Skip to main content

‘เวียงแหง’ ชูวิถีเกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

28 พฤษภาคม 2567

องอาจ เดชา


อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่อยู่ติดกับชายแดนไทย - พม่า ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 134 กิโลเมตร เมื่อก่อนเป็นทางลูกรัง ปัจจุบันเป็นถนนลาดยาง บนความคดเคี้ยวและสูงชัน มุ่งตรงไปยังอำเภอเวียงแหง และไปสิ้นสุดถนนสายนี้ที่บ้านหลักแต่ง ตำบลเปียงหลวง บริเวณชายแดนไทย – พม่า

อำเภอเวียงแหง เป็นเมืองในหุบเขา ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร แต่เมื่อยืนอยู่บนยอดเขาสูงที่สุดคือดอยปักกะลา จะมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,905 เมตร บนความสูงระดับนี้ จึงทำให้เรามองเห็นทิวทัศน์งดงามของเมืองในหุบเขา    
                            
แน่นอน เวียงแหง จึงมีเสน่ห์ที่น่าดึงดูดแก่นักท่องเที่ยวในหลายมุมด้วยกัน อาทิเช่น เป็นเมืองชายแดน เมืองต้นน้ำแม่แตง ก่อนไหลลงไปรวมกับแม่น้ำปิง มีจุดชมวิวบนดอยดำ บนความสูงเราจึงมองเห็นความงามของทะเลหมอก และยอดดอยหลวงเชียงดาวโผล่ให้เห็นอย่างงดงาม และเมื่อเราเดินทางไปตามชุมชนต่างๆ เราจะพบกับ วัด พระธาตุเก่าแก่ และคันคูเมืองโบราณ ตั้งอยู่ในหลายพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมชนพื้นเมือง หลากหลายชนเผ่า อาทิ ลีซู ลาหู่ ปกาเกอะญอ ไทใหญ่ ปะโอ จีนคณะชาติ และคนพื้นเมือง เป็นต้น    

อาชีพของคนเวียงแหง ส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก จากการสำรวจพบว่า ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเวียงแหงนั้นผูกพันกับระบบเศรษฐกิจ โดยการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม  ผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวไร่ กระเทียม หอมแดง ข้าวโพด ขิง ท้อ บ๊วย กาแฟ มะม่วง เผือก พริก กะหล่ำปลี รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู ไก่ เป็ด และปลา เป็นต้น เมื่อว่างจากการทำการเกษตร ชาวบ้านบางกลุ่มยังหาเวลาว่างด้วยการทอผ้าและทำย่าม เป็นอาชีพเสริมอีกทางหนึ่งด้วย แต่พืชเกษตรที่ขึ้นชื่อและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในอำเภอเวียงแหงมากที่สุดก็คือ ‘กระเทียม’ เฉพาะพื้นที่อำเภอเวียงแหง มีการปลูกกระเทียมมากกว่า 6,000 ไร่ ผลผลิตปีละกว่า 16,000 ตัน ผลผลิต หรือเป็น 1 ใน 3 ของกระเทียมที่ปลูกในจังหวัดเชียงใหม่ ว่ากันว่าแต่ละปีมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท

อาชีพเกษตรกรรมของคนเวียงแหง จึงสะท้อนความผูกพันกับดิน น้ำ ภูเขาและผืนป่าอย่างเห็นได้ชัดว่า คนเวียงแหงมีวิถีชีวิตที่ปกติสุข สันติสุข ไม่ได้เดือดร้อนหรือทุกข์ใจในเรื่องวิถีชีวิตและการดำรงอยู่ สมกับที่หลายคนให้คำนิยามว่า เวียงแหง คือ เมืองในหุบเขา เมืองแห่งวัฒนธรรม เมืองแห่งการเกษตรกรรม เมืองแห่งชีวิต

จากประสบการณ์การเคลื่อนไหวต่อสู้ของคนเวียงแหงเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเรื่องการคัดค้านโครงการสร้างเหมืองแร่ลิกไนต์ ของกฟผ. หรือปัญหาการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม รวมไปถึงการจัดการเรื่องไฟป่าหมอกควัน จึงทำให้คนเวียงแหงตระหนักรู้ และได้สรุปบทเรียนร่วมกันว่า ทำอย่างไร จึงจะปกป้องรักษาฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ให้ดำรงคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน และทำอย่างไร จึงจะทำให้คนเวียงแหงนั้นมีสุขภาพดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และชุมชน มีวิถีชีวิตที่ดีมีคุณค่า

 


ต่อยอดวิถีคนกับป่าเพื่อความยั่งยืน  
สร้าง 'กลุ่มเกษตรและป่าสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน'

 

แน่นอนว่า ความฝันที่ทุกคนอยากเห็น ได้นำมาสู่ความจริงในวันนี้ เมื่อเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ภาคีความร่วมมือการจัดการร่วมมาสู่แนวทางการพัฒนาพื้นที่เกษตรให้เป็นเกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรพอเพียงและเป้าหมายปลายทางนั้นคือ วิถีเกษตรอินทรีย์ ในขณะที่พื้นที่ป่า “ป่าชุมชน” ก็ได้มีการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ของเยาวชนและชุมชน อีกทั้งนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ยั่งยืน กระทั่งได้มีการรวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มเกษตรและป่าสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่”

การเริ่มต้นโดยกลุ่มเล็กๆ นำร่องแปลงตัวอย่าง จำนวน 8 พื้นที่เกษตร กับ 1 ป่าชุมชน และพื้นที่ขยายอีก 3 แปลงเกษตร ที่ได้ปรับระบบการผลิตของตนเอง เมื่อเกิดพื้นที่เรียนรู้ ชุมชนเริ่มเข้าไปจัดการ ปลูกกล้วย สร้างตาน้ำ  ปลูกไม้แนวกันชนพื้นที่ป่า  ทำเสวียนในป่า  ลดเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า  นำเศษใบไม้มาทำปุ๋ยหมัก และสร้างระบบการตลาดภายในที่จะทำให้คนในอำเภอเวียงแหงมีสุขภาพที่ดี อย่างน้อยได้กินพืชผักปลอดภัย ปลอดสารพิษ และอินทรีย์ อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ผ่านรูปแบบตลาดที่เรียกว่า “ถนนสีเขียว” ที่มีแผนจะดำเนินการต่อเนื่องไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ให้เป็น “เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว เมืองแห่งการอนุรักษ์ อำเภอเวียงแหง”  

ร้อยตรีกมล ปู่หลู่ ประธานกลุ่มเกษตรและป่าสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ และเจ้าของห้วยเมี่ยงโมเดล ปู่หลู่ฟาร์ม เล่าให้ฟังว่า

“ผมตัดสินใจลาออกจากราชการ เป้าหมายของผม ก็คือกลับมาบ้านเกิดที่บ้านแม่หาด เริ่มต้นที่ป่าเมี่ยงเก่าแก่ของพ่อ แล้วขอเปลี่ยนทุ่งนาเป็นฟาร์มปลูกผักอินทรีย์ เราตั้งใจปลูกผัก เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทุกอย่างออร์แกนิกล้วนๆ เอาไว้กินในครอบครัว และให้กับพี่น้องในชุมชนบ้านเกิดได้กินอาหารที่ปลอดภัยจริงๆ เป็นการสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยให้กับชุมชน และขยายไปยังชุมชนใกล้เคียง และนำไปจำหน่ายในกาดสีเขียวที่บ้านป่าไผ่ เมืองแหง ซึ่งตอนนี้ ผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อกลุ่มเป้าหมายเลย”

ประธานกลุ่มเกษตรและป่าเพื่อการท่องเที่ยวอำเภอเวียงแหง อธิบายว่า ถ้าเราศึกษาเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ จะรู้ว่าเกษตรอินทรีย์จะห้ามเผาตอซัง ห้ามเผาเศษวัชพืชทุกชนิด ดังนั้น ถ้าเราหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันทั้งหมด หรือว่ามีชาวบ้านมาทำเกษตรอินทรีย์สักครึ่งหนึ่งของอำเภอเวียงแหง เรื่องไฟป่าหมอกควันที่เราเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ เราก็ไม่ต้องไปวิตกกังวลกันแล้ว เพราะว่าการทำเกษตรอินทรีย์ในทุกพื้นที่ จะช่วยป้องกันไฟป่าและแก้ปัญหาเรื่องหมอกควันไฟป่าได้

“การที่เรารวมกลุ่มกัน เรียกว่า กลุ่มเกษตรและป่าเพื่อการท่องเที่ยวอำเภอเวียงแหง ซึ่งตอนนี้ก็มีอยู่ทั้งหมด 9 รายด้วยกัน ก็ได้เข้าไปหนุนเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนเวียงแหง ได้หันมาสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ และช่วยกันลดเลิกละในการเผาและการใช้สารเคมีในการเกษตร ก็ได้ผลพอสมควร ถือว่าเป็นเครือข่ายองค์กรที่พอมีชื่อเสียงทำให้คนรู้จักกันในระดับหนึ่ง”  ร้อยตรีกมลกล่าว

ประธานกลุ่มเกษตรและป่าเพื่อการท่องเที่ยวอำเภอเวียงแหง  บอกอีกว่า ในส่วนการทำงานของกลุ่มเกษตรและป่าเพื่อการท่องเที่ยวอำเภอเวียงแหง ส่วนใหญ่จะไปในแนวทางเดียวกัน ไม่มีปัญหาในจุดนี้ แต่ตอนนี้ เรายังผลิตอาหารเกษตรอินทรีย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

“เราอยากขยายแนวร่วมออกไปอีกให้มากกว่านี้ โดยการนำผลงานที่เราได้ลงมือทำแล้วประสบความสำเร็จ ไปนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ให้คนได้รู้ได้เห็น สร้างแรงบันดาลใจ แล้วมาเข้าร่วมกลุ่ม หรือถ้าไม่เข้าร่วมกลุ่ม แต่กลับไปทำเองที่บ้านของตัวเองก็ได้ ทุกวันนี้ เกษตรกร ชาวบ้านในเวียงแหง ส่วนใหญ่ยังตีโจทย์ตรงนี้ไม่แตก ยังมีการเผาเศษวัสดุในพื้นที่ทำการเกษตรกันอยู่ ทั้งๆ ที่เราสามารถนำเอามาเป็นปุ๋ยหมักอะไรได้หมด แม้กระทั่งหญ้า ช่วยคลุมดินให้เรา หรือตัดเอามาทำปุ๋ยหมักได้หมด แมลงหลายตัวที่มีประโยชน์คอยกำจัดศัตรูพืชบางตัว พอถูกยาก็ตายไปหมดเลย รวมไปถึงสัตว์ที่เป็นอาหารให้เรา อย่าง ปู ปลา กบเขียดอะไรก็ตายไปหมด ก็เพราะว่าชาวบ้านหลายคนยังไม่มองกันตรงนี้ จะคิดถึงตัวเงินมากเกินไป” ประธานกลุ่มเกษตรและป่าเพื่อการท่องเที่ยวอำเภอเวียงแหงกล่าว
 


หลังวิกฤตโควิด-19 คนเวียงแหงหันมาใส่ใจสุขภาพ
ปลูกผักอินทรีย์ สร้างตลาดสีเขียว จำหน่ายอาหารปลอดภัย

 

จากวิกฤตโควิด-19 ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนเวียงแหงเริ่มตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกัน หลายคนมาสนใจเรื่อง “ผักพื้นบ้าน อาหารเป็นยา” มากขึ้นด้วย จนมีการรวมกลุ่มปลูกผักอินทรีย์ ปลูกผักปลอดภัย และสร้างตลาดสีเขียว เพื่อจำหน่ายให้กับชาวบ้าน คนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ โดยทุกวันที่ 5 ของเดือน จะมีการรวมกลุ่มของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน อำเภอเวียงแหง และสมาชิกกลุ่มเกษตรและป่าเพื่อการท่องเที่ยวอำเภอเวียงแหง จะนำพืชผักอินทรีย์ ผักปลอดสาร อาหารปลอดภัย ผลผลิตจากฟาร์มของตนเองมาวางจำหน่ายในตลาดสีเขียว หรือถนนสีเขียว บริเวณบ้านป่าไผ่ ใกล้ๆ โรงพยาบาลเวียงแหง โดยมีลูกค้าที่เป็นทั้ง ข้าราชการ ประชาชน และนักท่องเที่ยวแวะเวียนกันเข้ามาเลือกชมเลือกซื้อผักอินทรีย์ ผักพื้นบ้าน อาหารปลอดภัยกันอย่างคึกคัก

“ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่รักสุขภาพ เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาล ข้าราชการ ครูในโรงเรียน รวมไปถึงชาวบ้าน ที่เป็นลูกหลานคนเวียงแหง ที่เคยเห็นพ่อแม่ทำสวน พ่นสารเคมี แล้วป่วยเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็จะเริ่มหันมาสนใจรักสุขภาพกันมากขึ้น ประเมินได้ว่า ตลาดสีเขียว ที่กำลังทำกันอยู่นี้ ถือว่ามีกระแสตอบรับที่ดีมาก ปัญหาตอนนี้คือ เครือข่ายของเรายังมีน้อย ไม่เพียงพอต่อผู้บริโภค” เจ้าของ ห้วยเมี่ยงโมเดล ปู่หลู่ฟาร์ม เล่า

หลายคนมักตั้งคำถามกันบ่อยครั้งว่า การปลูกผักอินทรีย์จะมีตลาดรองรับหรือ จะไปรอดหรือ?

“ผมเองไม่เคยคิดหรือวิตกกังวลเลยว่า ปลูกผักแล้วจะได้ขายมั้ย จะมีตลาดรองรับหรือเปล่า คิดอยู่อย่างเดียว คือ ทำอย่างไรถึงจะมีคนเข้ามาร่วมเครือข่าย มาช่วยกันปลูกผักอินทรีย์ ให้พอเพียงสำหรับลูกค้าสายรักสุขภาพของเรา ยกตัวอย่าง ลูกค้าเฉพาะโรงพยาบาลแห่งเดียว ที่ต้องการผักอินทรีย์ ไปทำอาหารกลางวันในโรงพยาบาลก็ยังไม่พอเลย ขนาดผมแค่ปลูกผักส่งให้เฉพาะโรงเรียนแห่งเดียว ก็ไม่พอ ไม่ไหวแล้ว แต่นี่ มีกลุ่มลูกค้า กลุ่มเป้าหมาย ทั้งหมด 12 โรงเรียน กับอีก 1 โรงพยาบาล ที่ยังต้องการพืชผักอินทรีย์กันอีกเป็นจำนวนมาก เพราะว่าทุกวันนี้ เรายังขายในราคาพอๆ กับพืชผักตามตลาดทั่วไป ราคาพืชผักอินทรีย์ บางครั้งอาจมีราคาสูงกว่าไปบ้างก็ยังได้ เนื่องจากมันเป็นผักที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และถือว่าเป็นราคาความใส่ใจกว่าจะได้พืชผักที่มีคุณภาพสมค่ากับราคาจริงๆ” ร้อยตรีกมล กล่าว

เช่นเดียวกับ อิสรภาพ คารมณ์กุล เจ้าของอิสรภาพฟาร์ม ที่เปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาปลูกพืชผสมผสาน ปลูกผักอินทรีย์ในสวนหลังบ้าน อีกทั้งยังมีการศึกษาเรียนรู้เพาะเลี้ยงไส้เดือน จนกลายเป็นปุ๋ยไส้เดือนอิสรภาพฟาร์ม ออกจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่ปลูกผักอินทรีย์ รวมไปถึงหน่วยงานองค์กรของรัฐที่เป็นลูกค้าสั่งซื้อปุ๋ยไส้เดือนครั้งหนึ่งเป็นจำนวนมาก เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ คนเวียงแหงเริ่มให้ความสำคัญเรื่องผักอินทรีย์กันมากขึ้น ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนกันไป

“เป้าหมายต่อไป เรามองไปถึงการขยายพื้นที่แนวร่วมในการทำเกษตรอินทรีย์ มีการรับรองมาตรฐาน เพื่อจะนำไปสู่ตลาดที่มีความมั่นคงมั่นใจของผู้บริโภคต่อไป  โดยวางแผนกันไว้ว่า ต่อไปนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเวียงแหง มาพักตามโฮมสเตย์ ฟาร์มสเตย์ต่างๆ ได้ทานอาหารปลอดภัยจากเรา รวมไปถึงการสร้างข้อตกลงกับโรงแรมและที่พักต่างๆ ในเวียงแหง รวมถึงโรงเรียน โรงพยาบาล รวมทั้งเทศบาล และ อบต.ที่ทางเครือข่ายจะร่วมกันผลิตอาหารปลอดภัย ผักอินทรีย์ ป้อนให้กับองค์กรเหล่านี้ต่อไป”

ปัจจุบัน ผู้คนในอำเภอเวียงแหงและสังคมข้างล่างเริ่มให้ความสนใจผลผลิตและกิจกรรมของกลุ่มเกษตรและการท่องเที่ยวโดยชุมชนอำเภอเวียงแหงกันมากขึ้น นอกจากจะจัดจำหน่ายสินค้าในตลาดสีเขียวแล้ว  ทางกลุ่มฯ ยังได้นำผลผลิต สินค้า เกษตรอินทรีย์ อย่างเช่น ชาอินทรีย์ กระเจี๊ยบแดงอินทรีย์ (ห้วยเมี่ยงโมเดล)  กาแฟอากิปุ  น้ำมันงา (งาใบบุญ)  มูลไส้เดือน และไส้อั่ว (อิสรภาพฟาร์ม) อาโวคาโด (ประสิทธิ์ฟาร์ม) ไปจัดแสดงจัดจำหน่ายในงานแสดงสินค้าที่กรุงเทพฯ มาแล้วด้วย

ในขณะที่ในพื้นที่ตำบลเปียงหลวง และตำบลแสนไห ก็มีการสร้างพื้นที่ กาดแลง สำหรับจำหน่ายผักอินทรีย์ พืชผักพื้นบ้านกันด้วยเช่นกัน

ธนกร วงศ์ษาวิชัย ผู้ใหญ่บ้านบ้านมหาธาตุ แกนนำผู้ริเริ่มก่อตั้ง “กาดแลงแสนไห” เล่าว่า เริ่มต้นจากการไปเห็นเครือข่าย ทสม. เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน อำเภอเวียงแหง และสมาชิกกลุ่มเกษตรและป่าเพื่อการท่องเที่ยวอำเภอเวียงแหง รวมกลุ่มกันเป็นตลาดอินทรีย์ ถนนสีเขียว ขึ้นที่ตำบลเมืองแหง แล้วไปเห็นทางตำบลเปียงหลวงก็ทำตลาดสีเขียวกัน จึงอยากจะทำตลาดชุมชน หรือกาดแลงแสนไหขึ้นมา ซึ่งในพื้นที่ของเรามีจุดเด่นตรงนี้ก็คือ ทำเลที่ตั้ง เพราะอยู่ในพื้นที่ด้านหน้าของพระธาตุแสนไห แล้วยังอยู่ติดกับลำน้ำแตงด้วย ตอนเริ่มต้น ก็ได้เชิญผู้นำท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นนายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สท. มานั่งคุยกัน แล้วตกลงร่วมกัน จนกลายมาเป็น กาดแลงแสนไห

“ทุกวันอาทิตย์ จะมีพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ตำบลแสนไหและพื้นที่ใกล้เคียง นำสินค้าทางการเกษตร พืชผักพื้นบ้านที่อยู่ตามไร่ตามสวน มาวางขายให้กับชาวบ้านที่สนใจ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปมา โดยจะเปิดบริการตั้งแต่ช่วงบ่ายไปจนถึงช่วงเย็น

“พืชผักที่ชาวบ้านเอามาขาย จะมีทั้งผักที่ปลูกตามไร่ตามสวน รวมถึงผักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติตามไร่ตามป่า ไม่ว่าจะเป็นผักกูด ผักหวาน ผักแซ่ว ตำลึง ผักฮี้ ผักเชียงดา หน่อไม้ มีผักที่ขึ้นตามฤดู อย่างผักส้มปี้ ผักเฮือด ซึ่งได้กระแสตอบรับดีขึ้นๆ ชาวบ้านก็ได้มีรายได้ ในขณะที่พื้นที่ตรงนี้ก็ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้ด้วย”

 


เรียนรู้ เติบโต ต่อยอดจาก “ตลาดสีเขียว” 
สู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ยั่งยืน

 

เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวของอำเภอเวียงแหง ก่อนหน้านั้น เคยมีการรวมกลุ่มกันทำเป็นชมรมการท่องเที่ยวอำเภอเวียงแหง ขึ้นมาแล้ว แต่ก็เงียบหายไป

“อาจจะเป็นเพราะหลายสาเหตุปัจจัยจึงทำให้ชะงักหายไป แต่ทุกวันนี้ ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยว มีคนมาเที่ยวเวียงแหงเรามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการจะสร้างกระแสให้เวียงแหงเป็นเมืองท่องเที่ยว ก็จะต้องมีคนกล้าลงมือทำให้เห็นเสียก่อน  เหมือนอย่างที่เราทำตลาดอินทรีย์ กาดสีเขียวนี้ก็เหมือนกัน คือต้องลงมือทำกันก่อน จะมีคนมาแอ่วมาซื้อหรือไม่ก็ค่อยเป็นค่อยไป หลายฝ่ายช่วยสนับสนุนกันไป” เฉลิมชัย โปธา ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าไผ่ บอก

“แต่ก็กลัวเหมือนกันนะเรื่องการท่องเที่ยว กลัวจะเป็นเหมือนเมืองปาย เหมือนเมืองคอง เพราะได้ข่าวว่าตอนนี้ชุมชนดั้งเดิมเริ่มจะอยู่กันไม่ได้แล้วนะ เริ่มเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิมแล้ว มีแต่คนนอกเข้าไปอยู่แทน ซึ่งประเด็นนี้ คนเวียงแหงกำลังเฝ้าระวังกันอยู่ จะมีปัญหาเรื่องเสียงของรถที่เดินทางเข้าออก รวมไปถึงเรื่องอุบัติเหตุ และอีกอย่างหนึ่งที่เราไปเห็นเมืองคองในตอนนี้ จากเดิม เวลาเราเดินทางไปแอ่วหาญาติพี่น้องที่เมืองคอง เราสามารถไปหาปูหาปลาในลำน้ำแตงกันได้ แล้วก็ไปนอนพักบ้านชาวบ้านหลังใดก็ได้ เป็นเครือญาติเป็นพี่เป็นน้องกันหมด ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว จะต้องไปนอนพักโฮมสเตย์กัน ทุกอย่างเริ่มเป็นธุรกิจ เป็นเงินเป็นทองกันไปหมด วิถีชุมชนเริ่มไม่เหมือนเดิมแล้ว” บุญ ปู่หลู่ ผู้ใหญ่บ้านแม่หาด กล่าว

ผู้ใหญ่บ้านแม่หาด เสริมอีกว่า “อย่างพื้นที่ห้วยเมี่ยงโมเดล ปู่หลู่ฟาร์ม ของหมวดกมล ถ้าจะทำเป็นที่พักให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ ก็สามารถทำได้เลย เพราะตอนนี้มีแต่คนอยากไปพักกัน ซึ่งมีคนมาเสนอกันแล้วว่า อาจเริ่มต้นให้นักท่องเที่ยวไปพักที่เลาวู คืนหนึ่ง อีกคืนหนึ่งมาพักที่ห้วยเมี่ยงโมเดล แล้วค่อยไปพักต่อที่ดอยดำ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ แต่ตอนนี้ชุมชนเรายังไม่พร้อม ยังไม่อยากเปิดรับ เพราะยังหวั่นๆ กลัวจะไปกระทบกับการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่  ยังหวั่นๆ เรื่องความเปลี่ยนแปลงกันอยู่ ”

ตรงนี้ ทำให้เรามองเห็นว่า คนเวียงแหง กำลังตั้งรับ และพยายามให้การท่องเที่ยวในเวียงแหงนั้นเดินช้าๆ

“ยกตัวอย่าง การทำตลาด ถนนสีเขียวที่เราทำอยู่นี้ เราพยายามเฉพาะเจาะจง ว่าจะเน้นเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย จึงทำให้เราเดินได้ช้า อืดอาดมาก การท่องเที่ยวก็เหมือนกัน ถ้าเราทำให้บูมเหมือนปาย มันก็อาจจะเกิดผลเสีย ธรรมชาติก็จะเสียหาย ซึ่งจริงๆ เราก็เคยเล็งไว้เหมือนกัน เริ่มจากเมื่อครั้งที่เราพาชาวบ้านไปลาดตระเวนเส้นทางป่า พอมันลงตัวแล้ว เราก็มาคุยกันว่า เราน่าจะทำพื้นที่แถวนี้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ให้คนมาเที่ยวมาพักกันได้นะ พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งศึกษาธรรมชาติ  

“ถ้าเราจะเอาป่านี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มันต้องมีกฎระเบียบให้ชัด ไม่ใช่ท่องเที่ยวเหมือนที่ดอยดำ ใครอยากไปก็ไป ใครจะนอนก็นอน ซึ่งปัญหาที่ตามมาที่เห็นกันก็คือ เรื่องขยะ เพราะหากไม่มีระบบการจัดการที่ดี สุดท้ายก็จะเกิดความเสียหายตามมาได้ เครือข่ายของเราที่กำลังทำกันอยู่นี้ เราพยายามที่จะต้องเป็นเจ้าของพื้นที่ได้ขับเคลื่อน ซึ่งคำว่าเจ้าของพื้นที่ ก็หมายถึงชาวบ้านในอำเภอเวียงแหง ไม่ใช่นายทุน เพราะถ้ามีนายทุนเข้ามาเมื่อไหร่ ก็จะเปลี่ยนแปลงไว และมีความขัดแย้งกัน” ประธานป่าชุมชนบ้านป่าไผ่ ย้ำถึงความตั้งใจ

สอดคล้องกับมุมมองของ ร้อยตรีกมล ปู่หลู่ ประธานกลุ่มเกษตรและป่าเพื่อการท่องเที่ยวอำเภอเวียงแหง ที่วิเคราะห์ถึงเรื่องการท่องเที่ยวทั่วโลกหลังโควิด-19 เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า  คิดว่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรนี้จะมาแรง  โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่ากระแสการท่องเที่ยวแบบนี้จะมาแรงแน่ๆ  แต่มันมีประเด็นอยู่ที่ว่า คุณจะทำการท่องเที่ยวในเชิงไหน ถ้าจะเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน  จะโดยชุมชนจริงไหม หรือมีเพียงแค่คนไม่กี่คนที่จะได้รับผลประโยชน์ แล้วไปกระทบกับชุมชนหมู่บ้าน จนถึงขั้นรถสัญจรแน่นไปหมด จนเข้าออกหมู่บ้านไม่ได้ เหมือนที่ม่อนแจ่ม ซึ่งนี่คือปัญหาที่อาจจะตามมาได้  

“เราจะต้องมาคิด มาตั้งคำถามกันให้ได้ว่า การท่องเที่ยวนั้นจะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน หรือว่ามาสร้างปัญหาให้กับชุมชน  เราจะต้องวางระบบกันให้ดีๆ  ก่อนที่จะทำการท่องเที่ยว ก็ต้องมองไปถึงอนาคต ว่าทำแล้ว จะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง เราจะต้องหาทางป้องกันเอาไว้ก่อน ไม่ใช่ลงมือทำไปแล้วมาคิดแก้ปัญหากันทีหลัง ถ้าเจอรูปแบบนี้ การท่องเที่ยวเวียงแหง อาจจะแค่บูมปีเดียวแล้วจบเลยก็เป็นไปได้ ถามว่า อยากทำมั้ย ถ้าจะทำการท่องเที่ยวจริงๆ ก็ต้องให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จริงๆ โดยเราจะต้องมีการวางแผนในเรื่องการบริหารจัดการ ไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ต้องมีกฎกติกาที่ชัดเจน”

ประธานกลุ่มเกษตรและป่าเพื่อการท่องเที่ยวอำเภอเวียงแหง บอกอีกว่า ถ้าจะทำการท่องเที่ยวเวียงแหงกันจริงๆ ก็ต้องมีการวางแผนจัดการกันให้ดี จะทำเป็นโฮมสเตย์ ก็ต้องจัดการกันให้เหมาะสมตามสภาพกำลังของแต่ละบ้าน แต่ละครอบครัว ไม่ใช่ไปกู้หนี้ยืมสินมาทำ จนเกินกำลังของตัวเอง ทำซุ้ม สร้างที่พักไว้รองรับ แบบนั้นมันไม่ใช่แนวทาง เพราะนั่นมันก็คือรีสอร์ทดีๆ นั่นเอง

“แต่ถ้าจะทำการท่องเที่ยวในเชิงเกษตร เหมือนกับของผม ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้ศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์ ให้อาหารหมู อาหารไก่ มาเก็บผัก ตกปลา แล้วทำอาหารทานด้วยกัน เราก็จะจำกัดรองรับได้ไม่เกิน 3 ครอบครัว หรือไม่เกิน 20 คน  ถ้ามากกว่านี้ เราก็ไม่ไหว ก็จะแนะนำส่งต่อไปยังฟาร์มอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายด้วยกัน

“ที่สำคัญ ก่อนที่เราจะทำการท่องเที่ยวแนวนี้ อันดับแรก เราต้องทำครอบครัวของเราให้มีอยู่มีกินก่อน ไม่ใช่จะมารอรับรายได้จากนักท่องเที่ยวอย่างเดียว แบบนั้นไม่รอด แต่ถึงแม้ไม่มีนักท่องเที่ยว เราก็อยู่ได้ มีแหล่งอาหารปลอดภัยไว้กิน เหลือก็นำไปขายข้างนอก แบบนี้เราถึงจะอยู่รอดและไปได้”

อิสรภาพ บอกอีกว่า มิติเรื่องการท่องเที่ยวของเวียงแหง เขาพยายามจะชูเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อีกหลายกลุ่มก็จะเน้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม โดยเน้นเรื่องอัตลักษณ์ท้องถิ่น และจะพยายามปลูกฝังให้กับน้องๆ เยาวชน ได้รู้จักรากเหง้าของตนเอง ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้คนเวียงแหง หากมีการท่องเที่ยวในเวียงแหงมากขึ้น ก็จะช่วยตั้งรับและไม่เละเทะเหมือนกับเมืองปายหรือพื้นที่อื่นๆ

“แน่นอน เราคงไม่อาจปฏิเสธเรื่องการท่องเที่ยว หรือกระแสความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ แต่เราก็พยายามจะให้เวียงแหงนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ดีกว่า อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง และอาจต้องเจอกับปัญหาหลายอย่างตามมา ดังนั้น ทุกฝ่ายก็ต้องหาทางตั้งรับกับมันให้ได้”

นี่อาจเป็นหนทางของการอยู่รอดของคนเวียงแหง แม้ว่าสังคมโลกเริ่มเปลี่ยนไป หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่เหมือนเดิม สงคราม ความอดอยาก ความยากจน สุขภาพและการสูญเสียมีมากขึ้น ในขณะที่คนเวียงแหงนั้นได้หันกลับมาค้นหาทางออก ค้นหารากเหง้าของตน สร้างความมั่นคงทางอาหาร และหันมาสนใจใส่ใจเรื่องของสุขภาพกันมากขึ้น ในขณะที่กระแสการท่องเที่ยงเชิงนิเวศนั้นก็อาจจะเป็นกระแส เป็นทางออกอีกทางหนึ่งได้ในอนาคต
    
                                    
ข้อมูลประกอบ
1.    โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่าย ทสม.ในการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่, เครือข่ายทสม. ตำบลเมืองแหง, 15 ก.พ.2566 
2.    เวียงแหง เมืองชายแดน เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การค้นหาทางรอดของชีวิต,วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 121 มกราคม-เมษายน 2566

 

‘เวียงแหง’ ชูวิถีเกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
‘เวียงแหง’ ชูวิถีเกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
‘เวียงแหง’ ชูวิถีเกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
‘เวียงแหง’ ชูวิถีเกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
‘เวียงแหง’ ชูวิถีเกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
เนื้อหาล่าสุด