Skip to main content

บุรีรัมย์ คาดใช้งบฯ พันล้านพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 3 จุด เชื่อ ศก.พุ่ง

6 มิถุนายน 2567

ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ เผยโครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ระยะที่ 2 (จังหวัดบุรีรัมย์) ตั้งงบ 1,000 ล้านบาทปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว 3 แห่ง หนองลำพึง เขาพนมรุ้ง ตัวเมือง ให้มาเป็นแลนด์มาร์ค เชื่อนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20% คาดปี 2570 โครงการแล้วเสร็จ

นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าฯ จ.บุรีรัมย์ ประชุมหารือการออกแบบรายละเอียด "โครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ระยะที่ 2"  สืบเนื่องจากกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มีพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหลายแห่งด้วยกัน รวมไปถึงแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม ด้านประเพณีวัฒนธรรม จึงมีความน่าสนใจในด้านการท่องเที่ยว

เบื้องต้นจะมีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด 3 ด้านไปพร้อมๆ กัน คือ 1.  ภาคเศรษฐกิจเราจะใช้ภาคธุรกิจของเอกชน คือการค้าการลงทุน 2. การแปรรูปสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่จะทำให้จังหวัดบุรีรัมย์ไปทิศทางบวก ดังนั้นจึงร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองบุรีรัมย์ จะเป็นตัวจักรอีกทางหนึ่งในการพัฒนาผังเมือง เพื่อเสริมศักยภาพของเมืองให้ดีขึ้น คือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่สำคัญ โครงการสำคัญที่กำลังดำเนินการ

ทั้งนี้ได้รับแจ้งจากกรมโยธาธิการในตอนนี้มี 3 โครงการ 1 โครงการพัฒนาหนองลำพึง ที่อำเภอละหานทราย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีนี้ จุดนี้นอกจากจะเป็นแหล่งรับน้ำหรือแก้มลิงให้กับอำเภอละหานทราย เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งแล้ว จุดนี้ยังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เพราะเป็นพื้นที่ที่สวยงาม เหมาะสำหรับการฉันทนาการ รวมถึงสร้างร้านค้าชุมชนที่จะเสริมรายได้ให้กับชาวบ้านได้อีกทางหนึ่งด้วย

โครงการที่ 2 เป็นโครงการที่จะไปเสริมศักยภาพของปราสาทเขาพนมรุ้ง ที่ประสบปัญหาในเรื่องที่จอดรถ เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล หรือช่วงหยุดยาว สามารถจอดรถได้กว่า 1,000 คัน จะมีการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ อำนวยความสะดวกทุกด้าน และจะมีการปลูกดอกฝ้ายคำหรือดอกสุพรรณิการณ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำเขาพนมรุ้ง และเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย

โครงการที่ 3 คือโครงการพัฒนาชุมชนเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ จะมีการสร้างแหล่งพักผ่อนในรูปแบบของคนเมือง จะมีการเวนคืนที่ดินที่ว่างเปล่า โดยจะออกแบบในด้านการค้าขาย ควบคู่ไปกับการเล่นกีฬากลางแจ้งของคนรุ่นใหม่ รองรับการฉันทนาการของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมเมืองบุรีรัมย์ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2570 เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มอีกอย่างน้อยร้อยละ 20 ทั้งหมดอยู่ภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท
 

พัฒนาท่องเที่ยว
พัฒนาท่องเที่ยว