Skip to main content

ยะลา เปิดโมเดลบริหารทุเรียนครบวงจร สร้างกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน

28 สิงหาคม 2566

บพท. ต่อยอดงานวิจัยพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ ยกระดับ "วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (ธารโต)” สร้างโมเดลต้นแบบบริหารจัดการทุเรียนอย่างครบวงจร ชูก้าวต่อไปสร้างกลุ่มผู้ประกอบการแบบเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคม สอดคล้องหลักศาสนา

 

ดร.กิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า หน่วย บพท. ใช้ชุดความรู้จากงานวิจัย ตลอดจนกระบวนการวิจัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และบริบทพื้นที่เข้าไปสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ทุเรียนในจังหวัดชายแดนใต้ ควบคู่ไปกับการเสริมพลังให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนรวมกลุ่มกันในลักษณะเครือข่ายเป็นวิสาหกิจชุมชน เชื่อมโยงกับกลไกรัฐ และกลไกธุรกิจ ส่งผลให้ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกทุเรียนมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกจังหวัดชายแดนใต้ 

 

“ทุกวันนี้ชุดความรู้จากงานวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตทุเรียน ซึ่ง บพท. ให้การสนับสนุน และพลังจากภาคีความร่วมมือหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และสภาเกษตร ทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน สามารถขายทุเรียนได้ราคาดีขึ้นมาก มีความมั่นคงทางอาชีพ” ดร.กิตติ กล่าว 

ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า ผลพลอยได้จากชุดความรู้ในการพัฒนาคุณภาพและผลผลิตทุเรียน มีส่วนอย่างสำคัญต่อการสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มโอกาสแก่เกษตรกรในการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงผึ้งชันโรง 

 

“บพท. ยังจะช่วยเสริมพลังแก่วิสาหกิจชุมชนชาวสวนทุเรียน โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ(ธารโต) ด้วยการยกระดับการพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ และเสริมขีดความสามารถแก่เกษตรกรในการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้” ดร.กิตติ กล่าว 

 

นายมะเสาวดี ไสสากา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา กล่าวว่า สภาเกษตรกรจังหวัดยะลา และเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ ได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ที่ บพท.ให้การสนับสนุน ผสมผสานกับหลักการทางศาสนาอิสลาม ไปพัฒนาศักยภาพแก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนอย่างได้ผล ทำให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพดีขึ้น ขายได้ราคามากขึ้น และเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ  

 

นายมะเสาวดี กล่าวว่า ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพทุเรียน ความรู้ในการเก็บและใช้ข้อมูลสำหรับการวางแผน ตลอดจนความรู้ในการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งเป็นส่วนที่ บพท. ให้คำแนะนำ จะนำมาประยุกต์เข้ากับหลักศาสนาอิสลาม 5 ประการได้แก่

 

1. อามานะ คือ ความรับผิดชอบต่อโลกและเพื่อนมนุษย์ 

2. ชูรอ คือ การปรึกษาหารือร่วมกัน 

3. นาซีฮัต คือ การตักเตือนซึ่งกันและกัน 

4. มูฮาซาบะห์ คือ การตรวจสอบติดตามประเมินผล 

5. ญามาอะห์ คือ การรวมหมู่ ซึ่งนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพแก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ให้ร่วมกันผลิตทุเรียนที่ดีต่อโลกและดีต่อเพื่อนมนุษย์

 

“ผลของการพัฒนาคุณภาพทุเรียนทำให้เกษตรกรขายทุเรียนคุณภาพ ได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว จากเดิม 50 บาท/กก. เป็น 100-150 บาท/กก. ในปัจจุบัน และมีผลผลิตเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณด้วยเฉลี่ย 470-500 ก.ก./ไร่ โดยมีปริมาณรับซื้อและส่งจำหน่ายรวม 3,000 ตัน ในปี 2565” นายมะเสาวดี กล่าว 

 

หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา กล่าวว่า การรวมตัวเป็นกลุ่มของเกษตรกรในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน การใช้กระบวนการกลุ่ม ระบบการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าทางการตลาดในการจำหน่ายทุเรียน สามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดทุเรียนโดยใช้แนวคิดการบูรณาการร่วมระหว่างห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่มูลค่า 

 

โดยมี “วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (ธารโต)” เป็นศูนย์กลาง จากกลุ่มเล็กๆ ที่ต่างคนต่างทำ ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกกลุ่มทั้งสิ้น  398 รายใน 11 ชุมชน มีเครือข่าย 20 กลุ่ม  ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ในจังหวัดยะลา ได้แก่ ธารโต เบตง บันนังสตา กรงปินัง รามัน และอำเภอศรีสาคร  จังหวัดนราธิวาส  มีพื้นที่ปลูกรวมกัน 6,000 ไร่ 

 

ภายใต้กระบวนการจัดการทุเรียนคุณภาพของวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ มุ่งเน้นการทำทุเรียนเพื่อส่งออกในนามทุเรียนยะลา สามารถสร้างทุเรียนหนามเขียว ซึ่งเป็นผลผลิตเด่นของยะลา ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ส่งออก สามารถส่งออกไปจีนได้ 27 ตู้คอนเทนเนอร์ สร้างรายได้ 300 ล้านบาท ในปี 2565 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (ธารโต) เป็นกลุ่มเกษตรกรต้นแบบที่มีการพัฒนาอย่างครบถ้วน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีการบริหารจัดการแบบครบวงจร นอกจากจะเป็นผู้ปลูกแล้ว ทางกลุ่มยังได้มีการร่วมลงทุนของสมาชิกเปิดตลาดกลางรับซื้อทุเรียน การรวบรวมและการกระจายผลผลิตทุเรียน ทุกเกรดจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป ทั้งทุเรียนเกรด ABC ทุเรียนตกไซส์ หรือแม้กระทั่งทุเรียนมีหนอนรู มีกระบวนการจัดการนำมาแกะเนื้อทำเป็นทุเรียนแช่แข็ง เพิ่มมูลค่าทุเรียน โดยกลุ่มมีห้องเย็นเป็นของตัวเอง ใช้เงินลงทุน 20 ล้านบาท ถือเป็นห้องเย็นแห่งแรกของจังหวัดยะลาที่มีเป็นกลุ่มเกษตรกรเป็นเจ้าของลงทุนเอง นอกเหนือจากห้องเย็นที่ภาครัฐและผู้ประกอบการเป็นผู้ลงทุน  

 

ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่เกษตรกรเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจใหม่และการต่อยอดธุรกิจเดิม ยกระดับการบริหารจัดการ สร้างมูลค่า และคุณภาพ โดยการเพิ่มมาตรฐานการผลิต GAP มาตรฐาน GMP เกิดการเชื่อมโยงด้านการตลาดทุเรียนทั้งในและต่างประเทศ ยังมีการเชื่อมโยงพันธมิตรทางการค้าการลงทุน เพื่อ ส่งต่อไปยังตลาดคุณภาพ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 

 

สำหรับปี 2566 จะมีปริมาณผลผลิต 5,000 ตันหรือ 5 ล้าน ก.ก. มูลค่า 750 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2565 ประมาณ 43% และในอนาคตมีการวางแผนว่า จะขยายสมาชิกเครือข่ายกลุ่มผลิตทุเรียนคุณภาพ  เพิ่มอีก 4,000 ไร่ ภายในปี 2570 โดยเป้าหมายของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ คือ พัฒนาทุเรียนคุณภาพยะลาทั้งจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนสะเด็ดน้ำ ซึ่งเป็นสินค้า GI ของจังหวัดยะลา ที่สามารถทำราคาเพิ่มได้ดี

 

ยะลา
ยะลา
ยะลา
เนื้อหาล่าสุด