Skip to main content

'เทศบาลหนองพอก' กับการจัดการขยะที่สร้างมูลค่าและคุณค่าใหม่ให้ท้องถิ่น

3 กรกฎาคม 2567

 

ตำบลหนองพอกมีจุดอ่อนที่เป็นปัญหาใหญ่รอวันประทุ ก็คือเรื่องขยะที่กองเป็นภูเขา ด้วยความที่บ่อขยะตั้งอยู่ใกล้กับท้องถิ่นอีกพื้นที่จนไม่รู้ว่าขยะของใครเป็นของใคร จึงเกือบเป็นข้อพิพาท ขณะเดียวกัน ปัญหาของภูเขาขยะยังสร้างมลพิษให้คนที่อยู่ใกล้เคียงทุกข์ทรมานมาก

 

จากปัญหาขยะกองเป็นภูเขาจนเกือบเป็นกรณีพิพาทระหว่างสองท้องถิ่นที่อยู่ติดกัน  ประกอบกับด้วยความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม ทำให้มีการเติบโตขึ้นของการท่องเที่ยว ‘ขยะ’ จึงเป็นวาระสำคัญที่ทำให้ นิระมล ชื่นตา นายกเทศบาลตำบลหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ตัดสินใจว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อเปลี่ยนปัญหานี้ให้กลายเป็นพลังใหม่ในการสร้างท้องถิ่นให้เติบโตอย่างยั่งยืน

จากเดิมที่ไม่เคยสนใจมาทำงานการเมืองเลย นิระมล บอกว่า ด้วยความเป็นคนพื้นที่ จึงพอมองเห็นหลายปัญหาในท้องถิ่นแล้ว รู้สึกเสียดาย ยิ่งเมื่อมองเห็นศักยภาพมากมายที่ท้องถิ่นมี เชื่อว่าสามารถเติบโตได้อีก โดยเฉพาะการที่ตำบลหนองพอก มีต้นทุนทางสังคมที่ดีมากๆ ด้วยภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นเทศบาลที่ติดกับ 3 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์  ยโสธร และมุกดาหาร

“ในพื้นที่เรามีทั้งน้ำตก ภูเขา อ่างเก็บน้ำ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เราเรียกว่า หนองพอกเมืองงาม แบ่งความงามเป็น 4 อย่าง งามแรก ภูมิศาสตร์ดังที่กล่าวไป งามที่สอง ศาสนา ซึ่งรอบๆ เราจะมีวัดดังๆ รวมถึงเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง พระมหาเจดีย์ชัยมงคล งามที่สาม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ  ซึ่งหนองพอกเป็นต้นกำเนิดของเครื่องดนตรีโหวต และงามที่สี่ คือ เรื่องคนหนองพอกเป็นคนน่ารัก มีน้ำใจ เรายังมีความเป็นชนบทที่คนรู้จักกันหมด”

แต่ตำบลหนองพอกมีจุดอ่อนที่เป็นปัญหาใหญ่รอวันประทุ ก็คือเรื่องขยะที่กองเป็นภูเขา ด้วยความที่บ่อขยะตั้งอยู่ใกล้กับท้องถิ่นอีกพื้นที่จนไม่รู้ว่าขยะของใครเป็นของใคร จึงเกือบเป็นข้อพิพาท ขณะเดียวกัน ปัญหาของภูเขาขยะยังสร้างมลพิษให้คนที่อยู่ใกล้เคียงทุกข์ทรมานมาก ไม่ว่ากลิ่นเหม็นเน่า น้ำเสีย หนอน แมลงวัน จึงคิดว่าต้องจัดการปัญหาเหล่านี้เสียที และการที่จะทำได้ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าสู่การเป็นผู้บริหารท้องถิ่น จึงลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับชัยชนะในที่สุด

“เรามีการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น จนมีขยะสะสมเกือบสามพันตันไม่สามารถฝังกลบได้หมด เราจึงต้องหาวิธีการลดขยะ โดยมองว่า ต้องเริ่มจากการจัดการที่ตัวเราเองก่อน ด้วยการลดขยะต้นทางเพื่อจัดการปัญหาเดิม และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนพื้นที่เรามาขึ้นเรื่อยๆ ”

นิระมล เล่าย้อนไปถึงการลงมือจัดการปัญหาว่า เริ่มจากไปดูงานที่เทศบาลแม่จัน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ว่ามีวิธีการจัดการขยะต้นทางอย่างไร พอไปดูได้แนวทางและแรงบันดาลใจกลับมา จึงประชุมกับทีมงานเพื่อกำหนดกลยุทธ์ นั่นคือทุกอย่างต้องเริ่มจากความง่ายเป็นกุญแจสำคัญ

“ต้องจำแนกง่าย เข้าใจง่าย สื่อสารง่าย เราจึงแบ่งขยะออกเป็นเพียง 3 ประเภท หนึ่งขยะทั่วไปหรือขยะเปื้อน สองขยะขายได้หรือขยะรีไซเคิล สามขยะย่อยสลายได้ พวกเศษอาหาร หรือขยะอินทรีย์ พอตกผลึกเรื่องการจำแนกแล้ว จึงจัดให้มีการประชาคมทุกหมู่บ้าน เมื่อผ่านก็มีการรณรงค์แบบลงทุกบ้าน ไปเคาะทุกประตูเพื่อทำความเข้าใจการคัดแยกขยะ นอกจากนี้ ยังชี้แจงทำความเข้าใจในการเก็บขยะแบบแยกวัน แยกประเภทด้วย เนื่องจากรถขยะของท้องถิ่นมีเพียงคันเดียว จึงใช้การกำหนดวันเก็บขยะแต่ละชนิด”

นิระมน บอกว่า ทางท้องถิ่นจะทำตารางการเก็บขยะไปติดไว้ทุกบ้าน วันจันทร์ พุธ ศุกร์จะเก็บขยะเปื้อนหรือขยะทั่วไป ขยะขายได้จะเก็บวันอังคาร ส่วนขยะย่อยสลายได้ทิ้งได้ทุกวัน รถขยะจะมีถังพลาสติกดำติดไว้ข้างรถไว้ให้เท แต่ช่วงหลังสิ่งที่ตามมาคือ ขยะเศษอาหารแทบหายไปเลย เพราะแต่ละบ้านจะทำหลุมแยกขยะย่อยสลายได้เอาไว้ ซึ่งเรารณรงค์เรื่องนี้ไปพร้อมกันก็ทำให้จัดการขยะเองที่บ้านได้ส่วนหนึ่ง

 

“ต้องจำแนกง่าย เข้าใจง่าย สื่อสารง่าย เราจึงแบ่งขยะออกเป็นเพียง 3 ประเภท หนึ่งขยะทั่วไปหรือขยะเปื้อน สองขยะขายได้หรือขยะรีไซเคิล สามขยะย่อยสลายได้ พวกเศษอาหาร หรือขยะอินทรีย์ พอตกผลึกเรื่องการจำแนกแล้ว จึงจัดให้มีการประชาคมทุกหมู่บ้าน เมื่อผ่านก็มีการรณรงค์แบบลงทุกบ้าน ไปเคาะทุกประตูเพื่อทำความเข้าใจการคัดแยกขยะ "

 

หลังมีการจัดการขยะ ปัจจุบันตำบลหนองพอก มีขยะต้องนำไปทิ้งที่บ่อขยะฝังกลบลดลงมาก พอคัดแยกแล้วพบว่า ขยะลดลงถึงร้อยละ 40 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของขยะที่มี และเมื่อไม่มีเศษอาหารติดไปกับขยะทั่วไปจึงไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า ในขณะที่ขยะประเภทรีไซเคิลได้กลายเป็นเสมือนสินทรัพย์ที่คนในชุมชนแย่งชิงกัน เพราะสามารถสร้างรายได้เสริมจนแทบไม่มีให้เทศบาลเก็บ

“โครงการที่เราทำความจริงไม่ได้ใช้งบประมาณเยอะ แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรค คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งต้องทำความเข้าใจกันค่อนข้างเยอะ เราจึงต้องเริ่มจากการสื่อสารให้ง่าย และบางคนอาจไม่ยอมทำตาม วิธีการที่ได้ผลคือ 3 เดือนแรก เราจะรณรงค์และเก็บคัดแยกให้ แต่พอครบ 3 เดือน ถ้าบ้านไหนไม่คัดแยกตามที่ตกลงกันเราก็จะไม่เก็บขยะบ้านนั้น แต่จะให้หน่วยม้าเร็วลงไปทำความเข้าใจรายบ้านเพื่อชี้แจงว่าทำไมเรายังไม่เก็บ แล้ววันรุ่งขึ้นเราก็ไปเก็บ ก็ทำให้ประชาชนที่ตอนแรกยังไม่ทำก็ต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่”

นิระมล บอกว่า สิ่งที่จะทำให้โครงการลักษณะนี้สำเร็จได้ ต้องมีปัจจัยสำคัญ 3  อย่างประกอบกัน คือ หนึ่ง ความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะทำของผู้บริหารท้องถิ่น เพราะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้ามุ่งมั่นไม่พอ พอมีเสียงวิจารณ์ก็จะถอย ประการที่สอง การสื่อสารที่ต้องง่าย ชัดเจน ทั่วถึง ต่างประเทศอาจจำแนกขยะได้เป็นสิบประเภท แต่เราสื่อสารแบบนี้กับชาวบ้านของเราไม่ได้ เพราะจะมีความสับสนเกิดขึ้น จึงจำกัดการจำแนกไว้เพียง 3 ประเภทเท่านั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และประการสุดท้าย ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ในการติดตามและประเมินผล ซึ่งต้องไปในทิศทางเดียวกันกับฝ่ายบริหารด้วย

“เราดำเนินโครงการนี้มาได้ราวปีกว่าๆ รู้สึกพอใจมากที่ลดขยะลงไปได้เกือบครึ่ง ชุมชนที่อยู่รอบข้างที่เคยมีปัญหาเรื่องมลพิษ เรื่องแมลงวันก็ลดน้อยลง หลายครัวเรือนยังมีรายได้จากตรงนี้ เด็กๆ เวลาไปโรงเรียนหลายคนก็เริ่มเก็บขยะไว้ขายหาเงินค่าขนมเอง ที่สำคัญคือประชาชนในพื้นที่มีความอินกับเรา ภูมิใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าพวกเขาก็ทำได้ ทำให้เขารักและหวงแหนในท้องถิ่นของตัวเองจริงๆ เป็นเรื่องที่น่าชื่นใจมากๆค่ะ ” นิระมน กล่าวสรุป  

 

'เทศบาลหนองพอก' กับการจัดการขยะที่สร้างมูลค่าและคุณค่าใหม่ให้ท้องถิ่น
'เทศบาลหนองพอก' กับการจัดการขยะที่สร้างมูลค่าและคุณค่าใหม่ให้ท้องถิ่น
'เทศบาลหนองพอก' กับการจัดการขยะที่สร้างมูลค่าและคุณค่าใหม่ให้ท้องถิ่น
'เทศบาลหนองพอก' กับการจัดการขยะที่สร้างมูลค่าและคุณค่าใหม่ให้ท้องถิ่น
'เทศบาลหนองพอก' กับการจัดการขยะที่สร้างมูลค่าและคุณค่าใหม่ให้ท้องถิ่น
'เทศบาลหนองพอก' กับการจัดการขยะที่สร้างมูลค่าและคุณค่าใหม่ให้ท้องถิ่น
'เทศบาลหนองพอก' กับการจัดการขยะที่สร้างมูลค่าและคุณค่าใหม่ให้ท้องถิ่น
เนื้อหาล่าสุด