Skip to main content

'YAYEE' เครื่องแต่งกายจากผ้าปาเต๊ะ ลวดลายและวัฒนธรรมของคนใต้

25 กรกฎาคม 2567

 

พิชญุตม์ เค้าอ้น

 


เมื่อธุรกิจผลิตและจำหน่ายของที่ระลึกซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบ้าน ภูมิ- พงศ์พิวิชญ์ ทั่วไตรภพ ต้องเจอกับสถานการณ์โควิดที่ทำให้นักท่องหายไปจากภูเก็ตหมดร้อยเปอร์เซ็นในปี 2563 จึงเป็นแรงผลักดันให้ ภูมิ คิดพลิกวิกฤตเป็นโอกาสโดยการนำความรู้ที่ได้เรียนด้านการออกแบบ มาปรับใช้กับผ้าปาเต๊ะ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่สำคัญและอยู่คู่กับวัฒนธรรมของชาวภูเก็ตมายาวนาน จนเกิดเป็น ชุดผ้าปาเต๊ะ YAYEE ที่หยิบเอาผ้าปาเต๊ะมาออกแบบให้ทันสมัย เหมาะกับการสวมใส่ในปัจจุบัน

 

“เราแค่อยากให้ผ้าปาเต๊ะมีที่ทางของมันเหมือนผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือผ้าย้อมครามบ้าง เพราะเราเชื่อว่าผ้าปาเต๊ะก็สามารถพัฒนาหรือออกแบบให้มีความทันสมัยได้เหมือนกับผ้าอื่น ๆ เช่นกัน และถ้าเราไม่ได้เอามันกลับมาทำให้สวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ อีก 10 ปีเราอาจจะได้เห็นผ้าปาเต๊ะแค่ในพิพิธภัณฑ์”


ผ้าปาเต๊ะ กับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชาวภูเก็ต

 

เมื่อสถานการณ์โควิดทำเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของภูเก็ตหยุดชะงัก ส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจที่บ้านของภูมิ ซึ่งยึดอาชีพขายของฝากให้กับนักท่องเที่ยวมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ต้องหาช่องทางการเอาตัวรอดในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ทายาทรุ่นที่ 2 อย่างภูมิ ซึ่งมีความชื่นชอบและร่ำเรียนในด้านการออกแบบดีไซน์สินค้าเครื่องแต่งกายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงคิดลงมือทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“ตอนนั้นย่านท่องเที่ยวปิดหมด นักท่องเที่ยวหาย ยอดขายเราก็กลายเป็นศูนย์ ผมมานั่งคิดว่าต้องทำยังไงก็ได้ให้หารายได้กลับมาให้ได้ ผมจำได้ว่าตอนเด็ก ๆ มักจะเห็นคุณแม่ใส่ชุดราตรีไปออกงานอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแม่จะไปจ้างช่างตัดเย็บโดยให้เอาผ้าปาเต๊ะมาออกแบบและตัดเป็นชุดราตรีใส่ออกงาน ใส่ชุดไหนก็สวยและได้รับคำชมเยอะมาก เลยเป็นที่มาในการหยิบเอาผ้าปาเต๊ะมาออกแบบด้วยทักษะที่เราเรียนมา เริ่มจากตัดให้คุณแม่ไว้ใส่ออกงานก่อนหนึ่งชุด ปรากฎว่าทุกคนชอบกันมาก มีออเดอร์เข้ามาเต็มเลย ก็เลยปิ๊งไอเดียทำแบรนด์ YAYEE ขึ้นมาครับ” ภูมิ เล่า

จากจุดเริ่มต้นของ YAYEE ที่เกิดจากการตัดชุดให้คุณแม่ใส่ออกงาน แต่เมื่อได้เห็นกระแสตอบรับของความสวยงามเมื่อนำผ้าปาเต๊ะมาออกแบบ ภูมิจึงมองว่า นี่คือโอกาสในการฟื้นคืนวัฒนธรรมการใส่ผ้าปาเต๊ะในชีวิตประจำวันของชาวภูเก็ต  จึงตัดสินใจเดินหน้าทำธุรกิจออกแบบเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าปาเต๊ะในชื่อแบรนด์ YAYEE


“ผ้าปาเต๊ะหรือผ้าบาติก มันมีลวดลายผ้าที่มาจากธรรมชาติ แต่งเติมสีสัน ด้วยวิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมให้ผ้าเป็นผืนเดียวกัน นำมาผสมผสานเข้ากับการออกแบบให้ทันสมัยและเล่าเรื่องราวในพื้นที่ ผ่านลวดลายอันเป็นอัตลักษณ์ของเมืองภูเก็ต เปลี่ยนสไตล์สินค้าใหม่แต่ไม่ทิ้งความเป็นแก่นของผ้าบาติกภาคใต้ นั่นช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้อย่างมาก โดยในตลาดคนไทย ชื่นชอบงานออกแบบของเราทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนวัยทำงาน เรียกง่าย ๆ ว่าสามารถใส่ได้ง่ายขึ้นกับทุกเพศทุกวัยเลยครับ”

ภูมิเล่าให้ฟังถึงข้อดีและจุดเด่นที่สำคัญของผ้าปาเต๊ะ และยังบอกอีกด้วยว่า การเดินหน้าหยิบเอาภูมิปัญญาของภูเก็ตหรือภาคใต้มาปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยมากขึ้นนั้น เป็นที่ถูกใจของคนทั้งในและนอกพื้นที่อีกด้วย

“ช่วงแรกเราขายหน้าร้านให้คนภูเก็ตกับขายในออนไลน์ก่อน สิ่งที่พบตอนนั้นก็คือ คนภูเก็ตก็สนใจเพราะรู้สึกว่าใส่ง่ายกว่าเดิม ในขณะที่ออนไลน์กระแสยิ่งตอบรับดีกว่าอีกครับ มียอดสั่งซื้อเข้ามาเกือบทุกวัน เลยคิดว่าน่าจะต้องโฟกัสไปที่ตลาดอื่น ๆ นอกจากแค่ในภูเก็ต ปัจจุบันนี้ก็มีร้านอยู่ทั้งหมด 16 สาขา หนึ่งในนั้นอยู่ที่ King Power ซึ่งชาวต่างชาติชื่นชอบกันเป็นอย่างมาก”

 

“ถ้าอยากจะรักษาวัฒนธรรม สิ่งสำคัญเลยคือ ต้องทำให้มันเข้ากันได้กับทุกคน สิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจที่สุดไม่ใช่การเป็นที่รู้จักหรือทำรายได้เป็นแสนเป็นล้าน แต่คือการที่ YAYEE ทำให้ผ้าปาเต๊ะถูกนำกลับมาใส่อีกครั้งในปัจจุบัน”

 

ภูมิ กล่าวถึงช่วงแรกที่ทดลองทำธุรกิจซึ่งเมื่อทำไปเรื่อยๆ ทำให้ค้นพบว่านอกจากผ้าปาเต๊ะจะตอบโจทย์คนในพื้นที่จนกลับมาใส่กันเพิ่มมากขึ้นแล้ว คนในพื้นที่อื่นที่ไม่เคยรู้จักลวดลายของผ้าปาเต๊ะมาก่อน กลับชื่นชอบและมียอดสั่งจองเข้ามาตลอด จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง นอกจากนี้ ภูมิยังเล่าถึงเป้าหมายตั้งต้นที่ตัวเขาอยากจะผลักดันผ้าปาเต๊ะให้ได้มีพื้นที่ยืนในตลาดผ้าของคนกลุ่มใหญ่เหมือนกัน

“เราแค่อยากให้ผ้าปาเต๊ะมีที่ทางของมันเหมือนผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือผ้าย้อมครามบ้าง เพราะเราเชื่อว่าผ้าปาเต๊ะก็สามารถพัฒนาหรือออกแบบให้มีความทันสมัยได้เหมือนกับผ้าอื่น ๆ เช่นกัน และถ้าเราไม่ได้เอามันกลับมาทำให้สวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ อีก 10 ปีเราอาจจะได้เห็นผ้าปาเต๊ะแค่ในพิพิธภัณฑ์”


เมื่อเสื้อผ้า สะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิต

 

“พอยอดขายเราเริ่มมากขึ้น เราก็เชื่อมโยงเข้ากับช่างฝีมือเก่ง ๆ ในชุมชนเลยครับ เราเจอกลุ่มสตรีกะทู้ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่รวมตัวกันทำงานฝีมือ เราก็เอาดีไซน์ที่เราออกแบบให้ทันสมัย เข้าไปเจอกับทักษะฝีมือและประสบการณ์ของพวกเขา ซึ่งถ้าเขาทำมาแค่ไหน เรารับซื้อหมด เพราะว่าเรามีช่องทางการขายแล้ว เขามีรายได้มากขึ้น จากที่ทำกันแค่ไม่กี่บ้าน ตอนนี้ก็ทำให้ YAYEE ทั้งชุมชนแล้วครับ”

ภูมิ เล่าอย่างภาคภูมิใจเมื่อถามถึงความเชื่อมโยงระหว่าง YAYEE กับคนในชุมชน ว่าเมื่อยอดสั่งซื้อเริ่มเยอะขึ้นจากการที่แบรนด์เติบโตบนโลกออนไลน์ เขาก็กระจายรายได้ให้กับช่างฝีมือที่มีประสบการณ์คุ้นเคยกับการตัดผ้าปาเต๊ะเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นให้เห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น

“ถ้าอยากจะรักษาวัฒนธรรม สิ่งสำคัญเลยคือ ต้องทำให้มันเข้ากันได้กับทุกคน สิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจที่สุดไม่ใช่การเป็นที่รู้จักหรือทำรายได้เป็นแสนเป็นล้าน แต่คือการที่ YAYEE ทำให้ผ้าปาเต๊ะถูกนำกลับมาใส่อีกครั้งในปัจจุบัน” ภูมิกล่าวทิ้งท้าย

 

เฟสบุ๊ก YAYEE
 


 

'YAYEE' เครื่องแต่งกายจากผ้าปาเต๊ะ ลวดลายและวัฒนธรรมของคนใต้
'YAYEE' เครื่องแต่งกายจากผ้าปาเต๊ะ ลวดลายและวัฒนธรรมของคนใต้
'YAYEE' เครื่องแต่งกายจากผ้าปาเต๊ะ ลวดลายและวัฒนธรรมของคนใต้
'YAYEE' เครื่องแต่งกายจากผ้าปาเต๊ะ ลวดลายและวัฒนธรรมของคนใต้
'YAYEE' เครื่องแต่งกายจากผ้าปาเต๊ะ ลวดลายและวัฒนธรรมของคนใต้