อ่างทอง: เมืองเกษตรกรรมและวัฒนธรรมที่คุ้มค่าแก่การเยือน
อ่างทอง เป็นจังหวัดขนาดเล็ก ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางไปกลับได้ภายในวันเดียว มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขา ดินเป็นดินเหนียวปนทราย พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การปลูกข้าว ทำไร่ ทำนา และทำสวน นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยไหลผ่าน โดยแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านอำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่างทอง และอำเภอป่าโมก รวมระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร
จังหวัดอ่างทองมีภูมิอากาศอยู่ในโซนร้อนและชุ่มชื้น โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้อากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งในช่วงนี้ และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ทำให้มีเมฆมากและฝนตกชุก ชาวบ้านได้อาศัยทำการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค และคมนาคมผ่านแม่น้ำทั้งสองสายนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ
ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดอ่างทอง
จังหวัดอ่างทองมีพื้นที่ทั้งหมด 605,234 ไร่ โดยมีพื้นที่เกษตรกรรม 434,028 ไร่ คิดเป็น 71.71% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยแบ่งพื้นที่เกษตรกรรมดังนี้:
- พื้นที่ปลูกข้าว: 355,491 ไร่ (81.91% ของพื้นที่เกษตรกรรม)
- พืชไร่: 9,374 ไร่ (2.16% ของพื้นที่เกษตรกรรม)
เศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2564 ชี้ว่า ข้าวนาปี คือพืนหลักที่ผลิตมากในอ่างทอง รองลงมาคือมะม่วง กล้วยน้ำว้า และกล้วยหอม ส่วนสัตว์เศรษฐกิจคือนกกระทา ตามด้วยเป็ดไข่และไก่เนื้อ-ไก่ไข่
- ข้าวนาปี: 1272.85 ตัน (ราคา 6.88 บาท/กก.)
- ปทุมธานี 1: 335.60 ตัน (ราคา 6.92 บาท/กก.)
- ข้าวเจ้าอื่นๆ: 937.25 ตัน (ราคา 6.59 บาท/กก.)
- มะม่วง: 89.50 ตัน (ราคา 11.49 บาท/กก.)
- กล้วยน้ำว้า: 1093 ตัน (ราคา 12.88 บาท/กก.)
- กล้วยหอม: 33.39 ตัน (ราคา 30.49 บาท/กก.)
- ชะอม: 170 ตัน (ราคา 19.92 บาท/กก.)
- กระเจี๊ยบเขียว: 60.6 ตัน (ราคา 18.95 บาท/กก.)
สัตว์เศรษฐกิจ
- นกกระทา: 280 ตัน/ปี
- เป็ดไข่: 1,640,000 ตัว (1,183,000 ฟอง/ปี)
- ไก่เนื้อ: 1,690,000 ตัว (380 ตัน)
- ไก่ไข่: 720,000 ตัว (504,000 ฟอง/วัน)
- ปลาช่อน: 686 ตัน/ปี
อ่างทองเผชิญความท้าทายเช่นเดียวกับจังหวัดที่ทำเกษตรกรรมอื่นๆ คือ ปัญหาปัจจัยการผลิต และราคาสินค้าที่ไม่คงที่ รวมถึงปัญหาภัยแล้ง ที่เป็นปัญหาตามฤดูกาล
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ สามารถขับรถเที่ยวแบบ One Day Trip และนโยบายเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล เปิดโอกาสด้านการท่องเที่ยวของอ่างทองด้วยจุดแข็งด้านความเป็นเมืองวัฒนธรรมและวิถีเกษตรกรรมและหัตถกรรม
โดยหัตถกรรมท้องถิ่นมีอาทิ การปั้นตุ๊กตาชาววัง ที่ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ การทำกลอง และการผลิตเครื่องจักสาน
และแม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่อ่างทองมีวัดซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์กว่า 200 วัด อาทิ วัดขุนอินทประมูล ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่สมัยสุโขทัย รวมถึงที่เที่ยวใหม่ๆ เช่น ทุ่มดอกทานตะวันและทุ่งดาวเรืองรอคอยให้ไปเยือนด้วยระยะทางเพียง 101 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ เท่านั้น