Skip to main content

‘ปายคลีนแอร์’ อากาศสะอาดเพื่อการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

1 กุมภาพันธ์ 2567

องอาจ เดชา

 

 

“ปาย” แหล่งท่องเที่ยวในหุบเขาที่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติรู้จักกันทั่วโลก เมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนอันงดงาม 

อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเมืองที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือ รองจากจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย แต่หลายฝ่ายเริ่มกังวลมากขึ้น เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในเขตพื้นที่ภาคเหนือของไทยเผชิญวิกฤตปัญหาหมอกควันไฟป่าเกิดขึ้นประจำทุกปี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชุมชน และการท่องเที่ยวอย่างหนัก ทำให้หลายองค์กรหลายภาคส่วนพยายามช่วยกันหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

 

'ปายคลีนแอร์' เพื่อการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โครงการ “ปายคลีนแอร์” (Pai Clean Air) อากาศสะอาดสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการนำร่องเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ และกระตุ้นการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยร่วมมือกับโครงการวิจัย “กลยุทธ์การตลาดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์สำหรับนักท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน” ซึ่งมี จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นหนึ่งในพื้นที่วิจัย โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 

โครงการปายคลีนแอร์ ยังทำงานร่วมกับภาครัฐ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน อาทิ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  เชียงใหม่ สมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน ตำรวจท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน สาธารณสุขอำเภอปาย เทศบาลตำบลปาย องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงใต้ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวปาย โรงเรียนปายวิทยาคาร หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน มูลนิธิปายซิดลิงส์ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่พำนักระยะยาวในพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างการรับรู้ด้านการลดปัญหาหมอกควัน กระตุ้นการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

กิจกรรมหลักของโครงการ ได้แก่ การแนะนำแอปพลิเคชัน “ZERO CARBON” สำหรับการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในกิจกรรมท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น มาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (TAT STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating) กิจกรรมสำรวจดินและปุ๋ยผ่านประสาทสัมผัส ประโยชน์ของดิน โดยมูลนิธิ Pai Seedlings กิจกรรมสาธิตการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกิจกรรมปายไม่เผา เราทำปุ๋ย รวมถึงการจัดเวทีเสวนา Pai Clean Air อากาศสะอาด สร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ดร.กาญจนา  สมมิตร หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า โครงการวิจัยปายคลีนแอร์ เกิดจากปรากฏการณ์ช่วงฤดูหมอกควันในภาคเหนือ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอปาย และส่งผลต่อสุขภาพทั้งกับนักท่องเที่ยวที่พำนักอยู่ระยะยาวและประชาชนในพื้นที่ 

ปณต ประครองทรัพย์ สมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ กล่าวว่า 5 เทรนด์สำคัญที่สนับสนุนแนวความคิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบในปี 2024 ประกอบด้วย

 

  1. Gastronomy Low Carbon : คนเริ่มมองหาอาหารท้องถิ่นที่หาวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย และหาได้จากในพื้นที่ 
  2. Carbon Footprint : การตระหนักถึงการท่องเที่ยวที่ช่วยลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการตระหนักถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ งดการใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนการใช้กล่องโฟม เป็นปิ่นโตแบบวนใช้ซ้ำได้  
  3. Volunteer Tourism : กิจกรรมง่ายๆ ที่สามารถให้นักท่องเที่ยวสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ เพื่อสร้างคุณค่าทางการท่องเที่ยว 
  4. Tour Link : เกณฑ์ผู้ประกอบการใน Tourism Supply Chain เป็นมาตรฐานกาคท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั่วโลก
  5. Luxury Tourim ในรูปแบบที่ต่างจากเดิม ในแง่ของประสบการณ์ท้องถิ่น มี Local Community ที่เข้ามาร่วมเติมเต็มประสบการณ์ให้กับนักท่องเที่ยว

 

ดร.กาญจนา กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันมีต้นเหตุจากการเผาเศษซากวัสดุการเกษตรและปัญหาไฟป่าในพื้นที่ แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนได้ และจากการประชุมระดมความเห็นจากผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวผู้พำนักระยะยาวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่พบว่า การสร้างความตระหนักในปัญหาหมอกควันและการลงมือทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง อาจสามารถจุดประกายและส่งแรงกระเพื่อมไปยังชุมชนพื้นที่ให้เห็นปัญหาการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรรวมถึงปัญหาไฟป่าในพื้นที่ได้

สอดคล้องกับ สินสมุด พรมสุวรรณ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวปาย กล่าวว่า ปัญหาหมอกควัน ถือเป็นปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งทางสมาคมธุรกิจมีการผลักดันการดำเนินงาน ให้ความรู้กับผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจภายใต้การคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น

หัวหน้าโครงการวิจัยระบุว่า ทุกฝ่ายเชื่อว่ากิจกรรมการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการดูแลแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีอากาศสะอาดเพื่อทุกคนในอำเภอปายและพื้นที่ใกล้เคียง 

รายงานสถานการณ์มลพิษของไทย ประจำปี 2565 โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่า สถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือของไทยซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน โดยในปี 2565 ช่วงวิกฤตไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ค่า PM2.5 เฉลี่ยอยู่ 30 มคก./ลบ.ม และมีจำนวนวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานรวม 70 วัน มีจุดความร้อนสะสม (hotspot) 23,913 จุด 

รายงานของกรมควบคุมมลพิษ เผยว่า ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ มีพื้นที่เผาไหม้รวม 3.183 ล้านไร่ โดย 5 จังหวัดที่มีพื้นที่เผาไหม้สูงสุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน รองลงมา คือ เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์

“เราเชื่อว่ากิจกรรมนี้ จะส่งผลดีต่อวิถีชุมชนและการท่องเที่ยว และโครงการปายคลีนแอร์ (Pai Clean Air) จะเป็นโครงการนำร่องในการจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ด้านการลดปัญหาหมอกควันและการกระตุ้นการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีเป้าหมายหลักคือการสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหมอกควันและการส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่ให้เห็นเป็นรูปธรรม ทั้งนี้จากการแก้ปัญหาหมอกควันด้วยกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในไร่นา และใบไม้แห้งในป่ามาทำปุ๋ยอินทรีย์หมักแบบไม่พลิกกลับกอง การทำแนวกันไฟ การเก็บเมล็ดพันธุ์พืชพื้นถิ่นในป่ามาเพาะต้นกล้าเพื่อปลูกเพิ่มเติม เพิ่มพื้นที่สีเขียว ล้วนเป็นกิจกรรมที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เพื่อลดต้นทุนปุ๋ย บำรุงดิน ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ และยังเพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ” ดร.กาญจนา กล่าว

 

"โครงการปายคลีนแอร์ (Pai Clean Air) จะเป็นโครงการนำร่องในการจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ด้านการลดปัญหาหมอกควันและการกระตุ้นการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีเป้าหมายหลักคือการสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหมอกควันและการส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่ให้เห็นเป็นรูปธรรม"

 

สอดคล้องกับ ดร. แสนวสันต์ ยอดคำ จากคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ร่วมโครงการ เสนอแนวทางในการลดปัญการทำลายเศษซากวัสดุการเกษตร โดยการนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง จะสามารถช่วยลดการเกิด P.M 2.5 ตั้งแต่ต้นทาง ด้วยวิธีการที่ง่าย ต้นทุนต่ำ และได้คุณภาพสูงสุด โดยนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรร่วมกับมูลสัตว์ ในสัดส่วน 3:1 ทำให้เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาหมอกควัน ทำให้เกิดอากาศสะอาดได้อีกทางหนึ่ง

ในส่วนของชุมน กฤษณา จินายน ฟิลิปส์ ตัวแทนชุมชนกาดเสาร์ล้อมสวน กล่าวว่า อยากให้ปายเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ภายใต้เงื่อนไขของความสะอาด การใช้วัสดุธรรมชาติไม่น้อยกว่า 50% 

ดร.กาญจนา หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวยังสามารถพัฒนาเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัคร (Volunteer Tourism) ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากปัญหาโลกเดือดที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่  อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) ซึ่งถือเป็นเทรนด์กิจกรรมการท่องเที่ยวสำคัญที่กำลังเติบโต ที่สามารถคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

 

ปายคลีนแอร์
ปายคลีนแอร์
ปายคลีนแอร์
ปายคลีนแอร์
ปายคลีนแอร์
เนื้อหาล่าสุด