Skip to main content

‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ ภูมิปัญญาของเล่นพื้นบ้าน และนวัตกรรมสร้างสรรค์

29 พฤศจิกายน 2566

องอาจ  เดชา

 

“โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้” เป็นอีกหนึ่งพื้นที่การเรียนรู้ ที่เราได้ไปเยือนกัน ตั้งอยู่ในหมู่บ้านป่าแดด ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่การเรียนรู้ ที่ทุกคนเข้ามาเรียนรู้แล้ว "มีความสุข สนุกสนาน เบิกบาน มีชีวิตชีวา"

เดิมที ใช้ชื่อว่า ‘พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ เกิดจากการรวมตัวของ กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ในบ้านป่าแดดราวไม่กี่คน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2540 โดยใช้พื้นที่สาธารณะบริเวณหน้าวัดป่าแดด เป็นจุดเริ่มต้น จากการพูดคุยเรื่องราวความหลังครั้งเก่าของแต่ละคน และค้นพบว่าความสุขสนุกสนานจากการเล่นของเล่นในวัยเยาว์ นั้นมีเรื่องราวความทรงจำอันงดงาม และความประทับใจมากมาย จึงเป็นที่มาของการนำคนเฒ่าคนแก่ออกมาเล่าขานผ่านของเล่นพื้นบ้าน ให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง

ต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ ริเริ่มก่อตั้งขึ้นโดยพ่อปุ๊–วีรวัฒน์กังวานนวกุล ผู้อำนวยการโรงเล่นเรียนรู้ นักการศึกษา นักพัฒนาสังคม และยังเป็นคุณพ่อที่จัดการศึกษาทางเลือกในรูปแบบโฮมสคูลให้กับลูกชายสองคนอีกด้วย โดยเขามองว่า “เด็กเติบโตได้ด้วยการเล่น” การเล่นไม่เพียงแต่จะให้ความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังทำให้เขาและครอบครัวได้เติบโตไปพร้อมๆ กันด้วย โดยการรื้อฟื้นและถ่ายทอดภูมิปัญญาจากคนรุ่นเก่าในชุมชนไปสู่ผู้เรียนรุ่นใหม่ และขยายพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ไปในหลายๆ พื้นที่ หลายๆ ชุมชน

ภารกิจหลักๆ ของโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ที่มุ่งเน้นก็คือ การรักษาของเก่า พัฒนาของใหม่และสร้างพื้นที่เล่นผ่านกระบวนการเรียนรู้ เขาเชื่อว่า การเล่นสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน และช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ทั้งในครอบครัวและในชุมชนได้

คนเฒ่าคนแก่ภูมิใจ ที่ยังมีคนมองเห็นคุณค่า ในขณะที่เด็กๆ สนุกมีชีวิตชีวา ได้เรียนรู้ผ่านการเล่น

"โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้" จึงเป็น "เลิร์นนิ่งสเปซ" ที่เต็มไปด้วย "ของเล่นพื้นบ้าน" ที่ทำผลิตภัณฑ์จากไม้ ของเล่นนวัตกรรม มีพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กมาเรียนรู้ และมีนิทรรศการเล่นได้ โดยเปิดบริการทุกวันเสาร์-อาทิตย์ให้เด็กๆ เข้ามาเล่นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีทั้งเด็กในชุมชน เด็กโฮมสคูล เด็กนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ เด็กๆ นักเรียนจากต่างจังหวัด รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างพากันเดินทางมาเล่นและเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง

ภายในพื้นที่โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้มีทั้งสนามเด็กเล่น ให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่น ปีนป่าย ภายในโรงเล่น ยังเต็มไปด้วยพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลาย มีทั้งมุมอ่านหนังสือ มุมเล่นบอร์ดเกม ห้องปฏิบัติการทดลองการเรียนรู้ และที่ขาดไม่ได้คือ มีของเล่นพื้นบ้าน ที่พ่อเฒ่าแม่เฒ่าช่วยกันรื้อฟื้น ลงมือทำ และถ่ายทอดส่งต่อให้ลูกหลาน ซึ่งมีของเล่นพื้นบ้านมากมาย เช่น ลูกข่างโว้ ลูกข่างสะบ้า สัตว์ล้อต่างๆ สัตว์ชัก พญาลืมแลง พญาลืมงาย เต่ากระต่ายวิ่ง กำหมุน จานบิน โหวด อมรเทพ ครกมอง ควายกินหญ้า งูดูด คนตำข้าว กังหันลม เป็นต้น

ภูมิปัญญาของเล่นพื้นบ้าน ถือเป็นเครื่องมือในชุมชนชิ้นหนึ่ง ที่เป็นตัวเดินเรื่องเพื่อนำไปสู่การพัฒนาในเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม การอยู่ร่วมกัน นิทานพื้นบ้าน วิทยาการจัดการ การออกแบบสร้างสรรค์ ฯลฯ

ในพื้นที่อีกส่วนหนึ่งของโรงเล่น ได้ถูกนำมาจัดแบ่งเป็นร้านขายของผลิตภัณฑ์จากชุมชนอีกด้วย อาทิ ของเล่นของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ผ้าพันคอ ผ้าขาวม้า กระเป๋า เสื้อยืด โปสการ์ด พวงกุญแจ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร หนังสือผ้า เป็นต้น ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งยังแบ่งมาเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

 

กว่าจะมาเป็นโรงเล่นพิพิธภัณฑ์เล่นได้

วีรวัฒน์ บอกเล่าว่า กว่าจะมาเป็นโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ เราต้องเริ่มต้นเรียนรู้ วิเคราะห์ชุมชน ลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพราะว่า ทุกชุมชนนั้นเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ผู้คน ภูมิปัญญาและความรู้ อยู่รอบตัวเรา

“จำได้ว่า เราเริ่มทํางานพร้อมๆ กับการปฏิรูปการศึกษา ปี 2542โน่นเลยนะ ตอนนั้น คนมารู้จักของเล่นพื้นบ้าน ผ่านกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ พอรู้จักผ่านสื่อ คนเห็นก็นึกว่าภูมิปัญญามาจากคน แต่พอเรามองเรื่องภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้ ถ้าไปยึดติดที่ตัวบุคคล การเรียนรู้จะไม่เกิด เพราะว่าจริงๆ แล้วเบื้องหลังของตัวบุคคลนั้น มันมีเรื่องอื่นๆ อีก เราเลยพยายามถอดรหัสให้ทุกชุมชนนําไปใช้ แล้วสามารถสร้างพื้นที่แบบโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นที่อื่นๆ ได้ เราก็ถอดรหัส แล้วพบว่า ตัวของเล่นพื้นบ้านนั้น นอกจากคนแล้ว มันมีองค์ประกอบอื่นๆ อีก อันแรกก็คือตัววัสดุท้องถิ่นในธรรมชาติ”

วีรวัฒน์ จึงเริ่มต้นด้วยการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ใกล้ชุมชน เอาไว้รองรับการทำของเล่นพื้นบ้านขึ้นมา
“นอกจากเรามีผืนป่าใกล้ ๆ โรงเล่นแล้ว  เรายังมีการปลูกป่าขยายเพิ่ม เพื่อเป็นเหมือนพื้นที่ทดลอง ผมคิดว่า เวลาเราเรียนวิทยาศาสตร์ ก็ต้องมีห้องทดลอง แต่ว่าพอเราทําเรื่องสิ่งแวดล้อม กลับไม่มีห้องให้ทดลอง ก็จะพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมในรูปแบบหนึ่ง เราคิดว่า เอ๊ะ ถ้างั้นมาปลูกป่า เรามีหมากไม้หลายชนิด สมมุติเราทดลองปลูกพืชหลากหลายชนิด ก็สามารถนํากลับมาใช้ได้ เรื่องพวกนี้ ถ้าพูดกันอย่างเดียวแล้วไม่ลงมือทํา มันก็อยู่บนกระดาษอย่างเดียว เราจึงปลูกต้นไม้ตั้งแต่ปี 2554 วันนี้ผ่านมาสิบกว่าปี ผืนป่าที่เราปลูก มีไม้หลากหลาย แล้วใช้งานได้จริง ตามที่เราคิดวางแผนไว้ ก็มีทั้งไม้เนื้อแข็ง ไม้เนื้ออ่อน ไม้ไผ่ เป็นไม้หลักๆ ดังนั้น เวลาพูดกับเด็กรุ่นใหม่ พอพูดถึงเรื่องไม้ แต่ละคนก็มีจินตนาการ หรือมักตีความแตกต่างกัน แต่เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ เราพบว่าการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า กับธรรมชาติ ตาได้เห็น มือได้จับสัมผัส ได้ดมกลิ่น ได้โอบกอดทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติ โดยกระบวนการแบบนี้ทําให้เด็กได้ซึมซับ ได้สัมผัส ได้สนุกกับธรรมชาติ มันกลายเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าของเด็กๆ แต่ละคนเป็นอย่างมาก”

“นอกจากเรามีผืนป่าใกล้ ๆ โรงเล่นแล้ว  เรายังมีการปลูกป่าขยายเพิ่ม เพื่อเป็นเหมือนพื้นที่ทดลอง ผมคิดว่า เวลาเราเรียนวิทยาศาสตร์ ก็ต้องมีห้องทดลอง แต่ว่าพอเราทําเรื่องสิ่งแวดล้อม กลับไม่มีห้องให้ทดลอง ก็จะพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมในรูปแบบหนึ่ง เราคิดว่า เอ๊ะ ถ้างั้นมาปลูกป่า เรามีหมากไม้หลายชนิด สมมุติเราทดลองปลูกพืชหลากหลายชนิด ก็สามารถนํากลับมาใช้ได้ เรื่องพวกนี้ ถ้าพูดกันอย่างเดียวแล้วไม่ลงมือทํา มันก็อยู่บนกระดาษอย่างเดียว เราจึงปลูกต้นไม้ตั้งแต่ปี 2554 วันนี้ผ่านมาสิบกว่าปี ผืนป่าที่เราปลูก มีไม้หลากหลาย แล้วใช้งานได้จริง ตามที่เราคิดวางแผนไว้ ..."

 

วีรวัฒน์ บอกว่า ปกติเราบอกว่าเด็กต่างจังหวัดนั้นได้เปรียบ เพราะว่ามีต้นทุน มีป่าอยู่ใกล้ๆ แต่ในความเป็นจริง เด็กต่างจังหวัดกลับชอบเดินเข้าห้างมากกว่า ในขณะที่เด็กกรุงเทพฯ อยากเดินป่ามากกว่า กลายเป็นสวนทางกัน

“ทําอย่างไรถึงจะให้เด็กในชุมชน รู้สึกรักแล้วหวงแหน และมองเป็นการเรียนรู้ได้ รู้ถึงคุณค่าประโยชน์ ไม่ใช่มองเป็นเรื่องใกล้ตัว จนไม่เห็นคุณค่าอะไรอย่างนี้ ให้เปลี่ยนมาเป็นร่วมกันใช้ธรรมชาติร่วมกันรักษา ร่วมกันฟื้นฟูด้วย เพราะว่าธรรมชาติของเราหลายส่วนถูกทําลาย จำได้ว่า ตอนที่เข้ามาอยู่ตอนแรกๆ ยังมีการลักลอบตัดไม้ทําลายป่าอยู่ ณ ตอนนั้นนะครับ แต่ตอนนี้ ไม่มีการตัดไม้แล้ว”

“ตัวเครื่องมือ” ทําให้เกิดของเล่นพื้นบ้าน

วีรวัฒน์ เล่าว่า ตัวเครื่องมือก็มีความสําคัญ แน่นอน เพราะว่ายุคแรกๆ ที่เราทําของเล่น เราใช้มีดเหลาเล่มเดียว ใช้เลื่อย ใช้อุปกรณ์เหล่านี้นั่งทํากับคนเฒ่าคนแก่ 

“เรารู้จักผู้สูงอายุ พ่ออุ้ยแม่อุ้ยบ้านไหน มีเครื่องมือที่เหน็บไว้ฝาผนังบ้าน เราก็สันนิษฐานว่าหลังนั้นต้องเป็นจอมยุทธ์ พอจะทํางานคราฟท์ได้แน่ๆ อันนี้เป็นข้อสังเกตของคนทํางานว่าต้องมีฝีมือ คนไหนไม่มีเครื่องมือ อาจจะไม่มีทักษะตรงนี้ แต่ระยะยาวต่อมา มีการพัฒนาแล้ว ความรู้เหล่านี้มันเติมเต็มกันได้”

 

ภูมิปัญญา สามารถถ่ายทอดความรู้ส่งต่อกันได้

วีรวัฒน์ บอกว่า สถานการณ์ของสังคมไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มักถูกทําให้เชื่อและถูกทําลายมากกว่าที่จะส่งเสริม ดังนั้น ถ้าเราใส่หมวกนักการศึกษา เราจะสงสัยว่า นี่ใช่การเรียนรู้หรือไม่บางทีมันจึงไม่ได้ต่างอะไรกับการท่องจําในระบบ แต่พอเราลงมือทำ เด็กเราพัฒนาของเล่นหรือว่าเราจินตนาการที่ทําของเล่นไม่เหมือนกับผู้สูงอายุได้ ซึ่งตนมองว่า นี่แหละที่กลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ

“ยกตัวอย่าง ปัจจุบัน ภายในโรงเล่น เด็กได้ทดลองทําเครื่องสามมิติ หรือเครื่องโฮโลแกรม ที่ภาพออกมาเป็นสามมิติ อันนี้ถือว่าเป็นการต่อยอดนวัตกรรม ตอนที่เราพัฒนาขึ้นมายุคแรกๆ ก็พัฒนาผ่านการเล่น ทุกคนก็ไม่เชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ภูธรแบบนี้ จะทําได้เหรอ เครื่องโฮโลแกรม ซึ่งเราเริ่มต้นการทดลองจากลังกระดาษ แต่ถ้าเรามองว่าเป็นแค่ของเล่น เล่นแล้วทิ้งไป มันก็จะจบแค่นี้ แต่พอเรามองว่า นี่คือการเรียนรู้ แล้วเราได้รับโอกาสต่อเนื่อง ก็จะต่อยอดการเรียนรู้ จนกลายมาเป็นโฮโลแกรม  นี่คือการพัฒนาคน คืองานวิจัยและพัฒนา เรื่องพวกนี้ทั้งชุมชน ทั้งประเทศเราต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้น”

วีรวัฒน์ บอกอีกว่า ต่อมา ทางพิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นที่ อ.เชียงแสน ให้ทุนเรามาตั้งต้น เอามาทดลองทําโฮโลแกรม เป็นเครื่องฉายภาพคนสูบฝิ่น เราก็ไปถ่ายภาพคนสูบฝิ่น แล้วก็ทํามาเป็นเครื่องโฮโลแกรมเครื่องนี้พอมองลอดช่องเข้าไปก็จะเห็นภาพสามมิติ เด็กๆ เห็น ก็เกิดการเรียนรู้

“ผมมองว่า นี่คือกระบวนการวิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ การวิจัย ซึ่งผมคิดว่าหัวใจสําคัญก็คือ ทํายังไงถึงจะเกิดกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ ก็ต้องถกเถียงกันบนกระดาษ แล้วผ่านห้องปฏิบัติการ สิ่งของพวกนี้ มันไม่ได้แค่เก็บเพื่อจัดแสดงอย่างเดียวนะ แต่มันถูกเอามาทดลอง และใช้งานได้จริง”

วีรวัฒน์ บอกว่า ดังนั้น ของเล่นพื้นบ้านทุกชิ้น รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จัดวางไว้ในโรงเล่น เราพยายามออกแบบให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ปลายเปิด ที่ทุกชุมชนน่าจะมีและทํากันขึ้นมาเอง คือเราไม่ได้อยากให้คนเขามาเที่ยวที่นี่เยอะๆ หรือเข้ามาใช้บริการบ่อยๆ แต่อยากให้เข้ามาแล้วกลับไปคิด ไปลงมือทําเพราะเราคิดว่า ถ้าเราทําได้ ใครๆ ก็ทําได้

“เด็กก็คือเด็ก หมายถึงว่า เขาก็ไม่ได้มีประสบการณ์ ไม่ได้ถนัด แต่เขาก็ทดลองทําตัวนี้เจ็ดวัน และสิ่งที่ได้นอกจากทั้งความรู้ ทักษะ ความอดทน ความภูมิใจ ผมว่าทุกเรื่องมันตอบคําถามโดยตรงนะเวลาที่เด็กคนไหนก็ตามลงมือทําแล้ว เขามีความพยายาม มีความมุ่งมั่น ลงมือทำ เพราะความสําเร็จมันไม่ได้ด้วยมือเปล่า นับมูลค่าไม่ได้ อย่างเช่น เด็กชวนกัน มาทํามุมนี้ เป็นมุมสนามเด็กเล่นกันดีไหม แต่เราต้องฟังเสียงเขานะครับ สุดท้ายก็กลายเป็นมุมโปรดที่เด็กๆ มาลงมือทําของเล่นกัน หลายชิ้นเด็กๆ ก็ลงมือทําเอง เขาก็ใช้ทักษะแบบของเขา มีชุดฟาร์ม มีชุดอะไร เอามาผสมผสาน ผมคิดว่าเวลาเด็กมาเล่นของเล่นที่เขาทำ เขาก็รู้สึกภูมิใจ”

จะเห็นได้ว่า ผลงาน ฝีมือของเด็กๆ ที่ลงมือทำหลายๆ ชิ้น สามารถต่อยอดต่อไป จนกลายเป็นโมเดลธุรกิจได้

“มันเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น เราชวนเด็กไปดูต้นไม้ในป่าที่ปลูกไว้ เด็กดูต้นไม้ ตามสมมุติฐาน ตั้งโจทย์ปัญหา แล้วก็หาวิธีแก้ปัญหา ก็ออกมาเป็นของเล่นพวกนี้ แล้วในที่สุด มันก็เป็นโปรเจกต์ยาวๆ กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ทดลองขาย เป็นโมเดลธุรกิจจริงๆ มันได้เรียนรู้ ทั้งคณิตศาสตร์หรือเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการ เพื่อค้นหาความถนัดในอาชีพของเขาในโลกอนาคตได้เลย ซึ่งไม่ใช่ทําแต่ของเล่นนะ แต่ผมคิดว่า พวกเราในฐานะนักการศึกษา เราก็มองผลเป็นขั้นๆ ในแต่ละช่วงวัย ไม่ใช่บอกว่าเด็กเล่นแล้วต้องเป็นอาชีพ เด็กเล่นแล้วต้องทําผลิตภัณฑ์ แต่ผมคิดว่าให้เขาสนุกก่อน ให้เขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แล้วก็บ่มเพาะไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเร่งให้โต แต่ให้เป็นไปตามธรรมชาติของเขา แต่ว่าวันหนึ่ง ถ้าเขาอยากทดลองทําต่อ อยากทดลองขายต่อ อยากทดลองเอาไปให้เพื่อนเล่นต่อ ผมว่าวันนั้นแหละ ที่เราต้องทําหน้าที่สนับสนุนพวกเขา ให้มีการรักษาของเก่า พัฒนาของใหม่ได้จริง”

“มันเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น เราชวนเด็กไปดูต้นไม้ในป่าที่ปลูกไว้ เด็กดูต้นไม้ ตามสมมุติฐาน ตั้งโจทย์ปัญหา แล้วก็หาวิธีแก้ปัญหา ก็ออกมาเป็นของเล่นพวกนี้ แล้วในที่สุด มันก็เป็นโปรเจกต์ยาวๆ กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ทดลองขาย เป็นโมเดลธุรกิจจริงๆ มันได้เรียนรู้ ทั้งคณิตศาสตร์หรือเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการ เพื่อค้นหาความถนัดในอาชีพของเขาในโลกอนาคตได้เลย

ของเล่นเป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัย

วีรวรรณ  กังวานนวกุล หรือครูจิ๋ว นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ เล่าว่า เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์ต้องมีการเรียนรู้ และการเรียนรู้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ โรงเล่นที่นี่ เราจึงเน้นการเล่นโดยใช้ของเล่นเป็นตัวกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัย เป็นพื้นที่เปิดสำหรับทุกคนที่มาร่วมกันดูแลเด็กๆ

“เราเน้นให้ที่นี่เป็น Learning Space Incubation เป็นพื้นที่บ่มเพาะการเรียนรู้ของทุกคนมีการออกแบบโปรแกรมพื้นที่ความผูกพัน ขยายพื้นที่เล่นเพื่อให้เด็กๆเข้าถึงการเล่นและมีนิเวศที่ดีที่เอื้อต่อการเติบโตของเด็ก เป็นลานเล่นเพื่อทุกคน”

ทุกวันนี้มีคนทุกวัยเข้ามาใช้บริการ และคนทุกวัยก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเรียนรู้ทั้งเรื่องทักษะชีวิต สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา บูรณาการการเรียนรู้ และต่อยอดนวัตกรรม

“โรงเล่นไม่เคยหยุดการเรียนรู้ และอยากให้เด็กๆเข้าถึงพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย เราเชื่อว่าการเติบโตของเด็กคนหนึ่งจำเป็นต้องช่วยกันดูแลทุกภาคส่วน และเด็กควรมีพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย รื่นรมย์ น่าค้นหาไม่รู้จบ เด็กๆควรรู้ว่าโลกนี้มันดีและปลอดภัย”

 

เชื่อมโยงโรงเล่น ให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในระบบ

วีรวรรณ บอกว่า ที่ผ่านมา เราสามารถชักชวนเด็กในระบบโรงเรียนเข้ามาเชื่อมโยงกับโรงเล่น มีเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม มัธยมในพื้นที่อำเภอแม่สรวย เข้ามาร่วมกิจกรรมเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง

แต่ในมุมมองของนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ มองว่า จะทําอย่างไรถึงจะให้กิจกรรมของโรงเล่น ได้เป็นเรื่องหลักที่นำไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนรู้ของโรงเรียนและสามารถประเมินผลการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้

“จริงๆ คนที่ทําหน้าที่หลักคือคุณครู ต้องมองให้ออกว่า เขาวางผลลัพธ์ของกระบวนการการเรียนรู้นั้นอย่างไร ซึ่งเราจะถามว่า ที่มาโรงเล่น มองเห็นถึงจุดนี้ไหม แล้วก็ทําเรื่องของการประเมิน เวลาที่เราพูดถึงว่าเด็กๆ มาเล่นแล้วมีความสุข มันก็ออกมาจากสีหน้าแววตา นอกจากนั้น เรายังใช้วิธีการประเมิน โดยออกแบบเป็นตัวตะกร้าสําหรับเด็กเล็ก ให้เด็กๆ ได้ประเมินตัวเอง ว่าวันนี้เขามาเล่นแล้วรู้สึกยังไง น้อยหรือมาก ชอบหรือไม่ชอบก็หย่อนความรู้สึกลงในตะกร้า สําหรับเด็กโต เราก็ให้เขียนบันทึกว่าวันนี้เป็นยังไง ได้เรียนรู้อะไรบ้าง  ถ้าเราอยากจะรู้ว่าเด็กๆได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราทําเรื่องห้องเรียนภูมิปัญญาหรือเปล่า เราก็ชวนให้คุณครูได้ทําต่อ สองชั่วโมงที่พ่อเฒ่าแม่เฒ่ามาสอนเด็กๆ เขาได้เห็นได้ทําอะไรบ้าง ถ้าเขาอธิบายทั้งหมดว่าเขาทําอะไรบ้าง อย่างเช่น ตั้งแต่กระบวนการทอผ้า ปั่นฝ้าย พอเขาเขียนมาครบ ก็แปลว่าเด็กๆ นั้นเข้าใจ”

วีรวรรณ บอกว่า ดังนั้น เราต้องมาตั้งหลักกับระบบการศึกษาไทยใหม่ทั้งหมด ว่าหน้าที่ของครูมีหน้าที่ทําอะไร แล้วก็ในฐานะที่เด็กๆ มาใช้พื้นที่ เด็กๆ ได้เล่นอิสระอย่างเต็มที่ คุณครูต้องเห็นว่า เบื้องหลังหรือผลลัพธ์นี้ มันส่งผลต่อพัฒนาการเชิงบวกด้วย สามารถเอาแนวคิดนี้กลับไปทําที่โรงเรียนได้ด้วย คือเราทําแค่พื้นที่ไม่พอ เราต้องทําแนวคิดด้วย ทําให้คุณครูเข้าใจว่า แม้ว่าเด็กๆ จะไม่มาเล่นที่นี่ แต่พออยู่ในโรงเรียน คุณครูก็ต้องมีความเป็นผู้อํานวยการเรียนรู้แบบนี้ ถ้าคุณครูยกระดับตัวเองได้ เขาจะมองเห็นเรื่องเกรดเป็นเรื่องรองไปเลย แล้วเขาจะเห็นว่าเรื่องของการพัฒนาการของเด็กๆ เป็นเรื่องหลัก

เราต้องมาตั้งหลักกับระบบการศึกษาไทยใหม่ทั้งหมด ว่าหน้าที่ของครูมีหน้าที่ทําอะไร แล้วก็ในฐานะที่เด็กๆ มาใช้พื้นที่ เด็กๆ ได้เล่นอิสระอย่างเต็มที่ คุณครูต้องเห็นว่า เบื้องหลังหรือผลลัพธ์นี้ มันส่งผลต่อพัฒนาการเชิงบวกด้วย สามารถเอาแนวคิดนี้กลับไปทําที่โรงเรียนได้ด้วย

“แต่ก็มีคุณครูหลายโรงเรียน พอมาครั้งแรกแล้วเปิดใจ นั่งคุยกับเรา อย่างเช่น โรงเรียนบ้านแม่ตาแมว อยู่ไกลบนภูเขา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ถนัดกับการนั่งรถไกลๆ ซึ่งการนั่งรถนานๆ ไปทัศนศึกษาที่เชียงราย ไปเชียงใหม่ เด็กๆ ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยเพราะต้องสาละวนกับการเดินทางไกล เด็กๆ ไม่ชิน เวียนหัว อาเจียนกันตลอดทาง แต่พอโรงเรียนพามาที่โรงเล่น ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สรวย พอมาถึง เด็กปรับสภาพได้ ก็พร้อมเรียนรู้เลย ได้เล่น เล่นแล้วก็กลับบ้าน และใช้เวลาเดินทางสั้นๆ ซึ่งเด็กๆ ก็บอกว่ามาที่นี่ สนุกมากๆ เลย ก็ทำให้ทั้งคุณครู และตัวเราดีใจ สบายใจ เมื่อเห็นทั้งแววตาเห็นทั้งการเรียนรู้ของเด็กๆ ถ้ามาทุกปี เด็กๆ ก็จะได้เห็นพัฒนาการที่ต่อยอด อย่างน้อยก็ปีละ 1-2 ครั้ง เราก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลง”

 

สนับสนุนนโยบายคูปองการศึกษา สำหรับเรียนรู้นอกห้องเรียน

ทั้งนี้ นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ยังได้พูดถึงนโยบายคูปองการศึกษา หรือคูปองเปิดโลก สำหรับเรียนรู้นอกห้องเรียนของพรรคก้าวไกล ว่า ถ้าทำได้จริงในอนาคต ก็จะเป็นผลดีต่อผู้เรียน และยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการทำกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละท้องถิ่นได้อีกด้วย

โดยนโยบายดังกล่าว ระบุไว้ว่า แจกคูปองพัฒนาการเรียนรู้ตามช่วงวัยให้กับเด็กอายุ 7-18 ปี เพื่อใช้สำหรับการเรียนรู้ฝึกฝนทักษะเพิ่มเติมภายนอกโรงเรียน ตลอดจนกิจกรรมสร้างสรรค์ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ แบ่งเป็น ระดับประถมปีละ 1,000 บาท / ระดับมัธยมปีละ 1,500 บาท / ระดับอุดมศึกษาปีละ 2,000 บาท

“ในเบื้องต้น เราต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาเสียก่อนว่าที่ผ่านมา เงินอุดหนุนรายหัวเพื่อพัฒนาผู้เรียน ยังไม่ได้ใช้อย่างตรงไปตรงมาเลย ยังเอาเงิน 440 – 470 บาท ไปสร้างตึกสร้างอาคารหรือเอาไปทําอย่างอื่น คราวนี้ ถ้าในอนาคต จะมีรูปแบบคูปองการศึกษา มันควรจะเป็นแบบไม่ต้องผ่านโรงเรียน แต่มันควรจะถึงมือเด็กทุกคนโดยตรง เป็นสวัสดิการเท่าเทียม ที่เด็ก ๆ สามารถเอามาใช้ในพื้นที่ อย่างน้อยสุดถ้าบอกว่าภายในรัศมี 35 กิโลเมตร สมมุติรัศมีจากโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ เราจะได้ทั้ง อ.แม่สรวยอ.แม่ลาว เวียงป่าเป้า ก็สามารถให้เด็กๆ แถวนี้ได้นำคูปองมาใช้บริการอย่างน้อย 5,000-6,000 คนกันเลยทีเดียว”

เช่นเดียวกัน วีรวัฒน์ ก็บอกว่า ก่อนอื่น เราต้องมาตั้งคำถามก่อนว่า เราให้คุณค่าของการเรียนรู้นอกห้องเรียนแบบไหน เพราะว่าจริงๆ แล้ว ตัวหลักสูตรของโรงเรียนก็ออกมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ว่าเด็กต้องออกไปทัศนศึกษา เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่ ครูมักจะพาไปในที่ไม่ได้ตอบโจทย์การเรียนรู้อย่างแท้จริง

“ยกตัวอย่างเช่น พาเด็กไปสวนสัตว์ ที่ไม่ใช่สวนสัตว์ที่อยู่แบบธรรมชาติจริงๆ คือรัฐก็อุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กนักเรียน ผมคิดว่ามันไปติดกับดักกับเงื่อนไขหลายอย่างที่ทําให้การเรียนรู้ไม่เกิด เราก็ไม่ได้โทษครูนะ แต่ว่าตอบโจทย์พอไหม เพราะว่าถ้าให้เด็กเดินทางไกล200-300 กิโลเมตรแบบนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าทุกจังหวัด ทุกชุมชนมีพื้นที่กิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้ ช่วยกันสร้าง แล้วโรงเรียนจ่ายค่าใช้จ่ายรายหัวที่เป็นภาษีของเราหรือเป็นงบอุดหนุนรายหัวเด็กนักเรียนในส่วนนี้ แบบตรงไปตรงมาให้กับพื้นที่การเรียนรู้ในท้องถิ่นนั้นๆก็จะทำให้พื้นที่เหล่านี้มันเกิดขึ้นได้มากขึ้น”

 

เด็กๆ ในชุมชน ได้เรียนรู้เรื่องราวดีๆ ในท้องถิ่น
แล้วยังได้ส่งเสริมสนับสนุนพื้นที่การเรียนรู้ในท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย

ปัจจุบันนอกจากมีเด็กในโรงเรียนมาเข้าร่วมกิจกรรมโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้แล้วก็ยังมีเด็กๆ กลุ่มการศึกษาทางเลือก เด็กนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ รวมทั้งเด็กจากต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้น พื้นที่ตรงนี้จะเป็นส่วนที่สนับสนุนการศึกษาในทุกรูปแบบ

เชื่อมร้อยเครือข่ายหน่วยงานในพื้นที่ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้

วีรวรรณ บอกว่า ที่ผ่านมา ทางโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ได้ทำงานขับเคลื่อนร่วมกับองค์กรหน่วยงานในพื้นที่อำเภอแม่สรวย จนได้รับการยอมรับ และเข้ามาร่วมกันหนุนเสริมกันอย่างต่อเนื่อง

“ล่าสุด นายอำเภอแม่สรวยและตัวแทนคณะทำงานขับเคลื่อน EF อำเภอแม่สรวยก็ได้ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต้นทุนการทำงานดูแลพัฒนาเด็กด้วยการสร้างทักษะสมอง EF ณ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ จากนั้นไปรับฟังรายงานการทำงานของโรงเล่นร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.ป่าแดด ในโครงการก่อการเล่น ที่สนับสนุนการเล่นในครอบครอบครัวด้วยความผูกพันและพลังแห่งการเล่นและการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กของคณะคุณครู หลังจากนั้น เดินทางไปลานเล่น บ้านสันกลาง ตำบลแม่สรวยหนึ่งในโปรแกรมพื้นที่ความผูกพันลานเล่นเพื่อทุกคน (LSI)  ที่โรงเล่นทำงานร่วมกับเทศบาลตำบลเวียงสรวย และชุมชนบ้านสันกลาง เพื่อให้กำลังใจคณะทำงานโดยชุมชนที่ร่วมแรงร่วมใจสร้างพื้นที่ดี ๆ ให้กับเด็กและครอบครัวได้เข้าถึงการเล่นใกล้บ้าน”

ทั้งนี้ ในวงพูดคุยแลกเปลี่ยน ได้มีการฉายภาพยุทธศาสตร์ระยะสั้น 1-2 ปี ที่ อ.แม่สรวย อยากไปให้ถึง มี 2 เรื่อง ดังนี้ 1. ผู้นำชุมชนท้องที่ ท้องถิ่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน เข้าใจเรื่องการสร้างทักษะสมอง (Executive functions: EF) อย่างลุ่มลึกและเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนในการสร้าง EF ในเด็กโดยครอบครัวและผู้ดูแล 2. มีพื้นที่นำร่องต้นแบบระดับชุมชน ที่ทำงานสร้าง EF ในเด็ก ในลำดับต่อไปทางนายอำเภอจะนัดคณะทำงานชุด 20 คน มาสร้างยุทธศาสตร์แนวทางการทำงาน ก่อนเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการที่จังหวัดต่อไป

 

ขยายองค์ความรู้ ต่อยอดแนวคิด
สร้างพื้นที่โรงเล่น ไปหลายชุมชน หลายจังหวัด

นอกจาก จะทำงานจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในพื้นที่อำเภอแม่สรวยแล้ว ล่าสุด ทางโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ยังได้ขยายองค์ความรู้ ต่อยอดแนวคิดสร้างพื้นที่การเรียนรู้ไปอีกหลายพื้นที่หลายจังหวัดด้วยกันด้วย

วีรวรรณ บอกว่า ตอนนี้ เราขยายแนวคิดนี้ไปอีกหลายชุมชนหลายพื้นที่ หลายจังหวัด เช่น เครือข่ายนิเวศลุ่มน้ำทา จ.ลำพูน, ลานเล่นในสวนปาล์ม” โดยกลุ่มละอ่อนโฮม ภูซาง อ.ภูซาง จ.พะเยา, พื้นที่เล่น พื้นที่กลางของคนตำบลบ่อแก้ว” โดยสถานีอนามัยบ่อแก้วฯ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่,ลานเล่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนลานต้นตาล โดยเทศบาลตำบลมะเขือแจ้ จ.ลำพูน เป็นต้น

“ซึ่งจริงๆ เราอยากให้มีพื้นที่การเรียนรู้แบบนี้ขยายไปอยู่ทุกชุมชน โดยทางเรายินดีไปช่วยหนุนเสริมเรื่องแนวคิดว่าทำอย่างไรถึงจะให้เข้าถึงทุกคน มีความยั่งยืน และที่สำคัญให้ชุมชนและกลไกท้องถิ่นเข้ามาสร้างความมีส่วนร่วมด้วยกัน มาช่วยกันทำลานเล่นที่สนุกที่เกิดจากฝีมือของปราชญ์ท้องถิ่น ครูภูมิปัญญา ใส่ความคิดสร้างสรรค์ ให้ความสำคัญต่อการเล่นของเด็ก สร้างพื้นที่ท้าทายให้เด็ก ๆ ได้มีพื้นที่ดีๆ ในการเติบโต เพราะเด็กๆ ต้องการรู้ว่าโลกนี้น่าอยู่ สนุก และมีผู้ใหญ่คอยสนับสนุนให้พวกเขาได้เติบโตอย่างเป็นสุขและปลอดภัย ได้รับความรักที่มีความหมาย ได้กอดผู้ปกครองแน่น ๆ และได้ทำอะไรร่วมกัน โดยทางโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ยินดีที่จะเป็นหนึ่งในนิเวศการดูแลเด็กของชุมชน”


            ***************************************

หมายเหตุ 

โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ คือ พื้นที่เรียนรู้ผ่านการเล่น มีกิจกรรมให้เรียนรู้หลากหลาย มีห้องนิทรรศการเล่นได้ และทำของเล่นจากธรรมชาติ มีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆ ได้ลองทำลองเล่น ลองสังเกตและหาคำตอบ กับบรรยากาศที่เชื่อมโยง เด็กเล่นนำ ผู้ใหญ่เล่นตาม ทำให้เห็นรอยยิ้มกว้างของเด็ก ๆ และสายตาที่ภูมิใจในตัวผู้ปกครอง ยิ่งทำให้เด็ก ๆ รู้สึกอบอุ่นในหัวใจ โรงเล่นดีใจและยินดีที่ได้เป็นพื้นที่แห่งเวลาคุณภาพ และได้สนับสนุนการเติบโตของเด็ก เด็กที่ได้เล่นและมีผู้ใหญ่สนับสนุน ทำให้เด็กๆ เติบโตมาอย่างมีความสุข มีวินัยเชิงบวกที่ทำเป็นอัตโนมัติเพราะเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ เคารพตัวเองและเคารพซึ่งกันและกัน

องค์กรหน่วยงาน ผู้ปกครอง โรงเรียน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป สนใจ สามารถเข้าไปเยี่ยมชม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือร่วมกันสนับสนุนการเรียนรู้กันได้ ติดต่อสอบถามและติดตามได้ที่เพจ: โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้,FB: PlayableMuseum
 

สถานที่ตั้ง: หมู่บ้านป่าแดด ซอย 5 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวยจ.เชียงราย 57180
เวลาทำการ: เสาร์ – อาทิตย์ เปิด-ปิด 10.00-16:30 น.โทรศัพท์: 08 9999 8537

ข้อมูลประกอบ

  1. บ้านป่าแดด"พิพิธภัณฑ์เล่นได้"ความสุขไร้กาลเวลา,MGR Online,28ก.ค. 2551
  2. "โรงเล่น" โปรแกรมพื้นที่ความผูกพัน เล่น..เปลี่ยนโลก,ข่าวไทยรัฐ 27 พ.ค. 2566 
  3. วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 122 พ.ค.-ส.ค.2566 
  4. ภาพประกอบ จากเพจ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้
     
'พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ ภูมิปัญญาของเล่นพื้นบ้าน และนวัตกรรมสร้างสรรค์ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
'พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ ภูมิปัญญาของเล่นพื้นบ้าน และนวัตกรรมสร้างสรรค์
'พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ ภูมิปัญญาของเล่นพื้นบ้าน และนวัตกรรมสร้างสรรค์
'พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ ภูมิปัญญาของเล่นพื้นบ้าน และนวัตกรรมสร้างสรรค์
'พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ ภูมิปัญญาของเล่นพื้นบ้าน และนวัตกรรมสร้างสรรค์
'พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ ภูมิปัญญาของเล่นพื้นบ้าน และนวัตกรรมสร้างสรรค์
เนื้อหาล่าสุด