Skip to main content

ปลุกเศรษฐกิจชุมชนด้วย ‘กองทุนเลี้ยงไก่’ โดยคนรุ่นใหม่ จ.น่าน

8 กรกฎาคม 2567

 

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

 

 

ด้วยความสะเทือนใจลึกๆ จากการได้เห็นผืนป่าสมบูรณ์ละแวกบ้านค่อยๆ กลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น เพราะการทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ใครๆ ก็บอกว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทำให้ ‘ณัชพล พรมคำ’ คนรุ่นใหม่จาก อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน เลือกที่จะท้าทายความเชื่อเดิมๆ ด้วยการมองหาแนวทางอาชีพใหม่ ๆ ให้กับชุมชน โดยมีเป้าหมายต้องการเปลี่ยนจากวิถีที่เคยชิน ไปสู่อาชีพใหม่ ที่เลี้ยงครอบครัวและชุมชนได้โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังที่เป็นอยู่

“เดิมแถวนี้ทำแต่ข้าวโพดครับ ชาวบ้านเขาบอกว่า ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ผมจึงอยากท้าทายความเชื่อนี้” ณัชพล บอก

เขาอธิบายเพิ่มว่า ตอนนั้นเขาคิดถึงการทำกองทุนเลี้ยงสัตว์สักชนิด แล้วสร้างตลาดขึ้นเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ เมื่อชัดเจนในความคิดแล้วจึงเริ่มต้นเขียนโครงการเสนอไปทาง มูลนิธิ SCG เพื่อขอทุนสนับสนุน เพราะขณะนั้นกำลังมีโครงการพิเศษกองทุนพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนพอดี

“เขียนโครงการไปได้งบสนับสนุนเบื้องต้นมา 50,000 บาท สาเหตุที่เป็นไก่ เพราะก่อนนี้มีคนที่พยายามทำเรื่องการเลี้ยงหมูเหมือนกัน แต่เจอการระบาดของโรคอหิวาต์หมูจนเล้าหมูร้างไปหมด เกษตรกรก็หมดตัว แทบขาดใจ เราเลยมองว่าการเลี้ยงไก่น่าจะเป็นทางออกได้” ณัชพล กล่าวถึงที่มาของกองทุน

“ตอนแรกเลย ชาวบ้านบอกว่าเลี้ยงไปก็ไม่มีใครรับซื้อ เลยบอกเขาว่า ภายในสองเดือน ผมรับซื้อหมด พอครบสองเดือน ผมก็เอาไก่ทั้งหมดมาชำแหละขายเอง พอสร้างความเชื่อใจตรงนี้ได้จึงเริ่มรับสมัครผู้สนใจมากขึ้น เราเอาเงินจากกองทุนไปลงทุนซื้อลูกไก่ไปให้สมาชิกเลี้ยงแล้วก็รับซื้อคืนวนมาแบบนี้

“กองทุนเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตครับ บริโภคส่วนต่างเพื่อนำผลกำไรมาหล่อเลี้ยงกองทุน เราซื้อไก่คืนมาในราคาที่สูงกว่าตลาด เกษตรกรก็ได้กำไร ส่วนเราซื้อจากกองทุนเอาไปชำแหละขายต่อ ตรงนั้นก็เป็นกำไรส่วนของเรา ปัจจุบันโครงการนี้ต่อยอด ไปสู่การเลี้ยงหมู เพราะเป็นสิ่งที่ชุมชนอยากทำอยู่เดิม คราวนี้วิธีการคือให้ทุนไปซื้อหมู เมื่อเลี้ยงโตจะขอลูกหมูมาหนึ่งตัวไว้ส่งต่อเกษตรกรรายอื่นที่อยากเลี้ยงหมุนเวียนไปในลักษณะนี้”  

ณัชพลบอกว่า ประเด็นสำคัญ คือ เราต้องสร้างตลาดให้เกษตรกรให้ได้ เมื่อกองทุนโตขึ้นเราจึงพัฒนาตลาดสดของตัวเอง โดยเปิดให้ชาวบ้านเอาผักผลไม้มาขาย ส่วนเราก็เอาไก่เอาหมูไปขาย ตอนนี้ตลาดเป็นที่นิยม ทำเป็นตลาดนัดทุกวันศุกร์ไว้ขายสินค้าชุมชน นอกจากนี้ เพื่อให้ชุมชนมีทุนที่จะทำธุรกิจอื่นๆ หรือเผื่อมีความจำเป็นฉุกเฉิน จึงตั้งเป็นกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ในกลุ่ม ในอนาคตวางแผนว่า จะพัฒนาต่อเป็นรูปแบบสหกรณ์ชุมชน โดยในระหว่างนี้อยู่ในช่วงเรียนรู้ก่อนขยับก้าวในจังหวะต่อไป

“แนวคิดของเราเป็นอีกรูปแบบของการทำกองทุนที่ต่างจากที่อื่น คือ เป็นกองทุนแต่สิ่งที่ให้สมาชิกเป็นสิ่งของ เป็นสัตว์เลี้ยง ไม่ต้องจับเงิน แต่ก็เกิดการหมุนเวียนรายได้ต่อไป แน่นอนว่ากรณีที่สัตว์ตายเราก็คิดคำนวณไว้ด้วย โดยกำหนดว่าในรอบแรก หากมีสัตว์ตายไม่ต้องใช้คืน กองทุนยอมขาดทุนได้ในรอบแรกเพื่อให้เกษตรกรมีประสบการณ์ เรียนรู้จากการทำจริง เมื่อเขามีประสบการณ์มากขึ้น รอบเลี้ยงต่อมา ก็จะคิดจากจำนวนจริงที่เขายืมไป ซึ่งเกษตรกรก็ยอม อาจมีสัตว์ตายบ้างแต่จากกำไรเขาอยู่ได้ และกองทุนก็อยู่ได้โดยมีกำไรเพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย”

ณัชพล ทิ้งท้ายว่า การทำงานเพื่อเริ่มต้น หัวใจสำคัญคือการเปิดใจยอมรับของคนในชุมชน เพราะต้องยอมรับว่ามีหลายโครงการที่มาแล้วล้มไป เราต้องอยู่กับเขา คอยคุยกับเขา จนเกิดความเชื่อมั่นในกันและกัน ส่วนที่สอง คือโอกาส ต้องมีพื้นที่ให้เขาแสดงฝีมือ ไม่ว่า ไก่ หมู ผัก ถ้าไม่มีพื้นที่ให้เขาค้าขายมันก็จะจมที่หัวไร่ปลายนา แต่ถ้าทำพื้นที่ให้เขาแสดงศักยภาพก็เป็นโอกาสขยับขยายต่อไปได้


 

ปลุกเศรษฐกิจชุมชนด้วย ‘กองทุนเลี้ยงไก่’ โดยคนรุ่นใหม่ จ.น่าน
ปลุกเศรษฐกิจชุมชนด้วย ‘กองทุนเลี้ยงไก่’ โดยคนรุ่นใหม่ จ.น่าน
ปลุกเศรษฐกิจชุมชนด้วย ‘กองทุนเลี้ยงไก่’ โดยคนรุ่นใหม่ จ.น่าน
เนื้อหาล่าสุด