Skip to main content

พาน้องกลับมาเรียน การช่วยเหลือเด็กนักเรียนในนราธิวาสที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

17 กรกฎาคม 2567

 

 

ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษามีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลถึงโอกาสและอนาคตภายภาคหน้า ทำให้หลายภาคส่วนในจังหวัดนราธิวาสลุกขึ้นมาทำงานร่วมกัน เพื่อค้นหาเด็กๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษาให้กลับมาเรียนได้อีกครั้ง  

“เปิดเทอมใหม่ ยังมีเด็กไปไม่ถึง…โรงเรียน”

นี่คือเรื่องจริงที่ถ่ายทอดจากเรื่องราวของ ‘ยาดี’ นามสมมติของเด็กคนหนึ่ง เป็นเสมือนภาพสะท้อนสถานการณ์เด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาใน ‘ช่วงชั้นรอยต่อ’ หรือก็คือช่วงจบ ป.6 ขึ้น ม.1 และ จบม.3 ขึ้น ม.4 หรือไปเรียนสายอาชีพ ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีความเสี่ยงสูงมากที่เด็กๆ เหล่านี้ จะหลุดออกไปจากการศึกษาไปตลอดชีวิต

นี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายๆ ครอบครัวไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรความยากลำบากได้ จึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งค้นหาเด็กๆ กลุ่มนี้ให้เจอโดยเร็ว เพื่อยื่นมือไปให้ถึง ดึงขึ้นมาให้ทัน และโอบอุ้มต่อไปให้ได้ และงานนี้ต้องไม่ใช่แค่เป็นการพาเด็กๆ กลับมาเรียนอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องป้องกันไม่ให้เด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาซ้ำอีก ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่น

เช่นเดียวกับ ‘ยาดี’ เด็กนักเรียนที่โรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งใน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ครูของเธอเล่าว่า ยาดี เป็นเด็กที่มีความประพฤติและผลการเรียนดีมาโดยตลอด ตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษา ได้ผลคะแนนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากในเกือบทุกรายวิชา สอบได้ที่ 1 หรือที่ 2 ของห้องเรียนเป็นประจำ

ด้วยความใส่ใจของครูที่ปรึกษา เพื่อนครู และทางโรงเรียน ซึ่งจะคอยติดตามว่าหลังเปิดเทอมจะมีนักเรียนหลุดออกไปบ้างหรือไม่ เพราะด้วยบริบทพื้นที่ หลายครัวเรือนไม่ใช่ครอบครัวที่มีรายได้มากนัก โดยเฉพาะเด็กๆ ในช่วงชั้นรอยต่อ ซึ่งเหมือนเป็นทางแยกสำคัญ ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจเองเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงมาก

“คณะครูก็เฝ้าระวังกันอยู่ว่าจะมีใครไม่ได้เรียนต่อหรือไม่ จึงได้รับรู้ถึงปัญหาของยาดีตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดเทอม เมื่อทราบว่าน้องตัดสินใจไม่เรียนต่อแน่ ๆ ก็ได้ประสานงานกับโครงการพาน้องกลับมาเรียน เพื่อสอบถามหาวิธีช่วยเหลือ จากนั้นจึงลงไปพูดคุยทำความเข้าใจกับครอบครัวและตัวนักเรียน”

ครูที่ปรึกษา เล่าว่า ในเวลาต่อมา ยาดี ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการพาน้องกลับมาเรียน สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว จึงทำให้ ยาดี ลดความกังวลในเรื่องครอบครัวลงและตัดสินใจกลับมาเรียน ซึ่งกรณีนี้มีการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่ายงานภาคเอกชน หน่วยงานรัฐ หรือชุมชนท้องถิ่นเองก็ตาม ทำให้มีความเข้าใจกัน ช่วยเหลือกันบนหลักการที่ว่า ต้องทำให้เด็กที่กำลังหลุดจากโรงเรียนกลับสู่ระบบการศึกษาให้เร็วที่สุด และต้องมีความยั่งยืนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีหลุดซ้ำอีก

สำหรับกรณีของ ‘ยาดี’ จึงเป็นอีกความสำเร็จสำคัญที่สะท้อนถึงความใส่ใจของโรงเรียนและคณะครู รวมถึงความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนในพื้นที่ ที่สามารถตามเด็กกลับคืนสู่โรงเรียนได้เป็นจำนวนมาก และกรณีของ ยาดี ถึงแม้จะเป็นแค่หนึ่งในอีกหลายกรณีปัญหา แต่การช่วยเด็กนักเรียนเพิ่มขึ้นได้อีกเพียงหนึ่งคน ก็มีความหมายอย่างมากต่ออนาคต ของเด็กและเยาวชน อันเป็นทรัพยากรอันมีค่าของท้องถิ่นชุมชน
 

เนื้อหาล่าสุด