Skip to main content

แปรรูปอาหารทะเลสร้างรายได้ ยกระดับหมู่บ้านยากจนที่สุดของ "นราธิวาส"

23 มีนาคม 2567

ม.นราธิวาสราชนคริทร์ ทำโครงการสร้างอาชีพแปรรูปเพิ่มมูลค่าอาหารทะเลให้ชาวบ้านประมงชายฝั่ง ที่ขึ้นชื่อว่ามีฐานะยากจนที่สุดของนราธิวาส ยกระดับรายได้

ผศ.ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ สุทธิยาพิวัฒน์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม ทำการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีซุ ม.8 ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ จำนวน  784 คน รวม 127 หลังคาเรือน

อาชีพหลักคือการทำประมงชายฝั่งและเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านมีฐานะยากจนที่สุดของ จ.นราธิวาส ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านที่อยู่ในวัยทำงาน จะเดินทางไปขายแรงงานร้านต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย โดยหมู่บ้านแห่งนี้จะมีสภาพเป็นเกาะด้านหนึ่งจะเป็นทะเลอีกด้ายหนึ่งจะเป็นแม่น้ำตากใบ ซึ่งการเดินทางไปมาหาสู่จะต้องใช้เรือเป็นพาหนะข้ามฟากระยะทางประมาณ 500 เมตร และหากเดินเท้าข้ามสะพานต้องอาศัยทางข้ามสะพานของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งนราธิวาส โดยใช้เงินทุนจากกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม

ก่อนที่จะมีโครงการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เรื่องการเพิ่มมูลค่าของอาหารทะเลที่ชาวบ้านออกหาสัตว์ทะเลได้แต่วัน ผศ.ดร.สมเกียรติ สุทธิยาพิวัฒน์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้นั่งเรือขึ้นเกาะไปสอบถามความเป็นอยู่และได้ทำประชาพิจารณ์ จนทราบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ออกไปจับสัตว์ทะเล เช่น หมึก ปลา ปูและกุ้ง เมื่อได้มาต้องนำไปจำหน่ายให้กับนายทุน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของชาวบ้าน

เมื่อเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลแล้ว จึงได้ไปพูดคุยกับนายทุนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของชาวบ้าน โดยขอแบ่งสัตว์ทะเลส่วนหนึ่งให้ชาวบ้านได้นำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อนำรายได้ส่วนต่างจากการแปรรูปสัตว์ทะเลไปบวกลบหักหนี้ ที่นายทุนเองให้ชาวบ้านสามารถชำระหนี้ที่ติดค้างได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และรายได้อีกส่วนหนึ่งชาวบ้านสามารถนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแบบไม่ขัดสน ซึ่งทั้งชาวบ้านและนายทุนต่างปกลงปลงใจในข้อตกลง จึงเป็นที่มาที่ไปของโครงการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ในการเพิ่มมูลค่าของสัตว์น้ำที่เป็นอาหารทะเล

ด้าน น.ส.รูฮานี ยูโซ๊ะ หัวหน้าและผู้บริหารกลุ่มชาวบ้าน กล่าวว่า สมาชิกชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวน 30 คน ขณะนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเดือนคนละ 1,500 บาท โดยจะจำหน่ายออกบูธตามงานต่างๆ ในตัวเมืองตากใบและนราธิวาส และจะจำหน่ายทางเพจ คือ เพจหมู่บ้านโต๊ะบีซู
 

แปรรูปอาหารทะเล
แปรรูปอาหารทะเล
แปรรูปอาหารทะเล
แปรรูปอาหารทะเล
แปรรูปอาหารทะเล
แปรรูปอาหารทะเล
แปรรูปอาหารทะเล
แปรรูปอาหารทะเล
แปรรูปอาหารทะเล
เนื้อหาล่าสุด