Skip to main content

ระบบประปาอัจฉริยะ น้ำประปาสะอาดของ ‘เทศบาลตำบลอาจสามารถ’ ที่มากกว่าแค่ดื่มได้

1 กรกฎาคม 2567

 

กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ชาวตำบลอาจสามารถ ต้องเจอกับน้ำประปาสีขุ่นคลั่กเหมือนชาเย็น อย่าว่าแต่ใช้ดื่ม ลำพังจะใช้อาบ ล้างถ้วยล้างจาน หรือซักเสื้อผ้า ต้องนำน้ำมาพักแกว่งสารส้มให้ตกตะกอนก่อนใช้

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนไปได้ในเวลาเพียง 99 วัน ภายใต้การบริหารของทีมเทศบาลก้าวหน้า ที่นำโดย เทพพร จำปานวน นายกเทศบาลตำบลอาจสามารถ  ที่ไม่ใช่แค่ “อาจ” แต่ “สามารถ” เปลี่ยนจากน้ำประปาสีขุ่นให้เป็นน้ำประปาที่กินได้จริงๆ แถมยังฝันไปไกลกว่านั้น ด้วยการทำระบบประปาอัจฉริยะ เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำสะอาดที่โรงงานน้ำประปาเทศบาลแห่งนี้ผลิต จะเป็นมาตรฐานเดียวกัน ดื่มได้ ใช้ได้ ไหลแรงและใสสะอาดตลอดไปตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง

‘ตำบลอาจสามารถ’ เป็นท้องถิ่นเล็กๆ ในจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งคงไม่แตกต่างจากอีกหลายพื้นที่ชนบทของประเทศไทย ที่ต้องระทมทุกข์กับปัญหาขาดสาธารณูปโภคที่ดี โดยเฉพาะน้ำประปาที่ไหลบ้างไม่ไหลบ้าง หรือไหลก็กระปริบกระปรอย แถมยังขุ่นคลั่ก

“เราจะทำให้น้ำประปาเปลี่ยนจากการขุ่นข้นที่พี่น้องประชาชนบ่นนักบ่นหนามา 20 ปี ให้ดื่มได้ เราจะแก้ปัญหาให้เสร็จใน 99 วัน นี่คือโจทย์แรก” เทพพร เล่าย้อนให้ฟังถึงเป้าหมายก่อนที่เขาจะเข้าไปบริหารเทศบาล

เขาบอกว่า ปัญหานี้เห็นมาตั้งแต่เด็ก น้ำมีความขุ่นจนแทบใช้ไม่ได้แม้แต่ซักเสื้อผ้าในชีวิตประจำวัน ยิ่งเอาไปประกอบอาชีพไม่ต้องพูดถึง สมมติว่าจะเปิดร้านซักรีด ก็ต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำบาดาลมาใช้ ต้นทุนที่ตามมาก็คือ ค่าไฟ แต่ถ้าบ้านไหนไม่มีเงินไปติดตั้งเครื่องสูบก็ต้องทนใช้น้ำเทศบาล ก่อนใช้ก็ต้องเอาสารส้มมาแกว่ง หรือก่อนอาบก็ต้องเปิดแล้วรอให้ตกตะกอน แค่น้ำใช้ยังขนาดนี้ คงไม่ต้องพูดถึงการประกอบอาหารเอามาต้มเอามาแกง  ยิ่งเรื่องดื่มได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงสำหรับคุณภาพน้ำประปาของเทศบาลในเวลานั้น

 

“ผมเชื่อว่าถ้าจะให้ความสำคัญเรื่องน้ำประปาดื่มได้ ไม่ต้องลงทุนเยอะ เชื่อว่า อบต.ทุกแห่งมีงบประมาณตรงนี้แน่ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการบังคับ เป็นเพียงทางเลือก มันก็เลยเกิดปัญหาที่ทำให้อีกหลายพื้นที่ของประเทศไทยไม่สามารถมีน้ำประปาสะอาดได้ "

 

“เพราะเราเป็นคนที่นี่ เห็นปัญหาหลายอย่างในท้องถิ่นที่ต้องพัฒนาไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ศูนย์เด็กเล็ก หรือคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ก่อนลงเลือกตั้งจึงสำรวจความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน เรามาพบความต้องการตรงนี้ตอนหาเสียง เรื่องน้ำมาเป็นอันดับหนึ่ง เราจึงสัญญากับพี่น้องประชาชนที่จะทำเรื่องนี้หากได้เข้ามาบริหารท้องถิ่น” เทพพร บอก

หลังการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 64 เทพพร ลงสมัครเป็นนายกเทศบาลตำบลอาจสามารถในนามคณะก้าวหน้า และชนะการเลือกตั้งได้สำเร็จ เขาจึงเดินหน้าโครงการน้ำประปาดื่มได้ทันที

“เพื่อไปถึงขั้นนำประปาดื่มได้ เราลงทุนจัดสรรงบประมาณเปลี่ยนแปลงตรงนี้ประมาณ 200,000 บาทเท่านั้น ผมมองว่าเป็นการลงทุนที่น้อยมาก หากมองว่าแลกกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 4,000-5,000 คน” เทพพร บอก

อย่างไรก็ตาม เทพพร ยอมรับว่า ลำพังการจัดสรรงบประมาณคงไม่สามารถทำให้โครงการน้ำประปาสะอาดสำเร็จได้ เพราะต้องมีทั้งองค์ความรู้ที่จะพัฒนาคุณภาพน้ำให้ถึงขั้นดื่มได้ จึงมีการประสานนักวิชาการและนักวิศวกรน้ำมาช่วยขับเคลื่อนนโยบาย ประกอบกับความเอาจริงเอาจังของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเองก็อยากทำให้เรื่องนี้ด้วย ทุกคนจึงเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก

“เราเห็นตรงกันว่าเปลี่ยนเรื่องน้ำเรื่องเดียว คุณภาพชีวิตคนอาจสามารถก็เปลี่ยนตาม ปัจจุบันนี้แม้แต่คนที่เจาะน้ำบาดาลก็หันมาใช้น้ำเทศบาล เพราะราคาถูก ทำให้ประหยัดได้มาก เทียบกับค่าไฟน้ำบาดาลถูกกว่าเยอะ ยิ่งสำหรับธุรกิจยิ่งเห็นชัดประหยัดปีละสองสามหมื่นบาท ส่วนพี่น้องประชาชน จากเดิมต้องซื้อน้ำดื่มถังละ 10-20 บาท ก็เปิดก็อก ได้เลย ลดต้นทุนตรงนี้ให้พวกเขาได้”

แต่ทว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาโรงผลิตน้ำประปาสะอาด ยังคงไม่เพียงพอในความคิดของ เทพพร เพราะการที่จะทำให้น้ำประปาดื่มได้มีหลายขั้นตอน บางแห่งดื่มได้เฉพาะโรงน้ำประปา แต่พอดันไปถึงปลายน้ำ ผ่านท่อผ่านอะไรต่างๆ ค่าคุณภาพน้ำก็เปลี่ยนไป เมื่อไปถึงหน้าบ้านกลายเป็นดื่มไม่ได้ ไม่ใสไม่สะอาดเหมือนที่โรงผลิต

ท้องถิ่นหลายที่ที่เคยทำน้ำประปาสะอาด มักเจอปัญหาแบบนี้ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจ เทพพรจึงนำโจทย์มาคิดต่อว่าจะต้องพัฒนาต่อไปให้ถึงระบบอัจฉริยะ น้ำที่บ้านจะต้องมีมาตรฐานเหมือนกับที่โรงผลิต ตรวจวัดได้ ตรวจสอบได้ และแสดงผลคุณภาพน้ำได้

 

“เราเห็นตรงกันว่าเปลี่ยนเรื่องน้ำเรื่องเดียว คุณภาพชีวิตคนอาจสามารถก็เปลี่ยนตาม ปัจจุบันนี้แม้แต่คนที่เจาะน้ำบาดาลก็หันมาใช้น้ำเทศบาล เพราะราคาถูก ทำให้ประหยัดได้มาก"

 

“หลังจากเราทำสำเร็จเรื่องน้ำประปาดื่มได้ด้วยการจัดสรรงบไปทำ 200,000 บาท แต่แค่ดื่มได้ไม่พอ เรามองไปถึงระบบ IOT หรือระบบประปาอัจฉริยะด้วย แต่ดูงบของเราแล้วไม่พอแน่ งบเพื่อการพัฒนาเทศบาลตำบลอาจสามารถมีเพียง 1-2 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น จึงเขียนโครงการเพื่อขอรับทุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอี โชคดีได้งบมา 9 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนทำโครงการน้ำประปาให้กินได้และถึงขั้นอัจฉริยะ เป็นจุดเปลี่ยนของเทศบาลอาจสามารถ ทำให้เราทำตามความฝันที่ตั้งเป้าไว้ได้และเป็นต้นแบบให้เทศบาลอื่นๆ สามารถทำแบบเดียวกันนี้ได้ทั้งประเทศด้วย”

ระบบประปาอัจฉริยะจะมีการติดตั้งมิเตอร์สมาร์ท ส่งสัญญาณขึ้นระบบคลาวด์ มีเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพน้ำประปาแบบเรียลไทม์ 4 ค่า คือ คลอรีน ความขุ่นใส ความเป็นกรดด่าง และแรงดัน เป็นข้อมูลตรวจวัดจากทุกพื้นที่ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่เทศบาลเห็นข้อมูลและรับทราบสภาพปัญหาได้ทันที

“ตรงไหนน้ำอ่อน ตรงไหนน้ำขุ่น ก็เข้าไปแก้ปัญหาได้แบบเรียลไทม์ และที่สำคัญคือ ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ตลอดเวลาว่าน้ำประปาที่นี่ผ่านมาตรฐานว่าดื่มได้จริง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ ไม่ว่าจะผ่านเวลาไปนานแค่ไหน เพราะมีระบบตรวจวัดแสดงผลที่เว็บไซต์ของเทศบาล ใครๆ ก็เข้ามาดูได้ โดยเราได้ใบรับรองจากกรมอนามัยเรื่องน้ำประปาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตั้งแต่ปี 2564”

เทพพร บอกด้วยความมั่นใจว่า ระบบ IOT ของตำบลเล็กๆ อย่างอาจสามารถทันสมัยที่สุดในประเทศไทย บอกได้ถึงขั้นเช็คระบบน้ำสูญเสียจากการเช็คปริมาณน้ำขาเข้าและขาออก หากมีจุดเสียหายจะเข้าซ่อมโดยเร็วเพื่อลดปริมาณน้ำสูญเสียดังกล่าวเพื่อลดความสิ้นเปลือง ขณะเดียวกัน ด้วยระบบอัจฉริยะทำให้สามารถลดจำนวนคนที่ต้องมาดูแลลงได้มาก ทำให้ลดค่าบริหารจัดการ เช่น คนจดมิเตอร์ สมัยก่อนต้องแยกย้ายกันไปจด ไปเก็บเงินไม่เจอก็ต้องไปใหม่ แต่ระบบมิเตอร์สมาร์ทสามารถจ่ายออนไลน์ได้เลย โดยระบบจะคำนวณใบแจ้งหนี้ให้ประชาชนแสกนคิวอาร์โค้ดจ่าย จึงลดคนลง ประหยัดงบประมาณให้เทศบาลได้เป็นอย่างมากในแต่ละปี พี่น้องประชาชนก็สะดวกขึ้น

“ผมเชื่อว่าถ้าจะให้ความสำคัญเรื่องน้ำประปาดื่มได้ ไม่ต้องลงทุนเยอะ เชื่อว่า อบต.ทุกแห่งมีงบประมาณตรงนี้แน่ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการบังคับ เป็นเพียงทางเลือก มันก็เลยเกิดปัญหาที่ทำให้อีกหลายพื้นที่ของประเทศไทยไม่สามารถมีน้ำประปาสะอาดได้ ทราบมาว่า ตอนนี้ทางพรรคก้าวไกลกำลังเตรียมผลักดันร่างกฎหมายน้ำสะอาดดื่มได้ผ่านสภา ถ้าสำเร็จเทศบาลและท้องถิ่น หรือการประปานครหลวงหรือภูมิภาค ก็จะต้องทำตรงนี้ซึ่ งถือเป็นเรื่องดีมากต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศ”

 

“ตรงไหนน้ำอ่อน ตรงไหนน้ำขุ่น ก็เข้าไปแก้ปัญหาได้แบบเรียลไทม์ และที่สำคัญคือ ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ตลอดเวลาว่าน้ำประปาที่นี่ผ่านมาตรฐานว่าดื่มได้จริง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ ไม่ว่าจะผ่านเวลาไปนานแค่ไหน เพราะมีระบบตรวจวัดแสดงผลที่เว็บไซต์ของเทศบาล ใครๆ ก็เข้ามาดูได้ โดยเราได้ใบรับรองจากกรมอนามัยเรื่องน้ำประปาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตั้งแต่ปี 2564”

 

ปัจจุบัน มีท้องถิ่นและหน่วยงานมากกว่า 80 แห่ง เดินทางมาศึกษาดูงานน้ำประปาที่ เทศบาลตำบลอาจสามารถ ซึ่งทางตำบลจะมีคู่มือให้หากจะนำรูปแบบไปใช้ มีหลายเทศบาลนำไปทำแล้วประสบความสำเร็จ ได้ใบรับรองมาตรฐานดื่มได้จากกรมอนามัยเช่นกัน

“ในฐานะผู้บริหารท้องถิ่น สิ่งที่เห็นปัญหา คือ งบประมาณไม่มี ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่น ก็น่าจะสนับสนุนงบประมาณลงไปให้มากกว่านี้ จะทำให้ท้องถิ่นพัฒนาไปได้ไกลมาก เป็นการพัฒนาจากข้างล่างขึ้นข้างบน ประเทศจะพัฒนาแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ และอีกเรื่องที่สำคัญคือกฎระเบียบต่างๆ ทำงานยากมาก บางเรื่องต้องผ่านผู้ว่าฯ สั่ง บางเรื่องต้องนายอำเภอสั่ง แม้แต่เงินสะสมของท้องถิ่นจะใช้ บางด้านก็ต้องไปขอผ่านผู้ว่าฯ ทั้งที่เป็นเงินของท้องถิ่นเขาเอง กลายเป็นขาดทั้งงบประมาณ ขาดทั้งความคล่องตัว โชคดีที่เราเขียนของบจากกระทรวงดีอีมาได้ จึงมีงบมาทำระบบน้ำประปาอัจริยะเป็นต้นแบบให้ท้องถิ่นอื่นๆ เชื่อว่า ถ้าจะทำกันจริงๆ เรื่องน้ำประปาดื่มได้ทำได้ทั่วประเทศ และความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นต่อคุณภาพชีวิตประชาชนก็จะเกิดขึ้นจริงๆ” เทพพร กล่าวทิ้งท้าย


 

ระบบประปาอัจฉริยะ น้ำประปาสะอาดของ ‘อบต.อาจสามารถ’  ที่มากกว่าแค่ดื่มได้
ระบบประปาอัจฉริยะ น้ำประปาสะอาดของ ‘อบต.อาจสามารถ’  ที่มากกว่าแค่ดื่มได้
ระบบประปาอัจฉริยะ น้ำประปาสะอาดของ ‘อบต.อาจสามารถ’  ที่มากกว่าแค่ดื่มได้
ระบบประปาอัจฉริยะ น้ำประปาสะอาดของ ‘อบต.อาจสามารถ’  ที่มากกว่าแค่ดื่มได้
ระบบประปาอัจฉริยะ น้ำประปาสะอาดของ ‘อบต.อาจสามารถ’  ที่มากกว่าแค่ดื่มได้
ระบบประปาอัจฉริยะ น้ำประปาสะอาดของ ‘อบต.อาจสามารถ’  ที่มากกว่าแค่ดื่มได้
เนื้อหาล่าสุด