Skip to main content

บางกอบัว 'ปอดสีเขียว' ของคนกรุงฯ บนคุ้งบางกระเจ้า

15 สิงหาคม 2567

 

หากใครเคยมองมุมบนจากท้องฟ้าไล่ไปตามคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาออกไปทางสมุทรปราการ คงจะสังเกตเห็นคุ้งน้ำแห่งหนึ่งเป็นรูปทรงคล้ายกระเพาะหมูสีเขียวสดชื่นแตกต่างจากพื้นที่อื่นอย่างชัดเจน บริเวณนั้นกันเรียกว่า ‘คุ้งบางกระเจ้า’

สีเขียวสดนั้น มาจากการที่คนในชุมชนช่วยกันรักษาความเป็นป่าและพื้นที่เกษตรแบบดั้งเดิมเอาไว้ จนกลายเป็นปอดแห่งใหญ่ของเมืองที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด ทั้งยังมีสวนสาธารณะที่เป็นจุดปั่นจักรยานยอดนิยมอีกด้วย

ชุมชนผู้รักษาพื้นที่สีเขียวไม่เคยหยุดการอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติแห่งนี้เอาไว้ให้เป็นต้นทุนชีวิตต่อไป ชาวชุมชน ‘บางกอบัว’ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 ตำบลของคุ้งบางกระเจ้า มีเป้าหมายก้าวต่อไป ด้วยการเตรียมจัดตั้ง ‘ศูนย์การเรียนรู้รุกขชาติบางกอบัว’ เพื่อสืบทอดวิถีชุมชนสีเขียวให้คนหลังได้เรียนรู้ รวมถึงเปิดให้นักท่องเที่ยวได้มาเยือนเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของพื้นที่ในอีกทางหนึ่ง

ไม่ไกลออกไปจาก “สวนศรีนครเขื่อนขันธ์” จุดปั่นจักรยานกลางป่าสุดฮิตมากนัก  ลัดเลาะเข้าไปตามเส้นทางผ่านเรือกสวนและแนวต้นไม้ บริเวณนั้น คือ จุดที่จะมีการตั้งศูนย์การเรียนรู้รุกขชาติบางกอบัว บนพื้นที่ 22 ไร่ ด้านหน้าจะมีพื้นที่เกษตรเล็กๆ และมีทางเดินไปตามลำน้ำ ลึกเข้าไปจะเห็นเป็นแนวป่าอย่างชัดเจน แผนที่วางไว้คือ จะให้ผู้มาเยือนได้เดินไปตามเส้นทางธรรมชาติ เพื่อเรียนรู้ทำความรู้จักต้นไม้ต่างๆ โดยเฉพาะพืชที่นี่ซึ่งมีจุดเด่นด้านสมุนไพร อันเป็นองค์ความรู้ของชาวคุ้งบางกระเจ้าที่สามารถนำไปประกอบอาหารหรือทำเป็นลูกประคบแก้อาการต่างๆได้

กานดา สกุลลิ้ม ผู้ประสานงานตำบลบางกอบัว และหนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการศูนย์การเรียนรู้รุกขชาติบางกอบัว กล่าวว่า ตั้งใจอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ชุมชนรอบๆ มีส่วนร่วมกันทำขึ้น  เพื่ออนาคตจะสามารถพึ่งพาตนเองและดูแลพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวของเมืองต่อไปได้ ไม่ว่า กรุงเทพฯ ธนบุรี หรือสมุทรปราการ จะยังคงมีปอดของเมืองต่อไปเรื่อยๆ ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปอย่างไม่วางแผน

กานดาบอกว่า ที่อยากทำเรื่องนี้เพราะอยากถ่ายทอดเรื่องราวหลายอย่างที่ผ่านมา  ทั้งเรื่องราวของการต่อสู้กับความพยายามเวนคืนที่ดินในอดีต หรือการต่อสู้กับอุปสรรคในปัจจุบัน คือ น้ำเค็มที่ทำให้การทำเกษตรทำได้ยากขึ้น

เธอบอกว่า น้ำเค็มหรือน้ำกร่อยมีทั้งข้อดีข้อเสียที่เราต้องทำความเข้าใจ อย่างเช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ที่มีรสชาติอร่อยจนเป็นเอกลักษณ์ และมีชื่อเสียงมากนั้น เนื่องจากสภาพสามน้ำของที่นี่ คือ จืด กร่อย และเค็ม แต่พอน้ำเค็มเยอะเกินไปจนดินชุ่มจะทำให้เพาะปลูกไม่ได้

เธอบอกว่า เดิมทีที่นี่มีบัวอยู่เยอะกว่านี้ เพราะเป็นชื่อตำบล แต่ตอนนี้ก็เหลือน้อยลงมาก  เวลาจะเอามาทำอาหารขึ้นชื่ออย่าง ‘เมี่ยงกลีบบัวพริกเกลือ’ ก็ต้องเอาบัวมาจากที่อื่นด้วย ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านพยายามปลูกกันอยู่ แต่ยังคงเผชิญกับปัญหาน้ำเค็มที่รุกเข้ามา และมีความช่วยเหลือจากนักวิชาการที่เข้ามาช่วยด้านองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาดินและน้ำ

ส่วน ‘เมี่ยงกลีบบัวพริกเกลือ’ ก็จะเป็นหนึ่งในอาหารที่นักท่องเที่ยวจะได้ชิม เมื่อมาเยือนศูนย์การเรียนรู้ทแห่งนี้ด้วย เพราะเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์ไม่มีที่ไหนเหมือนอย่างแน่นอน

"อยากให้ทุกคนมีต้นแบบจะได้ไม่ต้องขายที่ดินให้นักลงทุน ถ้าทำได้ก็มีพื้นที่สีเขียวคู่กับเศรษฐกิจชุมชน มีวิถีชีวิตเหมือนปู่ย่าที่เราอยู่ อยากให้ที่นี่และชุมชนบ้านเรามีงานจากตรงนี้ ไม่ต้องออกไปข้างนอก ผู้สูงอายุก็จะได้มีอะไรทำ” กานดากล่าว

กานดากล่าวว่า สวนรุกขชาติ จะเป็นพื้นที่ความรู้และจะใช้การท่องเที่ยวเข้ามาเสริมเป็นรายได้ให้ชุมชน ใครมีอะไรก็จะได้ขาย แต่ก็จะเป็นการท่องเที่ยวแบบที่ไม่เน้นขายทุกอย่าง อยากให้มาเสพความสุข ความร่มรื่น อาจเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ แต่ชาวบ้านสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง

“การทำเกษตรเราสามารถต่อยอดไปถึงคนรุ่นต่อไปได้ เพราะหลังโควิด ลูกหลานหลายครอบครัวต้องตกงาน จึงกลับมาทำสวนของพ่อแม่ต่อ พวกเขาก็ต่อยอดเป็นสวนออร์แกนิค ทำให้สามารถเลี้ยงตัวได้ด้วยวิถีที่ไปกันได้กับแนวทางของพื้นที่ในแบบของเขาเอง ซึ่งเรื่องเกษตรเราก็จะเสริมไปให้เรียนรู้ในศูนย์นี้ เช่น การเพิ่มมูลค่าจากสิ่งเหลือใช้ในธรรมชาติ อย่างการทำปุ๋ยจากพวกกองใบไม้ หรือการนำเศษไม้มาแปรรูปเป็นของใช้ ของเล่น และของที่ระลึกต่างๆ นอกจากนี้ เราจะสอนเรื่องการคำนวนคาร์บอนเครดิตจากเรือกสวนไร่นาและต้นไม้ เพื่อเป็นต้นทุนให้สามารถนำไปใช้ขายได้ในอนาคตเพื่อเสริมรายได้จากการรักษาพื้นที่สีเขียวไว้” กานดาบอก

เธอบอกว่า ในอนาคตอาจทำเรื่องการอาบป่าด้วย เทรนด์ตรงนี้เห็นทำในญี่ปุ่นและยุโรป และมีงานวิจัยว่า การอาบป่าจะได้รับสารที่ต้นไม้ปล่อยออกมาที่นอกเหนือไปจากอ็อกซิเจนที่เป็นประโยชน์ต่างร่างกายและจิตใจ  แต่ขอไปศึกษาก่อนว่าจะสามารถนำมาใช้กับพื้นที่นี้ได้หรือไม่

เธอบอกว่า แต่ถ้าพูดถึงความเป็นป่า เป็นพื้นที่สีเขียว และความสงบ พื้นที่นี้มีความพร้อม เป็นธรรมชาติที่แท้จริง มีทั้งต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ขนาดกลาง กระทั่งต้นไม้ต่ำเรี่ยดิน ผู้ที่เผชิญความเครียด ไม่ว่าจากการจราจร การทำมาหากิน หรือสิ่งแวดล้อมแบบออฟฟิศ สามารถมาพักผ่อนกับธรรมชาติฟังเสียงใบไม้ ฟังเสียงนก ฟังเสียงลม สักสองสามวัน จะดี ต่อจิตใจและร่างกายคงจะได้พื้นฟูไม่น้อ

กานดา ยังบอกอีกว่า พืชที่เห็นในจุดที่จะทำเป็นศูนย์เรียนรู้มีประโยชน์ทุกอย่าง ส่วนจะเอามาใช้อย่างไรเป็นสิ่งที่เราอยากเผยแพร่ความรู้ เพราะชุมชนมีผู้สูงอายุที่เป็นปราชญ์หลายคน ท่านสอนเราไว้ อะไรทำอาหารได้ ทำยาได้ อย่างเมี่ยงกลีบบัวอาหารอัตลักษณ์ของพื้นที่ก็มีสรรพคุณทางยา สามารถช่วยปรับธาตุได้

"อยากให้มาเที่ยวบางกระเจ้ากันเพราะเป็นพื้นที่สีเขียวที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด ข้ามแม่น้ำมานิดเดียว และในอนาคตเราก็จะมีศูนย์เรียนรู้ที่บางกอบัวอีกแห่งเพิ่มเข้ามา บางกระเจ้าเป็นพื้นที่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ห่วงใย ฝากให้พวกเราดูแลให้เป็นพื้นที่สีเขียว สิ่งที่เราจะรักษาไว้แม้มันจะยากกับสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ตอนนี้แต่พวกเราตั้งใจทำ มีอะไรอีกหลายอย่างอยากให้เข้ามาเยี่ยมชมบางกอบัวค่ะ" กล่าวทิ้งท้าย

 

บางกอบัว 'ปอดสีเขียว' ของคนกรุงฯ บนคุ้งบางกระเจ้า
บางกอบัว 'ปอดสีเขียว' ของคนกรุงฯ บนคุ้งบางกระเจ้า
บางกอบัว 'ปอดสีเขียว' ของคนกรุงฯ บนคุ้งบางกระเจ้า
บางกอบัว 'ปอดสีเขียว' ของคนกรุงฯ บนคุ้งบางกระเจ้า
เนื้อหาล่าสุด