Skip to main content

ปลุกพลังเพื่อนครูเมืองกรุง ค้นหาเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบศึกษา สร้างโอกาสใหม่ให้อนาคต

9 กรกฎาคม 2567

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

 

ท่ามกลางตึกสูงทันสมัยของกรุงเทพมหานคร เชื่อหรือไม่ว่าลึกเข้าไปในตรอกซอกซอย หรือหลังตึกอาคารเหล่านั้น ยังมีชุมชนแออัดที่เด็กๆ จำนวนไม่น้อยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤตโควิด -19 ที่ทำให้หลายครอบครัวสูญเสียรายได้และตัดสินใจนำลูกหลานออกมาทำงาน เนื่องจากผู้ปกครองไม่สามารถส่งเสียให้เรียนต่อได้ 

อย่างไรก็ตาม ด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูที่มองว่า การศึกษาเป็นต้นทุนสำคัญในการการสร้างอนาคตของเด็กๆ เหล่า ครูโรงเรียนวัดใต้ (ราษฎรนิรมิต) จึงให้ความสำคัญกับการเยี่ยมบ้าน ด้วยการเดินเท้าออกสำรวจไปตามชุมชนแออัด เพื่อค้นหาเด็กๆ ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ใกล้โรงเรียนให้กลับมาเรียน โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการหาทุนการศึกษามาให้เด็กกลุ่มนี้สามารถรักษาและต่อยอดต้นทุนชีวิตของตัวเองได้อีกครั้ง

“เด็กวัดไม่มีหรอกเด็กที่รวย ถ้ารวยเขาคงไม่มาเรียนที่นี่ เด็กทุกคนต้องการทุนหรือความช่วยเหลือ พอเราบอกว่ามีทุนที่จะช่วยให้เรียนต่อได้ถึง ม.3 เด็กหลายคนอยากมาลงชื่อทันที เราก็บอกตามตรงว่าอาจจะไม่ได้ทุกกรณีนะ ต้องประเมินก่อน แต่เด็กมีความตื่นตัวขึ้น เราสัมผัสได้ว่า เด็ก ๆ เขาก็มีความฝันในการศึกษานะ ถ้ามีโอกาสเขาไปต่อแน่นอน”

ครูเจี๊ยบ - สุวรัตน์ สนองโลก กล่าวขึ้นระหว่างหยุดพักการเดินสำรวจเก็บข้อมูลของเด็กๆ ใน ‘ชุมชนโรงหวาย’ เพื่อค้นหาคัดกรองเด็กยากจนพิเศษที่เข้าข่ายได้รับ ‘ทุนเสมอภาค’ ซึ่งเป็นทุนระยะยาวส่งให้เรียนต่อไปจนจบมัธยมต้น ทุนนี้เป็นทุนที่ทาง กรุงเทพมหานคร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และโรงเรียนวัดใต้ (ราษฎรนิรมิต) ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือและติดตามเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษากลับมาเรียน

 

“เด็ก ๆ ส่วนใหญ่เขายังมีความฝันในการศึกษา เด็กบางคนใฝ่เรียนมาก แต่ด้วยฐานะ ที่ทางบ้านไม่รู้จะส่งต่อได้แค่ไหน การตัดสินใจไม่เรียนต่อเดี๋ยวนี้เกิดขึ้นได้ง่ายมาก ดังนั้น การเข้ามาของทุนเสมอภาคที่สนับสนุนไปได้จนถึง ม.3 เป็นเรื่องดีมากจนเรารู้สึกดีใจกับเด็กไปด้วย เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากจะทำเต็มที่”

 

เนื่องจากคุณครูที่นี่เข้าใจดีถึงสภาพปัญหาของเด็กๆ ในกรุงเทพฯ ที่มีบ้านกระจายออกไปตามชุมชนแออัดหลายแห่งรายรอบโรงเรียน โดยที่ผ่านมาก็จะพยายามสังเกตมองหาเด็ก ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุนทรัพย์ หรือกรณีเร่งด่วนอย่างการถูกทารุณและทำร้ายร่างกายในครอบครัว แต่เธอเองต้องยอมรับว่าบางทีความช่วยเหลือก็ไม่เพียงพอ สามารถทำได้ตามจะระดมทรัพยากรจากเอกชนที่เข้ามาบริจาคได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น

“เราไม่รู้หรอกว่าโตขึ้นเขาจะเป็นอย่างไร แต่หากมีโอกาส บางที สักคนหนึ่งที่ได้รับการช่วยเหลือในวันนี้ อาจเป็นหมอ เป็นพยาบาลที่จะมาช่วยชีวิตเราในอนาคตก็ได้” ครูเจี๊ยบ บอก

ขณะที่ ครูสมพงษ์ ธนะสินธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใต้ (ราษฎรนิรมิต) กล่าวขึ้นอย่างมีความหวัง ภายหลังได้รับทราบว่า ทาง กทม. กำลังสำรวจข้อมูลเพื่อหาเด็กๆ ไปรับทุนที่อย่างน้อยก็สามารถส่งเรียนต่อไปได้จนจบชั้นมัธยมต้น เพราะที่ผ่านมา แม้กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่ดูเหมือนเป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศ แต่ความจริงกลับเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำอย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่เด็กกลุ่มหนึ่งสามารถเรียนสูงขึ้นไปได้เรื่อยๆ ด้วยการจ่ายค่าเทอมสูงลิ่ว แต่เด็กอีกกลุ่มพ่อแม่อาจทำงานทั้งปีก็ยังไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องวันต่อวัน ดังนั้น เรื่องการศึกษาของเด็กๆ จึงยิ่งเป็นเรื่องไกลตัว

หลังโควิด ครูโรงเรียนวัดใต้ บอกว่า ปัญหารุนแรงขึ้นมากและยังคงส่งผลมาถึงวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่ตกงาน อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องของภาวะสังคมที่เปลี่ยนไป จากการสังเกตมาระยะหนึ่งทำให้พอจะเห็นแนวโน้มว่า พ่อแม่ของเด็กมีอายุน้อยลง จะเรียกว่าเป็นคุณแม่วัยใสก็ได้ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ วุฒิภาวะของพ่อแม่จะน้อยลงด้วย ทำให้เกิดการทางแยกกันของพ่อแม่ง่ายขึ้นด้วยการเปลี่ยนคู่ไปเรื่อย ๆ

เด็กที่เป็นลูกอาจต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย จากฐานะที่ไม่ดีอยู่แล้วก็กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหา ความยากจนกับการขาดโอกาสทางการศึกษาก็เกิดขึ้นเป็นวงจร และแนวโน้มของเด็กที่หลุดจากการศึกษา ก็จะมีลูกเร็วขึ้น แล้วเข้าสู่วงจรนี้ต่อเนื่องกันไป

“เราเป็นครูมาหลายปี สิ่งที่เห็นส่วนใหญ่ คือ มองเห็นเขาเดินไปได้แค่ครึ่งทาง ไม่สามารถไปสุดทางได้ ถ้ามีก็น้อยคนมาก คงด้วยฐานะที่ทำให้เขาต้องรีบตัดสินใจออกมาทำงาน สมัยก่อนเราอาจเห็นผู้ใหญ่ในวันนี้ ที่ตอนเป็นเด็กยากจน แต่ต่อยอดได้จนจบปริญญามากกว่านี้ เดี๋ยวนี้เท่าที่สังเกตคือ ส่วนใหญ่ไม่เกิน ม.3 ก็ต้องออกไปทำงาน ราวกับว่า โอกาสในการศึกษาของเขามันน้อยลง สวนทางกับเทคโนโลยีหรือสังคมที่ดูทันสมัยขึ้นเรื่อย ๆ อาจด้วยต้นทุนทางการศึกษาและค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เขาต้องรีบออกมาคิดเรื่องปากท้องก่อน ตรงนี้จะต่างจากในอดีต ก็มีบ้างที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ ถ้ารัฐสนับสนุนการศึกษามากกว่านี้ จะเป็นอีกแนวทางให้เขาได้

“ดีใจนะ เวลาที่มีทุนเรียนสำหรับเด็กเข้ามา อย่างวันนี้ สอบถามนักเรียนว่า ถ้ามีโอกาสเรียนต่อไปถึง ม.3 เขารู้สึกอย่างไร เด็กรีบบอกว่าให้ลงชื่อหนูให้ด้วย เพราะเขาก็อยากเรียนต่อ” ครูเจี๊ยบ บอก

 

“เราไม่รู้หรอกว่าโตขึ้นเขาจะเป็นอย่างไร แต่หากมีโอกาส บางที สักคนหนึ่งที่ได้รับการช่วยเหลือในวันนี้ อาจเป็นหมอ เป็นพยาบาลที่จะมาช่วยชีวิตเราในอนาคตก็ได้” 

 

“เด็ก ๆ ส่วนใหญ่เขายังมีความฝันในการศึกษา เด็กบางคนใฝ่เรียนมาก แต่ด้วยฐานะ ที่ทางบ้านไม่รู้จะส่งต่อได้แค่ไหน การตัดสินใจไม่เรียนต่อเดี๋ยวนี้เกิดขึ้นได้ง่ายมาก ดังนั้น การเข้ามาของทุนเสมอภาคที่สนับสนุนไปได้จนถึง ม.3 เป็นเรื่องดีมากจนเรารู้สึกดีใจกับเด็กไปด้วย เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากจะทำเต็มที่” ครูเจี๊ยบ กล่าวถึงงานสำรวจและใส่ข้อมูลด้วยรอยยิ้ม แม้หลายครั้งเวลาพูดจะเสียงสั่นคลอและคล้ายมีหยดน้ำใสๆ ในแววตา

“โรงเรียนแบบเดียวกับโรงเรียนวัดใต้ มีทั่วกรุงเทพ เราเชื่อว่าเพื่อนครูในโรงเรียนต่าง ๆ ต้องเข้าถึงเด็กอยู่แล้ว จึงอยากให้มุ่งเน้นไปที่เด็ก เพราะบางคนเขามีความคิดจริงจัง ที่อยากเรียนต่อจริง ๆ แต่เขาไม่พร้อม ไม่ว่าการเงินหรือปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากฝากเพื่อนครูทั่วกรุงเทพ ว่ามาช่วยกันดันเด็ก ๆ กลุ่มนี้ต่อไป เพราะเรารู้สึกว่า เราเห็นอนาคตของเขา อยากให้เขาไปในที่สูง ๆ ถ้าเด็ก ๆ ได้รับการชี้นำในทางที่ดี เขาก็จะไปได้ถูกทาง จึงอยากให้ช่วยกันค่ะ” ครูเจี๊ยบกล่าวทิ้งท้าย ก่อนขอตัวไปทำงานค้นหาเด็ก ๆ ต่อ ในค่ำวันนั้น

 

ปลุกพลังเพื่อนครูเมืองกรุง ค้นหาเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบศึกษา สร้างโอกาสใหม่ให้อนาคต
ปลุกพลังเพื่อนครูเมืองกรุง ค้นหาเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบศึกษา สร้างโอกาสใหม่ให้อนาคต
ปลุกพลังเพื่อนครูเมืองกรุง ค้นหาเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบศึกษา สร้างโอกาสใหม่ให้อนาคต
เนื้อหาล่าสุด