Skip to main content

'ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง’ กับภารกิจสร้าง ‘ครูของชุมชน’ คืนครูให้บ้านเกิด

20 กรกฎาคม 2567

 

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


 

ความขาดแคลนครูหรือครูไม่ครบชั้น ครูคนเดียวต้องวิ่งสอนเกือบทุกชั้นปี ไล่ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงชั้นประถม คือภาพที่เห็นได้ทั่วไปในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนห่างไกล เป็นปัญหาสำคัญและสะสมมานานในระบบการศึกษาไทย ยิ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารหรือมีลักษณะชายขอบ ยิ่งทำให้ไม่มีครูอยากย้ายไปหรืออาจไปเพื่อรอย้ายเท่านั้น

ด้วยความต้องการแก้ปัญหานี้ ทำให้ ‘มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง’ จังหวัดราชบุรี เป็นหนึ่งในสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ เพื่อสานฝันนักเรียนจากท้องถิ่นต่างๆ ที่มีความฝันอยากเป็นครูแต่ขาดโอกาส ให้กลับไปบรรจุในโรงเรียนบ้านเกิดหลังเรียนจบ

“ชุมชนตื่นเต้นมากครับ เป็นความคาดหวังเลยเพราะมองว่าเป็นลูกหลานของเขา พอมาถึงตรงนี้ เขาก็อยากเห็นว่าโครงการนี้จะต่อยอดไปถึงไหนได้บ้าง ชุมชนอยากให้ลูกหลานได้กลับมาพัฒนาชุมชนของเขาเองในอนาคตครับ” ดร.เกรียงวุธ นีละคุปต์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง พูดถึงพันธกิจนี้ด้วยความภูมิใจ

“พื้นที่ของโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายก็แล้วแต่บริบทครับ บางพื้นที่ค่อนข้างทุรกันดารมาก บางพื้นที่อาจน้อยกว่า แต่จะมีลักษณะชายขอบ เช่น โรงเรียนในจังหวัดประจวบฯ หรืออำเภอสังขละ กาญจนบุรี ก็มาเรียนที่เรา ก็ถือว่าค่อนข้างห่างไกลพอสมควร”

สำหรับกระบวนคัดกรอง ดร.เกรียงวุธ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นลักษณะของการให้ทุนเพื่อเรียนครู ด้วยหลักสูตรที่มีการปรับให้ตอบโจทย์กับการที่เขาจะต้องกลับบ้านไปเป็น ‘ครูของชุมชน’ จึงไม่ได้หมายความถึงการเรียนการสอนในห้องเรียนเท่านั้น แต่จะต้องเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนด้วย

โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะผู้ให้ทุน โรงเรียนชุมชนปลายทางที่ต้องการครู และทางสถาบันการศึกษาในฐานะผู้ผลิตครู ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการแรก นั่นคือการคัดกรอง เพราะต้องตอบให้ได้ว่าทำไมเลือกคนนี้ ไม่เลือกคนนั้น เกณฑ์สำคัญที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดตั้งแต่แรก คือ ความฝันที่อยากเป็นครู ศักยภาพและผลการเรียนที่พร้อมระดับหนึ่ง และต้องมีข้อจำกัดเรื่องโอกาสทางการศึกษาด้วย

ดร.เกรียงวุธ อธิบายว่า ลักษณะเฉพาะของเด็กในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จะต่างจากครูในหลักสูตรทั่วไป  คือการเน้นที่ชุมชนเป็นสำคัญ เขาจะต้องอยู่กับชุมชนได้ ดังนั้น หลักสูตรเองก็ต้องปรับตัวไปตามบริบทที่เกิดขึ้นจริง ดังเช่น ปัญหาครูไม่ครบชั้น ต้องยอมรับว่ายังมีอยู่ ก็ต้องปรับหลักสูตรของสถาบันให้สอดคล้องมากขึ้น

“โครงการนี้มีข้อดีคือ เด็กจะไม่ขาดจากชุมชนไปเลยระหว่างเรียน เพราะในหลักสูตรจะต้องลงไปที่โรงเรียนหรือชุมชนทุกปี ซึ่งเราจะตั้งโจทย์สมรรถนะเป็นเป้าหมายในแต่ละปี อย่างชั้นปีที่ 1 จะต้องกลับไปอยู่กับชุมชนเวลา 1 เดือน ให้กลับไปในฐานะผู้เรียนรู้ว่า หน้าที่ครูเป็นอย่างไร เพื่อให้รอบรู้ในงานครูจากสิ่งที่เขาสัมผัสจริง ปีที่ 2 จะเริ่มให้เป็นผู้ช่วยครู เช่น การทำงานเอกสารธุรการต่างๆ ปีที่ 3 ต้องเป็นผู้ช่วยสอน และปีที่ 4 ก็จะเป็นต้องทดลองเป็นครูผู้สอน

“พอเด็กๆ ออกไปฝึกประสบการณ์จริง เสียงสะท้อนที่เราได้รับกลับมาจากโรงเรียนค่อนข้างดี ตอนนี้จึงพยายามพัฒนาต่อไป เราจะเน้นด้านชุมชน ปลูกฝังให้เด็กมีแรงกระตุ้นในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชนและมีจิตอาสา สามารถเป็นนวัตกรเพื่อสร้างนวัตกรรมท้องถิ่นได้ เราจะปลูกฝังให้เขามีเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน และนวัตกรรมที่เขาสร้างขึ้นก็จะต้องเหมาะกับโรงเรียนปลายทางและชุมชนด้วย” ดร.เกรียงวุธ กล่าว

สำหรับการพัฒนาต่อยอดในอนาคต ดร.เกรียงวุธ บอกว่า อยากพัฒนาทักษะเฉพาะตัว หรือความสามารถพื้นฐานของเขาที่ติดตัวมาแต่เดิมต่อยอดไปได้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าต้องทิ้งทักษะตัวเองไปเมื่อมาเรียนเป็นครู โจทย์ของเราคือต้องทำให้ศักยภาพเขาเด่นขึ้น อย่างบางคนชอบเล่นฟุตบอลก็จะหาทีมให้ได้เล่นและไปแข่งขันได้ หรือบางคนที่เก่งวิชาการ ชอบคณิตศาสตร์มาก ก็จะเน้นให้ศักยภาพด้านนี้เขาเด่นขึ้นไปอีก

ดร.เกรียงวุธ กล่าวว่า จะต้องหาวิธีพัฒนาเด็กๆ ให้ไปได้ตามความสามารถเฉพาะด้วย ส่วนในภาพรวมของระบบการศึกษา ก็จะมีกลไกอุดช่องว่างปัญหาครูย้ายออกจากพื้นที่หรือโรงเรียนไม่มีครูได้ดีขึ้น เพราะถ้าครูมาจากชุมชนก็เท่ากับได้กลับบ้าน แรงจูงใจย้ายไปที่อื่นย่อมน้อยกว่า ขณะที่ชุมชน เมื่อทราบว่ามีโครงการแบบนี้ ก็คาดหวังกันมาก เพราะมองว่าเป็นลูกหลานของเขา จึงอยากเห็นว่าโครงการนี้จะต่อยอดไปได้ถึงไหน อยากเห็น ‘ครูของชุมชน’ ซึ่งเป็นลูกหลานกลับบ้านมาพัฒนาชุมชนของเขาเองในอนาคต


 

ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง’ กับภารกิจสร้าง ‘ครูของชุมชน’ คืนครูให้บ้านเกิด
ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง’ กับภารกิจสร้าง ‘ครูของชุมชน’ คืนครูให้บ้านเกิด
เนื้อหาล่าสุด