'ข้าวหอมทุ่ง' เป็นข้าวขึ้นชื่อของ บ้านหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ความพิเศษของข้าวหอมทุ่ง คือ ความหอมเหนียว เมื่อข้าวตั้งท้อง กลิ่นข้าวหอมทุ่งจะหอมฟุ้งไปทั่วท้องนา และคุณสมบัติพิเศษของข้าวหอมทุ่ง คือ สามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าวเม่า ข้าวตอก หรือข้าวหลาม ฯลฯ และหากยิ่งเพิ่มความพิเศษของข้าวหอมทุ่งด้วยการปลูกเป็นแปลงนาอินทรีย์ หรือนาข้าวออร์แกนิคก็จะยิ่งเพิ่มทั้งคุณค่าและมูลค่าได้อีกมาก เนื่องจากเป็นที่ต้องการสูงของตลาด
ปัจจุบัน นาข้าวอินทรีย์ ถือเป็นอนาคตของเกษตรกร ด้วยเทรนด์ของสุขภาพที่กำลังมาแรง แม้ว่าการทำนาแบบในอดีตที่เน้นการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกข้าว จะทำให้ได้ผลผลิตและไม่ถูกศัตรูพืชเล่นงาน แต่ก็ทำให้เกิดสารพิษปะปนไปกับแหล่งน้ำและอาจสะสมในอาหารได้
ในระยะหลังการผลิตแบบกระแสหลักจึงถูกท้าทาย และเกษตรกรจำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาทำนาอินทรีย์ เช่นเดียวกับที่บ้านหัวดอน ซึ่งปลูกข้าวหอมทุ่ง ซึ่งการมาของ นาออร์แกนิค หรือ นาอินทรีย์ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผลผลิตปราศจากสารเคมีเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยฟื้นคืนหน้าดิน คืนความสมบูรณ์ให้กับทุ่งนา ทำให้ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในดินฟื้นกลับมามากขึ้น เกิดภาพวิถีชีวิตของชาวนาไทยและความมั่นคงทางอาหารกับการสร้างระบบนิเวศในการผลิตที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม
ผืนนาออร์แกนิคมีจุดเด่น คือ สามารถชะล้างสารเคมี และทำให้กำเนิดชีวิตน้อยใหญ่ในพื้นนาได้ ไม่ว่าจะเป็นปูนา ปลา หรือแมลง ที่สามารถใช้บริโภคไปพร้อมกับการเก็บเกี่ยวข้าวได้ เมื่อหันกลับมาสู่วิถีอินทรีย์ จะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตของชาวนาบ้านหัวดอนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างข้าวหอมทุ่ง หรือข้าวเหนียวสายพันธุ์ต่างๆ ในแปลงนาของตน มาหุงหาทำกินไปพร้อมกับการจับสัตว์น้ำในแปลงนามาทำอาหารรับประทาน เพราะมั่นใจได้ว่าไม่มีสารพิษตกค้างในนาของตัวเองแน่นอน สิ่งมีชีวิตตามท้องทุ่งนาเติบโตอุดมสมบูรณ์ สามารถจับมาบริโภคได้
นาอินทรีย์ เป็นระบบการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมี ข้อดีของนาประเภทนี้จะช่วยรักษาสมดุลต่างๆ ของพื้นที่และสามารถเก็บกักรักษาความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินได้ ซึ่งวิธีการจัดการของบ้านหัวดอนจะเน้นปลูกพืชที่ไม่ทำลายหน้าดิน สลับกับช่วงปลูกข้าวระหว่างการรอเวลาทำนาปี จากนั้นจะเลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพิ่มผลการผลิตและไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช แต่เน้นภูมิปัญญาชาวบ้านในการป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชมารบกวนนาข้าวอินทรีย์ได้
โดยวิธีการจะเริ่มต้นที่การเพิ่มจุลินทรีย์ในหน้าดินด้วยวิธีการย่อยฟางข้าว และตอซังข้าวให้เป็นปุ๋ยเพื่อบำรุงพื้นดิน ซึ่งจะแตกต่างจากการทำนาทั่วไปที่มักใช้การเผาหน้าดิน
เมื่อหมักจุลินทรีย์ในดินได้ที่แล้ว ก็จะกลายเป็นปุ๋ยและทำให้ดินพร้อมสำหรับการเพราะปลูก เมื่อหน้าดินพร้อม ฟางและตอซังย่อยสลายได้เต็มที่ ขั้นต่อไป คือ การทำเทือกนาหรือการทำให้เป็นโคลนนั่นเอง ซึ่งในขั้นตอนนี้สามารถปรับค่ากรดด่างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการทำนาข้าวได้ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ช่วยกันผลิตข้าวที่ปลอดสารพิษ
กรณีของข้าวหอมทุ่ง บ้านหัวดอน อำเภอเขื่องใน เนื่องจากข้าวชนิดนี้เป็นพืชพื้นถิ่นสายพันธุ์ดี และเป็นสินค้าขึ้นชื่อ คนในชุมชนจึงช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นถิ่นนี้ไว้ ทั้งยังรวมตัวกันทำโรงสีของชุมชน ช่วยกันแบ่งปันองค์ความรู้ และอนุรักษ์พันธุ์ข้าว และยืนยันร่วมกันว่าจะมุ่งทำนาแบบปราศจากสารเคมี
ด้วยแนวทางนี้ สามารถต่อยอดให้แปลงนาผลิตข้าวหอมทุ่ง กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเยี่ยมชมนาข้าวยามข้าวออกรวงเหลืองทองสุกสกาวไปทั่วท้องทุ่ง นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชิมอาหารปลอดสารพิษจากนาอินทรีย์แล้ว ยังได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของเกษตรกรไทย ที่อยู่กินกับสิ่งที่ตนปลูกสร้างขึ้นมา รวมถึงเรียนรู้ภูมิปัญญาการปลูกข้าวที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมีในการทำการเกษตร แต่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวได้ ทั้งยังเกิดความหลากหลายและความมั่นคงทางอาหารที่มากขึ้นอีกด้วย