รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด
ซูเปอร์มาร์เก็ตทางเลือกที่รวมของดีจากชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศมาไว้ในที่เดียวกัน บริหารงานโดยอดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ ที่เชื่อว่าการทำธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับบรรพบุรุษของสินค้า
จุดเริ่มต้นเพียงเพราะ อยากกิน-ใช้ของดีๆ
Goodcery มาจากการรวมกันของคำว่า “good+ grocery” หรือแปลตรงตัว คือ ของชำของใช้คุณภาพดี เป็นความตั้งใจของ น้ำตาล-ภัทรานิษฐ์ ศรีจันทร์ดร หุ้นส่วนและผู้ก่อตั้งร้าน The Goodcery ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กับสินค้าชุมชนจากทั่วประเทศ นำมารวมกันไว้ในรูปแบบของซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ กลางเมืองเชียงใหม่ ด้วยความตั้งใจให้ของดีเหล่านั้นถึงมือผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ โดยมีร้านเป็นสะพานเชื่อม
“สินค้าในร้านทุกชิ้นมาจากชุมชน หรือผู้ประกอบการเล็กๆ ที่เขาทำของดีอย่างตั้งใจ แต่ไม่มีใครมองเห็น ไม่มีใครช่วยทำตลาดขยายฐานลูกค้า เราทำหน้าที่เหมือนชั้นวางให้พวกเขา ช่วยพวกเขาอธิบายถึงความตั้งใจในวัตถุดิบที่รังสรรค์ขึ้นมา บางชุมชนเขาตั้งใจทำน้ำปลา กะปิ ทำกันเล็กๆ ในกลุ่ม ส่งต่อกันหลายรุ่น แต่ของมันกระจุกอยู่แค่นั้น ซึ่งเราเสียดายมากถ้ามันไม่ได้ถูกนำออกมาให้คนอื่นเห็นเพิ่ม”
วัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาวางขายในร้าน น้ำตาลลงมือคัดเลือกเองทุกชิ้น ด้วยความที่เธอเป็นคนชอบเดินทางและศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เธอจึงให้ความสำคัญกับภูมิปัญญา และความตั้งใจที่จะสงวนรักษาของเหล่านั้น เอาไว้ บวกกับช่องว่างเล็กๆที่เธอมองเห็นว่า ยังมีผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าจากถิ่นกำเนิด คุณภาพดี และพร้อมจะจ่ายธุรกิจเล็กๆ ตรงนี้จึงเกิดขึ้น
นอกจากร้านชำแล้ว ภายในอาคารยังแบ่งเป็นโซนร้านอาหารที่เธอนำวัตดุดิบจากร้านชำมาเป็นส่วนประกอบ น้ำตาลเปรียบเทียบว่า คล้ายกับการสาธิตให้ลูกค้าดูว่า ของในร้านเมื่อปรุงออกมาแล้วจะมีหน้าตาและรสชาติเป็นอย่างไร รวมถึงส่วนที่เป็นร้านกาแฟ ที่บริหารจัดการโดยแบรนด์กาแฟ Taste Café แบรนด์ที่จริงจังกับเรื่องกาแฟไปพร้อมๆ กับการเติบโตของชุมชน
นอกจากนี้ The Goodcery ยังมีแบรนด์แยกสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารโดยเฉพาะภายใต้ชื่อ LOC&CO แยกส่วนจากบริการอื่นๆ ของร้านเพื่อบอกเล่าเรื่องราวอย่างละเอียดของวัตถุดิบแต่ละประเภทโดยเฉพาะ
“สินค้าในร้านทุกชิ้นมาจากชุมชน หรือผู้ประกอบการเล็กๆ ที่เขาทำของดีอย่างตั้งใจ แต่ไม่มีใครมองเห็น ไม่มีใครช่วยทำตลาดขยายฐานลูกค้า เราทำหน้าที่เหมือนชั้นวางให้พวกเขา ช่วยพวกเขาอธิบายถึงความตั้งใจในวัตถุดิบที่รังสรรค์ขึ้นมา บางชุมชนเขาตั้งใจทำน้ำปลา กะปิ ทำกันเล็กๆ ในกลุ่ม ส่งต่อกันหลายรุ่น แต่ของมันกระจุกอยู่แค่นั้น ซึ่งเราเสียดายมากถ้ามันไม่ได้ถูกนำออกมาให้คนอื่นเห็นเพิ่ม”
มุมมองธุรกิจแบบนักเรียนประวัติศาสตร์
น้ำตาลเป็นอดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ การทำธุรกิจของเธอจึงไม่ได้วางอยู่บนตำราเล่มเดียวกับตำราธุรกิจกระแสหลัก หลักธุรกิจของเธอจึงไม่ใช่การทำกำไรสูงสุดด้วยต้นทุนต่ำที่สุด แต่คือการทำกำไรอย่างไรให้ทั้งผู้ผลิตต้นทางและผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด โดยที่เธอในฐานะพ่อค้าคนกลางก็รู้สึกแฮปปี้กับส่วนต่างที่ได้ ไปจนถึงการเลือกพาร์ทเนอร์ที่จะมาวางสินค้า เธอก็จะต้องเข้าไป “ทบทวนวรรณกรรม” หรือ ศึกษาประวัติศาสตร์ของสิ่งเหล่านั้น
“ยกตัวอย่างเช่น กล้วยหนึ่งหวี ถ้าหากขุดลึกลงไปแล้วว่ากล้วยจากพื้นที่นั้น มาจากการถางป่าเพิ่มพื้นที่ให้ทุนใหญ่ และหาพืชสักชนิดให้ชาวบ้านปลูกทดแทน ซึ่งกลายเป็นกล้วยที่อยู่ตรงหน้าเรา เรามองเห็นแค่ว่ามันเป็นกล้วยท้องถิ่นจากชุมชนนี้นะ น่าจะเอามาขาย แต่ถ้าไม่รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของมัน ก็เท่ากับสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เบียดเบียนชาวบ้านโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไม ร้านเราไม่มีน้ำตาลทรายวางขาย เพราะมันเป็นน้ำตาลจากระบบอุตสาหกรรมที่ทำลายระบบนิเวศและสร้างข้อขัดแย้งในชุมชนสูงมาก”
น้ำตาล เล่าต่อว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในตอนนี้แทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีตรงกลางให้กับผู้บริโภค ถ้าไม่ราคาถูกไปเลยจากโรงงานอุตสาหกรรม ก็เป็นสินค้าพรีเมียมราคาแพงที่ขายเรื่องราวและรูปลักษณ์ บวกกับตรารับรอง มันไม่มีสินค้าตรงกลางที่ทำให้คนที่มีกำลังจ่ายแต่อาจจะไม่มากได้เลือกมาใช้ กลไกลตลาดมันผลักให้เราเลือกไม่ขาวก็ดำ
“ต้องบอกก่อนว่า ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากรวย เราอยากรวยเราเลยทำธุรกิจ แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ที่รวยเร็วมันทิ้งคนไว้ข้างหลังเยอะ และสร้างภาระให้กับมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้น ธุรกิจที่เราทำมันเลยวางอยู่บนหลักคิดง่ายๆ คือ เราทำแล้วเราไม่อายที่จะเล่าสิ่งนั้น ถ้ามันสำเร็จ เราก็จะไม่รู้สึกตั้งคำถามกับตัวเองว่าความสำเร็จของสิ่งที่เราทำ มันไปเบียดเบียนใครบ้าง”
การคัดเลือกสินค้าที่ไม่ได้เลือกจากต้นทุนที่ต่ำที่สุดย่อมทำให้ต้นทุนสินค้าที่เธอวางขายสูงตามไปด้วย ผู้บริโภคย่อมตั้งคำถามแน่นอน ในจุดนี้เธออธิบายว่าผู้บริโภคจำนวนหนึ่งเข้าใจดี เพราะจุดยืนของร้านนั้นชัดเจนอยู่แล้ว ผู้ผลิตท้องถิ่นที่เป็นพาร์ทเนอร์กับเรา เขาแทบไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรจากรัฐเลย เธอเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ในอิตาลี ผลิตภัณฑ์จากชุมชนโดยเฉพาะสินค้าเกษตรอินทรีย์ และของแปรรูปจากท้องถิ่น ราคาจะถูกกว่าสินค้าตลาดจากโรงงานอุตสาหกรรมมาก เพราะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ คนจึงนิยมซื้อสินค้าจากท้องถิ่นมากกว่า
การทำธุกิจสวนทางตำราไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการพยายามตั้งคำถามกับกลไกลตลาดในระบบที่ทุนใหญ่ได้เปรียบ แต่น้ำตาลกลับเชื่อว่า แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่หากเธอไม่เริ่มก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ใน 3 ปีแรก เธอจึงไม่ได้หวังทำกำไร เธอมองไกลกว่านั้น เพราะช่วงแรกของการเปิดร้านคือการสร้างฐานลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์ และเมื่อฐานลูกค้าขยายไปพร้อมๆ กับการรับรู้ถึงการเลือกซื้อสินค้าในมุมมองใหม่ๆ และท้ายที่สุดเมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน มันจะไปกระทบกับกลไกลตลาดในที่สุด
The Goodcery
ถนนราชวงศ์ ต.ช้างม่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (ตรงข้ามโรงแรมดาร์เลย์)
Facebook: The Goodcery Space
Facebook: LOC & Co