Skip to main content

‘ปัน กัน กรีน’ น้ำยาทำความสะอาดที่เริ่มจาก การแบ่งให้กันใช้ ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

7 กรกฎาคม 2567

 

รวิวรรณ รักถิ่นกำนิด

 


จุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ต้องการแก้ปัญหาการแพ้น้ำยาล้างจานของลูกๆ กลายมาเป็นธุรกิจน้ำยาทำความสะอาดที่ปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ และมีเป้าหมายเพื่อช่วยสร้างลมหายใจเพิ่มให้กับโลก


แม่บ้าน ที่เห็นลูกแพ้น้ำยาล้างจาน

 

เก๋- ชัฎศิญาณ์ พรหมมงคลกุล เจ้าของแบรนด์ ‘ปันกันกรีน’ อดีตคุณแม่เต็มเวลาเล่าว่า ในแต่ละวัน ลูกๆ ของเธอซึ่งเรียนโรงเรียนทางเลือก จะต้องทำการบ้านเป็นงานบ้านแต่ละอย่าง ไม่ว่าจะเป็นซักผ้า ถูบ้าน ล้างจาน เรื่องดำเนินไปเหมือนปกติ เด็กๆ สนุกกับการได้ทำงานบ้านที่เปลี่ยนเป็นคะแนนในชั้นเรียน จนวันหนึ่งลูกเดินมาบอกว่าไม่อยากล้างจาน เพราะเจ็บและคันมือ

“ลูกเราล้างจานทุกวัน แรกๆ ก็ไม่คิดอะไร พอลูกมาบอกว่าเจ็บมือเราเลยรู้ว่า เขาน่าจะแพ้สารบางอย่างในน้ำยาล้างจานที่เป็นเคมี ส่วนใหญ่จะเป็นสารขจัดคราบและสารทำฟองที่ต้องใส่มาให้มากเข้าไว้ เพราะอยากให้ล้างไวๆ รู้สึกสะอาด”

พอรู้ว่าลูกแพ้สารทำความสะอาด เก๋ เลยมาคิดต่อว่า จะหาน้ำยาล้างจานจากไหนที่ปลอดภัยและลูกไม่แพ้ ซึ่งหลายปีที่แล้ว การจะหาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติในท้องตลาดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อเทียบกับปัจจุบัน เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญกับกระแสความยั่งยืน

“พอเราหาน้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดให้ลูกเราใช้ไม่ได้ ก็เลยลองทำเอง พี่เป็นชอบไปเรียนไปเวิร์คช็อปกิจกรรมเกี่ยวกับการทำสบู่ทำแชมพูจากธรรมชาติใช้เองอยู่แล้ว ก็เลยเริ่มลองทำน้ำหมักจากสับปะรดเอามาทำเป็นน้ำยาล้างจานให้ลูกใช้ ปรากฎว่าลูกเราไม่แพ้ ล้างจานสะอาด แต่ลูกบอกกว่า แม่ กลิ่นเหมือนรถขยะเลย”

เรื่องกลิ่น คือโจทย์ต่อมาที่คนเป็นแม่อยากจะแก้ไข ถ้าลูกต้องล้างจานทุกวัน ต้องใช้น้ำยาทำความสะอาดถูกบ้านทุกวัน เธอก็อยากจะให้ลูกทำงานบ้านอย่างมีความสุข เก๋ค่อยๆ พัฒนาจากการเลือกสมุนไพรพื้นบ้านที่ให้กลิ่น เช่น มะกรูด นำมาทำน้ำหมักจุลินทรีย์ ผสมเป็นน้ำยาล้างจาน และให้ลูกทดลองใช้ พอลูกไม่บ่นเรื่องกลิ่น ล้างจานโดยไม่แพ้ เธอจึงเริ่มนำไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มผู้ปกครองที่โรงเรียน

“พอลูกเราใช้แล้วดี ไม่แพ้ เราก็อยากส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็กๆ บ้านอื่น เพราะเราไม่อยากให้เขาอยู่กับสารเคมีทั้งวั้น ตอนนั้นพี่เป็นแม่ฟูลไทม์ เรามีเวลาว่างที่จะทำของพวกนี้ พอถึงวันที่มีกิจกรรมที่โรงเรียน เราก็เอาไปแจกให้กับบ้านอื่นๆ แล้วก็อธิบายว่า น้ำยาล้างจานของเรา ทำมาจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีเคมีเจือปนเลย ฟองอาจจะน้อยกว่าน้ำยาล้างจานแบบเคมี แต่ล้างสะอาดเท่ากัน ที่สำคัญไม่ต้องกังวลเรื่องสารตกค้างถ้าเราล้างออกไม่หมด”

หลังเริ่มทำแจกจ่ายให้กับแม่ๆ แล้วได้ผลตอบรับดีจากเดิมที่ทำแจก กลายเป็นมีลูกค้าถามซื้อเข้ามาจริงๆ เก๋จึงเริ่มทำขายทีละน้อยชิ้นให้กับกลุ่มผู้ปกครอง และค่อยๆ ขยายตลาด นำไปวางจำหน่ายที่สหกรณ์ในโรงเรียน จนวันหนึ่งมีลูกค้าทักเข้ามาถามว่า สามารถทำน้ำยาถูพื้นจำหน่ายได้ไหม เธอจึงมองว่า ถ้าจะเริ่มขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ ก็ควรจะทำเป็นธุรกิจให้จริงจังเสียเลย


ปันกันใช้ของกรีนๆ ที่เป็นมิตรกับชุมชน

 

จากการแบ่งปันใช้ของคุณแม่ที่อยากให้ลูกๆ ปลอดภัยด้วยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ขยับขยายจนกลายมาเป็นชื่อ ปัน กัน กรีน ซึ่งเก๋เล่าถึงที่มาของชื่อว่า มาจากจุดเริ่มที่เธออยากแบ่งปันสิ่งดีๆ จากธรรมชาติให้กับทุกๆ คน หลังจากเริ่มเป็นธุรกิจที่ทำขายจริงจัง ความยากที่ตามมาคือ การหาตลาด กลุ่มลูกค้า และวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ซึ่งการหาตลาดและลูกค้า เก๋ใช้วิธีออกบูธตามโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อที่เธอจะได้มีโอกาสเจอกับลูกค้าตรงๆ และอธิบายถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ

“ตอนนั้นสินค้าพี่ทุกตัวผ่านมาตรฐานความปลอดภัยหลักๆ หมดแล้ว เหลือแต่การอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่าทำไมเขาต้องลดการใช้สารเคมี เราเปรียบเทียบให้เขาเห็นว่า รูขุมขนในร่างกายก็เหมือนกับริมฝีปากที่พูดไม่ได้ ยิ่งเราใช้สารเคมีที่ปะปนมากับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด รูขุมขนเหล่านี้ก็จะยิ่งถูกอุดตันมากขึ้น”

มากไปกว่านั้นเธอยังอธิบายต่อว่า สารทำความสะอาดส่วนใหญ่ที่เน้นขจัดคราบอย่างรวดเร็ว เมื่อลงไปยังบ่อน้ำทิ้ง ก็จะไปทำลายจุลินทรีย์ดีในบ่อ ทำให้ส่งกลิ่นเหม็นออกมาตามท่อระบายน้ำในบ้าน รวมถึงหากปล่อยลงสู่แหล่งน้ำก็จะยิ่งลดจำนวนออกซิเจนในน้ำ ทำให้สัตว์น้ำเสียชีวิต ในขณะที่ปันกันกรีนของเธอ นำไปทดลองร่วมกับนักวิจัยว่าปลอดภัยต่อแหล่งน้ำ เธอจึงมั่นใจว่าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ผลิตภัณฑ์ของเธอเป็นมิตรกับทุกสิ่งมีชีวิต

สำหรับเรื่องวัตถุดิบเก๋เล่าว่า เธอเน้นใช้ผักและผลไม้จากชุมชนท้องถิ่นมาเป็นวัตถุดิบหลักที่ให้เอนไซม์ธรรมชาติ ตัวอย่างเช่นมะกรูด เธอใช้จากชุมชนเบิกไทย จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นชุมชนที่มีมะกรูดตามบ้านเรือนจำนวนมาก และเป็นมะกรูดที่คุณภาพดีเพราะใช้ทำเครื่องแกง

“เวลาพี่ขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน บางทีเราเห็นเกษตรกรปลูกลูกยอ ปลูกสับปะรด เราก็จะเข้าไปถามว่าแบ่งขายให้เราได้ไหม เราทำธุรกิจนี้อยู่ อยากใช้ของที่มาจากชุมชน”

ในอนาคตเก๋วางแผนเอาไว้ว่าอยากเข้าไปช่วยบริการจัดหาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และมีปริมาณการปล่อยน้ำเสียจำนวนมาก เพื่อที่ว่าจะได้เปลี่ยนสารเคมีที่ปนมากับน้ำทิ้งเหล่านั้นให้กลายเป็นน้ำดี ก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ


ปันกันกรีน
บางชัน คลองสามวา กรุงเทพฯ 
Facebook: ปันกันกรีน
 

 

‘ปัน กัน กรีน’ น้ำยาทำความสะอาดที่เริ่มจาก การแบ่งให้กันใช้
‘ปัน กัน กรีน’ น้ำยาทำความสะอาดที่เริ่มจาก การแบ่งให้กันใช้
‘ปัน กัน กรีน’ น้ำยาทำความสะอาดที่เริ่มจาก การแบ่งให้กันใช้
‘ปัน กัน กรีน’ น้ำยาทำความสะอาดที่เริ่มจาก การแบ่งให้กันใช้
‘ปัน กัน กรีน’ น้ำยาทำความสะอาดที่เริ่มจาก การแบ่งให้กันใช้
‘ปัน กัน กรีน’ น้ำยาทำความสะอาดที่เริ่มจาก การแบ่งให้กันใช้
เนื้อหาล่าสุด