Skip to main content

พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณกลางเมืองโคราช

18 มิถุนายน 2567

ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณกลางเมืองโคราช ขณะกำลังปรับปรุงภูมิทัศน์ กรมศิลปากรตรวจสอบคาดอายุ 1,500 - 2,500 ปี เตรียมศึกษาถึงต้นกำเนิดเมือง

นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา พร้อมด้วย นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) และนายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ และซากภาชนะดินเผา ที่ถูกขุดพบบริเวณพื้นที่ปรับภูมิทัศน์ ภายในสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา (หลังเก่า) อยู่ติดกับคูเมืองในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ตามแผนดำเนินงานการปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะของเทศบาลนครนครราชสีมา 

โดยเทศบาลนครนครราชสีมาได้ร่วมกับกรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทางโบราณคดี ก่อนมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าว ทางกายภาพของพื้นที่มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์

นายทศพร เปิดเผยว่า กรณีชุมชนหรือเมืองที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ จำเป็นต้องดำเนินการขุดสำรวจเพื่อศึกษาก่อนดำเนินการก่อสร้างอาคาร เพื่อที่จะได้มีการศึกษาเรียนรู้พื้นที่ดังกล่าวว่า มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และได้รู้ถึงต้นกำเนิดของเมืองนครราชสีมา ซึ่งการขุดค้นพบในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ขุดตามแนวกำแพงเมืองเก่า ระดับความลึก 180 เซนติเมตร พบโครงกระดูกมนุษย์ 2 โครง ไม่ทราบเพศ เนื่องจากการตรวจสอบเพศนั้น จะตรวจสอบจากกระดูกเชิงกราน แต่ทั้ง 2 โครงกระดูกที่พบกระดูกเชิงกรานไม่สมบูรณ์ จึงยังไม่สามารถระบุเพศได้ 

โครงกระดูกแรกพบอยู่ในลักษณะนอนหงายเหยียดยาวหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก ส่วนโครงกระดูกที่ 2 ลักษณะกะโหลกศีรษะถูกตัดวางอยู่บริเวณลำตัว คาดว่าจะเป็นโครงกระดูกเด็ก มีเศษเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ เศษกระเบื้อง กระดูกสัตว์ รวมทั้ง ภาชนะแบบพิมายดำวางอยู่รอบโครงกระดูก ซึ่งกระดูกทั้ง 2 ชิ้น น่าจะถูกฝังจากกิจกรรมการฝังศพของคนสมัยโบราณ และมีอายุประมาณ 1,500 - 2,500 ปี โดยน่าจะเป็นมนุษย์ที่อาศัยอยู่ก่อนการก่อตั้งเมืองนครราชสีมา 

อย่างไรก็ตาม ต้องขุดเพิ่มเติมและนำดินในบริเวณดังกล่าวไปตรวจสอบในห้องแล็ป เพื่อหาค่าทางวิทยาศาสตร์ และเพื่อตรวจสอบว่า ดินในพื้นที่นั้นได้สัมผัสแสงอาทิตย์ครั้งล่าสุดเมื่อใด ซึ่งจะทำให้เราสามารถย้อนเวลาได้ว่า โครงกระดูทั้ง 2 โครง ถูกฝังตั้งแต่ช่วงเวลาใด คาดการณ์ว่าในอดีตพื้นที่ดังกล่าว น่าจะเป็นพื้นที่ฝังศพขนาดใหญ่ และเมืองนครราชสีมาในช่วง 1,500-2,500 ปีน่าจะเป็นบึงขนาดใหญ่ และมีชุมชนตั้งอาศัยอยู่รอบบึงเป็นจำนวนมาก ก่อนจะมีการก่อตั้งเมืองนครราชสีมา
 

โบราณ
โบราณ
เนื้อหาล่าสุด