ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก ร่วมเสวนาวิชาการด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้าน ยกท่องเที่ยวเงินล้านวิถีไทย ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
ในการประชุมวิชาการ ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน หัวข้อ ท่องเที่ยวเงินล้านวิถีไทย นางศศิวัณย์ ศรีพรหม ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวเงินล้านวิถีไทย จังหวัดพิษณุโลก มีการส่งเสริมให้เกิด Landmark ผลิตภัณฑ์ เทศกาล กิจกรรมใหม่ในจังหวัด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เกิดการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยที่ตั้งมีการท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เรามีอุทยานประวัติศาสตร์ 3 แห่งคือที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรและอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
นางศศิวัณญ์ กล่าวว่า จ.พิษณุโลกมีศักยภาพสูง ที่จะสามารถตั้งเป็นศูนย์ท่องเที่ยว แพทย์แผนไทย สมุนไพร แก้เจ็บแก้จน เพราะพิษณุโลกเป็นเมืองสมุนไพร แนวคิดนี้จะมีการพัฒนาลงไปยังพื้นที่ ชุมชนโดยเฉพาะที่บ้านน้ำจวงยังมีการฝังเข็มรักษาโรค จาก ชาติพันธุ์ม้ง มีอาหารพื้นเมือง และมีนาขั้นบันได ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีแบบเรียบง่ายของชุมชนม้ง ประเพณีวัฒนธรรมการแต่งกาย อาหารการกินที่แตกต่างจากคนพื้นราบทั่วไปปัจจุบันแพทย์ทางเลือกกลับมาได้รับความนิยมเพราะประชาชนส่วนใหญ่ ต้องกินยารักษาโรค ในแต่ละปีหลายแสน หลายล้านบาท และสุดท้ายเกิดโรคไตวาย ซึ่งมีสถิติประเทศไทยต้องฟอกไต มากเป็นอันดับ 3 ของโลก แนวการท่องเที่ยว จึงต้องการใช้แนว ทานอาหารเป็นยารักษาโรค ซึ่งจากโมเดลการท่องเที่ยวที่จัดทำ เชื่อว่าจะมีเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวเข้าจังหวัดพิษณุโลก จากทุกธุรกิจการท่องเที่ยว ตั้งเป้าไว้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท
ด้าน นางเผอิญ พงษ์สีชมพู ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่า กล่าวว่า แนวคิดการบริการจัดการชุมชน เพื่อการท่องเที่ยวได้จัดทำอย่างเป็นระบบมีการพัฒนา ต่อยอด มองว่าภายในชุมชน บ้านวังส้มซ่า ซึ่งเป็นชุมชนขนาดกลางที่มีประชากร 800 คน 200 ครัวเรือน ในอดีต 100% ของประชากรทำการเกษตรปัจจุบัน ลดลงเหลือประมาณ 40% การหาจุดขายเริ่มจากการดูว่าในพื้นที่ มีพืชท้องถิ่นคือต้นส้มซ่าตามชื่อหมู่บ้าน อดีตทุกบ้านปลูกส้มซ่า ไว้เพื่อใช้ในการบริโภค เป็นผลไม้สด มาทำอาหาร นำมาสระผมสูดดม ใช้ปรุงต้มยำ น้ำพริก
แต่หลังจากวิถีชุมชนเมือง เข้ามาใกล้ วิถีชีวิต วิถีการกินเปลี่ยนไป ปรากฏว่าในพื้นที่บ้านวังส้มซ่า ตัดต้นส้มซ่าปล่อยทิ้ง จากการสำรวจพบว่าเหลือต้นส้มซ่าจำนวนเพียงต้นเดียว ด้วยชุมชนอยู่ ใกล้มหาวิทยาลัยนเรศวร นักวิชาการมาช่วย ในการขยายต้นส้มซ่า ชาวบ้านนำส้มซ่า มาผลิตเป็นเครื่องสำอาง จนประสบความสำเร็จ ทำให้มีคนเข้าดูโรงงานผลิต ที่สร้างได้มาตรฐาน เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเกือบ 100% ได้มาตรฐานสาธารณสุข คนรู้จักบ้านวังส้มซ่าจากเครื่องสำอาง มีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิกกลุ่ม 23 คน
ชาวบ้านไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานใดเลยแม้แต่กระทั่ง อบต.ท่าโพธิ์ ซึ่งเป็นองค์กรท้องถิ่นในตำบล มีเพียงวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพียงองค์ความรู้เดียวที่มาช่วยชาวบ้านต่อยอดนำผู้ชี่ยวชาญด้านเครื่องสำอาง อบรมให้ ชาวบ้านใช้เวลาในการอบรมและสร้างผลิตภัณฑ์จากส้มซ่าเป็นเวลา 4 เดือนก็มีเงินหมุนเวียน จากกำไรการขายเครื่องสำอางและพืชสมุนไพร 2-3 แสนบาท และมีทุนหมุนเวียน 70,000 บาท ที่ชาวบ้านเก็บไว้จนถึงปัจจุบัน โดยผลิตภัณฑ์ที่ใช้ มีข้าวหอมมะลิ สกัดเป็นน้ำมัน ธัญพืช น้ำมันมะพร้าว ว่านหางจระเข้ขมิ้น และส้มซ่า
ก่อนหน้านี้ ชุมชนมีการทำสปาครบวงจร ทั้ง สปาหน้า สปาตัว แต่หลังจากโควิด เมื่อประสบความสำเร็จทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาภายในชุมชน ท่องเที่ยวมีสินค้า OTOP นวัตวิถี ที่ชาวบ้านร่วมกันผลิต โครงการ ทำเป็นเชิงสุขภาพเชิงเกษตร จุดขายที่ทำให้นักท่องเที่ยวที่ได้มาบ้านวังส้มซ่า จะต้องกลับมาอีกนั่นก็คือคนในชุมชนมีอัธยาศัยดี นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวแล้วมีความสุข นอกจากนี้เรายังมีการแนะนำ ต่อให้ชุมชนข้างเคียง ด้วยการส่งนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชม อาทิ การไปไหว้พระพุทธชินราช ชมพระราชวังจันทน์ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ศาลหลักเมือง การได้ไปกินอาหารหลากหลายชนิด ที่ อ.เนินมะปราง ชาติตระการ พรหมพิราม วัดโบสถ์
ปัจจุบันต้นส้มซ่า 400 ต้น ใช้ในพื้นที่ มากมายทั้งขายผลสด นำมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น มีเงินปีละ 20,000 บาท/คน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กินอาหารเป็นยา รักษาโรคเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค ส้มซ่ากิโลกรัมละ 50 บาท แต่ละต้นจึงสามารถทำเงินให้กับคนปลูก 7,000 - 8,000 บาท แต่ทั้งนี้จะต้องดูแลต้นเป็นอย่างดี แต่หากปล่อยไปธรรมชาติก็จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 500 บาทต่อต้น ซึ่งโควิดในช่วงนี้เริ่มซาลงรายได้จากชาวบ้านเริ่มกลับคืนมา
เมื่อปี 2566 การผลักดันต้นส้มซ่าจนมาสู่รายได้ให้กับชุมชนได้ประมาณ 1 ล้านบาทจากชุมชนเล็กๆ ขายผลิตภัณฑ์ ในหลากหลายรูปแบบจากส้มซ่า ชาวบ้านมีรายได้ ทั้งจากการที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในพื้นที่และจากการที่ตัวแทนชาวบ้านนำสินค้าออกไปขายต่างพื้นที่ นอกจากนี้ เรายังมีบริการการท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องตลอดปีด้วย