ปทิตตา หนดกระโทก
สมวัง หะยีสา ครูสอนศิลปะที่โรงเรียนเอกชนที่อำเภอสุคิริน และประธานกลุ่มอามีนาบาติก ในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส อดีตลูกจ้างโรงผลิตผ้าบาติกที่เรียนรู้วิธีทำผ้าบาติกมาแบบครูพักลักจำ และเริ่มเสาะหาสีย้อมจากป่าที่อุดมสมบูรณ์ละแวกบ้านเพื่อนำมาทำผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติ เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองจนสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กนักเรียน โดยหวังว่าจะเป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพและรายได้ให้เด็กๆ หลังจบการศึกษา
สมวัง เล่าถึงแรงจูงใจในการทำผ้าบาติกจากสีธรรมชาติว่า เกิดจากการที่เขาต้องการสร้างความแตกต่างจากผ้าบาติกแบบย้อมด้วยสีเคมีที่มีการผลิตอยู่ทั่วไป เขาจึงมีแนวคิดว่าในพื้นที่ของ อ.สุคิริน โดยเฉพาะละแวกบ้านนั้นมีความหลากหลายทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ จึงได้เริ่มเสาะแสวงหาจนพบว่า เปลือกหรือแก่นไม้ของต้นไม้ หรือผลไม้ต่างๆ ตามฤดูกาล สามารถนำมาผ่านกรรมวิธีที่ทำเป็นสีย้อมจากธรรมชาติได้
กลุ่มอามีนาบาติก มีสมาชิกจำนวน 11 คน เน้นการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกของ “ต้นเพกา” หรือ ที่รู้จักกันในชื่อว่า “เบโด” ซึ่งเป็นพืชในวงศ์ตระกูลแคที่ขึ้นตามธรรมชาติในป่าชื้น เมื่อผ่านกรรมวิธีจะให้สีเหลืองทอง และแกนรากของต้นสมพง หรือ สะพุง เมื่อผ่านกรรมวิธีจะให้สีน้ำตาลอมแดง ซึ่งข้อดีของสีจากธรรมชาติ จะไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังของผู้สวมใส่
ในการเก็บเปลือกไม้เพื่อนำมาทำสีย้อม สมวังและสมาชิกของกลุ่มต้องเดินลัดเลาะขึ้นไปบนเนินเขาบริวารของเทือกเขาฮาลาบาลา เพื่อเก็บเปลือกต้นเพกาและแกนรากของต้นสมพง นำมาผ่านกรรมวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งสีธรรมชาติ จากนั้นนำสับเปลือกของต้นเพกามาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วจึงนำมาตำในครกให้ละเอียด แล้วหมักในน้ำเปล่าทิ้งไว้ 1 คืน
ขั้นตอนต่อไป คือ นำมาต้มในน้ำเดือดที่ใส่เกลือแล้วทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำ ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องใส่สารส้ม หรือพืชที่ให้รสเปรี้ยว เช่น มะขามเปียก ส้มแขก หรือใบชะมวง เพื่อทำให้สีที่ได้จากธรรมชาติมีความคงทน ส่วนแกนรากของต้นสมพง ก็มีกรรมวิธีในลักษณะเดียวกัน
เมื่อผ่านกรรมวิธีได้สีจากธรรมชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการพิมพ์ลายบนผืนผ้า โดยนำผ้าปูลงบนโต๊ะกางให้เรียบ จากนั้นเลือกบล็อกแม่พิมพ์ลวดลายที่ต้องการ ต้มเทียนให้ละลายบนเตาที่เปิดไฟอ่อนปานกลาง แล้วนำแม่พิมพ์ชุบหรือจุ่มลงในเทียนที่วางอยู่บนเตาให้เทียนติดในแม่พิมพ์พอประมาณ แล้วนำไปพิมพ์ลงในผืนผ้า หากเทียนติดแม่พิมพ์มากเกินไปเมื่อพิมพ์ลงผืนผ้า จะทำให้ลวดลายไม่คมชัดหรือเลอะผ้า ลวดลายที่ออกมาจะไม่สวยงามตามต้องการ และทำการพิมพ์อย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแล้วเสร็จ หรือได้ลวดลายบนผืนผ้าตามต้องการ
จากนั้นจึงถึงขั้นตอนการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ โดยนำผ้ามาย้อมในสีจากเปลือกต้นเพกา หรือจากรากของต้นสะพุงที่เตรียมไว้ แล้วนำผ้าลงไปย้อม ถ้าต้องการให้ผ้ามีสีเข้ม สวยสดใส จะต้องย้อมหลายรอบหรือต้องย้อมให้ได้ 10 ครั้ง แล้วทิ้งไว้ 2 วัน จากนั้นนำผืนผ้าหรือชิ้นงานไปต้มในน้ำเดือด เพื่อเอาเทียนที่พิมพ์ออก เมื่อเทียนออกจากผืนผ้าหมดแล้ว ก็นำไปซักในน้ำคลอง ซึ่งเป็นเคล็ดลับช่วยป้องกันไม่ให้สีตก
สมวังบอกว่า ผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มอามีนาบาติก ทุกกระบวนการผลิตผ่านการตรวจสอบของอุตสาหกรรมจังหวัด และได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยที่ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
ส่วนราคาจำหน่ายขึ้นอยู่กับขนาดผ้า ผ้าขนาดความยาว 2 เมตร กว้าง 45 ซ.ม. ราคาผืนละ 490 บาท ลูกค้าสั่งซื้อขึ้นอยู่กับขนาดและลวดลาย สูงสุดราคา ผืนละ 750 บาท
ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกจากธรรมชาติของกลุ่มอามีนาบาติก สามารถติดต่อผ่านได้ ทางเฟสบุ๊กเพจ Ameena Batik และทางโทรศัพท์ 093 2393489 และ 086 2617166