ป่ากลายเป็นซูปเปอร์มาเก็ต แหล่งอาหารและสร้างรายได้ ต่างพากันเข้าป่าที่มีการอนุรักษ์ป่าดีเกิดเห็ดมากมายสร้างรายได้ บางรายก็ผิดหวัง ป่าอนุรักษ์ดียังพัฒนาเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนในอากาศลดสภาวะโลกร้อนได้ดีอีกด้วย
หลังฝนตก เข้าสู่ฤดูฝน ทุกปีป่าชุมชนที่เป็นป่าเต็งรัง จะกลายเป็นแหล่งอาหารและแหล่งสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ชาวบ้านสามารถเก็บเห็ดเผาะ (เห็ดถอบ)และเห็ดไข่ดง – ไข่เหลือง พร้อมทั้งเห็ดป่าอื่นๆ ออกมาจำหน่าย
ในช่วงแรกสามารถทำราคาได้ถึงลิตรละ 400-500 บาท หลายป่ามีการเก็บข้อมูลการเข้าเก็บเห็ดพบว่ามีรายได้เพิ่มในชุมชนนับ 1,000,000 บาท ต่อฤดูกาล
แต่เนื่องจากเห็ดมีราคาดี ทำให้มีผู้เดินทางเข้าไปหาเห็ดจำนวนมาก หลายป่าต้องพบกับการเก็บแบบทำลาย ทำให้สภาพป่าได้รับความเสียหาย ซึ่งจะส่งผลกระทบในการให้ผลผลิตเห็ดอย่างยาวนานต้องลดลง
นายศิริชัย โตสุวรรณ คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านเปาปม-ดงยาง ต.นาพูน อ.วังชิ้น จ.แพร่ กล่าวว่า ป่าชุมชนบ้านเปาปม-ดงยาง มีการรักษาป่าในรูปคณะกรรมการ ขึ้นทะเบียนป่าชุมชนอย่างถูกต้อง มีระบบการดูแลอนุรักษ์และใช้สอยอย่างเหมาะสม ผลผลิตที่ได้จากป่าในช่วงนี้คือเห็ดถอบ หรือ เห็ดเผาะ ที่ทำรายได้สูงให้กับชาวบ้านที่สนใจ
หลังจากนี้ช่วงกลางเดือนมิถุนายน ก็จะมีเห็ดป่าชนิดอื่นเกิดขึ้นอีก เช่น เห็ดไข่ดง –ไข่เหลือง และเห็นอื่นๆ อีกมากมาย เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคในท้องถิ่น ซึ่งทางคณะกรรมการป่าชุมชนฯ ได้ทำสถิติการเข้าเก็บของป่าของชาวบ้านด้วยการลงทะเบียนซื้อบัตรเข้าเก็บเห็ดรายละ 50 บาท สามารถเก็บเห็ดได้ทั้งฤดู
ถ้ามีการรักษาป่าที่ดี ป่าจะให้ประโยชน์ต่อชุมชนและเป็นที่ต้องการของชุมชนอย่างมากผลผลิตจากป่าหรือ นิเวศน์บริการจากป่า เป็นสิ่งที่มาจากผลพวงของการช่วยกันอนุรักษ์ป่า จึงทำให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน การป้องกันไฟป่าจะเป็นผลดีต่อผลผลิตจากป่า แต่ชาวบ้านมักชอบเผาเพื่อการเข้าป่าหาเห็ดง่าย แต่จะทำลายระบบนิเวศน์ไปทุกปี ในที่สุดผลผลิตจากป่าก็จะลดลง
ป่าที่มีการควบคุม อนุรักษ์ดูแลเป็นอย่างดี จะทำให้เกิดผลผลิตจากป่าที่หลากหลายเป็นอาหารที่ชาวบ้านชอบมีราคาสูง โดยเฉพาะที่ป่าชุมชนบ้านเปาปม-ดงยาง นอกจากได้ผลผลิตที่พึงพอใจของชุมชนแล้ว ยังเตรียมที่จะมีการประเมินความหนาแน่นของต้นไม้เพื่อขายการเก็บคาร์บอนในอากาศจากต้นไม้ต่อบริษัทเอกชนที่ต้องการรับซื้อตามเงื่อนไขการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนอีกด้วย จะมีรายได้เสริมเข้ามาเพื่อการพัฒนาป่าไปอีกระดับหนึ่ง
คณะกรรมการป่าชุมชนจะมีการลงนามในข้อตกลงกับบริษัทเอกชนในตลาดซื้อคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ของบริษัทหนึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้
ผลการที่ชาวบ้านเปาปม-ดงยาง อนุรักษ์ป่า รักษาต้นไม้ รักษาคสวามสมดุลของป่า มันจะส่งผลกลับมารักษาชีวิตของชาวบ้าน ด้วยการมอบผลผลิตของป่าธรรมชาติ เช่น เห็ด อื่นๆ กลับคืนสู่ชาวบ้านด้วย