Skip to main content

‘FeelTrip’ รวมโปรเจ็คท์เยาวชนค้นหา ‘ทุนท้องถิ่น’ สร้างการเรียนรู้สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

26 เมษายน 2567

องอาจ เดชา

 

การจัดกิจกรรม “Feel Trip” ขึ้นที่ชุมชน ‘โหล่งฮิมคาว’ บ้านมอญ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ปฏิบัติการต้นแบบ โดยมีน้องๆ เยาวชน กลุ่มแกนนําคนรุ่นใหม่จากหลายภูมิภาค หลายพื้นที่ทั่วประเทศ อาทิ พัทลุง สงขลา กระบี่ กรุงเทพฯ อยุธยา และเชียงใหม่ ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้ ได้ลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องราวของท้องถิ่นตัวเองผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ โดยเน้นย้ำให้ “เยาวชนคนรุ่นใหม่” ได้ขับเคลื่อนภูมิปัญญา องค์ความรู้ ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เกื้อกูลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บนฐานความเชื่อที่ว่า เราทุกคนต่างเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท ล้วนถือว่าเป็นพื้นที่การเรียนรู้บนความหลากหลาย ทั้งยังสามารถต่อยอดกลายเป็นสร้างเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไปอย่างมีคุณค่า

อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการสาธารณะศึกษา (Feel Trip) อธิบายว่า Feel Trip เป็นกิจกรรมของเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มาจากทั่วประเทศ ที่พยายามจะขับเคลื่อนเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ โดยที่มี ‘เมือง’ กับ ‘ชุมชน’ เป็นพื้นที่เรียนรู้ชีวิตผู้คน

“เราทํางานคลุกคลีแบบนี้มา 4-5ปี มีทั้งพื้นที่ปฏิบัติการต้นแบบ แล้วก็มีน้องๆ กลุ่มแกนนําที่สื่อสารเรื่องราวของบ้านตัวเองผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ จนออกดอกออกผล เลยเป็นที่มาของงานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่รวมตัวกันประมาณ 9-10 โปรเจ็คท์จากทั่วประเทศ จากพัทลุง สงขลา กระบี่ อยุธยา กรุงเทพฯ เชียงใหม่ มี 3 อําเภอ คือแม่วาง แม่อาย และแม่แจ่ม ทั้งหมดล้วนขับเคลื่อนบนฐานที่น้องๆ เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง เพราะเรามีความเชื่อว่า ทุกคนต่างเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง ทุกที่ทุกเวลา ทุกสถานการณ์ โดยที่มีเมือง ชุมชน และสังคมเป็นพื้นที่เรียนรู้ชีวิตของผู้คน”

กิจกรรม Feel Trip เน้นให้ทุกคนกลับไปสํารวจตรวจค้นเรื่องราวของตัวเอง ว่าอันไหนเป็น “ต้นทุน” หรือเป็น “ฐานปัญหา” เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและลงมือทำกิจกรรมในชุมชนได้อย่างเข้าใจ

“สิ่งสําคัญ คือ ต้องรู้จักตัวเองก่อน ซึ่งเราพบว่าระบบการศึกษาที่ผ่านมา อาจจะไม่ทําให้เขาเข้าใจเรื่องพวกนี้ ดังนั้น เราต้องสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ทําให้เขาเป็นเจ้าของ เขาจะรู้ว่าเขาคือใคร แล้วมันเชื่อมโยงกับสังคมแวดล้อมหรือว่าบริบทแวดล้อมเขาอย่างไร เมื่อเขาเข้าใจมันได้ บนฐานของการเรียนรู้ ซึ่งคีย์เวิร์ดสําคัญที่เราพูดเสมอก็คือ อํานาจของการเรียนรู้อยู่ในตัวเขา เมื่อเขามีอํานาจในการเรียนรู้ เขาจึงทําทุกอย่างบนความใคร่รู้ หรือ Passion ซึ่งเราเชื่อว่ามันคือแรงขับเคลื่อน ทําให้การเติบโตของคนมันเกิดขึ้นได้” อินทิรากล่าว

 


‘แปลงผักนุ้ยนุ้ย’ แปลงผักเล็กๆ ปลอดสารเคมี ฝีมือเด็กๆ จ.กระบี่  

 

หลายพื้นที่ หลายโปรเจ็คท์ที่นำมาเสนอแลกเปลี่ยนกัน ล้วนเชื่อมโยงกับเรื่อง “การเรียนรู้ด้วยตนเอง” และค้นหา “ทุนท้องถิ่น” เพื่อนำไปต่อยอดให้กลายเป็น “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยเฉพาะเรื่องทุนท้องถิ่นที่ล้วนมีอยู่ในแต่ละชุมชนอยู่แล้ว

อินทิรา บอกว่า แต่ละพื้นที่จะมีกระบวนการสํารวจตรวจค้นข้อมูลต่างๆ ทั้งเรื่องของฐานทรัพยากร ซึ่งจะไปเจอทุนวัฒนธรรมชุมชนจำนวนมาก อย่างเช่น พื้นที่ตําบลตลิ่งชัน อําเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ พบว่า มีพื้นที่ร้างเยอะมาก เพราะเคยเกิดสึนามิ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติหายไป 

แต่ขณะเดียวกัน ตอนที่โควิด-19 ระบาด เมื่อทุกคนต้องกลับมาสู่การอยู่ด้วยตัวเอง ถ้าไม่มีอาหาร หรือความมั่นคงทางอาหาร ก็จะมีปัญหาเยอะมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยการออกไปสํารวจข้อมูลทรัพยากรต้นทุนในพื้นที่ จนพบว่ามีพันธุ์พืชดั้งเดิมจำนวนมากที่กําลังจะสูญหาย และมีผักจํานวนไม่น้อยที่ยังมีอยู่ แต่ว่าไม่ถูกใช้ประโยชน์ น้องๆ เลยแปลงพื้นที่รกร้างหน้าบ้านให้กลายเป็นพื้นที่แปลงผัก และเรียกว่า “แปลงผักนุ้ยนุ้ย” เป็นภาษาใต้ แปลว่า แปลงผักเล็กๆน่ารักๆ

“แปลงผักเล็กๆ นี้ เกิดขึ้นโดยกระบวนการที่เด็กๆ เยาวชน บวกกับคนในชุมชน พ่อแม่ผู้ปกครอง แกนนําชุมชน หรือภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ทั้งศาสนา โรงเรียน รวมถึง รพสต.หรือท้องถิ่น เพื่อเอาต้นทุนพวกนี้ มาออกแบบใหม่ด้วยกัน ดังนั้น เด็กก็จะเข้าถึงข้อมูลของชุมชนร่วมกัน เอาข้อมูลที่เขาพบเจอต้นทุนต่างๆ มาวิเคราะห์สังเคราะห์  แล้วก็เลือกว่าเรื่องไหนที่เขาสนใจ ถ้าเขาสนใจทรัพยากรธรรมชาติด้านอาหาร เขาก็ทําแปลงผัก ร่วมกันสร้างสร้างสรรค์ทําให้แปลงผักมีดอกไม้ ผลไม้ พืชผักต่างๆ ก็จะปลูกสิ่งที่อยากกินและเก็บมาทําอาหาร และจะมีกองทุนเล็กๆ จากการนำพืชผักไปขาย กลายเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชนเล็กๆ เป็นกองทุนที่เด็กๆ เป็นเจ้าของ เพราะมาจากแรงกายแรงใจของเขา เด็กๆ จะมีไดอารี่ จดบันทึกการเติบโตของต้นไม้ พืชผักที่เขาเป็นคนดูแล ทุกคนสามารถบอกเล่าได้ว่า พืชผักมันมีคุณค่าความหมายอะไร เท่ากับว่าแปลงผักเล็กๆ นั้นเป็นสะพานทําให้เด็กๆ เชื่อมต่อตัวเอง สู่เรื่องราวของต้นทุนของชุมชนและเอาสิ่งนี้มาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม ทําไปทํามา จนยกระดับงานไปเรื่อยๆ”

ภายในงาน FeelTrip เราจึงพบเมนูอาหารที่โดดเด่นฝีมือน้องๆ จากแปลงผักนุ้ยนุ้ย คือ ข้าวยำ 7 สี ซึ่งทำมาจากข้าวและผักพื้นบ้านปลอดสารที่ปลูกเอง ซึ่งน้องๆ หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ชวนกันรังสรรค์เมนูอาหารใหม่ ๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากสวนครัวของตัวเอง และนำข้าวยำที่เป็นอาหารของภาคใต้มาทำให้ผู้ร่วมงานได้ทาน แล้วยังชวนให้รู้จักสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิดที่เป็นส่วนประกอบในเมนูอาหาร  

ครูตอ - จินดาหรา ตาวัน ผู้ริเริ่มแปลงผักนุ้ยนุ้ย เล่าว่า แปลงผักนุ้ยนุ้ย เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ซึ่งทุกคนไม่สามารถออกไปไหนได้ การหารายได้ในช่วงนี้ก็หยุดลง โรคซึมเศร้าอาจเข้ามา จึงปรึกษาที่บ้านว่า จะทำเรื่องนี้ดีไหม ตรงที่เราสามารถดูแลได้ตลอดเวลา จึงตัดสินใจว่าจะทำกับเด็กเพราะว่าทำงานกับโรงเรียนอยู่แล้ว และตั้งใจให้เป็นแหล่งอาหารที่ดีที่สุด เด็กๆ ก็จะได้อยู่กับธรรมชาติ ทำให้ได้ใช้เวลาว่างอย่างมีประโยชน์ และได้เรื่องของสุขภาพพ่วงเข้ามาด้วย เพราะปลูกผักปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์

จากแปลงผักนุ้ยนุ้ย กลายเป็นห้องเรียนสีเขียว มีเด็กๆ ที่เข้ามาเรียนรู้มาจากโรงเรียนบ้านปากหรา ด้วยเป็นโรงเรียนที่ครูตอสอนอยู่ และมีเด็กๆ กลุ่มอื่นเข้ามาเรียนด้วย จากการที่เราได้เข้าไปคุยที่โรงเรียนและพูดคุยกับผู้ปกครองถึงการทำโครงการ บอกถึงข้อดีของการปลูกผักปลอดสารพิษ การทำน้ำหมักใช้เอง การเร่งผล การทำจุลินทรีย์ไล่แมลง ซึ่งผู้ปกครองก็เห็นด้วย จนเกิดกระบวนการเรียนรู้สู่ชุมชน

“เรามองว่าแปลงผักนี้มีผลกับชุมชนแล้วประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ มีคนแวะเวียนมาบ่อย มีความแตกต่างจากแปลงผักทั่วไปของบ้านอื่น คือเป็นแปลงผักผสมผสาน ปลอดสารเคมี และมีความเป็นสมัยใหม่ ในตำบล 6 หมู่บ้านยังไม่เคยมีใครทำแปลงผักยกพื้น พลิกดินปลูกแบบนี้ ส่วนมากปลูกผักริมรั้ว ปลูกใส่กระถาง และลงดินกันมากกว่า ที่สำคัญ แปลงผักนุ้ยนุ้ย ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน การได้ทำโครงการนี้ทำให้เกิดความสุข ได้เห็นพัฒนาการของเด็ก ๆ จากการเรียนปนเล่น ได้เห็นการตั้งคำถาม เช่น ทำไมแมลงเต่าทองต้องมีจุด ทำไมหนอนชนิดนี้ถึงไม่กินใบไม้ ซึ่งเป็นคำถามที่เกิดจากการเรียนรู้กับธรรมชาติ โดยปกติอาจไม่มีการเรียนรู้เรื่องแบบนี้ เมื่อเด็กตั้งคำถามก็ทำให้คุณครูต้องเรียนรู้เพิ่มเพื่อหาคำตอบและเกิดการเปลี่ยนแปลงไปด้วย”

 


‘เล-คราฟต์-โหนด’ จาก จ.สงขลา

 

หลักสูตรวิถีชีวิตชุมชนวัดจันทร์ (เล-คราฟต์-โหนด) อ.สทิงพระ จ.สงขลา มีการจัดกิจกรรมเวิร์คช็อป การทำหุ่นเงาจากใบตาลโตนด ซึ่งเป็นการละเล่นในชุมชน มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ด้วย

ชุมชนวัดจันทร์ เป็นชุมชนที่มีต้นทุนมากมาย ทั้งเรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิต อาชีพ นำมาสู่การสร้างหลักสูตร “เล-คราฟต์-โหนด” ที่มี วิชาทะเล ชวนเรียนรู้ประมงพื้นที่บ้าน วิชาเคยกุ้ง-เคยปลา วิชาปลาแห้ง ห้องเรียนคราฟต์ วิชาจากลา วิชาว่างพื้นบ้าน วิชาหูหิ้วแก้วใบตาลโตนด วิชาหุ่นเงาใบตาลโตนด และ ห้องเรียนโหนด วิชาน้ำผึ้งโตนด วิชาน้ำผึ้งขี้ม้า วิชาน้ำผึ้งแว่น วิชาลูกตาลโหนด ทั้งหมดนี้ ยึดโยงกับวิถีชีวิตคนชุมชนวัดจันทร์ และเชื่อมโยงเข้ากับตัวชี้วัดมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องราวการเรียนรู้ทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดจากปราชญ์ชาวบ้านแทนที่จะเป็นครูหน้าห้องเรียน และได้นำการละเล่นพื้นบ้านจากไม้ไผ่อย่างไม้โถกเถก จากลาที่เป็นเสื้อกันฝนโบราณมาให้ลองสวมใส่ อีกทั้งยังเปิดห้องเรียนวิชาหุ่นเงาจากใบตาลโตนด ให้ทุกคนได้ลายวาด แกะลาย ฉายเงา เล่าเรื่องไปด้วยกัน

สมบัติ แก้วนวล จากห้องเรียนวิถีชีวิตชุมชนวัดจันทร์ เล่าว่า ใช้ทรัพยากรที่มีในชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ ทั้งในทุ่งนา ชุมชน และทะเล โดยเชิญชวนคนในชุมชนและผู้ที่สนใจเข้ามาร่วม จนกลายเป็นหลักสูตรห้องเรียนที่ทุกคนได้เรียนรู้จากชีวิตจริง

“ตอนนี้ เรามีทั้งห้องเรียนทะเล ให้เด็ก ๆ เริ่มต้นจากสำรวจพื้นที่ทะเล และอุปกรณ์ที่ใช้ในวิถีประมงต่าง ๆ โดยมีพี่ช้างและป้าห้องให้ความรู้เรื่องทะเล ตั้งแต่กระบวนการออกทะเล การวางกัด ระยะทางที่ออกไปในทะเล ช่วงเวลาการออกทะเล วิธีการทำเครื่องมือประมง อวนในชุมชนแต่ละชนิด ปัญหาที่เกิดขึ้นของชาวประมงในพื้นที่ขณะนี้ ความเชื่อของชาวเล วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำอาชีพประมง ช่างเรือ ลักษณะเรือที่ใช้ในชุมชน ฤดูกาลชาวเล ลักษณะท้องทะเลบ้านเรา ทิศในทะเล รวมไปถึงเรื่องอาหารชาวเล การแปรรูปอาหารทะเลจากชุมชน ซึ่งเรียนเกี่ยวกับการทำปลาแห้ง การทำเคยปลา เคยกุ้ง เป็นต้น”

นอกจากนั้น ยังมี ห้องเรียนโหนด ห้องเรียนนี้มี ป้าสุ ปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนคอยให้คำแนะนำ ทุกคนช่วยกันรวบรวมความคิดทั้งสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในห้องเรียนโหนด สิ่งที่เคยจัดกระบวนการเรียนรู้ไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่เคยจัด เช่น การทำทอฟฟี่จากน้ำผึ้งโตนด การจัดเก็บน้ำผึ้งโตนดแบบเหลว การทำน้ำส้มโหนด การหมักน้ำตาลสด

“ห้องเรียนโหนด เราจะมีการเรียนรู้เรื่องตาล คือ เอาทรัพยากรที่มีในชุมชนมาสร้างงาน กลายเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นเรียนรู้วิถีชุมชน เริ่มตั้งแต่การผลิตน้ำตาล การขึ้นตาลโตนด หรือแม้กระทั่งการนําใบตาลมาทำหลังคาบ้าน ก็จะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมร้อยกันในชุมชน ซึ่งห้องเรียนโหนด จะควบคู่ไปกับวิถีชีวิตการทำนา เหมือง และการเกษตรควบคู่ไปด้วย”

ห้องเรียนคราฟท์ เป็นห้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับงานทำมือทั้งหมด โดยมี ลุงอูด ปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนคอยให้คำแนะนำ เนื้อหาการเรียนรู้ที่ผ่านมา เช่น การทำว่าวพื้นบ้าน ตับจากใบตาลโตนด หนังตะลุงหุ่นเงาจากใบตาลโตนด ไม้โถกเถก จากลา (ร่มกันฝนจากใบตาล/ใบลาน) หูหิ้วแก้วจากใบตาลโตนด ของเล่นจากใบตาล โดยเมื่อได้ล้อมวงคุยกันวันนี้ มีการเสนอไอเดียเพิ่มเติมของห้องเรียนนี้ว่า อยากทำครกตำข้าว เครื่องมือประมงน้ำจืด รั้วจากทางโหนด (ก้านใบตาลโตนด) เป็นต้น

 


ART SCHOOL จ.พัทลุง

 

ในขณะที่กลุ่ม ART SCHOOL วัดขัน นาท่อม อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ก็ได้นำเวิร์คช็อปการทำลูกหวือ หรือ ลูกยางกังหันลม,เพ้นท์ลูกสะบ้า รวมไปถึงการแสดงมโนราห์ นาฏศิลป์ปักษ์ใต้ให้ผู้คนได้ชมกันด้วย

พรวลี ด้วงเอียด ถือว่าเป็นโมเดล ‘คนรุ่นใหม่คืนถิ่น’ เธอเพิ่งจบปริญญาตรีสาขาศิลปะการแสดง และกำลังเคว้งคว้างต่อการแสวงหาสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ซึ่งทางออก คือ การกลับบ้านเกิดที่ชุมชนวัดขัน นาท่อม เพื่อมาเรียนรู้และสร้างความคุ้นเคยใหม่ ไม่ต่างจากคนรุ่นใหม่อื่นๆ ภายใต้ชะตากรรมของระบบการศึกษาไทย

พรวลี เห็นว่าชุมชนยังขาดพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีอิสระปลอดภัยให้กับเด็กๆ ได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาศักยภาพ จึงเริ่มหาโอกาสเด็กได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยอาศัยความรู้และทักษะศิลปะทางการละคร โดยเฉพาะมโนราห์ นาฏศิลป์ปักษ์ใต้เป็นแกนหลัก จากการที่พัทลุงถือเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญ

ชุมชนวัดขัน นาท่อม ยังมีภูมิหลังเรื่องเล่าตำนานความเป็นมา ศาลสักการะ หิ้งบูชาไหว้เคารพตั้งบนเรือนให้เห็นประจักษ์อยู่ ทั้งมีครูมโนราห์ที่เป็นแบบอย่างให้กับเด็กๆ ได้ นอกจากสอนท่ารำตามแนวครูบาอาจารย์แล้ว ยังเปิดให้เด็กๆ ออกแบบประยุกต์ใหม่ให้ทันสมัยและสนุกขึ้นด้วย เมื่อได้รับการยอมรับมากขึ้นก็ได้เสนอแนวคิด Art School เข้าไปในโรงเรียน ซึ่งหน่วยงานภาคประชาสังคมท้องถิ่น ให้การสนับสนุนด้วยดี มอบทุนสนับสนุนให้ขยายการดำเนินงานจาก 2 ไปเป็น 4 หมู่บ้านในตำบลนาท่อม และเกิดแผนงานกับโรงเรียนนาท่อมให้เป็นกิจกรรมถาวรของโรงเรียน ในปีการศึกษา 2567

 


ชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้ กรุงเทพฯ

 

ชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้ ลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ก็เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรม หลายคนรู้จักหัวตะเข้ผ่านการมีตลาดเก่าริมน้ำ Street Art ในชุมชน แต่เด็กเยาวชนในพื้นที่เห็นประเด็นในพื้นที่ตนเองที่มากกว่านั้น โดยเฉพาะความสำคัญด้านอาหารและทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย เด็กเยาวชนจึงรังสรรค์เมนูอาหารใหม่ๆ และรื้อฟื้นเมนูอาหารดั้งเดิมที่เคยมีขึ้นมาอีกครั้ง เกิดเป็นการเรียนรู้ชุมชนที่นำอาหารมาเป็นสะพานเชื่อมโยงพื้นที่ภูมิปัญญาและคนหลายหลากวัย มาร่วมออกแบบกระบวนการเรียนรู้ชุมชนไปด้วยกัน เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้จักปราชญ์ในพื้นที่ส่งต่อให้เด็กในชุมชน จนเกิดวิทยากรจิ๋ว เด็กสามารถเล่าเรื่องสื่อสารชุมชนและพาทำ Workshop ที่เดิมทีปราชญ์ในพื้นที่เท่านั้นเป็นคนถ่ายทอดเล่าเรื่อง ต่อยอดเกิดเป็น เส้นทางเรียนรู้ “เมนูหัวตะเข้” และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของชุมชน ครั้งนี้เยาวชนจึงได้นำภูมิปัญญาของหัวตะเข้มาส่งต่อ ผ่านการ Workshop ทำลูกหึ่ง ที่มาจากการนำฝาขวดน้ำมาประดิษฐ์เป็นของเล่น และทำว่าวใบไม้ จากวัสดุธรรมชาติใกล้ตัว

 


อโยเดียคลับ จ.อยุธยา  

 

อโยเดียคลับ จ.อยุธยา  เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ เป็นการรวมตัวกันของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา ที่ร่วมกันสำรวจค้นหาอยุธยาในแง่มุมต่าง ๆ ที่มากกว่าการรับรู้ว่าอยุธยาคือเมืองมรดกโลก จนเกิดการตรวจค้นพื้นที่เมืองเก่าที่มากกว่าความเก่าแก่ แต่กลับเห็นปัญหามากมายที่ซุกซ่อนอยู่โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านการคมนาคม นั่นคือรถไฟฟ้าความเร็วสูง เกิดเป็นการนำฐานข้อมูลมาทำวงพูดคุยแลกเปลี่ยน เมื่อการพัฒนารุกคืบเข้ามาในย่านเมืองเก่า รถไฟฟ้าความเร็วสูงที่กำลังเกิดขึ้นในอยุธยาส่งผลต่อใครบ้างและพื้นที่ประวัติศาสตร์เก่าแก่จะเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร การตั้งคำถามต่อการพัฒนาพระนครศรีอยุธยาคือโจทย์ท้าทายที่เยาวชน อโยเดียคลับ ชวนคิดชวนมอง

การมาร่วมกิจกรรม Feel Trip Feel โหล่งฮิมคาว ครั้งนี้ จึงได้นำแผนที่อยุธยาที่ทำการสำรวจ และแผนการพัฒนารถไฟฟ้ามาแสดงเพื่อให้เห็นว่าการพัฒนานี้ส่งผลดี-เสียต่อคนในพื้นที่อย่างไร พร้อมกับชวนผู้คนออกแบบข้อเสนอใหม่ไปด้วยกัน

“พวกเราเชื่อว่าการขับเคลื่อนของพวกเรา ผ่านกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มเครือข่ายผู้ร่วมชะตากรรม ที่ต้องเผชิญความท้าทายจากรัฐ กำลังจะปรับเปลี่ยน เป็นการเดินทางเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ในการสร้างการเรียนรู้ที่ทุกเข้าถึงร่วมกันและขยับไปพร้อมกัน เพื่อผลักดันประเด็นสังคมที่ถูกกดทับ ขาดความใส่ใจจากรัฐ ให้เป็นเรื่องราวการเรียนรู้ของเด็ก ๆ คนรุ่นหลังที่สักวันหนึ่งจะเติบโต มาแทนที่คนรุ่นเราๆ”

 


โรงเรียนขยะลอแอะ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

 

น้องๆ จาก โรงเรียนขยะลอแอะ ชุมชนบ้านหนองเต่า ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ลงดอยมาเปิด Workshop สอนทำเตหน่าจิ๋ว เครื่องดนตรีของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ โดยภายในงาน ยังได้มาแสดงดนตรี เปิดตัวหนองเต้ามินิอัลบั้ม ดนตรีเตหน่าปกาเกอะญอ ให้ทุกคนได้ชมได้ฟังกันด้วย

โรงเรียนขยะลอแอะ เกิดจากแนวคิดของ ครูเก่อเส่ทู ดินุ คนรุ่นใหม่ชาวปกาเกอะญอ ที่ได้ชักชวนเด็กๆ ในชุมชนบ้านหนองเต่า ไปช่วยกันเก็บขยะที่ถูกทิ้งตามสองข้างทางบนดอย ซึ่งทำมานานนับสิบปีมาแล้ว

“ถ้าเราไม่ลงมือทำด้วยตนเองก่อน แล้วใครจะมาช่วยเรา ถ้าเราไม่เริ่มต้นลงมือทำวันนี้ แล้วเราจะช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ เรื่องสิ่งแวดล้อมกันได้ยังไง เราต้องใช้เวลาบ่มเพาะเด็กๆ ด้วยความรัก ความเข้าใจ และต้องใช้พลังข้างในอย่างมาก เพื่อที่จะปลูกจิตสำนึกแห่งความดีงาม จิตสำนึกแห่งการเสียสละให้กับเขาด้วย โดยการขยะมาทำเป็นเตหน่า และถ่ายทอดเป็นบทเพลงสื่อสารให้คนได้รับรู้เรื่องราวที่เรากำลังทำอยู่” เก่อเส่ทู บอกเล่าด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลแต่จริงจัง

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ของแต่ละโปรเจ็คนำมาแลกเปลี่ยนร่วมด้วย เช่น หัตถกรรมทำมือปักผ้าปกาเกอะญอ อ.แม่แจ่ม, ข้าวปุกชาติพันธุ์ เมืองงาม ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

 

ชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว และนายกสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) เปิดเผยว่า กิจกรรม Feel trip นี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของชุมชนโหล่งฮิมคาว เราเปิดกว้างเพราะอยากให้มีเครือข่ายต่างๆ เข้ามาจัดกิจกรรมในพื้นที่ คนมาจัดกิจกรรมใช้พื้นที่เราให้เป็นประโยชน์ คนในชุมชนเองก็ได้เรียนรู้ในกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ไปด้วยกัน

“เป็นกิจกรรมที่เราให้ความสนใจตั้งแต่ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว Feel Trip ถือเป็นการเดินทางเพื่อการเรียนรู้ที่มีความสุขด้วย ซึ่งเข้าคอนเซ็ปต์มากกับชุมชนโหล่งฮิมคาวของเรา เป็นการนำเสนอการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน 9-10 กลุ่มจากภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือผ่านการ work shop การแสดงหุ่นเงา มโนราห์ และเตหน่า นอกจากนั้น ยังมีการเดินทางไปเรียนรู้ชุมชนโหล่งฮิมคาวกันอีกด้วย”

Feel trip feel โหล่งฮิมคาว ครั้งนี้ จึงถือเป็นการเรียนรู้ใหม่ที่เรียกว่า “สาธารณะศึกษา” ที่ให้การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ที่ทุกคนสามารถออกแบบการศึกษาได้เอง เรียนรู้ด้วยตัวเอง สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาตลอดชีวิต ซึ่งเราหวังว่ากระแสนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการศึกษาในอนาคตและการกระจายอำนาจการจัดการศึกษามาให้ชุมชน ท้องถิ่นและสังคม ให้สามารถจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของตนเอง


ข้อมูลประกอบ
เฟสบุ๊กเพจ Feel Trip 
เฟสบุ๊กเพจ วิถีชีวิตชุมชนวัดจันทร์บ้านฉัน 
เฟสบุ๊กเพจ แปลงผักนุ้ย นุ้ย

ชวนมารู้จัก 9 workshop โปรเจกต์การเรียนรู้ของเยาวชน ภายใต้โครงการสาธารณศึกษา Feel Trip ที่นำมาเปิดพื้นที่ในมหกรรม Feel Trip Feel โหล่ง(ฮิมคาว),สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน Child and Youth Media Institute 27 กุมภาพันธ์ 2567 


 

‘FeelTrip’ รวมโปรเจ็คท์เยาวชนค้นหา ‘ทุนท้องถิ่น’
‘FeelTrip’ รวมโปรเจ็คท์เยาวชนค้นหา ‘ทุนท้องถิ่น’
‘FeelTrip’ รวมโปรเจ็คท์เยาวชนค้นหา ‘ทุนท้องถิ่น’
‘FeelTrip’ รวมโปรเจ็คท์เยาวชนค้นหา ‘ทุนท้องถิ่น’
‘FeelTrip’ รวมโปรเจ็คท์เยาวชนค้นหา ‘ทุนท้องถิ่น’
‘FeelTrip’ รวมโปรเจ็คท์เยาวชนค้นหา ‘ทุนท้องถิ่น’