Skip to main content

ทำห้องเรียนให้สนุก เรียนรู้สังคมผ่านบอร์ดเกมและเรื่องราวใกล้ตัว

9 กรกฎาคม 2567

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

 

 

วิชาสังคม จะไม่ใช่วิชาท่องจำหรือยานอนหลับอีกต่อไป เมื่อถูกนำมาทำให้สนุก ด้วยการออกแบบเป็น ‘บอร์ดเกม’  Animal Racing : The disaster โดยครูสอนวิชาสังคม โรงเรียนวัดวังเรือน จังหวัดพิจิตร ซึ่งพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมเพื่อการศึกษา ที่มุ่งให้เด็กๆ ชั้นประถมเรียนรู้สังคมและสิ่งแวดล้อมจากประสบการณ์ที่อยู่รายรอบตัว โดยไม่ลืมสิ่งที่สำคัญ คือ ความสุขและความสนุกสนานกับการได้เรียนรู้สิ่งใหม่รอบตัวในทุกๆ วัน

Animal Racing : The disaster คือ บอร์ดเกมที่ ครูบอน-ดํารงฤทธิ์ คุณสิน ครูวิชาสังคม โรงเรียนวัดวังเรือน จังหวัดพิจิตร พัฒนาขึ้น ด้วยลักษณะของตัวเกมที่ออกแบบได้อย่างน่าสนใจ  มีลูกเล่นจากบรรดาตุ๊กตาสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยหลากหลายชนิด เพื่อให้เด็กๆ ได้แสดงบทบาทสมมติตามตัวละครที่เลือก พร้อมกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ทำให้รู้สึกจับต้องได้และอยากสนุกไปกับเกมเรื่อยๆ เพราะเกมนี้จะมีมหันตภัยแบบต่างๆ สอดแทรก  โดยเฉพาะผลกระทบจากความผันแปรของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้

“เดิมผมไม่มีความรู้ด้านบอร์ดเกมเลย แต่อยากให้เด็กๆ รู้สึกสนุกกับการเรียนมากขึ้น เราก็เริ่มจากรูปแบบเกมที่เด็กคุ้นเคยก่อน นั่นคือเกมเศรษฐี แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ เติมตรงนั้นตรงนี้เข้าไปเพื่อใช้สอนเรื่องภัยพิบัติกับเด็ก ป.6” ครูบอน บอก

ครูบอนอธิบายว่า ขั้นแรกจะต้องตั้งเป้าหมายว่าทักษะใดบ้างที่อยากจะส่งเสริมให้กับเด็ก ซึ่งเขาสังเกตเห็นว่า ในห้องเรียนเด็กๆ ไม่ค่อยพูดกัน จึงเลือกทักษะสื่อสารเป็นเป้าประสงค์ของกิจกรรม หลังจากนั้น จึงนำเนื้อหาที่คิดว่าเหมาะสมมาบูรณาการเข้าไปในตัวเกม

“ผมเลือกจากโจทย์ปัญหาของท้องถิ่นที่เขาเจอ ซึ่งก็คือ เรื่องภัยพิบัติ เพราะเขาเจอน้ำท่วมกันบ่อย จากนั้นจึงร่วมกันทำ ตั้งแต่ออกแบบไปจนถึงทดลองใช้ มีนักเรียนและเพื่อนครูมาช่วย เช่น เด็กบอกว่าอยากได้การ์ดพิเศษแบบไหนเพิ่ม อยากได้การป้องกันแบบไหนเพิ่ม ก็ใส่ไป พัฒนากันมา 3-4 รอบ ซึ่งภัยพิบัติที่เด็กๆ เรียนรู้จะมีตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับโลกเลย นี่คือสิ่งที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ผ่านเกมของเรา” ครูบอนกล่าว

ครูบอน บอกว่า เกมยังออกแบบมาเพื่อให้เด็กได้เคลื่อนไหว ด้วยการให้เลือกตัวเล่นเป็นสัตว์ แล้วสวมบทบาทเป็นสัตว์ตัวที่เลือก ก่อนเล่นก็จะต้องทำท่าทางสมมติ หรือทำตามการ์ดคำสั่งที่ได้ แล้วก็จะมีช่วงให้เลือกเปลี่ยนบทบาท เมื่อจะเปลี่ยนตัวเล่นก็จะต้องเปลี่ยนท่าทาง เด็กก็จะได้เคลื่อนไหวร่างกาย แก้โจทย์ที่ว่า การเล่นเกมจะทำให้เด็กอยู่กับที่นานเกินไป เด็กจะมีการเปลี่ยนอิริยาบทระหว่างเล่นเกมอยู่เรื่อยๆ

“ในเกมของเรามีกิมมิคต่างๆ นอกจากการ์ด เช่น เหรียญ หรือตัวตุ๊กตาต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นความสนใจให้เขาอยากเล่นตั้งแต่แรก เพราะการที่ได้เห็น ได้สัมผัส เด็กวัยนี้จะชอบมาก เป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยก็จริง แต่สามารถหาได้ไม่ยาก บางอย่างก็แพง บางอย่างก็ถูก ก็เลือกเอาที่เราอยากจะใช้จริงๆ สั่งซื้อได้ทางออนไลน์ได้ การเสริมสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เกมมีความน่าสนใจขึ้นได้” ครูบอน กล่าว

 

“บอร์ดเกมทำให้ได้เรียนรู้เรื่องภัยพิบัติและภาวะโลกร้อนรวมถึงการวิเคราะห์คำตอบค่ะ” 

– เด็กหญิงน้ำหวาน -

“สิ่งที่ได้คือทักษะการอ่าน เพื่อนบางคนเคยอ่านไม่ออกก็มาได้จากเกมนี้ คิดว่าได้ทักษะการสื่อสารระหว่างเพื่อนด้วยครับ”

 – เด็กชายนะโม -

“ได้คุณธรรมความซื่อสัตย์ และการทำงานเป็นทีมครับ” 

- เด็กชายอัน-

นี่ก็คือเสียงสะท้อนบางส่วนจากเด็กๆ โรงเรียนวัดวังเรือน จังหวัดพิจิตร ที่บอกกับเราหลังได้เล่นบอร์ดเกมชุดนี้ ซึ่งทำให้การเรียนรู้ไม่ใช้แค่การท่องจำ แต่คือสิ่งที่พวกเขาสามารถเล่นกับมันได้ เป็นการปรับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ให้เข้ากับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่หลายสิ่งหลายอย่างเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว โดยโรงเรียนและครู คือ ผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเด็กรุ่นต่อไป ให้สามารถปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก แม้ว่าโรงเรียนนั้นจะเป็นโรงเรียนเล็กๆ ในต่างจังหวัดหรือตั้งอยู่ในท้องถิ่นที่ห่างไกลก็ตาม

 

ทำห้องเรียนให้สนุก เรียนรู้สังคมผ่านบอร์ดเกมและเรื่องราวใกล้ตัว
ทำห้องเรียนให้สนุก เรียนรู้สังคมผ่านบอร์ดเกมและเรื่องราวใกล้ตัว