจิตใจของคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำและคนในหมู่บ้านวังส้มซ่า
โดยประเพณีลอยเรือสำเภา เริ่มจากการต่อเรือสำเภาจำลอง โดยหาไม้ไผ่สีสุกขนาด 9 ปล้อง นำมาสับให้ได้ 9 ซี่ เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยผู้สูงวัยซึ่งมีความเชี่ยวชาญนำคนรุ่นใหม่มาช่วยกันต่อลำเรือแบบเรียบง่าย พร้อมตกแต่งด้วยกระดาษหลากสี ส่วนชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งจะไปหาตัดต้นกล้วยเพื่อทำแพสำหรับรองรับลำเรือ แล้วทำการทดสอบก่อนล่วงหน้า
ช่วงใกล้ค่ำจะมีการออกตีผ่าง ผ่าง (ลักษณะคล้ายฆ้อง) ไปรอบหมู่บ้าน เพื่อเป็นสัญญาณให้รับรู้ทั่วกัน พอพระอาทิตย์ตกดิน ชาวบ้านทั้งไทยและจีนนำข้าวสาร เกลือ พริกแห้ง หอม กระเทียม มาใส่ในเรือสำเภา เพื่อเป็นเสบียงอาหาร เหมือนเรือจริงที่จะออกเดินทะเล จากนั้นเป็นการเริ่มพิธีกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การไหว้เจ้าแม่ทับทิมและเทพเจ้าองค์อื่น ไหว้บรรพบุรุษ เผากระดาษเงินกระดาษทอง การจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและโรคภัยไข้เจ็บ ตามความเชื่อ แล้วนำเรือสำเภาจำลอง ลอยลงสู่แม่น้ำน่าน
เมื่อมาถึงบริเวณริมแม่น้ำน่านแล้ว ทางชินแสของสมาคมไหหลำได้ทำพิธีบูชา ต่อแม่พระคงคา เพื่อขออนุญาต ลอยเรือสำเภา จากนั้นก็มีการจุดประทัดอีกชุดใหญ่ ก่อนจะเริ่มพิธีแบกเรือสำเภาวางลงบนแพกล้วย และลากไปยังกลางแม่น้ำน่าน ก่อนจะปล่อยให้เรือสำเภา ได้ลอยไปตามผิวน้ำของแม่น้ำน่านจนสุดลูกหูลูกตา เป็นอันเสร็จพิธี
และหลังจากพิธีลอยเรือสำเภาเสร็จสิ้นสิ้นลง ถึงเวลาสังสรรค์ของชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนในหมู่บ้าน จากหมู ไก่ ผลไม้ ขนมที่ได้จากเครื่องเซ่นไหว้นั่นเอง ก่อนกลับก็จะหยิบขัน ขวด กระป๋องที่นำมาจากบ้านเพื่อรองรับน้ำมนต์กลับไปด้วย