Skip to main content

Dotlimited ร้านชำในตลาดขอนแก่น ที่อยากทำให้คนอีสานอินกับการรักษ์โลก

20 มิถุนายน 2567

รวิวรรณ  รักถิ่นกำเนิด

 

 

หากใครเคยผ่านไปผ่านมาย่านถนนหลังเมือง จังหวัดขอนแก่น อาจจะพอสะดุดตากับร้านชำเล็กๆ ที่ดูแปลกตาด้วยป้ายร้านที่โดดเด่นท่ามกลางตึกแถวไม้อายุหลายสิบปีในชุมชนคนจีน .limited (Dotlimited) คือ ร้านขายของชำเล็กๆ ในเมืองขอนแก่นแห่งแรก (และยังคงเป็นแห่งเดียว) ที่มีแนวคิดรักสิ่งแวดล้อม วัสดุทุกชิ้นในร้านที่ต้องเป็นสิ่งของที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ วัตถุดิบที่จำหน่ายต้องไม่ทำลายโลก แต่เหนืออื่นใดต้องทำให้บรรยากาศการเข้าร้านรู้สึกเป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม

 

จากจุดเล็กๆของกลุ่มเพื่อน “รัก” สิ่งแวดล้อม

 

“ดุษกับเพื่อนๆ ที่ร่วมกันก่อตั้งร้านขึ้นมา ทุกคนมีแนวคิดเดียวกันคือ เราอยากสร้างคอมมูนิตี้ของคนที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในเมืองขอนแก่น สาเหตุที่เป็นร้านขายของชำเพราะเราคิดว่าจะทำให้คนอยากเข้ามาได้ง่ายขึ้น”

ดุษ-ดุษฎี สุ่มมาตย์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง .limited เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของร้านชำแห่งนี้ว่า เกิดจากความอยากที่จะสร้างร้านค้าทางเลือกซึ่งลดการใช้ขยะ และสนับสนุนสินค้าอินทรีย์ ให้เกิดขึ้นในขอนแก่น โดยตัวเธอเองและเพื่อนๆ สนใจในแนวคิดเรื่องความยั่งยืนอยู่แล้ว เลยเปิดร้านชำขึ้นมา

แต่ทว่า ปัญหาหนึ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันก็คือ  ร้านทางเลือกที่จำหน่ายสินค้ารักษ์โลกจำนวนมาก มักจำหน่ายสินค้าในราคาสูงเนื่องจากเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หรือนำเข้ามาจากนอกพื้นที่ ทำให้ลูกค้าจำนวนมากมาจับจ่ายได้ไม่บ่อยครั้ง

“ก่อนที่เราจะตัดสินใจเปิดร้านนี้ขึ้นมา ดุษกับเพื่อนๆ ลองไปสำรวจร้านลักษณะเดียวกันนี้ในหลายๆ ที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เรายอมรับเลยว่าสินค้าที่เขาเลือกมาขายคุณภาพดีมาก แต่ข้อจำกัดคือเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูง บางอย่างเป็นของนำเข้าจากต่างประเทศ หรือบางร้าน เราไม่สามารถเดินเข้าไปซื้อของตัวเปล่าได้ เพราะเขาไม่มีภาชนะให้ พวกเราก็เลยมาคิดกันว่า ถ้าจะให้ธุรกิจไปรอด อย่างแรกๆ ที่ต้องทำคือ ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่า การไปร้านค้ากรีนๆ แบบนี้ง่าย เดินเข้าไปตัวเปล่าได้ เรามีภาชนะให้ยืม หรือถ้าซื้อภาชนะไปด้วยก็เอามาขายคืนเราได้นะ” ดุษเล่า

โจทย์ต่อมา คือ เรื่องสินค้าและราคา จะทำอยางไรให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดี เป็นสินค้าที่ใกล้เคียงกับคำว่า “อินทรีย์” มากที่สุด และ ราคาไม่แพง เพื่อให้ลูกค้าซื้อได้บ่อย ซึ่งหมายความว่า ต้องหันกลับมาหาผู้ค้าที่เป็นคนในท้องถิ่น

แน่นอนว่าช่วงแรกๆ เป็นไปได้ยากที่จะหาผู้ประกอบการที่ผ่านมาตรฐานที่ตั้งไว้ ดุษเล่าว่า ในช่วงแรกจึงจำเป็นต้องใช้สินค้าบางอย่างจากต่างประเทศ และค่อยๆ ศึกษาหาข้อมูลว่ามีสินค้า หรือวัตดุดิบอะไรที่สามารถใช้จากในประเทศทดแทนได้ ซึ่งโชคดีมากที่เธอมีที่ปรึกษาคนสำคัญอย่างคุณพ่อ ที่เป็นอดีตนักวิชาการเกษตร คอยช่วยให้ข้อมูลว่าสินค้าจากผู้ประกอบการเจ้าไหน เกษตกรคนไหน ได้มาตรฐานออร์แกนิคจริงๆ

“ดุษโชคดีมากที่คุณพ่อช่วยให้ข้อมูลเรื่องมาตรฐานสินค้า เจ้าไหนอินทรีย์จริง เจ้าไหนไม่จริง เพราะเราเป็นสถาปนิก ไม่ได้มีพื้นฐานความรู้เรื่องนี้โดยตรง และอีกคนที่ช่วยได้มากๆ คือ เพื่อนที่ร่วมก่อตั้งร้าน เขาเป็นเภสัชกร ทำแชมพูและสบู่จำหน่ายอยู่แล้ว ก็จะมีความรู้เรื่องเคมี เรื่องสารสกัดจากธรรมชาติเป็นอย่างดี”

สำหรับมาตรฐานของสินค้าใน .limited ดุษอธิบายว่าจะประกอบด้วยสามส่วนหลัก คือ สะอาด ออร์แกนิค และมีความคิดสร้างสรรค์


จากร้านชำ สู่การสร้างชุมชนคนกรีนๆ

 

หลังหมุดหมายแรกของการทำร้านสำเร็จไปหนึ่งก้าว แต่การสร้างการรับรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมตามความตั้งใจของผู้ก่อตั้ง จำเป็นที่จะต้องอาศัยเครือข่ายและผู้คนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ดุษและเพื่อนจึงเพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรมและแกลเลอรี่แสดงศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร้าน

“ความท้าทายของทุกธุรกิจคือ พอเปิดร้านไปสักพักแล้วร้านมันนิ่ง ลูกค้าเท่าเดิม สิ่งที่เราทำคือ เราทำให้ร้านมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ผ่านการจัดกิจกรรมหมุนเวียน ทั้งที่ร้านจัดเอง และร่วมจัดกับกลุ่มต่างๆ ซึ่งการจัดแต่ละครั้งต้องบอกว่าเราไม่ได้หากำไรจากกิจกรรม แต่เราทำให้ร้านเรามีคนหมุนเวียนเข้ามา พอเขาเข้ามา แทบจะทุกคนต้องเห็นว่าร้านชำของเรามีสินค้าแบบนี้จำหน่ายนะ ซื้อได้เลย เพราะเรามีอุปกรณ์มีภาชนะให้ยืม”

มากไปกว่านั้นเธอมองว่ายังเป็นการสร้างชุมชนของคนที่รักและชอบในแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเหมือนๆ กัน พอร้านมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา คนรู้จักร้านมากขึ้น ผู้ผลิตสินค้าที่อยากทำสินค้ารักษ์โลกแต่ไม่รู้ว่าจะวางขายที่ไหน พอรับรู้ว่ามีร้านที่เหมาะกับเขาในชุมชน เขาก็มาวางขายที่ร้าน หรือบางกลุ่มอยากจะพัฒนาสินค้าจากชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่ม แต่ยังคงแนวคิดเดียวกับร้าน เราก็เข้าไปช่วยเขาพัฒนา เพื่อให้สะดุดตาลูกค้ามากขึ้น

“ตัวอย่างเช่น วัสดุที่เหลือจากการก่อสร้าง เขาลองเอามาทำเป็นที่รองแก้ว แต่ไม่มั่นใจว่าลูกค้าจะซื้อไหม ก็ลองเอามาวางที่ร้านเราในรูปแบบของ งานศิลปะ พอลูกค้าเห็นว่า มันมีความเป็นไปได้ที่จะกลายมาเป็นสินค้า เป็นของที่ใช้งานได้จริง เขาก็มั่นใจที่จะผลิตมันขึ้นมา”

ดุษฝากถึงคนที่อยากกลับมาบ้าน หรืออยากใช้ทุนในท้องถิ่นมาประกอบธุรกิจว่า อยากให้เริ่มจากความชอบของตัวเองก่อน รัก ชอบ สนใจสิ่งไหน และนำสิ่งดีๆ ที่เราชอบ มามองหาทุน หาสิ่งดีๆ ในท้องถิ่นของเรา และมองว่าเราจะรวมสองสิ่งเหล่่านั้นเข้าด้วยกันได้อย่างไร


.limited
ที่ตั้ง : 397 ถนนหลังเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
Facebook : Dotlimited

 

Dotlimited ร้านชำในตลาดขอนแก่น ที่อยากทำให้คนอีสานอินกับการรักษ์โลก
Dotlimited ร้านชำในตลาดขอนแก่น ที่อยากทำให้คนอีสานอินกับการรักษ์โลก
Dotlimited ร้านชำในตลาดขอนแก่น ที่อยากทำให้คนอีสานอินกับการรักษ์โลก
Dotlimited ร้านชำในตลาดขอนแก่น ที่อยากทำให้คนอีสานอินกับการรักษ์โลก
เนื้อหาล่าสุด