Skip to main content

‘สุไลมาน ดาราโอะ’ ผู้พัฒนา ‘หาดปะนาเระ’ เป็นชุมชนท่องเที่ยว และปัญหาขยะที่่ต้องจัดการ

17 พฤษภาคม 2567

มูฮำหมัด ดือราแม


สุไลมาน ดาราโอะ ผู้สร้างภาพจำใหม่ให้ชายหาดปะนาเระ จ.ปัตตานี พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้สู่การยกระดับเป็นชุมชนท่องเที่ยว โมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ประติมากรรมปลากระโทง สัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ แต่กำลังเผชิญกับ “ขยะและความไร้ระเบียบ” เป็นปัญหาใหม่ของชายหาดปะนาเระ พร้อมข้อเสนอและแนวทางแก้ปัญหาหาดปะนาเระยั่งยืน

“ถ้าพูดถึงปะนาเระ สิ่งที่เห็นภาพในโลกโซเชียล คือ ความไม่สงบ พื้นที่สีแดง ไม่มีใครเข้ามา หาดปะนาเระแพะเยอะมาก ขี้แพะเต็ม เรามีชายหาด แต่ชายหาดมีแต่ขยะ ชายหาดไม่มีต้นไม้ ไม่มีต้นสน”

สุไลมาน ดาราโอะ กรรมการชมรมประมงพื้นบ้าน ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี อธิบายถึงสภาพชายหาดปะนาเระในช่วงหลายปีก่อน จนกระทั่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างสวยงามมาแล้ว แต่ตอนนี้เขากลับเป็นห่วงว่า สภาพเช่นนั้นอาจจะกลับมาอีกแล้ว

โดยเฉพาะปัญหาเรื่องขยะชายหาด ที่เกิดจากความไร้ระเบียบวินัยและจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งของร้านค้าต่างๆ และนักท่องเที่ยวที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

ชายหาดปะนาเระเป็นชายหาดเกิดใหม่ ตะกอนทรายค่อยๆ ทับถมมาตั้งแต่หลังปี 2522 หรือเมื่อราว 45 ปีก่อนหลังจากมีการสร้างกำแพงกันคลื่น จนกระทั่งกลายเป็นสันดอนทรายชายหาดยาวกว่า 2 กิโลเมตร กว้างราว 200-300 เมตร โดยเฉพาะบริเวณหน้าตลาดปะนาระ และทำให้เป็นอ่าวเล็กๆ ชาวประมงสามารถใช้เป็นที่จอดเรือได้


สุไลมาน ดาราโอะ ผู้สร้างภาพจำใหม่ให้ชายหาดปะนาเระ

สุไลมาน เป็นลูกหลานชาวประมงพื้นบ้านปะนาเระที่มีส่วนอย่างมากที่ค่อยๆ พัฒนาชายหาดปะนาเระมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การปลูกต้นไม้ จัดระเบียบจุดจอดเรือประมง ร่วมกันเปิดตลาดสินค้าชุมชน และการรักษาสภาพแวดล้อม จนทำให้เป็นชายหาดที่สวยงามและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของ จ.ปัตตานีในปัจจุบัน แม้เขาไม่ได้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง เพราะหน่วยงานที่ดูแลชายหาดโดยตรง คือ เทศบาลตำบลปะนาเระ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพจำของหลายๆ คนต่อชายหาดปะนาเระ คือ ชายหนุ่มยืนถือปลากระโทงตัวใหญ่ๆ ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ซ้ำๆ หลายครั้ง พร้อมแคปชั่นที่พยายามบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลปะนาเระ และผลจากการต่อสู้กับเรือประมงที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายมานานหลายปี

“เราเคยไปประท้วงหน้าศาลากลางถึงความเสื่อมโทรมของท้องทะเลที่ถูกทำลายนะครับ เราเห็นสภาพปัญหาต่างๆ และเราก็ได้รับชัยชนะ” สุไลมาน เล่า

การต่อสู้ดังกล่าวเป็นที่มาของการก่อตั้งชมรมประมงพื้นบ้าน ต.ปะนาเระ และปลากระโทงก็ปรากฏเป็นประติมากรรมที่มีชื่อเสียงของชายหาดปะนาเระในเวลาต่อมา  


จากแหล่งเรียนรู้สู่การยกระดับเป็นชุมชนท่องเที่ยว

สุไลมาน เล่าว่า หลังก่อตั้งชมรมประมงพื้นบ้าน ต.ปะนาเระ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2550 หรือ 17 ปีที่แล้ว ทางชมรมก็ได้ร่วมกันพัฒนาชายหาดปะนาเระขึ้นมา เริ่มจากการขอเช่าอาคารอเนกประสงค์ที่เทศบาลสร้างทิ้งร้างไว้เพราะเต็มไปด้วยขี้แพะ จากนั้นก็ช่วยกันทยอยปลูกต้นสนบนชายหาดให้เต็มพื้นที่ จากพื้นที่โล่งๆ จนเติบโตสร้างความร่มรื่นในปัจจุบัน

ส่วนที่ทำการของชมรมฯ ได้พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประมงพื้นบ้าน รวบรวมข้อมูลความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับทะเล ชายหาดและการทำประมงไว้ที่นี่ โดยทำเหมือนอยู่ในทะเลจำลองให้เด็กนักเรียนและคนทั่วไปได้เห็นภาพ ในอนาคตจะพัฒนาเป็นโรงเรียนชาวเลต่อไป

“หลังจากพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้แล้ว ก็จะยกระดับเป็นชุมชนท่องเที่ยวเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพขึ้นตามมา เป็นการพัฒนาชายหาดแบบครบวงจร ไม่ใช่แหล่งเรียนรู้อย่างเดียว”

สุไลมาน บอกว่า ทางชมรมฯ ยังได้ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชุนชาวเลปะนาเระขึ้นมาด้วย เพื่อขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจไปพร้อมกับด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะตั้งศูนย์รวมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นอาคารวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และเป็นศูนย์แปรรูปอาหารทะเลสด ซึ่งอาจจะเป็นสินค้าเป็นของทั้งอำเภอ เพราะทางอำเภอต้องการให้นำสินค้าของทุกตำบลมาวางที่นี่ด้วย คาดว่าจะเปิดศูนย์ได้ไม่เกินปีนี้

 

“หลังจากพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้แล้ว ก็จะยกระดับเป็นชุมชนท่องเที่ยวเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพขึ้นตามมา เป็นการพัฒนาชายหาดแบบครบวงจร ไม่ใช่แหล่งเรียนรู้อย่างเดียว”


ปะนาเระ พื้นที่โมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

ชมรมประมงพื้นบ้านปะนาเระมีสมาชิก 186 คน โดยขับเคลื่อนงาน 5 ด้านภายใต้แผนงาน 5 ปี คือ 
1. ด้านประมง คือใช้เรือประมงถูกกฎหมาย และไม่ใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย
2. ด้านการฟื้นฟู เช่น ทำซังปลา กำหนดเขตพื้นที่จับสัตว์น้ำ ฯลฯ
3. ด้านสิ่งแวดล้อม ดูแลเรื่องขยะ ฯลฯ
4.ด้านการศึกษา โดยสร้างเยาวชนมาต่อยอดแหล่งเรียนรู้ ผลักดันให้เยาวชนเป็นวิทยากร ฯลฯ และ
5. ด้านเศรษฐกิจ คือการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เป็นต้น

สุไลมาน กล่าวว่า ผลงานของชมรมประมงพื้นบ้าน ต.ปะนาเระ มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดการท่องเที่ยว ซึ่งปะนาเระกลายพื้นที่ต้นแบบหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของปัตตานี โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชายหาดปะนาเระ ที่ทุกวันนี้เป็นรายได้หลักของชุมชนที่นี่แล้ว

นอกจากนี้ ทางชมรมฯยังได้รับรางวัลสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี พ.ศ.2563 (สาขากลุ่มเกษตรกรทำการประมง) จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ด้วย


ประติมากรรมปลากระโทง สัญลักษณ์ความอุมสมบูรณ์

สุไลมาน บอกว่า ชายหาดปะนาเระเริ่มมีชื่อเสียงและมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงปี 2562 หลังจากเทศบาลปะนาเระเปิดตลาดนัดเปิดท้ายขายของในทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ และมีการสร้างลานและเวทีอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ไว้

ต่อมา ทางเทศบาลได้สร้างประติมากรรมปลากระโทง 2 ตัว จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของที่นี่ เนื่องจากทะเลปะนาเระมีปลากระโทงเยอะมาก โดยฤดูปลากะโทงจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ หรือช่วงมรสุมซึ่งชาวประมงจะไปวางอวนจับปลากระโทงขึ้นมา

หลังจากนั้นทางเทศบาลก็คุยกันอีกครั้งว่า อยากจะให้มีประติมากรรมสัตว์ทะเลให้เยอะขึ้น เพราะในทะเลบ้านเราก็มีทั้งปู กุ้งและปลา จนปัจจุบันมีการสร้างเป็นประติมากรรมสัตว์ทะเลหลายชนิดขึ้นมา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูป


‘ขยะและความไร้ระเบียบ’ ปัญหาใหม่ของชายหาดปะนาเระ

สุไลมาน บอกว่า ปัญหาเรื่องแพะนั้นได้จัดการจนประสบความสำเร็จไปแล้ว โดยการออกระเบียบห้ามเลี้ยงแพะริมชายหาด แต่ปัญหาใหญ่ขณะนี้คือ ความไร้ระเบียบของร้านค้า ตามมาด้วยปัญหาขยะ และการจราจรในช่วงเทศกาล

เรื่องการจราจรในช่วงเทศกาลรายอ (ปีหนึ่งมี 2 ครั้ง) จะมีนักท่องเที่ยวมาเยอะจนรถติดหนักมาก เพราะถนนเข้าชายหาดมีทางเดียวและต้องผ่านตลาดปะนาเระที่เป็นชุมชนหนาแน่น

“นักท่องเที่ยวคนหนึ่งบอกว่าออกจากบ้านจะมาเที่ยวหาดปะนาเระ บ่าย 3 โมงรถยังติดอยู่หน้าวัดสำเภา (ห่างจากชายชายหาด 2 กิโลเมตร) ขับรถมาถึงชายหาดประมาณทุ่มหนึ่ง จะถอยก็ไม่ได้เพราะรถเยอะ” สุไลมานเล่า

สุไลมาน บอกว่า การเข้าออกยังจัดการได้อยู่เพราะทำเป็นวันเวย์ได้บางช่วง แต่ด้วยจำนวนรถที่เยอะและมีลานจอดรถน้อย ยิ่งมีร้านค้าตั้งขายของริมถนนแล้วรถก็เลยจอดซื้อของตรงนั้นเลย มันก็เลยติดหนัก ปัญหานี้แก้ไขได้ถ้าร่วมกันจริงจัง

เรื่องต่อมาคือความไร้ระเบียบของร้านค้า โดยเฉพาะที่อยู่นอกโซนตลาดเปิดท้าย มีการตั้งร้านกันตามใจชอบ โดยเฉพาะร้านค้าที่เป็นรถเข็นสามล้อพวงที่ไปขายตามริมชายหาด ซึ่งปัญหานี้จำเป็นต้องจัดโซนร้านค้าให้เป็นระเบียบ

ปัญหาที่ตามมาคือ ขยะ และการจัดการที่ยังไม่เหมาะสม ขยะถูกทิ้งเรี่ยราดบนชายหาดทำให้ลมพัดกระจายไปติดยังที่ต่างๆ ขยะพวกนี้มาจากทั้งในตลาดเปิดท้าย จากร้านค้าที่อยู่ริมหาด และจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะขยะพลาสติกจำพวกถุงใส่อาหาร ขวดและแก้วน้ำพลาสติก

“เราเก็บขยะในตอนเช้า พอตอนบ่ายๆ เย็นๆ ลมก็พัดขยะมาอีก” สุไลมานบอก

สุไลมาน บอกด้วยว่า ไม่อยากเห็นถังขยะตั้งเต็มชายหาด เพราะยิ่งตั้งถังขยะเยอะก็ยิ่งสกปรก “เหมือนตั้งถังขยะไว้หน้าบ้านเรา ขยะก็จะมากองอยู่หน้าบ้านเรา ก็จะยิ่งสกปรกอีก”

เขาบอกว่า แม้จะตั้งถังขยะไว้เยอะแต่จัดเวลามาเก็บยังไม่เหมาะ ยิ่งมีขยะสะสมเร็วมากก็ต้องมาเก็บไปให้เร็วขึ้น ดังนั้นต้องมีวิธีการจัดการที่ดีกว่านี้ ซึ่งต้องคุยกันเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกว่านี้

 

“เราเก็บขยะในตอนเช้า พอตอนบ่ายๆ เย็นๆ ลมก็พัดขยะมาอีก” 


ข้อเสนอและแนวทางแก้ปัญหาหาดปะนาเระยั่งยืน

ส่วนข้อเสนอต่อแนวทางแก้ปัญหาหาดปะนาเระนั้น สุไลมานมองว่า มี 2 แนวทาง คือ การพัฒนาระบบการบริหารจัดการพื้นที่ และแบ่งโซนการใช้ประโยชน์พื้นที่ของชายหาด

เรื่องแรกการจัดการขยะ ทางชมรมประมงพื้นบ้านปะนาเระได้ก่อตั้งชมรมผู้ประกอบการชายหาดปะนาเระขึ้นมาอีกหนึ่งชมรมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอยู่ภายใต้แผนการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการมีส่วนร่วมในการดูแลเรื่องขยะ โดยจะวางมาตรการต่างๆ ทั้งในระดับต้นน้ำ คือ แหล่งกำเนิดขยะ ระดับกลางน้ำ คือ การจัดการขยะ และปลายน้ำ คือ การนำขยะไปกำจัด โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เทศบาลตำบลปะนาเระ

ชมรมใหม่นี้มีคณะกรรมการ 9 คน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการในตลาดเปิดท้าย ผู้ประกอบการในชุมชน และผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าออนไลน์ด้วย ส่วนทางเทศบาลมาเป็นที่ปรึกษา

เรื่องการจัดการตลาด สุไลมาน กล่าวว่า เป็นเรื่องการจัดโซนนิ่งว่าตรงไหนห้ามขาย ตรงไหนขายได้บ้างซึ่งจะมีการประชุมในเดือนหน้าเพื่อวางมาตรการต่างๆ ในระยะยาว ซึ่งทุกมาตรการจะต้องมาวางแผนร่วมกัน เริ่มจากการพูดคุยกับชุมชน ผู้ประกอบการ เทศบาล หน่วยงานของ ทช. และหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่

เรื่องการดูแลชายหาดทางเทศบาล และ ทช.ดูแลโดยตรง ซึ่งทางชมรมก็เป็นเครือข่ายของ ทช.อยู่แล้ว ส่วนเทศบาลเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณในการนำทรายมาเทในส่วนที่ถูกคลื่นกันเซาะ

เรื่องร่องน้ำด้านทิศตะวันตกของชายหาดปะนาเระ มีปัญหาตื้นเขินทุกปีจนทำให้เรือไม่สามารถเข้าออกได้ สุไลมานบอกว่า กำลังรอทางเทศบาลตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพูดคุยหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนก่อน เพราะการแก้ปัญหาด้วยการทุ่มงบประมาณขุดลอกทุกปีนั้นอาจจะสูญเปล่า เพราะเมื่อถึงฤดูมรสุมก็มีทรายมาทับถมอีก

“ต้องการหาแนวทางว่า หลังจากขุดลอกแล้วต้องทำอะไรบ้าง เพราะชาวประมงบางคนก็มีความรู้เรื่องกระแสน้ำอย่างดี สามารถที่จะมีข้อเสนอที่ดีได้ แต่ก็ยังไม่ตั้งคณะทำงานชุดนี้ซักที” สุไลมานกล่าว

สุไลมานกล่าวด้วยว่า แม้กรมเจ้าท่าจะมาขุดลอกร่องน้ำอยู่แล้วทุก 3 ปี แต่เราต้องการตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมพิจารณารูปแบบร่องน้ำ เพราะคิดว่ารูปแบบเดิมนั้นไม่เหมาะสมแล้ว เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งระยะสั้น และระยะยาว



 

‘สุไลมาน ดาราโอะ’ ผู้พัฒนา ‘หาดปะนาเระ’ เป็นชุมชนท่องเที่ยว และปัญหาขยะที่่ต้องจัดการ
‘สุไลมาน ดาราโอะ’ ผู้พัฒนา ‘หาดปะนาเระ’ เป็นชุมชนท่องเที่ยว และปัญหาขยะที่่ต้องจัดการ
‘สุไลมาน ดาราโอะ’ ผู้พัฒนา ‘หาดปะนาเระ’ เป็นชุมชนท่องเที่ยว และปัญหาขยะที่่ต้องจัดการ
‘สุไลมาน ดาราโอะ’ ผู้พัฒนา ‘หาดปะนาเระ’ เป็นชุมชนท่องเที่ยว และปัญหาขยะที่่ต้องจัดการ
‘สุไลมาน ดาราโอะ’ ผู้พัฒนา ‘หาดปะนาเระ’ เป็นชุมชนท่องเที่ยว และปัญหาขยะที่่ต้องจัดการ
‘สุไลมาน ดาราโอะ’ ผู้พัฒนา ‘หาดปะนาเระ’ เป็นชุมชนท่องเที่ยว และปัญหาขยะที่่ต้องจัดการ
‘สุไลมาน ดาราโอะ’ ผู้พัฒนา ‘หาดปะนาเระ’ เป็นชุมชนท่องเที่ยว และปัญหาขยะที่่ต้องจัดการ
‘สุไลมาน ดาราโอะ’ ผู้พัฒนา ‘หาดปะนาเระ’ เป็นชุมชนท่องเที่ยว และปัญหาขยะที่่ต้องจัดการ
‘สุไลมาน ดาราโอะ’ ผู้พัฒนา ‘หาดปะนาเระ’ เป็นชุมชนท่องเที่ยว และปัญหาขยะที่่ต้องจัดการ
เนื้อหาล่าสุด