Skip to main content

ทำความเข้าใจเรื่องนโยบายการพัฒนากับท้องถิ่น

10 สิงหาคม 2567

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภาคภูมิ แสงกนกกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายให้ผู้สื่อข่าวที่ร่วมอบรมโครงการอบรมผู้สื่อข่าวภูมิภาคเพื่อพัฒนาการรายงานข่าวเศรษฐกิจฐานราก โดยสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย โดย ผศ.ภาคภูมิ ได้วางพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ และบทบาทของของท้องถิ่น ประชาชน และภาคเอกชนที่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น รวมถึงสื่อมวลชนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเติมช่องว่าง ตรวจสอบและการสืบหาความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่และนำเสนอให้คนนอกพื้นที่รับรู้ 

ความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ

การพัฒนาเศรษฐกิจคือการเพิ่มระดับรายได้เฉลี่ยต่อบุคคล และการปรับปรุงโครงสร้างทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น สามารถมองได้จากการเข้าถึงบริการสาธารณะ เช่น การมีถนนที่ดี การขนส่งมวลชน และบริการด้านสุขภาพ

การพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development) หมายถึง การเพิ่มขึ้นของระดับรายได้ที่แท้จริงเฉลี่ยต่อบุคคลรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงโครงสร้างและสถาบันทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่ส่งผลทำให้สวัสดิการของประชาชนดีขึ้น ปัจจัยสำคัญคือการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา เพื่อประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึง

การพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development) หมายถึง การเพิ่มขึ้นของระดับรายได้ที่แท้จริงเฉลี่ยต่อบุคคลรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงโครงสร้างและสถาบันทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่ส่งผลทำให้สวัสดิการของประชาชนดีขึ้น

ปัจจัยสำคัญคือการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา เพื่อประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึง

การวัดการพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องนำตัวชี้วัดหลากหลายตัวชี้วัดมาใช้ในการวัด

การวัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือการวัดระดับความเจริญเติบโตของจีดีพีต่อจำนวนประชากร หรืออาจจะวัดจากรายได้เฉลี่ยของบุคคลในประเทศ ซึ่งรายได้เฉลี่ยของคนในประเทศอยู่ที่ 24,000- 25,000 บาทต่อคน แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่สามารถบอกความเหลื่อมล้ำ ของคนในแต่ละจังหวัดได้

ยังมีการชี้วัดอีกแบบคือ การพิจารณาสวัสดิการและระดับการกินของประชาชน คืออายุขัยเฉลี่ยของประชากร อัตราการเพิ่มของประชากร (อัตราการเกิดอัตราการตาย) อัตราการรู้หนังสือของประชากร อัตราการกระจุกตัวของรายได้ อัตราส่วนของประชากรต่อแพทย์ 1 คน อัตราส่วนของประชากรต่อเตียงคนไข้ 1 เตียง อัตราส่วนของประชากรต่อทันตแพทย์ 1 คน อัตราการเพิ่มขึ้นของคุณค่าอาหารด้านโภชนาการเฉลี่ยต่อบุคคล อัตราส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อจำนวนประชากร อัตราการเพิ่มขึ้นของสถาบันการศึกษา อัตราการเพิ่มของที่อยู่อาศัย อัตราการเพิ่มของระบบการสื่อสารและคมนาคม เช่น การใช้อินเตอร์เน็ต เป็นต้น เพื่อให้เห็นภาพของการพัฒนา

แผนพัฒนาเศรษฐกิจ

เนื่องด้วยกระบวนการพัฒนาไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น ต้องการวางแผน จึงมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงตอนนี้ เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หมายถึง เอกสารที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้นล่วงหน้าเพื่อแสดงแผนการดำเนินนโยบาย มาตรการต่างๆ และขั้นตอนในการดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงเวลาหนึ่งหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการพัฒนาประเทศ รวมถึงส่งต่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้องทำตามแผนที่กำหนดไว้

เป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการพัฒนาประเทศ มีดังนี้ คือ

  1. เพื่อเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
  2. เพื่อให้มีการจ้างงานเต็มที่
  3. เพื่อรักษาเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงิน ระบบการผลิต การบริโภคให้มีเสถียรภาพ คือ ไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว
  4. เพื่อสร้างและรักษาเสถียรภาพในระดับราคาสินค้าทั่วไป รักษาอัตราเงินเฟ้อและเงินฝืด ไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะส่งผลต่อประชาชนทั้งประเทศ
  5. เพื่อให้มีการกระจายรายได้อย่างเสมอภาคและยุติธรรม ซึ่งเริ่มปรากฏให้เห็นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 จนถึงปัจจุบัน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)

“ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

“มั่นคง” (Security) ในเรื่องของความเป็นอยู่ “มั่งคั่ง” คือ เรื่องของรายได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง มุ่งสู่รายได้สูง “ยั่งยืน” คือ การเจริญเติบโตและพัฒนาต้องเป็นไปอย่างยั่งยืนและมีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งแผ่นดินได้รับอิทธิพลจาก SDGs ซึ่งเป็นโมเดลการพัฒนาที่มาจาก ธนาคารโลก (World Bank) “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่เก้า

จากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาคเกษตรจึงต้องเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่ามากขึ้น ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลก เช่นเรื่องโรคระบาด PM 2.5 หรือแม้กระทั่งเรื่องของสงครามที่เริ่มมีการเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น รวมทั้งความขัดแย้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น กรณีของจีนกับสหรัฐอเมริกา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เน้นในเรื่องของการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์มากยิ่งขึ้น (Human Capital) เช่นเรื่องของสุขภาพและการศึกษา เพื่อให้แรงงานไทยมีความสามารถในการผลิตมากขึ้น เก่งขึ้น และยังต้องคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การแบ่งนโยบายการพัฒนาตามพื้นที่

  1. นโยบายพัฒนาระดับนานาชาติ/ระดับโลก เช่น  SDGs (sustainable development goals)
  2. นโยบายพัฒนาระดับชาติ (national development)
  3. นโยบายพัฒนาระดับท้องถิ่น (local development)
  4. นโยบายพัฒนาระดับชุมชน (community development)

แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน - SDGs เป็นแนวทางการพัฒนาที่ธนาคารโลกคิดเพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้นำไปใช้ ซึ่งประเทศไทยได้นำมาใช้ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 โดยส่งต่อให้ท้องถิ่นและชุมชนได้นำไปใช้ ซึ่งแนวคิด SDGs พัฒนามาจากสังคมตะวันตก จึงมีหลายความคิดที่อาจจะไม่สามารถปรับใช้หรือเชื่อมโยงกับพื้นที่ในท้องถิ่นได้ โดยเฉพาะชุมชนขนาดเล็ก เช่น แนวคิดในเรื่องของการอนุรักษ์ เมื่อนำมาใช้ในพื้นที่ป่าสงวน ทางภาคเหนือของประเทศไทยที่ชนกลุ่มน้อยดำรงชีวิตอยู่โดยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มีระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม จะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหรือจะทำอย่างไรชนกลุ่มนี้ยังดำรงวิถีชีวิตเดิมได้ภายใต้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นประเด็นที่สื่อท้องถิ่นสามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับคนในพื้นที่ได้

ตัวอย่างการพัฒนาที่ไม่ใช่เรื่องของรัฐอย่างเดียว: กรณีศึกษาเชียงใหม่เมืองกาแฟ

ผศ..ภาคภูมิได้ยกตัวอย่างการพัฒนาเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2560-2565 ซึ่งมีนโยบายระดับชาติในสมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดนโยบายเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศ 4.0 โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมต่อยอดวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น มรดกวัฒนธรรม ศิลปะ สื่อ และงานสร้างสรรค์  หรือที่นิยมเรียกตอนนี้คือ Soft power คือการเปลี่ยนแปลงการผลิตแบบอุตสาหกรรม เป็นการผลิตวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้าส่งออก

ผู้ว่าฯ จ.เชียงใหม่จึงมีความพยายามที่จะทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองกาแฟ (2561-2565) เป็นศูนย์กลางด้านกาแฟ โดยมีแนวนโยบาย ดังนี้

  1. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
  2. พัฒนาการแปรรูปและเพิ่มมูลค่า
  3. พัฒนาด้านการตลาด
  4. การวิจัยและพัฒนา
  5. การบริหารจัดการ

ประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการของการพัฒนา ตั้งแต่ต้นน้ำ คือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ, กลางน้ำ คือผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปกาแฟให้เป็นผลิตภัณฑ์, และปลายน้ำ คืออุตสาหกรรมร้านอาหาร การท่องเที่ยว การส่งออก

แต่เมื่อมาดูองค์ประกอบทางกายภาพที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านกาแฟ ปรากฎว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ที่สามารถเพาะปลูกกาแฟได้เพียง 1% ของผลผลิตอาเซียน

ปรากฎว่าที่เชียงใหม่มีร้านกาแฟจำนวนมาก มีการพัฒนากาแฟไปสู่ระดับโลก เช่น กาแฟอมก๋อยมีคุณภาพดีที่สุดในอาเซียน บาริสต้าจากจังหวัดเชียงใหม่ก็ชนะการประกวดระดับโลก ทำให้กาแฟท้องถิ่นจากเชียงใหม่ไปสู่ระดับโลกได้ หากแต่ไปประสบความสำเร็จในระดับโลกนั้นมาจากการผลักดันของภาคเอกชน แต่ไม่ใช่อุตสาหกรรมกาแฟทั้งระบบที่สามารถยกระดับขึ้นมาได้

แต่คำถามที่สำคัญคือ การผลักดันเมืองกาแฟของเชียงใหม่คือการประสบความสำเร็จในการเป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือไม่ จากความหมายที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือการต่อยอดสินค้าและวัฒนธรรมเพื่อการส่งออกและมีมูลค่ามากขึ้น ซึ่งหากมองเศรษฐกิจเชียงใหม่ในปัจจุบัน ไม่มีเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เลย ยังคงเป็นระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างเดียว

ในส่วนของด้านข้อมูล มีตัวอย่างงานวิจัยของ ณัฐวดี สรรพรประเสริฐ (2020) ได้ศึกษาบทบาทและความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ของร้านกาแฟและการพัฒนา Start Up และ Creative Economy ในเชียงใหม่ พบว่า ร้านกาแฟไม่มีบทบาทในการพัฒนา Start Up หรือนวัตกรรม และไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการพัฒนา Creative Economy แต่เป็นปัจจัยทางอ้อมในการสร้างพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ ได้ใช้ในการแลกเปลี่ยนความคิด กลายเป็นเมืองที่ดึงดูด Digital Nomads ทั่วโลก เพราะมี Working Space

จะเห็นว่านโยบายการพัฒนามุ่งไปที่การผลิต แต่ในส่วนที่เป็นการเพิ่มมูลค่า (Value Added) เช่น การพัฒนารสชาติเฉพาะ การใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้กับกาแฟ (Story Telling) กลับไม่มี

ดังนั้นการพัฒนาจึงไม่ใช่เรื่องของรัฐอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของประชาชน ภาคธุรกิจ องค์กรท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจในการนำนโยบายจากระดับประเทศมาปรับใช้ในพื้นที่ นักวิชาการเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกัน  รวมไปถึงองค์กรระหว่างประเทศในการสนับสนุนการพัฒนา

หรืองานวิจัยของ ต่อสกุล พันธุ์พิพัฒน์ (2557) ได้ศึกษาการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับชาติและการประยุกต์ใช้ในเชียงใหม่ โดยสัมภาษณ์เชิงลึก นักวิชาการ ผู้บริหาร และผู้ประกอบการ พบว่า ขาดความเข้าใจในเรื่องของ Creative Economy ขาดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานรัฐกับผู้ประกอบการ หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐส่วนกลางกับผู้ทำนโยบายส่วนท้องถิ่น อีกทั้งยังขาดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาการลงทุนด้านนวัตกรรมสำหรับภาคเอกชน  รวมถึงคนในท้องถิ่นมีความเข้าใจไม่ตรงกันว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์คืออะไร  ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาทรัพากรมนุษย์ ที่ไม่ใช่แค่การให้ความรู้  แต่ยังรวมถึงการให้เสรีภาพในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ด้วย

นี่คือตัวอย่างอุปสรรคจากการนำนโยบายการพัฒนาระดับชาติไปใช้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในระดับท้องถิ่น ซึ่งบางครั้งอาจจะก่อให้เกิดการพัฒนาในรูปแบบอื่นที่ประสบความสำเร็จ นำไปสู่ต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ทำตาม ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของแต่ละพื้นที่  ดังนั้นนโยบายการพัฒนาจึงไม่จำเป็นต้องมาจากส่วนบนอย่างเดียว สามารถพัฒนาจากส่วนล่างขึ้นมาข้างบนก็ได้

ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนมีเรื่องของ Land Bridge ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ที่เห็นด้วยก็จะเป็นกลุ่มนักการเมือง และกลุ่มคนในพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ องค์กรเอกชน  ส่วนทางด้านผู้ที่ไม่เห็นด้วยจะเป็นในส่วนของ NGO’s ที่ทำในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเทียบเคียงได้กับ EEC

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการถ่ายโอน รพสต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) จากสาธารณสุขจังหวัดมาอยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีกรอบทางด้านเวลาที่จำกัด ซึ่งเป้าหมายในการกระจายอำนาจทางด้านสาธารณสุข เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำและควรกระจายอำนาจทั้งทางด้านภารกิจและทรัพยากร เพราะหากเกิดโรคระบาดและท้องถิ่นสามารถจัดการได้เร็วที่สุดถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งถ้าสุขภาพของคนดีขึ้นก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของระบบสุขภาพกับระบบเศรษฐกิจที่มีมาอย่างยาวนาน ถ้าสุขภาพของคนในท้องถิ่นดีเศรษฐกิจก็ดีได้ แต่สิ่งที่จะต้องพิจารณาคือเรื่องของศักยภาพของท้องถิ่นในการรับมือกับปัญหาทางด้านสุขภาพ จำนวนของบุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ ในระยะแรกของการกระจายอำนาจ หน่วยงานส่วนกลางจึงจำเป็นต้องเข้ามาสนับสนุนปัจจัยบางอย่าง เพื่อช่วยให้การกระจายอำนาจเป็นไปอย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ดร.ภาคภูมิระบุด้วยว่า บทบาทของสื่อมีหน้าที่ในการสืบหาความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่และนำเสนอให้คนนอกพื้นที่รับรู้ สื่อหลักอาจจะนำเสนอในด้านดี ผลดีที่เกิดขึ้นกับประเทศ แต่คนในพื้นที่ต้องสูญเสียอะไรบ้าง นักข่าวในพื้นที่จะทราบดีที่สุด สื่อสามารถนำเสนอเรื่องความสำเร็จของการพึ่งพาตนเองของชุมชนที่มีความเข้มแข็งในรูปแบบที่แตกต่างจากนโยบายที่รัฐให้เป็นแนวทาง เพื่อให้รูปแบบการพัฒนาที่แตกต่างสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ที่มีลักษณะใกล้เคียงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

ขอบคุณภาพ unsplash