Skip to main content

‘ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์’ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเยาวชนชาติพันธุ์

29 พฤษภาคม 2567

องอาจ เดชา

 


ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ ( Xavier Learning Community) ตั้งอยู่ในเขต ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย สถานที่แห่งนี้เปรียบเสมือนบ้านสำหรับน้องๆ เยาวชนชาติพันธุ์ที่มาอาศัยอยู่และเรียนรู้ร่วมกัน มีหอพัก มีห้องเรียน มีทุ่งกว้าง ทุ่งนา ให้เยาวชนได้ลงมือปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ปลูกผัก ได้รู้จักชีวิต รู้จักตนเอง ในโลกใบนี้มากยิ่งๆ ขึ้น
    
ปัจจุบัน ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ เปิดรับสมัครน้องๆ เยาวชนชาติพันธุ์จากภาคเหนือและทั่วประเทศ รวมทั้งเยาวชนชาติพันธุ์จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสนใจเรียนต่อระดับปริญญาตรี เอกภาษาอังกฤษ โดยคุณสมบัติของผู้สมัคร ต้องเป็นผู้ที่กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือจบการศึกษาชั้น ม.6 หรือเทียบเท่ามาแล้ว ไม่จำกัดเพศ รับทั้งหญิงและชาย จำนวน 40 คน/รุ่น โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีความสนใจในการเรียนต่อและขาดโอกาสทางการศึกษา ทางบ้านมีฐานะยากจน ได้เข้ามาเรียนและพักอยู่ที่นี่ตลอด หลักสูตร 4 ปี

 

“สิ่งที่เราทำมันไม่ใช่แค่การศึกษาแบบการเรียนหนังสือ แต่เขาเรียกว่า formation คือการฝึกฝนชีวิตของคน ก็เลยคิดกันแบบนั้น แล้วก็วางแผนการ การวางพื้นที่ที่มันสอดคล้องกับเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นสถาบันสีเขียวที่จะต้องพยายามทํา ก็เลยมาเริ่มกันที่เชียงรายตรงนี้” 

 

คุณพ่อวินัย บุญลือ คณะเยสุอิตในไทย และเป็นผู้ดูแลชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ เชียงราย เล่าว่า คณะเยสุอิตที่เข้ามาทํางานด้านการศึกษาในไทยนั้นมีมาตั้งแต่ สมัยพระนารายณ์ ราวๆ ค.ศ. 1685 นำโดย Chevalier de Chaumont พร้อมด้วยสมาชิกของคณะเยสุอิตหกคนจะทําวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แล้วเกิดการผลัดแผ่นดิน จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ทางกรุงเทพฯ ได้เชิญคณะทำงานเข้ามาทํางานกับการศึกษา ก็เลยไปสอนหนังสือที่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ ยกตัวอย่างที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ก็ไปสร้าง ไปดูแลนักศึกษาที่อยู่ในสถาบันต่างๆ

“ตั้งแต่จัดการศึกษามานั้น คณะเยสุอิต ไม่ได้คิดที่จะทําการศึกษาในระบบเลย ก็ให้การศึกษาที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก เป็นการศึกษาอยู่ในชุมชนของคนท้องถิ่นของคนพื้นเมือง ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนพื้นเมืองมาตั้งนานมาแล้ว เพราะฉะนั้น ในการทํางานของการศึกษาของคาทอลิก เยสุอิต ที่เข้ามาอยู่ในช่วงหลัง ก็มีคนรุ่นใหม่ที่สนใจการศึกษาที่อยากจะทําตามแนวทางของเราเอง ยกตัวอย่างเช่น ทีมมิชชันนารีที่ไปสอนภาษาศาสตร์  ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” คุณพ่อวินัย กล่าว

คุณพ่อวินัย บอกว่า สิ่งสําคัญที่สุดที่กำลังทำ คือการให้สังคมไทยเปลี่ยนจากด้านล่างขึ้นมา ซึ่งจะต้องให้การศึกษาที่มีคุณภาพสําหรับผู้ที่ด้อยโอกาส ซึ่งการศึกษาคาทอลิกนี้เองที่จะเป็นแนวทาง

“สิ่งที่เราทำมันไม่ใช่แค่การศึกษาแบบการเรียนหนังสือ แต่เขาเรียกว่า formation คือการฝึกฝนชีวิตของคน ก็เลยคิดกันแบบนั้น แล้วก็วางแผนการ การวางพื้นที่ที่มันสอดคล้องกับเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นสถาบันสีเขียวที่จะต้องพยายามทํา ก็เลยมาเริ่มกันที่เชียงรายตรงนี้” คุณพ่อวินัย กล่าว

ที่น่าสนใจก็คือ มีภารกิจที่ชัดเจน เน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลาย และการเลือกพื้นที่ จ. เชียงราย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่มีบัตร ไม่มีสัญชาติ เด็กไร้สัญชาติ

“ตอนนั้นก็มีปัญหาเรื่องการเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย ระดับอุดมศึกษากันไม่ได้เยอะเลย ตอนนี้กฎหมายเปลี่ยนแล้ว เด็กๆ เยาวชนก็สามารถที่จะเรียนได้จนถึงปริญญาตรี ตอนนี้ เราจึงเน้นในกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ไม่ค่อยมีโอกาสเข้าไปเรียนในระบบ แล้วก็เป็นการช่วยเหลือพ่อแม่ ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน แล้วพอเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ยังไม่มีงานทําอีก มันก็จะมีปัญหา ก็เลยทำชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ ที่ อ.แม่จัน เชียงราย แถวๆ สามเหลี่ยมทองคํา ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์สําหรับคนชาติพันธุ์แถวลาว พม่า เชียงราย รวมไปถึงเด็กเยาวชนชาติพันธุ์ที่มาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากแม่สอด แม่ระมาด จังหวัดตาก จากแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่”

คุณพ่อวินัยบอกว่า ยังมีเยาวชนที่มาจากกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ที่อยู่ตามรอยตะเข็บชายแดน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ โดยเปิดรับสมัครเด็กที่เรียนจบชั้น ม.ปลาย เข้ามาเรียนต่อที่นี่

 

การจัดการศึกษาที่นี่แตกต่างจากข้างนอก การเรียนที่นี่จะได้รับการดูแลเอาใจใส่ทุกอย่าง แต่ถ้าอยู่ข้างนอก นักศึกษาก็ต้องช่วยเหลือตัวเองทั้งหมด ต้องดิ้นรนด้วยตัวเองทุกอย่าง แล้วการใช้ชีวิตข้างนอกมีการแข่งขันสูง แต่ถ้ามาเรียนที่ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์แห่งนี้ พร้อมจะช่วยทำให้นักศึกษาโฟกัสในเรื่องการเรียนได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องพะวง เรื่องทำงานรับจ้าง หาเงิน ส่งตัวเองเรียนเหมือนกับข้างนอก


ชีวิตแบบรวมกลุ่ม เน้นชีวิต จิตวิญญาณ

พิมลแข ปัญญาฤทธิรงค์ ฝ่ายกิจการนักศึกษา ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ บอกว่า ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ จะเน้นชีวิตการอยู่รวมกลุ่ม และเน้นชีวิตจิต ฝ่ายวิญญาณ ซึ่งทางคณะเยสุอิต จะเน้นและถนัดในเรื่องนี้อยู่แล้ว

“ชีวิตจิตก็คือ การดูจากตัวเอง ทํายังไงให้รู้จักตัวเองมากขึ้น แล้วก็การอยู่ร่วมกับคนอื่น ทํายังไงให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้  อีกอันหนึ่ง คือเน้นเรื่องการศึกษาควบคู่กันไป อย่างในปีนี้ มีนักศึกษาหลายคน ที่เรียนจบปี 4 ซึ่งก่อนจบ เขาได้ไปฝึกงาน บางคนเรียนจบ ป.ตรี ก็มาขอทํางานในที่นี่ต่อเลย โดยทางคณะเยสุอิต ได้เห็นความสําคัญของการศึกษา ก็จะส่งเรียนต่อระดับ ป.โท ต่อไปด้วย” พิมลแข กล่าว

พิมลแข บอกว่า การจัดการศึกษาที่นี่แตกต่างจากข้างนอก การเรียนที่นี่จะได้รับการดูแลเอาใจใส่ทุกอย่าง แต่ถ้าอยู่ข้างนอก นักศึกษาก็ต้องช่วยเหลือตัวเองทั้งหมด ต้องดิ้นรนด้วยตัวเองทุกอย่าง แล้วการใช้ชีวิตข้างนอกมีการแข่งขันสูง แต่ถ้ามาเรียนที่ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์แห่งนี้ พร้อมจะช่วยทำให้นักศึกษาโฟกัสในเรื่องการเรียนได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องพะวง เรื่องทำงานรับจ้าง หาเงิน ส่งตัวเองเรียนเหมือนกับข้างนอก


มุมมองจากนักศึกษา ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ ให้โอกาส เติมเต็มชีวิต ฝ่ายจิตวิญญาณ

แดน-วัชรพล จะโม เรียนจบปริญญาตรีที่นี่ เล่าว่า เขาเป็นชาวปกาเกอะญอ จาก อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน หลังจากจบชั้น ม.6 อยากไปเรียนที่เชียงใหม่ แต่ด้วยสถานะการเงินของครอบครัวไม่พร้อม จึงตัดสินใจมาเรียนที่นี่ ก็เป็นจังหวะที่มีรุ่นพี่ที่เมืองปายมาเรียนที่นี่ บอกว่าที่นี่ให้การศึกษาฟรี มีที่พักให้ฟรี

“มาเรียนตอนแรกๆ ก็รู้สึกว่ายาก เพราะต้องสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็พยายามเรียน จนเรียนจบชั้นปี 4 รูปแบบการเรียนการสอนที่นี่ ผมว่าแตกต่างกับที่อื่น เพราะเขาจะสอนให้เราอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เนื่องจากพวกเรามาจากหลากหลายชาติพันธุ์แล้ว ก็สอนให้เราทำงานร่วมกัน สอนให้เรามีความรับผิดชอบในตัวเอง เรามีกฎที่เราต้องเคารพแล้วก็ปฏิบัติร่วมกัน”

วัชรพลบอกว่า การเรียนที่นี่ทำให้เขาโอกาสมากกว่านักศึกษาข้างนอก ไม่ต้องกังวลเรื่องที่พัก อาหาร ค่าใช้จ่ายอื่นๆ  สิ่งที่สู้อย่างเดียว คือ การเรียน

เขาบอกว่า หลังเรียนจบอยากไปทำงานที่ชอบ โดยอยากนำความรู้ที่ได้เรียนมา คือ ภาษาอังกฤษ มาใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

“ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสฝึกงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ผมว่ามันตอบโจทย์ตรงที่ว่า เดี๋ยวนี้เรามีชาวต่างชาติมาจากหลากหลายประเทศ ซึ่งภาษาอังกฤษคือภาษาแรกที่เขาใช้สื่อสารกัน ดังนั้น ถ้าเรามีทักษะความสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เราออกไปข้างนอกปั๊บ เราไปสมัครงาน เปอร์เซ็นต์ที่เราจะได้ทำงานก็มีโอกาสเยอะกว่าคนที่ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้มากกว่า” วัชรพลบอก

ส่วน ยอด-ยศพัฒน์ สกุลญาดา ชาวปกาเกอะญอ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีหมาดๆ บอกว่า ที่ตัดสินใจมาเรียนที่นี่ เพราะสนใจภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนเก่ามีชาวต่างชาติมาเที่ยวบ้านในหมู่บ้าน แต่ไม่สามารถสื่อสารกับเขาได้ พอมาเรียนที่นี่ถือว่าพูดได้ดี สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้

“จุดเด่นของชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ ก็คือ ที่นี่สอนให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ถ้าเราอยู่ด้วยกันใช้ชีวิตอยู่กับผู้อื่นได้ แล้วพอไปอยู่ข้างนอก ไปอยู่กับสังคมข้างนอกได้สบายๆ ซึ่งนอกจากผมสนใจภาษาอังกฤษแล้ว ก็สนใจเรื่องอาหารด้วย ก็เลยมีความคิดว่า เรียนจบแล้ว จะไปทำงานอยู่ในร้านอาหารสักแห่งหนึ่งครับ” ยศพัฒน์ บอก

ใจ-อาใจ มาเยอะ เด็กหนุ่มอาข่า จากชุมชนบ้านพญาละอู อ.เทิง จ.เชียงราย บอกว่า เขาเป็นเด็กทุนจากโรงเรียนคริสต์แห่งหนึ่งในเชียงราย และมีอาจารย์ที่เคยทำงานอยู่โรงเรียนมาทำงานที่นี่เป็นคนแนะนำมา ครั้งแรก ได้เข้ามาเรียนได้ปีหนึ่ง แต่ก็ขอดรอป เพราะอยากจะไปทำงานรับจ้างดูว่าจะไหวมั้ย แต่สุดท้าย ได้ตัดสินใจกลับเข้ามาเรียนต่อ

“ช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผมทำงานอยู่ข้างนอก ผมมาเริ่มคิดดูว่า เราน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ อีกอย่างเรามีความชอบเรื่องภาษาอังกฤษด้วย ผมคิดว่าเราก็ควรจะหาสิ่งแปลกใหม่ดู ก็เลยกลับเข้ามาเรียนต่อจนจบชั้นปริญญาตรีในปีนี้”

ใจ บอกว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ ตนเองเป็นชาติพันธุ์ในเชียงราย ที่ไม่มีบัตร ไม่มีสัญชาติ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการขอสัญชาติอยู่ แล้วกฎหมายของการทำบัตรระบุว่าต้องจบระดับชั้นอะไร ก็เป็นแนวทาง อีกเป้าหมายหนึ่ง ที่ทำให้ตัดสินใจมาศึกษาต่อ จนจบ ป.ตรี จะได้นำไปใช้ในการรองรับสิทธิตรงนี้ได้

 

“ที่นี่สอนให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ถ้าเราอยู่ด้วยกันใช้ชีวิตอยู่กับผู้อื่นได้ แล้วพอไปอยู่ข้างนอก ไปอยู่กับสังคมข้างนอกได้สบายๆ ซึ่งนอกจากผมสนใจภาษาอังกฤษแล้ว ก็สนใจเรื่องอาหารด้วย ก็เลยมีความคิดว่า เรียนจบแล้ว จะไปทำงานอยู่ในร้านอาหารสักแห่งหนึ่งครับ” 

ชัยชนะ ชาวปกาเกอะญอซึ่งพ่อแม่อพยพหนีภัยสงครามจากฝั่งพม่า เข้ามาอยู่ในพื้นที่ จ.ตาก ตั้งแต่หนุ่มสาว ชัยชนะมาเกิดในฝั่งไทย แต่เนื่องในช่วงวัยเด็ก พ่อแม่ไม่ได้ไปยื่นขอใบเกิด ก็เลยตกหล่น

“ทุกวันนี้ ก็ใช้ชื่อ ชัยชนะ แต่ไม่มีนามสกุลเหมือนคนอื่นเขา แต่ตามสิทธิทางกฎหมาย เมื่อผมเกิดในไทย ก็ย่อมมีสิทธิขอสัญชาติไทย ปัจจุบันกำลังยื่นขอสถานะทางกฎหมายอยู่ ซึ่งเพื่อจะให้กระบวนการขอยื่นสัญชาติไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผมจึงตัดสินใจมาเรียนที่นี่ เพื่อจะได้นำวุฒิ ป.ตรี ไปประกอบยืนยันการขอสัญชาติให้ถูกต้องและครบขั้นตอนอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ เผื่อมันติดขัดอะไร เราก็สามารถนำใบปริญญานี้ยื่นดำเนินการให้แล้วเสร็จเลย” ชัยชนะบอก

ล่าสุด ชัยชนะ เรียนจบในระดับชั้นปริญญาตรีแล้ว พร้อมกับความหวัง ความใฝ่ฝันของชีวิต

“ตอนนี้ ผมเรียนจบ ป.ตรีแล้ว ก็วางอนาคตตัวเองไว้ว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากไปทำงานที่ต่างประเทศ ก็อยากจะทำอะไรให้กับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่เพื่อครอบครัวของผมด้วย”

 

“คุณพ่อจะย้ำตลอด สิทธิของเรา เราต้องเคารพสิทธิของคนอื่น ในเรื่องของความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี ทำให้หนูประทับใจกับการศึกษาที่นี่ ว่านี่แหละ มันสร้างคนให้เป็นคนจริงๆ ไม่ใช่แค่การศึกษาตามระบบ จบมาไปทำงาน แต่คุณจะไปเป็นคนที่สมบูรณ์ของคนยังไง”

 

ในขณะที่ คุ้กกี้-ภูริชญา สันติมโนกุล เยาวชนปกาเกอะญอ จาก อ.แม่สอด จ.ตาก เล่าว่า ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะมาเรียนต่อที่นี่ แต่เริ่มรู้สึกว่า ระบบการศึกษาไทย ทำไมต้องสอบทีแคส และตั้งคำถามกับการที่เอาคนทุกคนมาวัดด้วยข้อสอบที่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่แต่ละคนศักยภาพไม่เหมือนกัน

“ตอนนั้นรู้สึกต่อต้านระบบ มันไม่แฟร์ เพราะว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพที่ต่างกัน แต่ใช้ข้อสอบชุดเดียวในการตัดสินเด็ก หนูก็เลยมาเจอชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ หนูก็เลยรู้สึกว่า ก็โอเคนะ ตัดสินใจเรียนที่นี่ เพราะว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญ แล้วครอบครัวหนูก็ไม่ได้รวยขนาดที่จะส่งเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษแบบโรงเรียนอินเตอร์ซึ่งแพงมาก หนูก็เลยคิดว่า ตรงนี้ได้ช่วยในเรื่องของค่าใช้จ่ายด้วย” ภูริชญา บอก

ภูริชญามองระบบการศึกษาไทยว่า พยายามจะสร้างให้เด็กเรียนจบมาแล้วได้อาชีพได้งานดีๆ แต่ไม่ได้สร้างเด็กให้มีความคิดสร้างสรรค์ หรือมีความคิดริเริ่มอะไรเลย

“คุณพ่อจะย้ำตลอด สิทธิของเรา เราต้องเคารพสิทธิของคนอื่น ในเรื่องของความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี ทำให้หนูประทับใจกับการศึกษาที่นี่ ว่านี่แหละ มันสร้างคนให้เป็นคนจริงๆ ไม่ใช่แค่การศึกษาตามระบบ จบมาไปทำงาน แต่คุณจะไปเป็นคนที่สมบูรณ์ของคนยังไง” ภูริชญากล่าว

ปัจจุบัน คุ้กกี้-ภูริชญา เรียนจบระดับชั้นปริญญาตรี และตัดสินใจทำงานในชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ โดยทางคณะเยสุอิตมอบทุนการศึกษาให้เรียนต่อระดับปริญญาโทไปด้วยและทำงานไปด้วย

คุณพ่อวินัย บอกว่า ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์มีข้อปฏิบัติเรื่องการใช้หลักการอบรมทางศาสนาเป็นแนวทางในการเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิต และการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณ และต้องให้นักศึกษามีโอกาสไปสัมผัสคนยากคนจน ไม่ดูถูกความจน เพราะความจน คือ ที่เรียนรู้

คุณพ่อวินัย บอกว่า การศึกษาในระบบมักด้อยค่ากลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้พวกเขาสูญเสียตัวตน ตอนที่เด็กๆ เรียนการศึกษาในระบบ เขากลายเป็นคนแปลก ทำให้เขาไม่มีความมั่นใจที่จะเรียนในระบบมากนัก แต่เมื่อมาอยู่ที่นี่ พวกเขาล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างวัฒนธรรมกันหมด ทางชุมชนพยายามให้เขาเรียนรู้จากที่นี่ และใช้วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน และทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของการเรียน

“บางทีน้องๆ จากกลุ่มชาติพันธุ์ไปเรียนในระบบแล้วไม่ค่อยประสบความสําเร็จ อันหนึ่งก็คือ เขาหงอตั้งแต่เข้าไปในห้องแล้ว เขารู้สึกถูกมองจากสายตา เวลาออกมาพูดที่สาธารณะ พูดภาษาไทยไม่เหมือนคนอื่นเขา ก็คือเสียกําลังใจไปครึ่งหนึ่งแล้ว  มันก็เรียนยากนะ เรียนรู้ยาก แต่พอมาเรียนอยู่ในชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์แห่งนี้ เขามีพื้นที่ปลอดภัยพอสมควร ถ้าพูดอย่างง่ายๆ ก็คือ พูดภาษาไทยไม่ชัดเหรอ? ทุกคนก็ไม่ชัดเหมือนกันหมด ซึ่งจริงๆ แล้ว คนมาจากอีสาน คนมาจากที่อื่นๆ มันก็แตกต่างกันไป คนมักจะมีสําเนียงที่ต่างกัน เราก็พยายามละลายความรู้สึกด้อยค่าของตนในเรื่องนี้ก่อน แล้วก็ค่อย ๆ เสริมในสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ เพราะที่นี่เป็นชุมชนที่จะต้องช่วยเหลือกัน ไม่มีการแข่งขัน” คุณพ่อวินัยกล่าว


วุฒิการศึกษา คือใบเบิกทาง
แต่ประสบการณ์ที่แท้ คือการเรียนรู้ชีวิตจิตวิญญาณ

คุณพ่อวินัย บอกว่า ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ยังไม่ได้เป็นวิทยาลัยอย่างสมบูรณ์ เพราะกำลังอยู่ในกระบวนการจัดตั้ง จึงไม่สามารถมอบวุฒิการศึกษาหรือปริญญาให้กับนักศึกษาได้ ดังนั้น ทางชุมชน จึงให้นักศึกษาเรียนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้รับปริญญาตรีเอกภาษาอังกฤษ

“ที่ผ่านมา เราทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในเครือข่ายของเยสุอิตจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย มาช่วยกันจัดการเรียนการสอนให้ด้วย ทำให้เขามีโอกาสในการฝึกฝนกับอาสาสมัครเครือข่ายและได้ความเป็นเพื่อน มีเพื่อนที่สามารถพูดภาษาอื่นได้ด้วย ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในของเด็กเหล่านี้ สมมุติเราพูดภาษาไทยได้ไม่ชัด แต่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี ก็จะทำให้เกิดการสร้างพลังภายในให้เขา ได้เห็นพลังคุณค่าของตนเอง ว่าเขาก็ทําได้นะ ก็เป็นการศึกษาเชิงการเปลี่ยนแปลงแต่ละบุคคลไปด้วย” คุณพ่อวินัยกล่าว

ล่าสุด ทางชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ได้ร่วมมือกับวิทยาลัยแสงธรรม โดยยกชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ เป็นวิทยาเขต เพื่อให้นักศึกษาได้รับปริญญาตรีบัตรอีกหนึ่งใบ ชจากวิทยาลัยแสงธรรมด้วย ซึ่งวิทยาลัยแสงธรรมเป็นวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรมากมายในพระศาสนจักรไทย โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "วิทยาลัยแสงธรรม วิทยาเขตเซเวียร์"

 

เราจำต้องปฏิรูปการศึกษาเพื่อจะได้ไปเปลี่ยนแปลงคน และคนจะต้องเป็นคนเพื่อผู้อื่น คนที่เห็นแก่สังคม คนที่เห็นแก่คนอื่นๆ เหมือนกับต้นไม้ที่กิ่งก้านใบให้ออกซิเจนให้ชีวิตแก่คนอื่น ไม่ใช่การศึกษาเพื่อการเห็นแก่ตัว หรือเป็นการศึกษาเพื่อการเสริมสร้างอํานาจบารมีของตน หรือการศึกษาเพื่อตอกย้ำความเป็นชนชั้น หรือทําให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันมากขึ้น


การศึกษาทางเลือก การปฏิรูปการศึกษาไทย คือ ทางออก

คุณพ่อวินัย บอกว่า จําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปฏิรูปการศึกษาไทย และการศึกษาทางเลือกเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะทำให้คนคิดได้กว้างกว่า การศึกษาในระบบที่ผ่านมาบังคับให้เชื่อให้คิดตามนั้น แต่พอมีเด็กกลุ่มที่ยังขาดโอกาส ไม่มีโอกาสในการฝึกฝนเหมือนคนในเมืองมาแต่ต้น จึงไม่สามารถสู้ได้ แต่การศึกษาทางเลือก คือ อาชีพในอนาคตของพวกเขา จะต้องกลับไปสร้างในชุมชนมากกว่าไปอาศัยงานในระบบ เช่น งานในบริษัท ซึ่งไม่ได้เป็นอิสระแก่ตัวเองเสมอตลอดไป

ดังนั้น น่าจะให้ทางเลือกทางการศึกษาที่เน้นให้ทุกคนสามารถทํามาหากินได้อย่างสุจริต ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่เห็นแก่สังคม

คุณพ่อวินัย ย้ำว่า เราจำต้องปฏิรูปการศึกษาเพื่อจะได้ไปเปลี่ยนแปลงคน และคนจะต้องเป็นคนเพื่อผู้อื่น คนที่เห็นแก่สังคม คนที่เห็นแก่คนอื่นๆ เหมือนกับต้นไม้ที่กิ่งก้านใบให้ออกซิเจนให้ชีวิตแก่คนอื่น ไม่ใช่การศึกษาเพื่อการเห็นแก่ตัว หรือเป็นการศึกษาเพื่อการเสริมสร้างอํานาจบารมีของตน หรือการศึกษาเพื่อตอกย้ำความเป็นชนชั้น หรือทําให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันมากขึ้น

“การศึกษาที่ดีจะต้องไม่เห็นแก่ตัว ไม่ใช่ว่าคนอ่อนแอไม่มีพื้นที่ชีวิตของตนเองเลย ที่สำคัญ การศึกษาต้องสร้างคนที่ดี ทําให้เกิดความคิดเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะว่า การศึกษาที่เป็นประชาธิปไตย ก็คือการเคารพสิทธิของคนอื่น การช่วยเหลือคนอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส” คุณพ่อวินัยกล่าว

 

สนใจ สอบถามข้อมูล สมัครเรียน หรือร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ที่ 
ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ ที่ตั้ง 219 หมู่ 8 ต. ท่าข้าวเปลือก อ. แม่จัน จ. เชียงราย 57110 
เบอร์โทรศัพท์ 052-020-183 

หรือติดตามได้ที่ เว็บไซต์ www.jesuits-thailand.org 
เฟสบุ๊ก: xavierlearningcommunity


ข้อมูลอ้างอิง
ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ การศึกษาทางเลือกเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์, วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 122 พ.ค.-ส.ค.2566


 

‘ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์’ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเยาวชนชาติพันธุ์
‘ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์’ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเยาวชนชาติพันธุ์
‘ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์’ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเยาวชนชาติพันธุ์
‘ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์’ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเยาวชนชาติพันธุ์
‘ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์’ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเยาวชนชาติพันธุ์
‘ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์’ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเยาวชนชาติพันธุ์
เนื้อหาล่าสุด